“พวกนักเรียนนอกนี่ กลับมาเจียวไข่เป็นกันทุกคน”
“หิวดึกๆ ทีไร มาม่าใส่ไข่คือคำตอบ”
“ถ้าป่วยแล้วไม่อยากอาหาร ข้าวคลุกไข่ต้มคือนิพพานบอกเลย”
ต่อให้ทำอาหารไม่เก่งเอาซะเลย แต่น้อยคนจะไม่เคยลงครัวเจียวไข่สักฟอง…
และคงปฏิเสธยากว่า เมื่อไฟลท์บังคับให้ต้องเข้าครัวมาถึง เราจะไม่คำนึงถึงเมนูไข่เป็นไอเดียแรกๆ
ด้วยอาหารจานไข่ไม่เพียงเป็นเมนูแรกๆ ที่เราคุ้นเคย เพราะไม่ว่าจะชาติภาษาไหนล้วนมีเมนู ‘ไข่’ สำหรับเด็กน้อย ส่งผลให้เราคุ้นชินรสชาติแอบแฝงอารมณ์คิดถึงบ้านคิดถึงครอบครัว ไข่ยังคู่เคียงกับการเติบโตของมนุษยชาติมานานหลายล้านปี เนื่องจาก ‘ไข่’ เป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่เราไม่จำเป็นต้อง ‘ต่อสู้เพื่อให้ได้มา’ เหมือนเนื้อสัตว์ที่ต้องล่า หรือพืชผักบางชนิดที่ต้องฝ่าดงความอันตรายไปเก็บเกี่ยวมาหล่อเลี้ยงชีวิต… มนุษย์เก็บไข่นก ไข่ไก่ ไข่เป็ดหรือไข่ของสัตว์ชนิดต่างๆ บริโภคกันมาเรื่อยๆ กระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์จึงเริ่มเลี้ยงสัตว์ไว้กินไข่กันในชุมชน
ไข่จึงกลายเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่เพิ่มทั้งปริมาณและกระจายความนิยมอย่างรวดเร็ว จากหนึ่งชุมชน สู่อีกหลายดินแดนทั่วโลก โดยนักประวัติศาสตร์ประเมินกันว่า ราว 7 พันปีก่อนคริสตกาล ผู้คนแถบอินเดียและจีนก็เริ่มเลี้ยงไก่ไว้กินไข่กันแล้ว ก่อนตามมาด้วยชุมชนแถบเอเชียตะวันตก ยุโรป และอเมริกาใต้ ที่นิยมเลี้ยงไก่ไว้กินไข่เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นอุตสาหกรรม
– เมนูไข่แห่งฤดูใบไม้ร่วง –
ทว่าในอดีต นวัตกรรมการเลี้ยงไก่ไว้กินไข่ก็ยังไม่ได้ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ที่เราสามารถสร้างโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิให้ไก่ออกไข่ได้ทุกวัน ไข่ไก่เลยกลายเป็นอาหารที่ทุกคนตั้งตารอคอย โดยเฉพาะในดินแดนอันหนาวเหน็บอย่างยุโรป หรือบางพื้นที่ของทวีปอเมริกา ที่ไก่จะออกไข่ก็ต่อเมื่อสภาพภูมิอากาศอบอุ่นกำลังดี ซึ่งก็คือช่วงเวลาฤดูใบไม้ผลิของทุกปีนั่นเอง
เรื่องนี้ยืนยันได้จากหลายเทศกาลสำคัญของฝั่งตะวันตกที่มีไข่เป็นกิมมิคชูโรง ไม่ว่าจะอีสเตอร์เอ้ก (Easter eggs) อันเกิดขึ้นจากความปีติยินดีที่เมนูไข่กลับมาปรากฏบนโต๊ะอาหารช่วงฤดูใบไม้ผลิ อีกทั้งเครื่องเคียงของเมนูไข่ในยุคกลาง (Middle Ages) ส่วนใหญ่ยังเป็นวัตถุดิบที่หาได้เฉพาะช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะหน่อไม้ฝรั่งในจานไข่คน หรือต้นหอมในไข่เจียวของหลายชนชาติ
และหากกลับมาย้อนดูเมนูไข่ของไทยเรา ก็คงต้องย้อนความกลับไปนับร้อยปี
ด้วยชุมชนละแวกนี้เลี้ยงไก่ไว้กินไข่กันมานาน แต่ยังเป็นไก่บ้านจำพวกไก่แจ้ ไก่ตะเภา ที่เลี้ยงอยู่ในสุ่มใต้ถุนบ้าน และให้ผลผลิตเป็นไข่ฟองจิ๋วในจำนวนแค่พอกินในครอบครัว ไข่จึงนับเป็นวัตถุดิบพื้นฐานคู่เคียงกับปลาในน้ำและข้าวในนา สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของสรรพอาหารในบ้านเมืองเราได้อย่างดี
กระทั่งปี 2484 เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมปศุสัตว์ริเริ่มนำพันธุ์ไก่ไข่จากต่างประเทศเข้ามาเพาะเลี้ยง และแจกจ่ายยังชุมชนต่างๆ ไข่ไก่จึงกลายเป็นวัตถุดิบหากินง่าย ราคาถูก และกลายเป็นสินค้าทำกำไรให้กับเกษตรกรไทยนับแต่นั้น
จึงพอพูดได้ว่า ไข่เป็นเหมือนอาหารพื้นฐานที่ส่งต่อรสชาติกันมารุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นความคุ้นเคยที่ฝังรากอยู่ในยีนของมนุษยชาติมานานนับล้านปี เพราะไข่ปรากฏตัวบนโต๊ะอาหารตลอดทุกช่วงอายุ ในแทบทุกมื้อ บางครั้งหากต้องไกลบ้านไกลเมืองแล้วลิ้นไม่คุ้นรส ส่วนใหญ่ก็มักร้องหาเมนูไข่เป็นเสียงเดียว อาหารจานไข่จึงสำคัญ มีเสน่ห์ และหลากหลายน่าสนใจ เพราะบ้านไหนเมืองไหนก็ล้วนรักความหอมละมุนของไข่ไม่ต่างกัน
เหมือนอย่าง 7 จานไข่ต่อไปนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น ‘อาหารคิดถึงบ้าน’ ของผู้คนจากทุกมุมโลก ที่เราอยากให้ทุกคนลองทำความรู้จัก
เมนูไข่นานาชาติ อาหารอบอุ่นที่ทุกคนคุ้นเคย
1.) ไข่พะโล้ / ไทย
ไข่พะโล้ที่เรารักในรสกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยนั้ จริงๆ แล้วมีรากมาจากอาหารจีน ด้วยเครื่องเทศพะโล้อย่างอบเชย โป๊ยกั๊ก กานพลูนั้นเป็นเอกลักษณ์ที่พ่อครัวแม่ครัวชาวจีนนิยมใช้ในเมนูต้ม เมนูตุ๋นกันมานานนับพันปี
โดยพะโล้อร่อยนั้นต้องประกอบด้วยรสเค็มอ่อน ติดหวานปลาย ไม่หวานแสบคอเหมือนพะโล้ทั่วไปในสมัยนี้ สำคัญคือ พะโล้เป็นอาหารที่ยิ่งเคี่ยวยิ่งอร่อย คนโบร่ำโบราณถึงกับบอกกล่าวกันว่า หากอยากกินพะโล้อร่อยต้องคอยถึงวันที่สาม เพราะน้ำพะโล้จะงวดเข้าไปในไข่และเนื้อสัตว์ ทำให้ไข่ในพะโล้หม้อนั้นทั้งหอมเครื่องเทศและเต็มไปด้วยรสชาติน้ำพะโล้เต็มๆ คำ
2.) Tamagoyaki / ญี่ปุ่น
ไข่หวาน หรือทามาโกะยากิ เมนูไข่ที่เรามักพบกันในร้านซูชินั้นแท้จริงมีมากมายหลายสูตร ทั้งแบบใส่มิริน ใส่สาเก หรือใส่เครื่องเทศ แต่โดยพื้นฐานแล้วจะต้องมีรสหวานนำ รสเค็มตาม เดิมชาวญี่ปุ่นนิยมทำกินกันในมื้อเช้า เพื่อเติมเต็มพลังงานก่อนออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน
แต่เมื่อไข่หวานได้รับความนิยมขึ้นมาก็กลายเป็นเมนูไข่ที่ปรากฏในแทบทุกมื้ออาหารของชาวญี่ปุ่น นับเป็น ‘เมนูล้างปาก’ จากจานคาวที่ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็หลงรักรสชาติหวานๆ มันๆ ของมันไม่ต่างกัน
3.) Shakshuka / อิสราเอล
ชัคชูก้า หรือไข่กระทะแบบตะวันออกกลางนับเป็นเมนูไข่ที่ผู้คนทั้งจากฝั่งตะวันตกและตะวันออกต่างหลงรัก เพราะหนึ่ง กินง่าย เต็มไปด้วยรสชาติของไข่และมะเขือเทศที่ใครๆ ก็กินได้ และสอง ทำง่ายมาก! ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีเท่านั้นก็อิ่มอร่อย
เริ่มจากนำมะเขือเทศบดเคี่ยวด้วยไฟอ่อน เติมหอมใหญ่ ไส้กรอก หรือเนื้อสัตว์ เหยาะเครื่องเทศ อาทิ ปาปริก้า พริกไทย ยี่หร่าป่น ขมิ้น รอจนซอสงวดแล้วตอกไข่ใส่ลงไป รอจนไข่ขาวเริ่มสุกแต่ไข่แดงยังเป็นยางจึงโรยหน้าด้วยชีส แล้วยกลงเสิร์ฟกับขนมปังนุ่มๆ เท่านั้นเป็นอันเสร็จ
4.) Scotch eggs / อังกฤษ
สกอตช์เอ้ก เมนูไข่กินเล่นจากเมืองผู้ดีนั้นมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 นับเป็นเมนูที่ชาวอังกฤษนิยมทำไปกินกันในวงปิกนิกวันหยุด ก่อนพัฒนามาเป็นอาหารกินเล่นที่มีขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วทั้งประเทศอังกฤษและทวีปยุโรป ด้วยรสชาติอันเฟรนด์ลี่ของไข่ต้มหุ้มด้วยเนื้อบดปรุงรส ชุบเกล็ดขนมปังทอดในน้ำมันร้อนๆ หรืออบจนหอมกรุ่น จึงทำให้สกอตช์เอ้กกลายเป็นอาหารที่เด็กๆ ก็รัก ผู้ใหญ่ก็ชอบ เพราะทั้งอิ่มท้องและอุ่นใจเหมือนได้กลับไปกินข้าวที่บ้านอย่างไรอย่างนั้น
5.) Bobotie / ทวีปแอฟริกาใต้
โบโบไท หรือเนื้ออบกับซอสครีมไข่จานนี้นั้นนับเป็นเมนูประจำถิ่นแอฟริกาใต้ก็ว่าได้ โดยสืบย้อนประวัติได้นานถึงยุคกรีกโรมัน ด้วยในตำราอาหารของนักปรัชญาชาวกรีกอย่างเอพิซีอุส (Apiseus) ก็เขียนระบุถึงการปรุงอาหารวิธีการใกล้กับโบโบทีไว้ชัดเจน ก่อนตำรับนี้จะกระจายความนิยมไปทั่วยุโรป และแพร่เข้ามาแอฟริกาใต้ กลายเป็นเมนูประจำชาติไปในที่สุด
ซึ่งโบโบไทนั้นมีเอกลักษณ์อยู่ตรงเนื้อสับที่อาจใช้เนื้อแกะ แพะ หรือวัว ปรุงกับเครื่องเทศ ถั่ว ผลไม้ แล้วท็อปด้วยครีมไข่รสละมุน ก่อนนำไปอบจนหอมกรุ่นจึงได้เมนูอิ่มอุ่นนี้ออกมา
6.) French Toast / โรมัน, ยุโรป, ฝรั่งเศส
มีใครบ้างไม่ชอบเฟรนช์โทสต์? ขนมปังชุบไข่ทอดจานนี้เรียกว่าเป็นเมนูเก่าแก่ของฝั่งยุโรปเลยก็ว่าได้ เริ่มจากเป็นอาหารที่เกษตรกรใช้วัตถุดิบหาง่ายอย่างไข่ นม และขนมปัง มาปรุงเปลี่ยนเป็นจานหนักท้องกินกันในครัวเรือน ก่อนกระจายความนิยมสู่ทั่วทั้งทวีปยุโรป แปรเปลี่ยนรสชาติไปตามแต่ละวัตถุดิบประจำท้องถิ่น กินเคียงไอศกรีมบ้าง กินเป็นอาหารเช้าบ้าง หรือบ้างก็เสิร์ฟเป็นของคาวคู่กับเนื้อชิ้นโตก็มีให้เห็น แต่สำคัญคือต้องมีหัวใจ 3 ดวงของเมนูนี้ประกอบกัน คือไข่ นม และขนมปัง!
7.) ไข่ผัดมะเขือเทศ / จีน
ถ้าบ้านเรามีไข่พะโล้เป็นเมนูคิดถึงบ้าน ชาวจีนก็มีไข่ผัดมะเขือเทศไว้ทำหน้าที่เดียวกัน เพราะไม่ว่าจะเข้าร้านอาหารจีนร้านไหน ต่อให้ในเมนูไม่ระบุชื่อไข่ผัดมะเขือเทศ เราก็สั่งพ่อครัวให้ปรุงมาเสิร์ฟได้ แถมส่วนใหญ่ก็ออกมาอร่อยเสียด้วย (ทำนองเดียวกับสั่งไข่เจียวบ้านเรา)
แต่จานนี้นั้นมีเคล็ดลับอยู่บ้าง ตรงต้องผัดด้วยกระทะเหล็ก ทั้งยังต้องใช้ทักษะในการผัดไข่ให้นุ่ม แต่ยังชุ่มด้วยรสเปรี้ยวๆ หวานๆ จากมะเขือเทศสด ที่หากผัดไม่ดีทั้งไข่ทั้งมะเขือเทศอาจเละไม่ชวนกิน เรียกว่าเป็นเมนูไข่ที่ชาติอื่นทำก็อาจไม่อร่อยล้ำเท่าชาวจีน ไข่ผัดมะเขือเทศจึงกลายเป็นอาหารคิดถึงบ้านของคนแดนมังกรที่กินเมื่อไรก็เหมือนได้ไปนั่งกินข้าวในโรงเตี๊ยมเก่าแก่