5 วิธีเก็บเนื้อสัตว์ให้สดใหม่กินได้นาน

27,124 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เคล็ดลับในการเก็บเนื้อสัตว์ให้สดใหม่ และง่ายอย่างที่คุณนึกไม่ถึง

ช่วงนี้หลายคนประสบปัญหาการจ่ายตลาดได้น้อยครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้ต้องซื้อของสดคราวละมากๆ เลยเกิดปัญหาตู้เย็นล้น ขาดความเป็นระเบียบ จนกระทั่งของสดกลายเป็นเก่าเก็บหรือเน่าเสียไปอย่างน่าเสียดาย วันนี้ KRUA.CO มีวิธีการจัดการเนื้อสัตว์และการนำออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมาบอกค่ะ

หลักการจัดเก็บเนื้อสัตว์ไว้ใช้ได้นานๆ รวมถึงวิธีนำออกไปใช้อย่างชาญฉลาด มีอยู่ 5 ข้อดังนี้

1. เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่สดใหม่

ข้อนี้หลายคนน่าจะรู้อยู่แล้ว การจะเก็บของให้สดใหม่เสมอ แปลว่าของที่ซื้อมา ต้องสดใหม่ตั้งแต่ต้น เช่น เลือกเนื้อไก่ที่มีสีอมชมพู ไม่เป็นเมือกหรือมีกลิ่น หากเป็นไก่ติดหนัง ให้เลือกหนังไก่สีขาว ไม่เหลืองหรือมีรอยช้ำ เนื้อหมูสีแดงอมชมพู ปลาต้องไม่มีกลิ่นคาว ตาใส ไม่แดง หรือเหงือกดำ

2. ล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนเก็บ

ต้องล้างทำความสะอาดให้ดีก่อนเก็บ เช่น เนื้อหมู ไก่ วัว ถูด้วยเกลือเพื่อให้เกล็ดเกลือขัดเอาคราบเมือกบนผิวเนื้อสัตว์ออก และความเค็มของเกลือจะฆ่าเชื้อโรคบนผิวก่อนที่เราจะจัดเก็บ ถ้าเป็นกุ้งที่แกะแล้ว ให้ล้างเนื้อกุ้งด้วยน้ำแป้งมันจนกุ้งสะอาด แป้งมันจะทำให้เนื้อกุ้งกรอบ ใสเด้งอีกด้วย

3. เก็บเนื้อสัตว์ในช่องแข็งควรเก็บในสภาวะสุญญากาศหรือมีอากาศน้อยที่สุด

วิธีที่จะเก็บให้ได้นาน คือการแช่ตู้เย็นช่องแข็ง แต่หากไม่รู้วิธีเก็บให้ดี เนื้อสัตว์ก็จะเสียคุณภาพได้ เช่น โดนน้ำแข็งกัดจนแห้ง สีซีดลง การเก็บแบบสุญญากาศช่วยให้ผิวของเนื้อสัตว์ไม่สัมผัสกับความเย็นโดยตรงทำให้ไม่แห้ง ดังนั้นจึงควรให้ถุงซิปล็อกหรือพลาสติกแรปแนบไปกับผิวเนื้อสัตว์ มีเทคนิคง่ายๆ ก็คือนำถุงซิปล็อกไปแช่ในน้ำ น้ำด้านนอกจะดันพลาสติกให้แนบไปกับเนื้อสัตว์ที่ใส่อยู่ข้างในโดยธรรมชาติ ถือเป็นการไล่อากาศออกเองโดยที่เราไม่ต้องพยายามอะไรเลย หลังจากนั้นก็รูดปิดถุงซิปล็อกได้เลย

4. เก็บให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานทันที

ถ้าเราซื้อเนื้อสัตว์ชิ้นโตๆ มาเป็นกิโลฯ เพื่อจะนำมาเก็บ แนะนำว่าอย่าเก็บเป็นก้อนใหญ่ๆ ไหนจะกินพื้นที่ตู้เย็น และเวลาจะกินทีก็แสนจะลำบาก ต้องเอาออกมาละลายน้ำแข็งทั้งก้อนแบบนั้น บางทีใช้ไม่หมดก็ต้องเอากลับเข้าช่องแข็งอีก ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้เกิดเชื้อโรคได้ง่าย เพราะอุณหภูมิเนื้อสัตว์เปลี่ยนไปมา

วิธีที่เหมาะสมคือ การแบ่งให้อยู่ในปริมาณที่จะใช้แต่ละครั้ง เช่น เราประเมินว่าอยู่กัน 2 คนที่บ้าน แบ่งเนื้อหมูออกเป็นถุงละ 100-200 กรัม เก็บไว้สำหรับทำเมนูผัดต่างๆ ที่สำคัญเวลาแบ่งให้หั่นเป็นชิ้นขนาดที่จะใช้งานเลย จะได้ไม่ต้องรอละลายน้ำแข็งแล้วมาหั่นอีก จัดเก็บแบ่งเป็น portion แล้วใส่กล่องตามประเภทของเนื้อสัตว์ เพื่อให้หยิบใช้งานได้ง่าย

สำหรับอาหารแปรรูปอย่าง ไส้กรอก เบคอน เวลาซื้อมาเป็นแพ็ค ควรแยกออกมาจัดสรรสำหรับใช้งานแต่ละครั้ง เช่น เบคอนแยกม้วนทีละ 3-4 แผ่น คั่นด้วยกระดาษไขไม่ให้ติดกัน นอกจากนี้การเก็บเนื้อสัตว์ให้อยู่ในลักษณะถุงแบนๆ ก็จะช่วยให้ละลายน้ำแข็งได้ง่ายขึ้น

วิธีการนำอาหารแช่แข็งออกมาใช้ นอกจากจะนำทั้งถุงไปแช่น้ำเพื่อละลายน้ำแข็งแล้ว ยังสามารถวางหม้อสเตนเลสสองใบประกบถุงเนื้อสัตว์ไว้ หม้อสเตนเลสจะช่วยถ่ายความเย็นออกจากเนื้อสัตว์ ในขณะที่ไม่ทำให้เนื้อสัตว์เสียรสชาติ ไม่เหมือนกับการเอาเนื้อสัตว์ลงไปแช่น้ำให้หายเย็นโดยตรง

5. Zero waste

เป็นการเก็บและใช้เนื้อสัตว์ทุกส่วนให้มีค่า จำเป็นมากในยุคที่เราต้องประหยัด ไม่มีการทิ้งส่วนที่กินได้ แต่ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น ถ้าเราซื้อปลามาทั้งตัว แทนที่เราจะทิ้งหัวปลา อาจนำเอามาทำต้มยำหรือหัวปลาหม้อไฟก็ได้
( ดูสูตรหัวปลาหม้อไฟ)หรือแม้กระทั่งก้างปลา (ปลาเนื้อขาว) เอามาต้มน้ำซุปแบบฝรั่งได้ (ดูสูตรน้ำสต๊อกปลา )

ส่วนกุ้งหลังจากตัดหนวดและกรีแหลมๆ ออกแล้ว ล้างทั้งเปลือกให้สะอาด แกะแยกเป็นส่วนๆ ได้แก่ เปลือกกุ้ง เนื้อกุ้ง และหัวกุ้ง นำเปลือกกุ้งไปต้มน้ำสต๊อกหอมๆ ไว้ทำแกงส้ม หรือซุปบิสก์แบบฝรั่งได้ เนื้อกุ้งนำมาล้างแป้งมันให้สะอาดจนตัวใสเด้ง แล้วเก็บเข้าช่องแข็งอย่างถูกวิธีไว้ทำอาหารต่อไป หัวกุ้ง นำมาบีบเอามันที่หัวออกมาไว้ทำเมนูผัดมันกุ้ง

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะอยากไปรื้อตู้เย็นเพื่อจัดระเบียบข้าวของเสียใหม่ เพื่อให้ง่ายเวลาหยิบใช้ หรืออาจจะอยากออกไปซื้อเนื้อสัตว์มาตุนเอาไว้ใช้นานๆ เพราะรู้วิธีเก็บแล้ว สุดท้ายนี้เมื่อรู้จักเก็บของในตู้เย็นแล้ว ก็อย่าลืมหมั่นเช็ดทำความสะอาดตู้เย็นเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะช่องแช่แข็ง เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคและเพิ่มสุขอนามัยที่ดีในการจัดเก็บอาหารอีกด้วยค่ะ

สนใจไอเดียกล่องถนอมอาหารดูได้เพิ่มเติมที่ locknlock

อ่านบทความเพิ่มเติม

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS