‘น้ำผึ้งรักษ์ป่า’ รสซับซ้อนของน้ำผึ้งใต้จากการเลี้ยงผึ้งอย่างรับผิดชอบที่สุด

162 VIEWS
PIN

image alternate text
เก็บกระเป๋าล่องใต้ไปชิมน้ำผึ้งเดือนห้าจากป่าเบญจพรรณที่ชุมพร หวานซ่อนเปรี้ยวที่อวดความสมบูรณ์หลากหลายในพื้นที่

พอเข้าเดือนห้าใครๆ ก็เรียกหาแต่น้ำผึ้ง เพราะน้ำผึ้งเดือนห้าไทยเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพสูงสุดในรอบปี รสชาติเข้มข้น กลิ่นหอมหวาน ความชื้นน้อยด้วยยังไม่ถูกน้ำฝนต้นฤดูกาล ก่อนหน้าฝนจะมาทักทายอย่างเป็นทางการในปีนี้ ทีม KRUA.CO เลยยกพลกันไปที่อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร เพื่อไปตามหารสชาติของน้ำผึ้งใต้แท้ๆ กับแบรนด์ น้ำผึ้งรักษ์ป่า rakpaa.honey กันค่ะ

น้ำผึ้งหนึ่งหยดมีรสของป่าทั้งผืน

ฉันเป็นคนเหนือที่ชินกับกลิ่นรสของน้ำผึ้งลำไยมาแต่อ้อนแต่ออก เพราะเกิดและเติบโตในพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยสวนลำไยเชิงพาณิชย์ จนเมื่อโชคดีได้เข้ามาทำงานว่าด้วยอาหารการกินจึงได้รู้ว่าน้ำผึ้งจากแต่ละถิ่นล้วนมีรสชาติเฉพาะตัวที่ต่างกันไปตามพืชอาหารของผึ้ง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความหลากหลายของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นๆ น้ำผึ้งลำไยก็ให้รสอย่างหนึ่ง น้ำผึ้งลิ้นจี่ก็ให้รสอย่างหนึ่ง น้ำผึ้งหลวงจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ก็ให้รสชาติอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าน้ำผึ้งเป็นอาหารที่เก็บรสชาติของสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดอีกอย่างหนึ่งเลย

เดือนห้าปีนี้ฉันก็ไม่พลาดที่จะเดินทางตามหาน้ำผึ้งด้วยเหมือนกัน ปีนี้พิเศษหน่อยตรงที่ว่าเราได้โอกาสไปทำความรู้จักกับน้ำผึ้งป่าเบญจพรรณของชุมพร ซึ่งให้รสชาติที่น่าตื่นเต้นมากๆ เพราะอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พื้นที่หลักในการผลิต ‘น้ำผึ้งรักษ์ป่า’ เป็นป่าเบญจพรรณที่มีรอยต่อเชื่อมกับป่าชายหาด โดยที่มีป่าพรุคั่นกลาง และมีป่าทุ่งหญ้ากระจายอยู่ทั่ว ในรัศมีที่ผึ้งโพรง – พระเอกของเรา จะบินไปหาอาหารถึง 

ผึ้งโพรงเป็นผึ้งสายพันธุ์ท้องถิ่นไทย ที่น้ำผึ้งรักษ์ป่าเลือกให้เป็นผู้ผลิตคนสำคัญเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น โดยปกติแล้ว ผึ้งโพรงจะบินอาหารในรัศมี 2.5 กิโลเมตรจากรัง นั่นหมายถึงดอกไม้ใดๆ ก็ตามที่อยู่ในระยะ 5 กิโลเมตรที่ผึ้งโพรงเดินทางจะกลายมาเป็นกลิ่นรสของน้ำผึ้งรักษ์ป่าที่เราได้กิน 

น้ำผึ้งในพื้นที่นี้เป็นผลพวงมาจากพืชนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น เสม็ดขาว กระถินเทพา หญ้าท่าพระ ขลู่ พรวด หรือกระทั่งต้นไม้เล็กๆ ในป่าทุ่งหญ้า ที่สายตามนุษย์มองว่าเป็นวัชพืช ก็เป็นพืชอาหารสำหรับผึ้งได้เหมือนกัน แถมบางชนิดยังมีสรรพคุณทางยาอีกต่างหาก

เรานั่งรถเข้าป่าไปดูพี่เดียว – เกรียงศักดิ์ บุญเพชร Beekeeper ของน้ำผึ้งรักษ์ป่าไปเก็บน้ำผึ้งกันถึงที่ จึงได้อานิสงส์เป็นน้ำผึ้งชุมพรสดๆ น้ำผึ้งจากป่าที่นี่มีเนื้อที่เบาและสว่างกว่าน้ำผึ้งที่อื่น เพราะพืชอาหารส่วนใหญ่ไม่ใช้ผลไม้ รสชาติจึงหวานละมุนละไม ในขณะเดียวกันก็ซับซ้อนแบบที่บอกไม่ถูกว่านี่คือรสชาติจากพืชชนิดไหน

เมื่อกลืนลงคอไปจะสัมผัสได้ถึงรสเปรี้ยวจางๆ สดชื่น แล้วก็ละลายไป ไม่ทิ้งความเหนียวหนืดไว้ในลำคอ เป็นรสชาติที่พิเศษ มีมิติ และมีเอกลักษณ์มากๆ ไม่แปลกใจเลยที่น้ำผึ้งรักษ์ป่าถูกยกให้เป็น Single origin honey หรือ ‘น้ำผึ้งอัตลักษณ์’ เพราะรสชาติแบบนี้มีที่นี่ที่เดียวจริงๆ ค่ะ

นอกจากเรื่องรสชาติแล้ว น้ำผึ้งจากป่าเบญจพรรณอำเภอประทิวยังมีสรรพคุณในต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระสูสีกับน้ำผึ้งระดับโลก โดยมีการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการแล้วพบว่ามีค่า Antioxydant Polyphenols +45 การได้กินน้ำผึ้งป่าชุมพรสดๆ แบบไม่ต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนอย่างนี้ จึงเหมือนการได้สรรพคุณต่างๆ ไปเต็มที่ จะเรียกว่า ‘กินอาหารเป็นยา’ ก็คงไม่ผิด ติดอยู่นิดเดียวที่ว่ายาจากรวงผึ้งที่เห็นอยู่นี้เป็นยาที่อร่อยมากจนอาจจะเผลอกินเกินขนาดเลยล่ะค่ะ

‘น้อมตัวไปหาธรรมชาติ’
วิถีการดูแลผึ้งด้วยความรับผิดชอบอย่างสุดกำลัง

เรานึกสงสัยในเคล็ดลับความอร่อยของน้ำผึ้งรักษ์ป่า จึงถามคุณเปี๊ยก – ปวีณา วิริยประไพกิจ หญิงแกร่งผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของน้ำผึ้งรักษ์ป่า แต่คำตอบที่ได้มาก็คือ

“ไม่ได้ทำอะไรเลยค่ะ” (หัวเราะ)

“น้ำผึ้งรักษ์ป่าไม่อยู่ในกระบวนการทำน้ำผึ้งใดๆ เลย พืชอาหารในพื้นที่เราไม่ได้ปลูกอะไรเฉพาะเจาะจงเพื่อเป็นอาหารให้ผึ้งเลย รสชาติเหล่านี้คือผึ้งคัดสรรมาเองทั้งหมด ทำให้เรามีเลเยอร์รสชาติที่สะท้อนพื้นที่จริงๆ

“เราแค่เริ่มต้นที่ต้นทางว่าเราเอื้อสิ่งแวดล้อมกับบ้านให้เขาอยู่อย่างปลอดภัย แล้วเราก็หมั่นไปดูแล คอยไปตรวจตราว่าเขาไม่มีศัตรูทางธรรมชาติ มีคนบอกว่าเราน้ำผึ้งรักษ์ป่าคือ รปภ. ดีๆ นี่เอง คงเป็นเช่นนั้น อีกทีเราก็จะไปอยู่ปลายทาง เมื่อผึ้ง collect น้ำหวานแล้ว เข้าตัวเองแล้ว เอนไซม์ในกระเพาะทำงานแล้ว เอาออกมาเป็นน้ำผึ้งอยู่เต็มรัง เราถึงจะรับน้ำผึ้งออกมา จริงๆ ผึ้งเขาทำมาค่อนข้างสำเร็จรูปแล้ว เราแค่เก็บเกี่ยวและจัดการผลผลิตให้ดี”

น้ำผึ้งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักเลือกใช้ผึ้งสายพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งถูกพัฒนาและคัดเลือกมาโดยเฉพาะเพื่อให้ได้ผึ้งที่ดุน้อยลง และให้ผลผลิตน้ำผึ้งได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่น้ำผึ้งรักษ์ป่าเลือกจะใช้วิธีที่ธรรมชาติที่สุด โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม และสร้าง ‘บ้าน’ หลังเล็กๆ ไว้รอผึ้งสายพันธุ์ท้องถิ่นอย่างผึ้งโพรง เมื่อสิ่งแวดล้อมดี ทำเลดี เหล่าผึ้งโพรงในพื้นที่ก็จะเก็บกระเป๋าเข้าจับจองบ้านเดี่ยวกลางป่ากันเองตามที่ตัวมันเองเห็นว่าเหมาะสม 

“เราต้องเลี้ยงเขาในวิถีที่เราน้อมตัวลงไปกับธรรมชาติ คือเราต้องทำความเข้าใจชีวิตและจิตใจของผึ้ง เขาอยู่กันอย่างไร วงจรชีวิตเขาเท่าไร หากินอย่างไร แล้วเราก็เอาตัวเองออกมา เฝ้าสังเกตเขา ศึกษาเขาอย่างเดียว ให้เขาหากินอย่างอิสระ แล้วเอื้อบ้านให้เขาอยู่ พืชอาหารในพื้นที่มีหลากหลายตลอดปี เท่ากับว่าเราไม่ต้องหยอดน้ำเชื่อม ไม่ต้องทำอะไรเลย เราแค่ดูแลให้เขาอยู่อย่างปลอดภัยก็พอ

“การที่เราเลี้ยงผึ้งเรายังสามารถช่วยอนุรักษ์ประชากรผึ้งได้ด้วย เริ่มตั้งแต่ดูแลศัตรูผึ้ง การวางตำแหน่งรังผึ้งไม่ให้อยู่ในที่ที่มีอันตราย รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวอย่างรับผิดชอบ ทุกครั้งที่เราเก็บเกี่ยวเราจะไม่ปาดรวงผึ้งทั้งหมด ไม่บีบคั้น เพราะอาจจะมีตัวอ่อนติดอยู่ เราเก็บเฉพาะรวงที่ปิดสนิทด้วยขี้ผึ้ง หมายถึงในถ้วยรวงนั้นมีแต่น้ำผึ้ง ไม่มีตัวอ่อน ส่วนที่รวงยังปิดไม่สนิทเราจะกลับคืนรัง ส่วนนั้นจะเป็นทั้งที่อยู่อาศัย ตัวอ่อน และอาหารของตัวอ่อน พอเราทำอย่างนี้ผึ้งก็จะไม่ไปไหน 

“วิถีของเรา เราจะไม่ใช้ควันเยอะๆ ในการเก็บเกี่ยว ไม่ตีรังผึ้ง เราจะค่อยๆ เปิดรัง ซึ่งต้องทำความเข้าใจเขา ดูดินฟ้าอากาศว่าวันนี้เหมาะสม รังเขาเต็มแล้ว ต้องแบ่งน้ำผึ้งออกเพื่อไม่ให้เขาทิ้งรัง แล้วก็ดูแลให้ตัวอ่อนได้มีวิถีชีวิตที่ควรจะมี และผึ้งโตเต็มวัยก็ได้อาศัยในบ้านหลังเดิมที่ปลอดภัย”

คุณเปี๊ยกบอกว่าหัวใจสำคัญที่น้ำผึ้งรักษ์ป่ายึดถือมาเสมอและจะให้ความสำคัญไปตลอด คือการรับผิดชอบต่อชีวิตผึ้งให้มากที่สุด แม้กระทั่งเซลล์ในรังผึ้งเพียงเซลล์เดียวที่ยังเปิดอยู่ ก็อาจมีตัวอ่อนผึ้งตัวเล็กๆ ที่มองไม่เห็น ดังนั้น Beekeeper ของที่นี่ก็จะเลือกตัดเฉพาะรังส่วนที่ปิดสนิทแล้วเท่านั้น

แม้กระทั่งวิธีการนำน้ำผึ้งออกจากรัง ก็ยังเป็นวิธีการที่ผ่านมือมนุษย์ให้น้อยที่สุด โดยใช้เทคนิคการห้อยรวงผึ้งไว้ให้น้ำผึ้งค่อยๆ หยดลงมาตามธรรมชาติ ไม่บีบคั้น ไม่เหวี่ยง เพื่อให้ได้น้ำผึ้งคุณภาพดีที่สุด สมกับที่ผึ้งโพรงทุกตัวบรรจงคัดสรรคัดเลือกรสชาติดีๆ มาหมักบ่มจนเป็นอาหารชั้นยอด

ต้องยอมรับเลยค่ะว่าผึ้งโพรงจากป่าชุมพรมีรสนิยมในการคัดเลือกอาหารชั้นเซียนทีเดียว ข้อเสียประการเดียวของผึ้งโพรงที่ฉันได้สัมผัสมาด้วยตัวเองก็คือผึ้งโพรงดุกว่าผึ้งในฟาร์มอื่นที่ฉันเคยไปมาพอสมควร ขนาดที่ว่าแม้กระทั่ง Beekeeper มืออาชีพอย่างพี่เดียวยังต้องใส่ชุดป้องกันเสียเต็มยศ และต้องเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งโดยใช้เวลากระชับที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องนุ่มนวลทะนุถนอมที่สุดด้วย

พี่เดียวค่อยๆ เปิดบ้านผึ้งให้เราดูอย่างเบามือ ก่อนจะเลือกตัดเฉพาะรังส่วนที่ปิดสนิท แล้วใส่รวงผึ้งส่วนที่เหลือกลับเข้าบ้านผึ้ง เสียบแท่งเหล็กพยุงรวงให้มั่นคงแล้วปิดบ้านผึ้งกลับไปเหมือนเดิม ในขณะที่ทีมผู้มาเยือนกำลังยึกยักประวิงเวลาสำหรับถ่ายรูป ผึ้งโพรงก็ส่งเสียงหึ่งดังขึ้นเป็นสัญญาณว่าพวกมันเริ่มจะรู้สึกไม่ปลอดภัยขึ้นมาแล้ว 

พี่โดนผึ้งต่อยบ้างไหมคะ – เราถาม

“ผมโดนจนชินแล้วครับ” พี่เดียวตอบพร้อมรอยยิ้มแต่ทำเอาเราขนลุกจนเก็บกล้องถอยทับกันแทบไม่ทัน

ถ้าการน้อมตัวไปหาธรรมชาติหมายถึงการสุ่มเสี่ยงโดนผึ้งต่อย วันนี้เราขอเฝ้ามองน้ำผึ้งแสนอร่อยในฐานะคนกินก็พอค่ะ 

สิ่งแวดล้อมของผึ้ง สิ่งแวดล้อมของคน

นอกจากความตั้งใจที่จะรับผิดชอบต่อผึ้งให้ดีที่สุดแล้ว น้ำผึ้งรักษ์ป่ายังเห็นว่าการรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจคงอยู่และเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนด้วย การงานของน้ำผึ้งรักษ์ป่าจึงไม่ได้จำกัดอยู่ที่การทำน้ำผึ้งให้ดี แต่รวมถึงการสร้างเครือข่ายและสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยเช่นกัน

นอกจากในพื้นที่ของคุณเปี๊ยกแล้ว น้ำผึ้งรักษ์ป่ายังขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่อื่น โดยการสนับสนุนให้เกษตรกร รวมถึงคนที่มีอาชีพเลี้ยงผึ้งอุตสาหกรรมอยู่แต่เดิม ได้มี know-how ในการเลี้ยงผึ้งอย่างรับผิดชอบตามวิถีของน้ำผึ้งรักษ์ป่า แล้วรับซื้อน้ำผึ้งทั้งหมดในราคาที่เป็นธรรม โดยมีเงื่อนไขข้อเดียวว่าตลอดกระบวนการจะต้องเป็นธรรมชาติ อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดสารเคมี และต้องเก็บเกี่ยวตามแนวทางที่รับผิดชอบชีวิตผึ้งตามมาตรฐาน ถ้าน้ำผึ้งจากเกษตรกรคนใดให้รสชาติที่โดดเด่นเฉพาะตัว น้ำผึ้งจากพื้นที่นั้นก็จะถูกผลักดันให้เป็น single origin ของตัวเอง เพื่อให้เกษตรกรเห็นคุณค่าของความสมบูรณ์หลากหลายในพื้นที่ และตอบแทนความตั้งใจในการเป็นผู้ผลิตที่ดีมาตลอดฤดูกาล

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำผึ้งแล้ว น้ำผึ้งรักษ์ป่ายังมีสินค้าอื่น อย่างเทียนหอม aromatic Candle ที่ให้กลิ่นหอมอ่อนๆ จากยูคาลิปตัสและเสม็ดเทียนหอมซึ่งเป็นพืชอาหารของผึ้งในพื้นที่ และ beewax wrap ผ้าไขผึ้งสำหรับใช้แทนพลาสติกแร็ปเพื่อลดขยะ ผลิตแบบแฮนด์เมดโดยฝีมือของกลุ่มแม่บ้านในชุมชน นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรจากรวงผึ้งให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้คนในพื้นที่รวมกลุ่มอาชีพกันได้เข้มแข็งอีกด้วย

“ในเมื่อเราอยากปักธงให้น้ำผึ้งใต้ น้ำผึ้งไทย มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมองข้ามชุมชน เพราะเขาคือคนที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงๆ” คุณเปี๊ยกในนามของน้ำผึ้งรักษ์ป่า เชื่อและปฏิบัติเช่นนี้ น้ำผึ้งรักษ์ป่าจึงไม่ใช่แค่การรับผิดชอบต่อชีวิตผึ้งหรือสิ่งแวดล้อมของผึ้งเพียงมิติเดียว แต่ยังเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ตั้งใจจะรับผิดชอบชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนอย่างถึงที่สุดเช่นเดียวกัน

การตั้งเป้าว่าจะรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบธรรมชาติ รับผิดชอบชุมชน ไปพร้อมๆ กับการทำธุรกิจให้ดีเป็นเรื่องยากใช่เล่นเลยค่ะ แต่ฉันเชื่อว่าเมื่อผู้ประกอบการตั้งใจจริง ผลลัพธ์ของมันย่อมหอมหวานคุ้มค่า เหมือนกับรสชาติของน้ำผึ้งแท้ๆ จากป่าชุมพรที่ฉันได้ชิมในทริปนี้นี่แหละค่ะ

ป.ล. ตอนนี้ทางน้ำผึ้งรักษ์ป่ามีโปรแกรม Bee our friend เปิดรับผู้ที่สนใจอุปถัมภ์รังผึ้งรายปี ในราคา 1,000 บาท/รัง/ปี ใครสนใจอยากมีบ้านผึ้งทางไกลเป็นของตัวเอง ติดป้ายชื่อน่ารักๆ พร้อมได้ผลตอบแทนเป็นน้ำผึ้งจากรังของเราอีกปีละ 3 ขวด ลองสอบถามไปทาง Facebook Page : Rakpaa.honey หรือทาง Line OA :Rakpaa.honey ได้เลยค่ะ

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS