มีทบอลไม่คู่สปาเกตตีมีไหม?

3,652 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เรื่องเล่าจานอิตาเลียนอเมริกัน “สปาเกตตีมีทบอล” ย้อนลึกถึงลูกชิ้นอาหรับ ต้นน้ำลำธารมีทบอลตะวันตก

กว่า 40 ปีที่แล้ว ช่วงต้นทศวรรษ 1970s สมัยผมเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย Syracuse รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หนึ่งในอาหารที่ผมทำกินบ่อย คือ สปาเกตตีมีทบอล กลับเมืองไทยแล้วก็ยังทำกินจนเป็นเมนูประจำบ้าน ในภาษาอังกฤษอเมริกัน เรียกจานนี้ว่า Spaghetti and Meatballs สมัยนั้นร้านอาหารอิตาเลียนทั่วไปในอเมริกา โดยเฉพาะในมหานครนิวยอร์ก มักมีอาหารจานนี้บริการ ย้ำนะครับว่ามีทบอลนี้ต้มเคี่ยวกับซอสมะเขือเทศ เสิร์ฟแบบราดหน้าหรือคลุกเส้นสปาเกตตี เป็นอาหารอิตาเลียนที่ได้รับความนิยมมากในหมู่อเมริกันชน

ผมหลงคิดว่าสปาเกตตีมีทบอลเป็นอาหารอิตาเลียนมานาน กระทั่งมารู้ในภายหลังว่าเป็นอาหารอิตาเลียนแบบอเมริกัน ไม่ใช่อิตาเลียนแท้ มีทบอลเป็นอาหารอิตาเลียนที่ทำกินตามบ้านทั่วไป เรียกว่า โปลเป๊ดเต้ (Polpette) โดยเป็นอาหารจานหลักอย่างหนึ่ง ไม่นิยมกินกับพาสต้า แม้ในอิตาลีภาคใต้ โดยเฉพาะในซิซีลี จะมีมีทบอลปรุงกับซอสมะเขือเทศ แต่ก็ไม่กินกับสปาเกตตี อีกอย่างหนึ่งสำหรับชาวอิตาเลียน มีทบอลเป็น comfort food ที่ทำกินที่บ้านเป็นหลัก ร้านอาหารที่ขายมีทบอลมีน้อยมากหรือไม่มีเลย

เพิ่งในอเมริกานี่แหละ ที่มากินมีทบอลในซอสมะเขือเทศกับเส้นสปาเกตตี

ในภาพยนตร์เรื่อง Bic Night (1996) เชฟสองพี่น้องชาวอิตาเลียน คือ Primo และ Secondo อพยพมาเปิดร้านอาหารอิตาเลียนที่นิวเจอร์ซีย์ ห้วงทศวรรษ 1950s แต่ต้องขมขื่นใจที่พบว่าลูกค้าชื่นชอบ Spaghetti & Meatballs แต่กลับรังเกียจข้าว risotto ซึ่งเป็นอาหารอิตาเลียนแท้

แม้ไม่ใช่อาหารอิตาเลียนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ชาวอิตาเลียนเองแหละที่ประดิษฐ์จานนี้ขึ้นมา ระหว่าง ค.ศ.1880-1920 ชาวอิตาเลียนราว 4 ล้านคนอพยพมาตั้งหลักแหล่งแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่นิวยอร์ก โดยส่วนใหญ่ราว 85% มาจากเขตยากจนทางภาคใต้ของประเทศ คือ ซิซิลี กาลาเบรีย กัมปาเนีย อาบรอสโซ และโมลิเซ กล่าวกันว่าสปาเกตตีมีทบอลนิยมกินแพร่หลายในครอบครัวชาวอิตาเลียนอพยพ ก่อนจะนิยมในร้านอาหารอิตาเลียน ซึ่งพวกเขาเป็นเจ้าของและเป็นพ่อครัวแม่ครัวเอง เริ่มจากมีทบอลที่กินกันมากขึ้นอย่างมาก เพราะในอเมริกาเนื้อบดราคาถูก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับที่บ้านอิตาลี เศรษฐกิจอเมริกาช่วงแรกเติบโตขึ้นมาจากการขยายตัวของปศุสัตว์วัวและส่งออกเนื้อวัวไปขายยังยุโรปในราคางาม สำหรับครอบครัวชาวอิตาเลียนอพยพซึ่งเคยยากจน และเนื้อวัวเป็นอาหารเอื้อมไม่ถึงมาก่อน มาพบเนื้อบดราคาถูกในอเมริกาเข้า จึงซื้อมาทำกินกันยกใหญ่ มีทบอลกลายเป็นอาหารยอดนิยมประจำครอบครัว เป็นอาหารคิดถึงบ้านอย่างหนึ่งของครอบครัวชาวอิตาเลียนอพยพ แต่ทำไมต้องเป็นซอสมะเขือเทศ? ไม่เป็นซอสอื่น และทำไมต้องเป็นเส้นสปาเกตตี ไม่เป็นพาสต้าชนิดอื่นๆ เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าอิตาลีภาคใต้เป็นแหล่งเพาะปลูกมะเขือเทศรสดีมาก่อนเก่า แต่สมัยศตวรรษที่ 18 และต่อมาพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตมะเขือเทศกระป๋องขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งมะเขือเทศเข้มข้น (canned tomato paste) และมะเขือเทศทั้งลูกในกระป๋อง (canned whole tomatoes) จนสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศรวมทั้งอเมริกา อีกยังควรระลึกว่าในอิตาลีภาคใต้ เขามีตำรับมีทบอลในซอสมะเขือเทศอยู่แล้ว หากกินเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งดังได้กล่าวไปแล้ว ในทำนองเดียวกัน อิตาลีใต้ โดยเฉพาะที่เนเปิลส์ ก็เป็นแหล่งผลิตและส่งออกพาสต้าแห้งด้วย โดยในห้วงเวลานั้น สปาเกตตีเป็นพาสต้าแห้งที่เพิ่งผลิตเป็นสินค้าตัวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม ทั้งในอิตาลีและสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น สำหรับครอบครัวชาวอิตาเลียนอพยพในอเมริกา สปาเกตตีกับมีทบอลจึงเป็นอาหารที่ลงตัวด้วยประการทั้งปวง ด้วยเนื้อราคาถูกในอเมริกา มะเขือเทศกระป๋องและเส้นสปาเกตตีแห้งที่ทำให้รู้สึกไม่ไกลบ้าน เพราะนำเข้าจากบ้านเกิดอิตาลี ทั้งนี้โดยคนอิตาลีอพยพนั่นแหละเป็นผู้ทำธุรกิจนำเข้า บางแหล่งอ้างว่าเหตุที่เป็นสปาเกตตี ไม่เป็นพาสต้าอื่น ก็เพราะสปาเกตตีเป็นชนิดเดียวที่หาซื้อได้ง่ายในอเมริกาสมัยนั้น

สปาเกตตีกับมีทบอล อุบัติขึ้นจากการปรับตัวทางวัฒนธรรมอาหารการกินในครอบครัวชาวอิตาเลียนเป็นปฐม ต่อมาจึงนิยมในร้านอาหารชาติพันธุ์อิตาเลียน และกระจายสู่ชาวอเมริกันทั่วไปในภายหลัง โดยเฉพาะช่วงภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สปาเกตตีกับมีทบอลไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเอาใจคนอเมริกันที่นิยมกินเนื้อสัตว์เคียงกับอาหารแป้ง อย่างที่บางคนตั้งข้อสังเกต

ด้วยรุ่มรวยเนื้อวัวราคาถูก มีทบอลทำในยูเอสเอจึงมีขนาดใหญ่กว่าในอิตาลี ใหญ่ขนาดลูกกอล์ฟถึงลูกเทนนิส ส่วนของอิตาลี ใหญ่ขนาดลูกหินถึงลูกกอล์ฟ ภาษาอิตาเลียนเรียกมีทบอลว่า Polpette โดยมีรากจาก polpa ซึ่งหมายถึง fresh meat ทั้งนี้คำว่า meat ใช้ในความหมายดั้งเดิมซึ่งหมายถึงสิ่งที่กินเป็นอาหาร มิได้จำกัดเฉพาะเนื้อสัตว์เท่านั้น ในประเทศอิตาลีเอง polpette ใช้เรียกลูกชิ้นที่ทำจากผักด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ potato polpette ทำจากมันฝรั่งบดกับเกล็ดขนมปัง ชีส และผักชีลาว ปั้นเป็นลูกกลมแล้วกดแบนลง เคลือบแป้งแล้วทอดน้ำมัน ดั้งเดิมนิยมมากในซิซีลี จึงนิยมเรียก Sicilian Potato Polpette

มีทบอลในอเมริกามาจาก โปลเป็ดเต้ ของอิตาลี  แล้วโปลเป๊ดเต้ล่ะมาจากไหน หลายคนบอกว่ามาจากกรีก ซึ่งมีทบอลจิ้มกับดิปโยเกิร์ตแตงกวา เป็นหนึ่งเมนูสำคัญในชุดอาหารเมสเซ่ (mezedes) หรืออาหารเรียกน้ำย่อย อันเป็นวัฒนธรรมอาหารสำคัญในประเทศตะวันออกกลางและเมดิเตอร์เรเนียน ในกรีก โดยเฉพาะแถบทางใต้ของประเทศ มีทบอลหรือ แคฟทีส (keftés) ในภาษากรีกเป็นที่นิยมมาก อย่างไรก็ตาม กรีกรับมีทบอลจากครัวอาหรับมาอีกทอดหนึ่ง ดังเห็นได้จากชื่อเรียกมีทบอลคล้ายกัน อาทิ โคเท่ห์ (koofteh) ในอิหร่าน คัฟต้า (kufta) ในอิสราเอล และ คัฟเต้ (kofte) หรือ คัฟต้าในตุรกี

เกี่ยวกับทฤษฎีแรกมีมีทบอลที่ไหน ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าเป็นโลกอาหรับในตะวันออกกลาง โดยน่าจะเป็นอิหร่าน เพราะคัฟต้าเป็นภาษาเปอร์เซีย หมายถึงเนื้อที่ถูกสับโขลกจนเหนียว แล้วจึงกระจายไปเอเชียกลาง อินเดีย และเอเชียตะวันออก ทางตะวันตกเข้าสู่ประเทศเขตบอลข่าน กรีก อิตาลี สเปน และที่คาดไม่ถึงคือ ขึ้นเหนือสู่ยุโรปถึง สวีเดน โดยที่ ชัดบูลาร์(kottbullar) หรือมีทบอลในซอสครีม อันถือเป็นอาหารประจำชาติอย่างหนึ่งของสวีเดนนั้น แท้จริงได้อิทธิพลมาจากคัฟเต้ของตุรกี ครั้งสมัยต้นศตวรรษที่ 18 โดยพระเจ้าชาลส์ที่ 12 แห่งสวีเดน ผู้ลี้ภัยรัสเซียมาอยู่ในอาณาจักรออตโตมาน (ตุรกีปัจจุบัน) หลายปี ตกหลุมรักคัฟเต้ นำกลับไปเผยแพร่ในสวีเดนจนเป็นที่นิยมถึงทุกวันนี้

ในตะวันตก หลายคนพูดว่ามีทบอลเป็นอาหารคนจน เพราะไม่มีเงินพอซื้อเนื้อดีราคาสูงมากิน เนื้อบด (ground beef) ราคาถูกเพราะมาจากเศษเนื้อ แถมมีทบอลใส่ขนมปังป่นและเครื่องเคราอื่นเข้าไปทำให้ได้ปริมาณเพิ่มขึ้น กินอิ่มได้หลายคน อย่างไรก็ตาม สมัยครัวอาหรับเริ่มทำคัฟต้ากันนั้น ยังไม่มีเครื่องบดเนื้อ ต้องโขลกในครกให้เนื้อแกะเหนียวได้ที่สถานเดียว ซึ่งใช้ทั้งแรงและเวลา ดังนั้นการทำลูกชิ้นคัฟต้าในครัวอาหรับ จึงเป็นศิลปศาสตร์การทำอาหารที่ประณีตบรรจงอย่างหนึ่ง แม้ปัจจุบันมีเนื้อบดขาย โดยที่เราอาจเลือกเนื้อคุณภาพสูงให้คนขายบดให้ แต่ตำรับอาหารอาหรับหรือตะวันออกกลาง มักย้ำนักหนาว่า หากอยากกินมีทบอลอร่อย ต้องออกแรงนวดจนเหนียวได้ที่ ราว 20-30 นาที

ในวัฒนธรรมอาหารตะวันออกกลาง นอกจากลูกชิ้น kofte แล้ว ยังมีอาหารคล้ายกันจานอื่น โดยเฉพาะ คิบเบ่ห์ (Kibbeh) หรือลูกชิ้นเนื้อแกะกับข้าวสาลีซึ่งเป็นอาหารโบราณแห่งดินแดนพระจันทร์เสี้ยว (Fertile Crescent) อารยธรรมโบราณในตะวันออกกลาง นอกจากลูกชิ้นเนื้อแล้ว ครัวอียิปต์ยังมีลูกชิ้นถั่ว ฟาลาเฟล (Falafel) อันโด่งดังไม่แพ้กัน

เล่าประวัติความเป็นมาของสปาเกตตีมีทบอลมานานสองนาน ลงมือทำกันเลยจะดีกว่า และเพื่อให้รับกับเรื่องเล่าของมีทบอลที่กล่าวมา ผมจึงขอนำเสนอสูตรมีทบอลแนวตุรกี และมีทบอลแนวอิตาเลียนอเมริกันในซอสมะเขือเทศที่กินกับเส้นสปาเกตตี

มีทบอลกับดิปโยเกิร์ตแตงกวามีทบอลแนวครัวตะวันออกกลางดั้งเดิม ใช้เครื่องประกอบหลักเป็นเนื้อแกะ แต่เดี๋ยวนี้ใช้เนื้อวัวแทนกันมาก เดิมใช้ข้าวและถั่วเพิ่มเนื้อสัมผัสและผสานส่วนผสมให้จับตัวกันดี แต่ปัจจุบันนิยมใช้ขนมปังป่นแทนเพราะหาง่ายกว่า ปรุงรสพื้นฐานด้วยหอมใหญ่ กระเทียม เกลือ พริกไทย และปรุงกลิ่นหอมแรงด้วยเครื่องเทศกลิ่นแรง อาทิ ยี่หร่า ลูกผักชี พริกป่น ขมิ้น จันทน์เทศ แล้วแต่เลือก นอกจากเครื่องเทศยังปรุงกลิ่นด้วยสมุนไพร เช่น พาร์สเลย์ สะระแหน่ ผักชีลาว เนื่องจากส่วนใหญ่มีทบอลตะวันออกกลางมักปรุงสุกด้วยการทอด ขนาดลูกชิ้นที่ปั้นจึงมีขนาดเล็กพอคำ เพื่อให้สุกทั่วถึง

เริ่มด้วยผสมเนื้อวัวบด 500 กรัมกับหอมใหญ่สับละเอียด 1 หัวขนาดกลาง บีบน้ำหมาดๆ กับกระเทียมสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ คลุกและนวดส่วนผสมให้เข้ากัน จากนั้นใส่ขนมปังป่น ½ ถ้วย และไข่ไก่ 1 ฟอง นวดผสมให้เข้ากันดี ต่อไปใส่ยี่หร่าป่น ลูกผักชีป่น และปาปริก้า อย่างละ 1 ช้อนชา พาร์สเลย์สับและสะระแหน่สับอย่างละ ¼ ถ้วย นวดผสมให้เข้ากัน ใส่เกลือและพริกไทยให้ได้รสเค็มตามชอบ แล้วนวดส่วนผสมทั้งหมดต่อจนเหนียวหนึบ ใช้เวลานวดราว 20-30 นาที จากนั้นนำส่วนผสมเข้าตู้เย็นให้เซตตัวอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

นำส่วนผสมเนื้อออกจากตู้เย็น นวดผสมด้วยมือเปียกชื้นอีกเล็กน้อย แล้วใช้ช้อนตักใส่มือบีบให้เนื้อแน่นและปั้นลูกกลมขนาดพอคำ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร ปั้นจนหมด คลุกลูกชิ้นกับแป้งสาลีอเนกประสงค์หรือแป้งข้าวโพดให้ทั่วเพียงบางๆ ก่อนนำลงทอดในกระทะน้ำมันจนสุกเหลืองทั่ว ตักขึ้นใส่จานที่รองด้วยกระดาษซับน้ำมัน พักไว้

สำหรับน้ำจิ้มโยเกิร์ตแตงกว่า ทำง่ายเพียงตีผสมโยเกิร์ตรสธรรมชาติ (แนะนำยี่ห้อโยลิดา) 2 กระป๋องเล็ก กับแตงกวาญี่ปุ่นขูดฝอยและบีบน้ำทิ้ง น้ำส้มไวน์ขาวหรือแดง หรือแอปเปิลไซเดอร์ 2 ช้อนชา กระเทียบสับ 1 ช้อนชา น้ำมันมะกอกเอ็กซ์ต้าเวอร์จิน 1 ช้อนโต๊ะ น้ำมะนาวและเกลือ อย่างละ ½ ช้อนชา และพริกไทยดำป่น ตีให้เข้ากันดี ชิมและปรับให้ได้รสเปรี้ยวเค็มตามชอบ

มีทบอลรสเข้มอย่างตะวันออกกลางนี้ จะจิ้มดิบโยเกิร์ตแตงกวากิน หรือแบ่งราดในจานของแต่ละคน ก็อร่อยและดูดีทั้งนั้น แต่สำหรับคนไทยสมัยใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับกลิ่นเครื่องเทศรสแรงอย่างยี่หร่าและลูกผักชี อาจไม่ฟินนักกับมีทบอลแบบนี้

มีทบอลในซอสมะเขือเทศ เป็นแนวอิตาเลียนอเมริกัน ใช้เนื้อวัวบดเป็นหลัก โดยอาจมีเนื้อหมูบดร่วมด้วยเพื่อเพิ่มส่วนไขมัน ใช้ขนมปังป่นและไข่ช่วยผสานส่วนผสม เครื่องปรุงรสพื้นฐานนอกจากหอมใหญ่ กระเทียม เกลือ พริกไทยแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ชีสพาร์เมซาน ปรุงกลิ่นด้วยสมุนไพรรสอ่อน เช่น พาส์เลย์ สะระแน่ โหระพา ออริกาโน แล้วแต่เลือก เนื่องจากปรุงสุกโดยต้มเคี่ยวกับซอสมะเขือเทศ มีทบอลจึงอาจปั้นเป็นลูกโตได้ตามสมควร โดยทั่วไป เครื่องเคราของมีทบอลจะน้อยกว่าแบบตะวันออกกลาง และมีเอกลักษณ์สำคัญตรงชีสพาร์เมซาน

เครื่องประกอบหลัก คือ เนื้อวัวบด 500 กรัม หลังๆ นิยมใส่หมูสับด้วยสัก 200 กรัมเพื่อเพิ่มไขมัน นวดผสมกับขนมปังป่น ½ ถ้วย ไข่ (ตีให้พอเข้ากัน) 1 ฟอง หอมใหญ่สับ ½ ถ้วย กระเทียมสับ 1 ช้อนชา พาร์เมซานชีสขูดฝอย ½ ถ้วย พาร์สเลย์อิตาเลียนสับ ¼ ถ้วย เกลือเล็กน้อยและพริกไทยป่นหยิบมือ นวดให้เนื้อเหนียวพอปั้นได้ แล้วนำเข้าแช่ในตู้เย็นอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ก่อนนำมาปั้นด้วยมือเป็นก้อนกลมขนาดลูกกอล์ฟ ปั้นจนหมด แล้วคลุกมีทบอลกับแป้งสาลีอเนกประสงค์บางๆ นำลงดาดในกระทะเคลือบน้ำมันเล็กน้อยให้ผิวสุกเหลืองทั่วลูก เน้นสุกเหลืองเฉพาะผิวเท่านั้น เพราะจะนำมีทบอลไปเคี่ยวกับซอสอีกทีหนึ่ง

สำหรับซอสมะเขือเทศ หรือซอสมารินารา หากเอาง่ายสุดๆ ก็ใช้มะเขือเทศเข้มข้นกระป๋อง (tomato paste) ขนาด 5 oz. โดยเริ่มผัดหอมใหญ่สับ ½ ถ้วยกับน้ำมันมะกอก 2 ช้อนโต๊ะ จนสุกหอม แล้วตามด้วยมะเขือเทศเข้มข้น และน้ำ 2-3 ถ้วย เกลือและพริกไทย ผัดผสมจนเดือดแล้วลดไฟลงต่ำสุด ใส่มีทบอลลงไปเคี่ยวจนสุกนุ่มและซอสข้นขึ้น ชิมให้ได้รสเค็มตามชอบ

ตำรับซอสมะเขือเทศแบบพิถีพิถัน ใช้มะเขือเทศกระป๋องเต็มลูกในน้ำเกลือ ไม่ใช้มะเขือเทศเข้มข้น เขาว่ามะเขือเทศเต็มลูกในกระป๋องรสชาติดีและเตรียมง่ายกว่าแบบที่ใช้มะเขือเทศสด แบบหลังต้องกรีดผิวและลวกน้ำร้อนเพื่อลอกผิว อีกต้องกรองเอาเมล็ดออก ซึ่งยุ่งยากและใช้เวลา ส่วนที่ว่ารสดีกว่ามะเขือเทศสดนั้น มีข้ออ้างว่าอุตสาหกรรมมะเขือเทศกระป๋องเขาเลือกทำตอนช่วงเดือนที่มะเขือเทศรสดีที่สุด ในกรณีใช้มะเขือเทศสด ต้องไปเสี่ยงดวงเอาเองว่ามะเขือเทศจะรสดีหรือไม่ จากประสบการณ์ส่วนตัวผู้เขียนที่เลือกใช้มะเขือเทศสด ต้องเลือกมะเขือเทศพลัมที่สุกแดงเต็มที่ แม้รสจะผันแปรจริงอย่างที่กล่าว แต่ก็ปลอดภัยจากสารเคมีที่อาจมากับอาหารกระป๋องและประหยัดเงินกว่าเยอะ

ย้ำนะครับว่าตำรับซอสมะเขือเทศของผมใช้มะเขือเทศสดชนิดสุกจัดสีแดงเข้ม หากใครจะใช้มะเขือเทศกระป๋องก็ไม่ว่ากัน ผมใช้มะเขือเทศสด 3 กิโลกรัม หากเป็นมะเขือเทศกระป๋องแบบเต็มลูก คงใช้กระป๋องขนาด 28 oz. 2-3 กระป๋อง มะเขือเทศสุกจัดเนี่ยราคาถูกครับ เพราะคนซื้อทั่วไปเขาไม่เอา มันจึงเหมือนกับเหลือคัด ราคากิโลกรัมละ 25-30 บาทเท่านั้น แต่ต้องระวังอย่าเผลอมีลูกเน่าเสียปนเข้ามา

มะเขือเทศสุกจัดได้มาแล้ว 2½ กิโลกรัม เอามาล้าง คัดลูกเน่าเสียหรือมีแผลออก นำมากรีดกากบาทที่ก้นผล จากนั้นนำลงต้มในน้ำเดือดจัดอึดใจหนึ่ง สังเกตรอยแผลกากบาท หากเริ่มปริแยก แสดงว่าได้ที่แล้ว เทผ่านกระชอนกรองน้ำออก รอให้มะเขือเทศเย็นลงพอสมควร จึงเริ่มใช้ปลายมีดค่อยดึงลอกผิวออกจนหมด จากนั้นหั่นชิ้น แยกเนื้อกับไส้ที่มีเมล็ดอยู่ นำแกนไส้ไปยีเอาเมล็ดออก น้ำและเนื้อถ่ายไปรวมกับเนื้อมะเขือเทศในหม้อ ยกขึ้นตั้งบนไฟกลาง เดือดแล้วลดไฟอ่อน เคี่ยวไปอีกราว 45-60 นาที หรือมากกว่า จนเนื้อมะเขือเทศสุกนุ่ม เหี่ยวและคายน้ำออก พักไว้ให้เย็นลงแล้วนำมาปั่นใน food processor หยาบหรือละเอียดตามต้องการ

ครานี้ทำซอสมารินาราได้แล้ว เริ่มโดยผัดหอมใหญ่สับ 2-3 ถ้วยกับน้ำมันมะกอก ผัดจนสุกหอมจึงใส่กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะลงผัดด้วย ผัดจนหอมได้ที่แล้วจึงใส่ซอสมะเขือเทศที่เตรียมไว้ ใบโหระพาซอยหรือพาร์สเลย์ซอย ½ ถ้วย ไทม์แห้ง 1 ช้อนโต๊ะ เกลือและพริกไทย คนทุกอย่างให้เข้ากัน ชิมให้ได้รสเค็มตามชอบ หากซอสข้นเกิน เติมน้ำตามสมควร ตั้งไฟจนเดือดแล้วลดไฟต่ำ นำมีทบอลลงเคี่ยวในน้ำซอสจนมีทบอลสุกนุ่มและซอสข้นขึ้น ประมาณ 30-45นาที เป็นอันเสร็จ ส่วนจะกินราดเส้นสปาเกตตีหรือไม่ หรือจะเป็น meatballs in tomato sauce กินกับข้าว กับขนมปัง หรือกับมันบด mash potato ตามสไตล์สวีดีช ก็ไม่แปลกครับ ทำได้ทั้งนั้น

Bon Appetite!

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS