ไก่อินทรีย์ กับอำนาจ เรียนสร้อย ผู้สร้างและเสิร์ฟความสุขให้ไก่

8,805 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
บนพื้นที่สีเขียวที่ถูกจัดสรรปันส่วนออกเป็นแปลงนา สวนผัก กับโรงเรือนเลี้ยงไก่ คือภาพกว้างของสถานที่เสิร์ฟความสุขให้ฝูงไก่ อ่านไม่ผิดค่ะ เพราะ ‘ไก่’ ก็มีอารมณ์...

โดยผู้สร้างและเสิร์ฟความสุขให้ไก่ได้ใช้ชีวิตอิสระ วิ่งเล่นบนพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ คือ คุณอำนาจ เรียนสร้อย อดีตพนักงานบริษัทเอกชน ที่ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิต เริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์โดยยึดหลักพึ่งพาตนเอง แม้เป็นเส้นทางที่มีทั้งความเชื่อและความกลัวปะปน แต่ความตั้งใจที่จะตอบแทนผืนดินด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดฟาร์มเกษตรอินทรีย์เล็กๆ ชื่อว่า ‘แทนคุณออร์แกนิกฟาร์ม’ แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม

และด้วยความที่ ‘ไก่’ เป็นแหล่งโปรตีนในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ราคาย่อมเยา ปรุงเมนูอร่อยได้หลากหลาย ไก่ที่เลี้ยงด้วยอาหารอินทรีย์ ปลอดยาปฏิชีวนะ ทั้งยังถูกฟูมฟักเลี้ยงดูให้อารมณ์ดีบนพื้นที่อิสระของฝูงไก่แห่งนี้ จึงเป็นอีกทางเลือกของผู้บริโภค ทว่าก่อนตัดสินใจ เราไปทำความรู้จักชีวิตไก่และแนวคิดของคนเลี้ยงไก่ให้ถึงแก่นกันก่อน

จุดเริ่มต้นที่มาทำเกษตรอินทรีย์ เปิดฟาร์มเล็กๆ แห่งนี้

เริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์จากการปลูกข้าว เพราะพื้นฐานพ่อแม่เราเป็นชาวนา เรามีพื้นที่ตรงนี้อยู่แล้วก็ทำทุกขั้นตอนเอง อยากตอบคำถามว่าทำไมชาวนาขายข้าวยังต้องเอาข้าวเข้าโรงสี ผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้เลย เราอยากลองแก้โจทย์ ถามตัวเองว่า ถ้าจะเป็นชาวนาที่พึ่งพาตนเองได้ต้องทำยังไง เรามองว่าเกษตรอินทรีย์เป็นรูปแบบการทำเกษตรที่ไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกเยอะ ไม่ต้องซื้อปุ๋ย ซื้อยา หรือแม้แต่การพึ่งพ่อค้าคนกลาง สำคัญสุดเกษตรอินทรีย์นั้นหวงแหนทรัพยากร ทั้งดิน น้ำ อากาศ เพราะไม่เอาสารเคมีมาฉีดพ่นลงไปในทุ่งนาของเรา

ถ้าเราอยากจะส่งมอบ ส่งต่อทรัพยากรให้กับคนรุ่นหลัง แล้วไปทำเกษตรเคมี ก็เท่ากับว่าเราทำลายทรัพยากรที่มันดีๆ อยู่แล้ว

จากทำนา ขยายมาเลี้ยงไก่ได้อย่างไร

เราทำนา แล้วไม่ได้ขายข้าวให้โรงสี แต่เราต้องสีข้าวเอง ในกระบวนการสีข้าวมันมี by-product คือส่วนเหลือจากกระบวนการสีข้าว ทั้งแกลบ ปลายข้าว รำข้าว เดิมทีที่ยังไม่ได้นำไปเลี้ยงสัตว์ก็จะมี by-product เหล่านี้อยู่เยอะ กองพะเนินเทินทึก แล้วมันไม่ได้แค่เหลืออย่างเดียว ยิ่งมีเยอะมากมันก็ยิ่งสร้างมลพิษด้วย ไหลลงบ่อน้ำก็เน่าเสีย ส่วนปลายข้าวกับรำข้าวก็กองไว้เยอะ มีแมลงมากินมั่ง ซึ่งเราเล็งเห็นแล้วว่าของเหล่านี้นำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้ ไม่อยากให้สูญเปล่า ก็เป็นที่มาของการเลี้ยงไก่

ในกระบวนการเลี้ยงไก่ ใช้ by-product เหล่านี้ในส่วนไหน อย่างไรบ้าง

เริ่มตั้งแต่แกลบ เอาไปทำเป็นวัสดุปูรองพื้นในเล้าไก่ ช่วยเก็บกักของเสีย มูลเอยฉี่เอ่ยที่ไก่ขับถ่ายออกมา ทั้งมูลไก่ฉี่ไก่ก็คลุกเคล้าอยู่ในนี้ กลายเป็นปุ๋ยขี้ไก่ แล้วก็นำกลับไปใส่คืนในแปลงนา ปลายข้าวก็เป็นแหล่งตั้งต้นของพลังงาน รำเป็นแหล่งโปรตีน เราก็เอามาทำเป็นอาหารเลี้ยงไก่เนื้อของเรา (แสดงว่าไก่ได้กินของดีทั้งนั้น) ครับ แล้วก็วนเวียนเป็นวงจรอยู่อย่างนี้ ไม่มีเหลือทิ้ง มันเป็นการพึ่งพาตนเอง คือถ้าเราไม่ปลูกข้าว เราก็จะไม่เลี้ยงไก่นะ

ไก่ที่เลี้ยงเป็นพันธุ์อะไรบ้าง การเลี้ยงดูแตกต่างจากฟาร์มทั่วไปอย่างไร

เราเลี้ยงทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ (Free range) ใช้พื้นที่เลี้ยงเยอะกว่าฟาร์มทั่วไป เพราะต้องจัดพื้นที่อิสระในการอยู่และหากินให้เขา ให้เขามีพื้นที่รีแลกซ์ วิ่งเล่น ก็มีโซนที่เป็นดงกระถินปลูกไว้ให้ร่มเงา ใบร่วงลงมาไก่ที่เดินเล่นผ่อนคลายอยู่ใต้ร่มได้กิน มีแมลง มีหนอนร่วงลงมาก็เป็นอาหารไก่ ส่วนในเล้าไก่ก็จะใช้พื้นที่เลี้ยง 5 ตัว ต่อ 1 ตารางเมตร ในขณะที่ฟาร์มทั่วไปจะอยู่ที่ 10-15 ตัว ต่อตารางเมตร ผลผลิตจึงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับฟาร์มทั่วไป แต่ไก่มีความสุขกว่าแน่นอน  

ไก่ที่มีความสุขกว่าไก่เลี้ยงในฟาร์มทั่วไปดีอย่างไร

ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่จะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ อย่างไก่เนื้อเขาได้วิ่งเล่น อิสระ เนื้อก็จะแน่นกว่า เพราะกล้ามเนื้อมีความเคลื่อนไหว อาหารที่ไก่กินก็เป็นอาหารที่ได้จากธรรมชาติ ปลอดสาร ปลอดยาปฏิชีวนะ แล้วเราก็ให้อาหารเสริม เสริมด้วยสมุนไพรธรรมชาติล้วนๆ อย่างพวกต้นไม้ใบหญ้าที่เราปลูกไว้นี่ละ 

ใช้เวลาเลี้ยงนานแค่ไหน กว่าจะโตเต็มวัยพร้อมจำหน่ายได้

ไก่ไข่เก็บผลผลิตได้เรื่อยๆ หมุนเวียนทุกวัน แต่ถ้าเป็นไก่เนื้อใช้เวลาเลี้ยงอายุราว 2 เดือน น้ำหนักตัวประมาณ 1.5 กิโลกรัม ก็ขายได้ น้ำหนักนี้คือถอนขนเรียบร้อยแล้วนะ

ไก่เนื้อต้องรอเวลาเจริญเติบโตเต็มวัยพร้อมขาย แต่ไก่ไข่เก็บผลผลิตได้เกือบทุกวัน ขายก็ง่าย ทำไมจึงเลือกเลี้ยงไก่เนื้อด้วย

ผมมองเรื่องความมั่นคงของอาหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็ยังต้องบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ทีนี้มันจะดีกว่าไหมถ้าโปรตีนจากเนื้อสัตว์เหล่านั้นถูกผลิตในกระบวนการที่รู้ที่มาที่ไป ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกส่วนคือเรื่องการขับเคลื่อน ของเกษตรกรรายย่อยสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะตอนนี้ความสามารถในการพึ่งพาตนเองยังน้อย อย่างราคาอาหารไก่เนื้อและไก่ไข่ราคาสูงขึ้น แต่ราคาขายไก่กับไข่กลับสวนทางกัน ยกตัวอย่างราคาหมูตกต่ำ ยิ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย เลี้ยงหมู 5 ตัว 10 ตัว ขายก็ขาดทุน เพราะรูปแบบการเลี้ยงของเขายังต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก ยังต้องซื้ออาหาร แค่ค่าอาหารก็ปาไป 70 เปอร์เซนต์ของต้นทุนแล้ว 

เพื่อทำให้เกษตรกรอื่นๆ เห็นว่าเราเลี้ยงไก่เนื้อหรือไก่ไข่แบบพึ่งพาตนเองได้

ใช่ เราควบคุมต้นทุนได้ แล้วเราทำตรงนี้เพราะคิดว่าเป็นโมเดลหนึ่ง เราอยากส่งมอบโมเดลนี้ให้กับคนที่เขาสนใจ อยากเปลี่ยนแปลง พัฒนาจริงๆ ให้โมเดลเหล่านี้ไปเกิดในหลายๆ จุดของจังหวัด ภูมิภาค หรือระดับประเทศด้วย

 

– กินทั้งตัว กินทั้งไข่ ในฟาร์มเลี้ยงไก่ให้อารมณ์ดี –

พี่อำนาจพาเราเดินชมโรงเรือน และลานกว้างหน้าโรงเรือนซึ่งเป็นพื้นที่อิสระให้ไก่ได้วิ่งเล่นอย่างสบายอารมณ์ ด้านข้างโรงเรือนเป็นดงต้นกระถินแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาแก่ไก่บางตัวที่ไม่อยากอาบแดด น้องไก่จะเลือกพักผ่อนแบบไหนก็ตามใจ เพราะนี่คือพื้นที่รีแลกซ์ที่พี่อำนาจจัดสรรไว้ให้ และแล้วก็ถึงเวลาชิม ‘ไก่’ ที่มีความสุข (ขอโทษที่เปลี่ยนอารมณ์อย่างฉับไว)

พี่อำนาจนำไก่สดๆ จากฟาร์มให้เชฟน่านปรุงเมนู ‘ไก่ต้มโชยุ’ กัดไก่คำแรกสัมผัสได้ถึงความหนึบ แน่น แต่ไม่ถึงกับเหนียวเท่าไก่บ้าน และไม่ยุ่ยเท่าไก่เนื้อ มีความฉ่ำของน้ำซุปแทรกซึมอยู่ เป็นสัมผัสตรงกลางระหว่างไก่บ้านกับไก่เนื้อ เรื่องเนื้อสัมผัสนี่ต่างจริงๆ ค่ะ ถ้าได้ไก่เนื้อดีแบบนี้ปรุงเมนูง่ายๆ ก็อร่อยได้

นอกจากเนื้อไก่ ‘ไข่ไก่’ ก็เป็นผลผลิตอินทรีย์อีกสิ่งที่พี่อำนาจพาเราเข้าโรงเรือนไปตะล่อมเก็บไข่ 0 วันมา (ไข่ที่แม่ไก่เพิ่งเบ่งออกมา ในอุ้งมือเรายังสัมผัสความอุ่นของไข่ได้อยู่เลย) ที่ไร่แทนคุณเก็บไข่ขายได้วันต่อวัน และไม่มีเหลือค้างอยู่ที่ฟาร์ม เรื่องความสดจึงไม่ต้องพิสูจน์ แต่รสชาติของไข่ไก่สดนั่นละ คือสิ่งที่เราอยากสัมผัส

เราตอกไข่ไก่แล้วลองซู้ดเข้าปาก ประสบการณ์กินไข่ดิบครั้งแรก แอบกังวลว่าจะคาวไหม แต่…ไม่เลยค่ะ ไข่แดงมันๆ เหมือนกินไข่ต้มยางมะตูม ไม่มีกลิ่นคาว ไข่ขาวก็ไม่คาวเลยสักนิด แต่สารภาพว่าเทกเจอร์เมือกลื่นๆ ของไข่ขาวไม่ถูกจริตเราเท่าไรนัก เรื่องความคาวของไข่ สังเกตถ้าเราซื้อไข่ทั่วไปแค่ตอกแล้วลองดมดูก็ได้กลิ่นคาวแล้ว แต่ไข่ไก่ที่เก็บสดๆ นั้นไม่คาว เราเลยสงสัยว่านอกจากความสด มีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่  

นอกจากความสด ปัจจัยอะไรที่ทำให้ไข่ไก่ไม่มีกลิ่นคาว และไข่แดงสีสวย รสมัน

ไข่จะมีรสชาติดี ส่วนหนึ่งมาจากอาหารไก่ อาหารเราผสมเอง แทบจะไม่มีวัตถุดิบที่เป็นโปรตีนจากสัตว์ ถ้าเป็นอาหารไก่อุตสาหกรรมจะมีปลาป่น เศษเนื้อสัตว์ป่น อะไรเหล่านี้ที่ทำให้ไข่ไก่มีกลิ่นแรง อีกปัจจัยคือเราเลี้ยงแบบ free​ ​range ปล่อยให้ไก่เป็นอิสระ ปล่อยวิ่งเล่น เสริมด้วยอาหารเสริมธรรมชาติอย่างพวกผัก ต้นไม้ใบหญ้าที่เราปลูกไว้ สิ่งเหล่านี้มันจะช่วยลบเจือจางกลิ่นคาวแล้วยังเพิ่มความมันของไข่ด้วย 

สังเกตว่าสีของไข่ไก่แตกต่างกัน เป็นเพราะอะไรคะ 

ไข่ไก่อินทรีย์สีจะไม่เรียบสม่ำเสมอเหมือนไข่ไก่จากฟาร์มทั่วไป สีจะซีดกว่า เพราะสภาพแวดล้อมเล้าไก่ของเราไม่ได้เป็นห้องแอร์ อุณหภูมิในเล้าไก่ก็มีผลต่อสีของไข่ ถ้าอยู่ในแอร์สีไข่ไก่จะเข้ม

ที่นี่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทั้งกับตัวเองในฐานะผู้ผลิต และกับผู้บริโภค แต่มากกว่าการดูตรารับรองต่างๆ ผู้บริโภคควรต้องรู้อะไรอีก

ผู้บริโภคควรทำความรู้จักกับเกษตรกรผู้ผลิต ทำความเข้าใจว่ากระบวนการผลิตเป็นอย่างไร มันมีผลเสียทั้งต่อตัวผู้ผลิตเอง และผู้บริโภคยังไง หรือผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มองในมิติของเราคนเดียว อย่างผู้บริโภคก็มองแค่ว่าต้องการอาหารปลอดภัย กินแล้วดีกับเรา แต่ไม่ได้มองฝั่งเกษตรกรว่าเขาได้หรือไม่ได้อะไร ยกตัวอย่าง ซื้อผลผลิตจากผู้ผลิตรายใหญ่ ที่ถึงแม้จะเป็นออร์แกนิกก็ตามนะ กับการที่เราซื้อผลผลิตของเกษตรกรรายย่อย เป็นกลุ่มเครือข่ายที่มารวมตัวกัน มันก็เป็นมิติที่แตกต่างแล้ว ยิ่งเรื่องความปลอดภัย เขาอาจบอกว่าไก่เขาเลี้ยงแบบ free range เป็นไก่อารมณ์ดี ปล่อยให้วิ่งเล่น แต่… เขาบอกด้วยไหมว่าเอาอะไรให้ไก่กินบ้าง

ย้อนกลับมาที่กลุ่มผู้ผลิต เริ่มมีตัวอย่างให้เห็นมากขึ้นเรื่องแนวทางการทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง แต่ก็ยังมีเกษตรกรอีกมากที่ไม่เปลี่ยน ถ้าให้วิเคราะห์มันเป็นเพราะอะไร

มันเป็นความเชื่อฝังรากลึกว่ามาทำแบบนี้จะขายได้จริงเหรอ มันก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะมาทำแบบนี้ได้ ต้องมีทั้งความเชื่อมั่น ผ่านการฟันฝ่า อุปสรรคหลายๆ อย่าง แล้วเขาอาจมองว่าปกติเลี้ยงไก่กันเป็นพันๆ ตัว มาเลี้ยงแค่หลักร้อยจะขายได้สักเท่าไหร่เชียว มันมี ‘ความโลภ’ มากดความเชื่อไว้นะ คือยังเชื่อเดิมๆ ว่า ต้องเลี้ยงเป็นหมื่นเป็นแสนตัวขายทีนึงได้เงินเยอะ แต่เขาไม่คิดว่าต้นทุนเท่าไหร่ เลี้ยงแบบนั้นพึ่งพาตนเองได้ไหม เหล่านี้มันมาบดบังความเชื่อในแนวทางนี้ ถ้าไม่เชื่อ ไม่มีศรัทธา ก็ไม่มีวันเปลี่ยนหรอก

อีกกลุ่มคือเกษตรกรชาวบ้านที่เขาอยากเปลี่ยน แต่เขาไม่รู้จะเริ่มยังไง ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ไม่รู้จะหาตลาดยังไง กลุ่มนี้ก็มีเยอะนะ ซึ่งอันนี้แหละเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกัน กลุ่มเกษตรกรของเราเลยเป็นรุ่นลุงๆ ป้าๆ ซะเยอะ ไม่ใช่กลุ่ม young smart farmer ที่มีความรู้ตรงนี้อยู่แล้ว

แล้วแนวทางการหาตลาดของกลุ่มเราเป็นแบบไหน

เราใช้หลักตลาดนำการผลิต คือ ศึกษาตลาด ไม่ใช่ส่งเสริมผลผลิตแบบภาครัฐ ที่ให้เกษตรกรมาประชุมหาแนวทางผลักดันผลผลิตให้มากๆ ออกไปสู่ตลาด แบบนั้นมันไม่ยั่งยืนนะ เราต้องรู้จักผู้บริโภคด้วย อย่างเราที่เริ่มต้นทำอินทรีย์ เรามีลูก เรารู้ว่าถ้าลูกกินไก่ กินไข่ที่ไม่รู้ที่มาที่ไปมันไม่ดียังไง ก็เริ่มจากผลิตเพื่อกินเอง เหลือแล้วจึงแบ่งปัน แล้วที่นี้มันก็มีกลุ่มคนที่เขาอยากหาของดีบริโภคเหมือนกัน พอเขารู้ว่าเราทำอยู่ก็อยากจะซื้อ มันก็มีการซื้อขายเกิดขึ้น

ทำงานประจำ แล้วลาออกมาทำเกษตรอินทรีย์ แสดงว่ามีความมั่นใจ ไม่มีความกลัวในการเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์เลย

กลัวนะ… ครอบครัวเกษตรร้อยละ 90 หรือเกือบทั้งหมด อยากให้ลูกเรียนสูงๆ จะบอกลูกตลอดว่า เรียนสูงๆ ได้เป็นเจ้าคนนายคน ครอบครัวพี่ก็เหมือนกับคนอื่นๆ เพราะติดกับภาพที่ว่าพ่อแม่ รุ่นปู่รุ่นย่าทำเกษตรกันมาทั้งชีวิต เขารู้ เขาเห็นว่าชีวิตเกษตรกรมันลำบาก ไม่มีทางเลือก ทำแล้วก็จน ทำๆ ไปต้องขายที่ทิ้งอีกต่างหาก แต่เราเห็นต่างจากเขา เรามองว่าก็เพราะเขาทำแบบเดิมไง เราเห็นว่าเรายังมีทรัพยากร คนมากมายอยากมีที่แต่ไม่มี เรามีที่ แต่แค่ไม่รู้วิธีการที่จะทำให้เป็นเงินต่างหาก

ชาวนารุ่นเก่าหลายคนขายที่ส่งลูกเรียน แต่เราไม่เคยมีความคิดจะขายที่ ถึงเรายังต้องกู้เงินเรียน แต่เรารู้ไงว่าขายที่ไปแล้วจะซื้อกลับมามันยาก ที่มีแต่ราคาขึ้น เราหวงแหน ดื้อด้วยแหละ ลูกคนอื่นพ่อแม่เราก็ผลักดันให้เรียนมีการงานอาชีพนะ มีแต่เราที่มองว่าถ้าเราไม่ทำต่อ ที่ผืนนี้จะเป็นยังไง ต้องขายที่ทิ้งไหม

เริ่มต้นทำทั้งๆ ที่ยังกลัว แล้วความกลัวหายไปตอนไหน

เรากลัว แต่เรามีความเชื่อว่าเกษตรกรจะเป็นอาชีพที่มีอยู่มีกินได้ ความเชื่อนี้มีมากกว่าความกลัว พอความเชื่อถูกพิสูจน์ด้วยการกระทำของเราที่ทำซ้ำๆ เมื่อมีบททดสอบเข้ามา ผลของการทำก็พิสูจน์จนเกิดเป็นความสำเร็จ มีหลักฐานพิสูจน์ความเชื่อของเราเกิดขึ้นเรื่อยๆ เสมอ มันก็ลบความกลัวเหล่านั้นไป แต่ไม่ถึงกับเป็นศูนย์นะ ความกลัวก็ยังเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ เวลาเจอปัญหา เพียงแค่เราจะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นยังไงเท่านั้นเอง

แต่ทั้งหมดมันตอบโจทย์ชีวิต และเราได้ใช้ชีวิตในรูปแบบที่เราดีไซน์เองได้ ไม่ต้องเร่งรีบ แข่งขัน หรือสร้างยอดขายแข่งกับใคร ทั้งหมดมันคือความพอดีที่พี่เลือก

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS