เรื่องเล่าจากไอศกรีม POP ประวัติศาสตร์ของกินหน้าโรงหนังที่ยังมีชีวิต

6,178 VIEWS
PIN

image alternate text
ย้อนบรรยากาศโรงภาพยนตร์ในวันวาน ผ่านคำบอกเล่าของผู้ให้บริการเติมความสุขแก่ผู้คนด้วย ‘อาหารหน้าโรงหนัง’

ชายชราวัย 96 ปีตรงหน้าคือ สกล เตชะพูลผล เขาจัดแจงชงชารับรองพวกเราด้วยความแม่นยำในการกะเวลาและอุณหภูมิของน้ำ จนมันเป็นชาร้อนที่ให้สัมผัสแรกแสนลงตัว พิสูจน์ได้อย่างดีว่าเขาคือตัวจริงในการให้บริการด้านอาหารเพื่อความสุขของผู้คนมาทั้งชีวิต…

สกล คือหนึ่งในผู้บุกเบิกวัฒนธรรมของกินหน้าโรงหนังเมืองไทย โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่ ‘ร้านไอศกรีม POP’ อันเลื่องชื่อในอดีตซึ่งเคียงคู่มากับ ‘ศาลาเฉลิมไทย’ นั่นเอง

จุดเด่นที่ทำให้ร้านไอศกรีม POP เป็นที่นิยมในสมัยนั้น นอกจากรสชาติที่แปลกใหม่สำหรับคนไทยยุคราว พ.ศ. 2500 แล้ว ยังอยู่ที่สถาปัตยกรรมอันโดดเด่นกลมกลืนไปกับโรงหนังในยุคนั้นที่มีความสง่างาม จนกลายเป็นสถานที่พบปะของคนหนุ่มสาว และใช้ร้านเป็นที่รับรองบุคคลสำคัญ ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รวมไปถึง มาร์ลอน แบรนโด เมื่อครั้งเดินทางมาเยือนเมืองไทยด้วย ก่อนที่ไอศกรีม POP จะรุกตลาดด้วยการแพ็กไอศกรีมใส่รถเข็นเข้าหาชุมชนในเวลาต่อมา

สกลย้อนความหลังให้ฟังว่า ที่มาของชื่อยี่ห้อ POP มาจากเสียงกัดของไอศกรีมแท่งเคลือบช็อกโกแลตที่เสียงดังคล้ายคำว่า “ป๊อป” เขาเลยฉวยเสียงนี้มาเป็นชื่อเรียกไอศกรีม จนเป็นที่ภาคภูมิใจของเขาว่ามันกลายเป็นคำเรียกติดปากของคนไทยในยุคหนึ่ง “ไอ้ผมมันไม่ได้เก่งอะไรหรอก มันเกิดจากว่าเราไม่รู้จะใช้ชื่ออะไรมากกว่า” หนึ่งในสิ่งที่ยืนยันความป๊อปของคำว่า ‘POP’ คือนักเขียน / นักวิจารณ์ภาพยนตร์รุ่นใหญ่ มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ ซึ่งเกิดใน พ.ศ. 2508 ยุครุ่งเรื่องของไอศกรีม POP พอดี มีชื่อเล่นว่า ‘ป๊อป’ “คุณแม่ท่านไม่รู้จะตั้งชื่อให้ผมว่าอะไร ก็เอาคำที่มันทันสมัยที่สุดในยุคนั้นคือคำว่า ‘ป๊อป’ จากร้านไอศกรีม POP มาตั้งเป็นชื่อผม”

มโนธรรมรำลึกความทรงจำที่มีต่อร้านไอศกรีม POP ให้ฟังว่า ในช่วงเวลาที่เขาเริ่มต้นตระเวนดูหนังนั้นนับเป็นช่วงท้ายความรุ่งเรืองของร้านไอศกรีม POP แล้ว แต่ก็ยังทันได้เห็นร่องรอยความเฟื่องฟูของมัน “ต้องยอมรับว่าไอศกรีม POP เป็นร้านไอศกรีมที่ราคาค่อนข้างสูง ซึ่งผมยังไม่มีกำลังพอจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับเขาได้ในตอนนั้น มันเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมเพราะสวยงามโดดเด่นมาก เรียกได้ว่าถ้าไปถ่ายรูปโรงหนังจะต้องสะดุดตากับร้านไอศกรีมแห่งนี้ที่มีจุดเด่นคือโลโก้รูปเป็ด โดนัลด์ดั๊ก สมัยนั้นเรื่องลิขสิทธิ์อาจยังไม่รุนแรงเหมือนสมัยนี้ มันเลยเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปว่า ‘ไอติมเป็ดป๊อป’”

ความสำเร็จของร้านไอศกรีม POP สอดรับกันดีกับความสำเร็จของโรงหนังยุคนั้น โดยเฉพาะศาลาเฉลิมไทย ที่สกลบอกว่าเป็นแหล่งนัดพบของวัยรุ่นบางกอกไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ “โอ้ย ปฏิวัติ รัฐประหาร ยังต้องไปที่เฉลิมไทย ประชุมกันที่นั่นแหละ บางทีผมต้องหนี อยู่ไม่ได้ เดี๋ยวเขาหาว่าเป็นตัวการ” ความสำเร็จของไอศกรีม POP เย้ายวนให้ชาวบ้านต้องหาเวลามาพิสูจน์และสัมผัสประสบการณ์แบบอเมริกันนี้สักครั้ง แม้ว่าจะราคาถ้วยละ 1 บาทก็ตาม “แพงจะตายไปถ้วยละบาทเนี่ย อย่างก๋วยเตี๋ยวแค่ 5-10 สตางค์เท่านั้นเอง โอ้โห 10 สตางค์นี่กินไม่หมดหรอก หมูสับนะโปะจนไม่เห็นบะหมี่เลย”

ครอบครัวของสกลเป็นชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในเมืองไทย ตั้งรกรากในจังหวัดอยุธยา และทำธุรกิจร้านโชห่วย ครอบครัวเขายังเป็นผู้นำเข้าและส่งออกสินค้ารายใหญ่ของอยุธยาในขณะนั้น เมื่อถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยอยู่ในสถานการณ์ข้าวยากหมากแพง สกลจึงเป็นคนกลางในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ด้วยวัยเพียงยี่สิบปีเศษกับวิสัยทัศน์อันก้าวหน้าของเขา สกลจึงได้มีโอกาสถวายงานให้กับเชื้อพระวงศ์อยู่หลายครั้ง และนี่คือก้าวแรกของสกลในการเข้าไปคลุกคลีกับโรงหนัง

“หม่อมเจ้าอมร (หม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร – ผู้ดำเนินธุรกิจโรงหนังพัฒนากร) ท่านมีดำริว่าอยากจะให้หน้าโรงหนังเป็นเหมือนกับเมืองนอกเขา เลยให้ผมทำพวกของเบ็ดเตล็ด อยากให้หน้าโรงหนังมีของแปลกๆ ที่ในห้างไม่มี ผมหาให้ท่านได้ พวกเชื้อพระวงศ์เลยติดใจผม อย่าง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ท่านเป็นนักเรียนต่างประเทศ อยากได้อะไรท่านก็บอกผม เพราะสมัยนั้นเมืองไทยเรายังล้าหลัง ก็ให้ผมเป็นเบ๊ว่างั้นเหอะ”

ในสมัยนั้นภาพยนตร์ยังเป็นธุรกิจต้นทุนสูง จึงเป็นวงการสำหรับเชื้อพระวงศ์เสียเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงโรงหนังด้วย หลังจากจบสงครามโลกจึงมีสินค้าตกค้างในโกดังของทหารอเมริกันเป็นจำนวนมาก และนั่นเป็นโอกาสให้สกลได้ใช้จิตวิญญาณนักพัฒนาเข้ามาสร้างนวัตกรรมด้านอาหารเป็นครั้งแรก

“หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ท่านมี Co Storage เป็นคนแรก อยู่ที่บางรัก มีวิปครีมเต็มโกดังเลย พอสงครามเลิกไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ผมก็เอามาประดิษฐ์เป็นไอศกรีม” นี่คือจุดเริ่มต้นของร้านไอศกรีม POP ซึ่งเปิดขึ้นที่แรกบริเวณหน้าศาลาเฉลิมไทย ก่อนจะขยายไปสู่โรงหนังอื่นๆ ทั้งศาลาเฉลิมกรุง โรงหนังพัฒนากร และอีกมากมาย “คนไทยสมัยก่อนได้กินนมนะ นมจากแขกมันดิบ ไม่ได้ล้าง แล้วมันก็สกปรก พอผมทำไอ้วิปครีมออกมา โอ้โห ลั่นทั่วไปหมด”

สกลยื่นมือให้พวกเราดูว่านิ้วกลางข้างขวาของเขาหายไปครึ่งนิ้ว อันเป็นผลพวงจากอุบัติเหตุเครื่องปั่นไอศกรีมตีเข้าที่นิ้ว จนเป็นอนุสรณ์ให้เขายังนึกถึงความรุ่งเรืองของร้านไอศกรีมและโรงหนังสแตนด์อโลนในยุคสมัยนั้นไม่เสื่อมคลาย

“ตอนแรกเฉลิมไทยสร้างไม่เสร็จ” สกลหวนรำลึกความหลังของโรงหนังที่เป็นศูนย์กลางความบันเทิงของคนยุคนั้น ซึ่งต้องชะงักการก่อสร้างไปเพราะสงครามโลก ก่อนจะกลับมาสร้างต่อโดยการออกแบบของ ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา ในขณะที่ร้านไอศกรีมออกแบบโดย ดวงจิตร ยศสุนทร มาในสไตล์อเมริกันตามประสบการณ์ของสกลที่ได้เดินทางไปดูงานในอเมริกามาแล้ว “เมื่อก่อนนี้บ้านเรามันเก่าๆ เหมือนว่าอยู่กับปู่ย่าตายายมาอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ทีนี้ผมมันเด็กหนุ่ม พัฒนาใหม่หมด คนมาจมเลย”

อีกหนึ่งคนที่ช่วยยืนยันถึงความคึกคักของศาลาเฉลิมไทยและร้านไอศกรีม POP ได้เป็นอย่างดีก็คือ สรรพวุฒิ เตชะพูลผล ลูกชายของสกลผู้เติบโตมากับร้านไอศกรีมแห่งนี้มาตั้งแต่เกิด

“ยุคนั้นเจ้าของโรงหนังเป็นเจ้าของโรงหนังจริงๆ เจ้าของหนังก็เป็นเจ้าของหนังจริงๆ เจ้าของร้านอาหารก็เป็นเจ้าของร้านอาหารจริงๆ แล้วก็มารวมกัน คล้ายๆ กับสมาคมน่ะ ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่เจ้าของโรงหนังคือเจ้าของสถานที่ บางทีก็เป็นเจ้าของหนังด้วย และก็ทำร้านเองด้วย ซึ่งต่างกันสิ้นเชิง” สรรพวุฒิเล่า “สมัยก่อนจะดูหนังโรงต้องรอหลายวัน เพราะโรงหนึ่งฉายได้วันละ 3-4 รอบ เมื่อก่อนมันเป็นสแตนด์อโลน คนมาเพื่อดูหนังเรื่องนี้เรื่องเดียว แล้วไม่ใช่แค่คนในกรุงเทพฯ น่ะสิ เพราะคนต่างจังหวัดเขาก็เดินทางมาดู

“คนตักไอติมของเรามีเป็นสิบคน ตักกันจนมือตักไม่ไหว สมมติหนังยาวสองชั่วโมง ระหว่างหนังฉายต้องรีบเติมของ ล้างถ้วย ล้างชาม ต้องให้เรียบร้อยก่อน เพราะเดี๋ยวหนังจบคนก็จะออกมาอีก ผมก็ต้องไปช่วยล้างถ้วยล้างชามเหมือนกัน ยุคนั้นไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ มีหกร้อยที่นั่ง คนก็มาหกร้อยคนนั่นแหละ ฉะนั้นคุณต้องรีบทำให้ทัน สมัยนั้นคุณพ่อเป็นคนเอาระบบบิลมาใช้ รับออเดอร์ปั๊บ ใบหนึ่งไปที่แคชเชียร์ อีกใบไปที่แผนกรับออเดอร์ มันถึงได้เร็วไง เพราะเอาระบบเข้ามาคุม”

การนำระบบบิลมาใช้กับร้านอาหารนี่เองที่ทำให้ภารกิจของร้านไอศกรีม POP ไม่ได้หยุดอยู่แค่ขายอาหาร แต่ยังมีการจัดระบบเพื่อฝึกทักษะงานบริการให้กับทีมงานด้วย ซึ่งในยุคสมัยที่คนไทยยังมีอัตราการอ่านและเขียนไม่เต็มร้อยนั้น สกลจึงต้องหาทางให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อตอบสนองระบบที่เขาวางเอาไว้

สกลเล่าว่า “สมัยก่อนนะ คนสั่งและคนเสิร์ฟไม่มีความรู้หรอก บางทีก็อ่านหนังสือไม่เป็น ต้องจ้างครูมาสอนให้อ่านออกเขียนได้ พวกภัตตาคารเขามาเชิญผมไปเป็นนายกสมาคม ผมก็ถามว่าต้องทำอะไรบ้าง เขาก็บอกให้ไปต่อรองไอ้เบียร์สิงห์ราคาถูกลง ถ้าสรรพากรมากวนใจ ให้ผมไปเจรจาให้เรียบร้อย ผมบอกพวกมึงไปเป็นเองเหอะ (หัวเราะ) ไอ้ฉิบหาย ถ้าจะให้อั๊วทำนะ อั๊วจะเก็บค่าสมาชิก แล้วอั๊วจะเปิดโรงเรียนสอนเสิร์ฟ เพราะเราเรียนมานี่ เราก็ต้องทำตามวิชาการสิ ไอ้ห่าให้เราไปเป็นผ้ายันต์ผี กูเผ่นดีกว่า (หัวเราะ) แต่ก่อนนี้มันชุ่ย ร้านก๋วยเตี๋ยวนะ ชามกี่ใบๆ ก็ล้างถังเดียวกันน่ะ ผ้าผืนเดียวกันเช็ดทั้งร้าน โอ๊ยให้อั๊วเป็นนายกฯ ไม่เอาหรอก สกปรกฉิบหาย มันผิดทางน่ะ”

ไอศกรีม POP เป็นเพียงจุดเริ่มต้นความสำเร็จให้สกลได้ต่อยอดธุรกิจด้านอาหารและความบันเทิง เขาไม่ได้หยุดร้านไอศกรีม POP อยู่แค่ที่ศาลาเฉลิมไทย แต่ยังขยายสาขาไปอยู่หน้าโรงหนังอีกมากมาย อาทิ ศาลาเฉลิมไทย, พัฒนากร, เพ็ชรเอ็มไพร์, เพชรรามา ฯลฯ และยังนำไปสู่ธุรกิจอาหารว่างหน้าโรงหนังประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฮ็อตด็อก, วาฟเฟิล, ผลไม้ดอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ป๊อปคอร์น’ ซึ่งนี่คือก้าวแรกของป๊อปคอร์นยี่ห้อ POP ที่เราอาจคุ้นตากับโลโก้ POP สวมมงกุฎของมันเป็นอย่างดี

ความรุ่งเรืองของไอศกรีม POP เดินทางมาสู่จุดสิ้นสุด เมื่อโรงหนังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะหลังจากทุบโรงหนังศาลาเฉลิมไทยเพื่อปรับทัศนียภาพกรุงเทพฯ ชั้นใน ร้านอาหารหน้าโรงหนังที่อยู่ในมือจึงเริ่มเปลี่ยนให้ผู้บริหารรายอื่นเข้ามาพัฒนาร้านต่อไป ในขณะที่บริษัท Bangkok Novel ซึ่งนำเข้าส่งออกวัตถุดิบจากต่างประเทศอันเป็นบริษัทแม่ของไอศกรีม POP ก็เริ่มแตกไลน์การผลิตสินค้ามากมาย หนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงคือ ‘ป๊อปคอร์น’ บริษัทจึงค่อยๆ ลดการผลิตสินค้าประเภทอื่นลงเพื่อหันไปใส่ใจกับป๊อปคอร์นมากขึ้น จนทุกวันนี้ป๊อปคอร์น POP คือเจ้าแห่งป๊อปคอร์นหน้าโรงหนังที่ยึดหัวหาดหน้าโรงหนังเกือบทั้งประเทศแต่เพียงผู้เดียว ทิ้งประวัติศาสตร์ร้านไอศกรีม POP ไว้เป็นเพียงความทรงจำอันงดงามของคนไทยอีกแสนนาน

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS