ถังหูลู่ ผลไม้เชื่อมเสียบไม้จีน สตรีทฟู้ดสุดหวานกรอบ

3,892 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ผลไม้เชื่อมเสียบไม้สีสวย รสชาติหวานอมเปรี้ยวกรุบกรอบที่ใครๆ ก็เลิฟ

ใครชอบอ่านนิยายจีน ชอบดูซีรี่ส์จีน ฉันมั่นใจว่าต้องเคยเจอชื่อ ‘ถังหูลู่’ หรือเคยเห็นภาพเหล่าผู้ติดตามจอมยุทธ์ไปเลือกซื้อผลไม้เชื่อมเสียบไม้ยาวๆ ตามตลาดริมทาง แล้วถือเดินกินอย่างน่าอร่อยแน่ๆ ซึ่งไม่ใช่ว่ามันเป็นของกินที่จอมยุทธ์ระดับเทพไม่กินนะคะ ฉันว่าสาเหตุที่คนเขียนหรือคนแต่งนิยายไม่ให้จอมยุทธ์เท่ๆ เก่งๆ เดินกินถังหูลู่ คงเพราะการให้เจ้าสำนักหน้าดุลุคน่าเกรงขามเดินถือไม้ยาวเสียบผลไม้เชื่อมแกินอย่างเอร็ดอร่อย มันคงเสียลุคคูลๆ หมด 555 เหล่าลูกกะจ๊อกหรือสาวใช้ของคุณหนูคนงามทั้งหลายจึงต้องรับหน้าที่แทน

ถังหูลู่หรือถังหูหลู มีความหมายว่าน้ำเต้าเคลือบน้ำตาล เพราะแต่เดิมเขาใช้เพียงผลซานจาหรือพุทราจำนวน 2 ลูก เสียบไม้ไผ่ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นแท่งเหมือนลูกชิ้น โดยผลใหญ่อยู่ด้านล่าง ผลเล็กอยู่ด้านบน มองแล้วรูปร่างคล้ายผลน้ำเต้า นำไปจุ่มในน้ำเชื่อมให้ผิวนอกแข็งตัวเป็นมันเงาแวววาว เมื่อกินแล้วก็ได้รสชาติเปรี้ยวอมหวาน แล้วคำว่า ‘หูลู่’ หรือน้ำเต้ายังพ้องเสียงกับชื่อของเทพฮก ลก ซิ่ว ซึ่งมีความหมายที่เป็นมงคล ชาวจีนเลยเชื่อว่าถังหูลู่จะนำความโชคดี ความมั่งคั่งมาให้

ถังหูลู่

แถมต้นกำเนิดของขนมชนิดนี้ยังสืบย้อนกลับไปถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง ภายใต้การปกครองของฮ่องเต้กวงจงเลยทีเดียว เมื่อพระสนมคนโปรดของฮ่องเต้เป็นโรคเบื่ออาหาร ร่างกายผ่ายผอม หน้าตาซีดเซียว หมอหลวงพากันหายาสารพัดชนิดมารักษา แต่รักษายังไงก็ไม่หาย จนมีหมอจากนอกวังขออาสามารักษาอาการป่วยของพระสนม หลังจากตรวจดูอาการ หมอก็เขียนใบสั่งยาอย่างง่ายๆ โดยระบุว่า ให้นำผลซานจามาเคี่ยวกับน้ำเชื่อม นำไปให้พระสนมเสวยวันละ 5-10 ลูกก่อนมื้ออาหารทุกครั้ง และวิธีการแสนง่ายนี้ก็ทำให้พระสนมอาการดีขึ้นจริง ซึ่งเป็นเพราะผลซานจามีสรรพคุณมากมาย ทั้งแก้อาหารไม่ย่อย โรคบิด บรรเทาอาการเลือดคั่ง ขับพยาธิเส้นด้าย ที่สำคัญคือช่วยย่อยอาหาร ด้วยสรรพคุณเหล่านี้เองทำให้ชาวจีนนำผลซานจามาเสียบไม้เชื่อมขายเป็นของกินเล่นมาตั้งแต่โบราณ

เวลาผ่านไป ถังหูลู่ก็ได้รับการพลิกแพลงจากผลซานจามาเป็นผลไม้ชนิดอื่นๆ เช่น แอปเปิ้ล ส้ม มาจนถึงสตรอวเบอร์รี กีวี่ สับปะรด ฯลฯ แบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน โดยแม้จะมีให้กินในทุกฤดู แต่สำหรับสมัยโบราณ ช่วงพีคของถังหูลู่คือฤดูหนาวที่แต่ละครอบครัวมักทำกินเอง โดยนำวัตถุดิบ เช่น ผลซานจาหรือหัวมัน ไปชุปน้ำเชื่อม แล้วนำไปตากไว้ที่สนามเพื่อให้น้ำตาลเคลือบแข็งตัว แค่นี้ก็เป็นอันเสร็จ ได้ของกินเล่นหวานๆ เย็นๆ กรอบๆ อร่อยนักแล

ถังหูลู่

ส่วนในปัจจุบัน ถังหูลู่ไม้ยาวๆ เสียบผลไม้หลากชนิดสีสวยเนื้อมันวาวเป็นของกินประจำตลาดนัดในจีนและไต้หวัน กลายเป็นสตรีทฟู้ดสุดฮิตที่ไม่ว่าจะคนท้องถิ่นหรือนักท่องเที่ยวก็นิยมแวะซื้อติดมือเดินกินกันคนละไม้สองไม้ ฉันเองที่ไม่ได้ไปไต้หวันนานแล้วก็คิดถึงความหวานกรอบของถังหูลู่ขึ้นมา แล้วจะช้าทำไม ในเมื่อยังไม่ได้ไป ก็ทำกินเองไปเลยสิ ง่ายจะตายขนาดนี้ มาค่ะ มาฟินกับความหวานนิดเปรี้ยวหน่อยอร่อยกรุบกรอบไปด้วยกัน จะกินคนเดียว จะแบ่งเพื่อน หรือจะทำเป็นขนมกินเล่นเวลามีปาร์ตี้ก็ได้

สูตรถังหูลู่ >>  https://krua.co/recipe/tang-hu-lu/

ถังหูลู่ 

จำนวน 15 ไม้

สตรอวเบอร์รี 9 ลูก 

องุ่นเขียว 12 ลูก 

ส้มเขียวหวาน 2 ลูก 

กีวี่ 2 ลูก 

น้ำตาลทรายขาว 400 กรัม

น้ำ 200 กรัม

น้ำเชื่อมข้าวโพด 70 กรัม

น้ำมะนาว 1 ช้อนชา

น้ำเย็นจัด (น้ำใส่น้ำแข็ง) ไว้สำหรับชุบผลไม้

อุปกรณ์ ไม้ปลายแหลม เทอร์โมมิเตอร์ โฟมสำหรับปักผลไม้

ถังหูลู่
ถังหูลู่
ถังหูลู่

วิธีทำ

1. เตรียมผลไม้โดยล้างสตรอวเบอร์รีและองุ่นให้สะอาด ใช้กระดาษทิชชูซับให้แห้งสนิท นำไปเสียบไม้ เตรียมไว้

2.  เตรียมส้มโดยปอกเปลือก แกะออกเป็นกลีบๆ นำไปเสียบไม้ เตรียมไว้

3. เตรียมกีวี่โดยปอกเปลือกกีวีให้หมด ผ่าครึ่งตามยาว และหั่นตามขวางให้ได้ 3 ชิ้น (1ลูกจะได้ทั้งหมด 6 ชิ้น) ใช้กระดาษทิชชูซับให้แห้งสนิท นำไปเสียบไม้ เตรียมไว้

3. ทำน้ำตาลเคลือบโดยใส่น้ำตาล น้ำ น้ำเชื่อมข้าวโพดและน้ำมะนาวลงในกระทะ ใช้ช้อนคนให้พอเข้ากัน จึงค่อยยกขึ้นตั้งบนไปกลางค่อนอ่อน ต้มจนน้ำตาลละลายดี ให้ต้มต่อจนได้อุณหภูมิ 140-150 องศาเซลเซียส โดยใช้เทอร์โมมิเตอร์วัด 

4.ระหว่างรอน้ำเชื่อมได้ที่เตรียมภาชนะใส่น้ำและน้ำแข็งไว้เตรียมพักผลไม้ พอน้ำเชื่อมได้ที่ ลดเป็นไฟอ่อน แล้วนำผลไม้ลงชุบ โดยค่อยๆ หมุนไม้ให้ผลไม้เคลือบน้ำเชื่อมบางๆ แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็นจัดที่เตรียมไว้ประมาณ 10-15 วินาที นำขึ้นเสียบไว้ที่โฟม ทำซ้ำจนหมด จัดใส่จานเสิร์ฟ

ถังหูลู่

เคล็ดลับเพื่อความกรอบอร่อยขั้นสุด

  • ผลไม้ที่นำมาชุบต้องแห้งสนิท
  • ใส่มะนาวในน้ำเชื่อมจะช่วยให้น้ำตาลไม่ตกผลึกง่ายขณะที่เราชุบ
  • ถ้าไม่มีเทอร์โมมิเตอร์ให้สังเกตฟองที่เดือด โดยฟองจะค่อยๆ เดือดแต่ช้าลง และน้ำเชื่อมเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนแปลว่าอุณหภูมิได้ที่แล้ว (140-150องศาเซลเซียส)
  • เช็คน้ำเชื่อมโดยหยอดน้ำเชื่อมลงน้ำเย็นจัด ถ้าน้ำเชื่อมแข็งและกรอบแสดงว่าน้ำเชื่อมได้ที่แล้ว
  • ในขณะที่ชุบควรเปิดไฟอ่อนไว้ไม่ให้น้ำเชื่อมเย็น หากน้ำเชื่อมเย็น น้ำเชื่อมจะตกผลึก
  • ผลไม้ที่ผ่านการชุบน้ำเชื่อมแล้ว ไม่ควรแช่น้ำน้ำเย็นจัดนานเกินไป ไม่งั้นน้ำเชื่อมที่เคลือบจะละลายไปกับน้ำ
  • ทำเสร็จแล้วควรรับประทานทันที เนื่องจากสภาพอากาศเมืองไทยค่อนข้างร้อน ถ้าตั้งทิ้งไว้ด้านนอกนานเกินไป น้ำตาลที่เคลือบจะเหนียว 

ที่มา: https://www.jamsai.com/

https://th.wikipedia.org/wiki/

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS