ปัจจุบันประชากรทั้งหมดบนโลกมีเกือบ 8 ล้านล้านคน และเราใช้พื้นที่สำหรับผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงประชากรเหล่านี้ราว 3 แสนล้านไร่หรือคิดเป็น 38 เปอร์เซนต์ของพื้นที่โลกทั้งหมด ทั้งในการผลิตอาหารสำหรับเราโดยตรง อย่างผัก ผลไม้ ธัญพืช และการผลิตอาหารสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ก่อนที่สัตว์เหล่านั้นจะถูกแปรรูปมาเป็นอาหารของเราต่ออีกที
ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรบนโลกยังเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการอาหารยิ่งมากขึ้นตาม และนั่นหมายความว่าเราต้องใช้พื้นที่เพาะปลูก ทำการเกษตรและปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้อยู่อาศัยบนโลก แต่ในขณะเดียวกัน คนบนโลกที่เพิ่มขึ้นนี้ก็ยังต้องการพื้นที่สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยมากขึ้นด้วย แถมยังต้องใช้ทรัพยากรบนโลกสำหรับปัจจัยอื่นๆ เพิ่มตาม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง จึงมีการคาดการณ์เอาไว้ว่า หากเรายังตะบี้ตะบันบริโภคทรัพยากรในปริมาณเท่านี้ต่อไป อาหารของเราอาจจะหมดโลกในอีก 50 ปีข้างหน้านี้ก็เป็นได้
อาหารยั่งยืนคืออะไร?
องค์กรสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน -Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2030 โดยมี ‘Zero Hunger’ หรือการขจัดความหิวโหยเป็นข้อหนึ่งที่ถูกรวมไว้ด้วย หลังจากนั้นเองที่คำว่า Sustainable Food – อาหารยั่งยืนถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ
โดยเชื่อกันว่าอาหารยั่งยืนคือกระบวนการที่จะหยุดความหิวโหยและการขาดแคลนอาหารของมนุษยชาติได้ และแน่นอนว่า มันจะหยุดเรื่องที่อาหารจะหมดโลกไปภายใน 50 ปีนี้ด้วย
อาหารยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องของอาหาร
กว่าจะเป็นอาหารหนึ่งมื้อ เราใช้ทรัพยากรมหาศาลตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป การขนส่ง จนถึงการบริโภค เมื่อพูดถึงความยั่งยืนหรือความมั่นคงทางอาหารของคนทั้งโลก จึงแทบจะไม่มีส่วนไหนที่ไม่เกี่ยวข้อง เรียกได้ว่าเรื่องของอาหารนั้นครอบจักรวาลมากกว่าที่เราคิดเมื่อจะพูดถึงอาหารยั่งยืน มันจึงพาเราย้อนไปจนถึงต้นทางด้วยเหมือนกัน
เริ่มตั้งแต่การทำการเกษตรและปศุสัตว์อย่างยั่งยืน ซึ่งอาศัยความเข้าใจเรื่องความหลากหลายของระบบนิเวศเป็นสำคัญ การมองเห็นความหลากหลายและเชื่อมต่อกันของพืชและสัตว์ในท้องถิ่นจะช่วยดึงให้การเกษตรกลับมาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รักษาพืชพันธุ์ท้องถิ่น ทรัพยากรทางธรรมชาติ และความสมบูรณ์ของอาหารให้ยังคงอยู่ต่อไป นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เกษตรกรยุคใหม่เริ่มสนใจการทำเกษตรอย่างยั่งยืนมากขึ้น นับตั้งแต่การปลูกผักออร์แกนิก การผลิตอาหารให้เกิดคาร์บอนน้อยที่สุด ไปจนถึงการหลีกเลี่ยงปุ๋ยเคมีและพืชที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม
นอกจากนี้แล้ว อาหารยั่งยืนยังหมายถึงการรักษาคุณภาพ ทั้งคุณภาพของสิ่งแวดล้อม โดยการมุ่งเน้นเรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุด คุณภาพชีวิตของคนทั้งโลก โดยการคำนึงถึงการใช้สารพิษ สารเคมี ยาปฏิชีวนะที่จะส่งผลต่อสุขภาพผู้อื่นในระยะยาว และคุณภาพชีวิตของสัตว์ โดยการทำปศุสัตว์แบบใหม่ที่ให้สัตว์ได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ถูกเลี้ยงด้วยความเอาใจใส่และความเคารพ รวมถึงลดความเจ็บปวดในกระบวนการการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ด้วย
อาหารยั่งยืนยังหมายรวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีและสนับสนุนชุมชนในท้องถิ่น และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร ให้มีรายได้ที่เหมาะสม มีการทำงานที่ปลอดภัยและไม่เสี่ยงอันตรายจากงานหนัก สารเคมี และอุบัติเหตุ หลายเรื่องอาจดูห่างไกลจากคำว่าอาหารหมดโลก แต่เชื่อเถอะว่าผู้ผลิต สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับความยั่งยืนทางอาหารของเรา
อาหารยั่งยืน ไม่ใช่แค่เรื่องของฟาร์ม สวน และไร่
แม้ว่ากระบวนการการผลิตจะเป็นส่วนที่ยาวนานที่สุด แต่กระบวนการต่อเนื่องหลังจากนั้นก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนทางอาหารได้ไม่แพ้กัน นับตั้งแต่การขนส่งจากแหล่งผลิต ล้างทำความสะอาด ตรวจสอบคุณภาพ ตัดแต่ง จนบรรดาอาหารสด เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้มานอนรอแอ้งแม้งอยู่ในร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต นับเป็นกระบวนการที่ใช้พลังงานมาก และสร้างขยะอาหารอีกจำนวนไม่น้อย
ยังไม่นับเรื่องกรรมวีธีการปรุงที่มีการทิ้งอาหารไปอีกจำนวนหนึ่ง ใช้ไฟ ไฟฟ้า น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติอีกมากโข กว่าจะเสิร์ฟมาในหนึ่งมื้ออาหาร แถมยังมีสารพัดวิธีการบริโภคของคนในยุคนี้ที่ซ้ำเติมความเจ็บช้ำด้วยวัฒนธรรมบุฟเฟ่ต์ การบริโภคเนื้อสัตว์ที่มากขึ้น ไปจนถึงการบริโภคอาหารซ้ำๆ บีบให้หน่วยการผลิตตั้งต้นที่เป็นเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมต้องเร่งสร้างผลผลิตมาเอาใจคนกิน
อนาคตความยั่งยืนของอาหารจึงไม่ใช่เรื่องของคนปลูก แต่เป็นคนกินอย่างเราต่างหากที่เป็นตัวการหลัก ว่าเราจะมองเห็นผลกระทบจากการกินของเรา ที่อาจเสกให้อาหารหายไปจากโลกในอีก 50 ปีข้างหน้าหรือไม่?
กินอย่างไรให้ยั่งยืน
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ความยั่งยืนของอาหารจะเป็นเรื่องครอบจักรวาล แต่สำหรับเราในฐานะผู้บริโภค การเลือกซื้อเลือกกินอาหารอย่างที่ให้มั่นใจได้ว่าเรายังจะมีอาหารกินไปอีกตลอดจนชั่วลูกชั่วหลาน ก็คือการปรับพฤติกรรมการกินเล็กๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันเรานี่เอง ไม่ว่าจะเป็นการกินอย่างรู้ที่มาของอาหาร เลือกสนับสนุนการเกษตรอย่างยั่งยืน ลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากการกินของเรา ไปจนถึงเรียนรู้ที่จะ ‘สร้างอาหาร’ ของตัวเองด้วยการปลูกอย่างละเล็กละน้อย เป็นต้น
วิธีการกินอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคต ยังมีอีกมากมายสารพัด แถมยังเป็นเรื่องง่ายแบบที่ไม่ว่าใครก็ทำได้ ซึ่งแน่นอนว่า KRUA.CO ก็จะสรรหามาแบ่งปันตลอดเดือนมิถุนายนนี้
มาร่วมสร้างอนาคตทางความอิ่มอร่อยไปด้วยกันค่ะ
อ้างอิง: https://data.worldbank.org