ตำราอาหารในงานศพ บทบันทึกรสชาติชีวิตของผู้วายชนม์

2,142 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
บันทึกรสชาติชีวิต ความทรงจำ และจานอาหารของผู้วายชนม์

ตู้ไม้ขนาดเล็กมุมหนึ่งในห้องทำงานทีมครัว เรียงรายด้วยหนังสือตำราอาหารเก่าตั้งแต่เห็นปีพิมพ์จนถึงเนื้อกระดาษสีน้ำตาล สลับกับหน้าปกสีฉูดฉาดตามแต่ยุคสมัย ความเก่าของหนังสือทำให้ตู้ไม้เล็กๆ ดูขลัง แต่มีชีวิตชีวาเพราะความอิเหละเขละขละของหนังสือที่ถูกหยิบเข้าหยิบออกตลอด

นอกจากตำราเก่าที่ว่าด้วยเรื่องอาหารไทย-เทศ หนังสืองานศพหรือหนังสืออนุสรณ์ของผู้วายชนม์ที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อแจกเป็นที่ระลึกก็ถูกรวบรวมไว้ในตู้ในสถานะคลังข้อมูลชั้นดีแม้มีอยู่ไม่มากเล่ม ด้วยเนื้อหาที่นอกเหนือจากอัตชีวประวัติ ยังเต็มไปด้วยสูตรอาหาร เคล็ดลับในการประกอบอาหารครัวเรือน และสูตรเฉพาะบ้านที่อาจไม่เคยเห็นที่ไหน 

หนังสืออนุสรณ์งานศพของผู้วายชนม์หรือหนังสืองานศพในภาษาปาก จัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ.2423รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงรับสั่งให้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์หลวงแจกจ่ายในงานพระราชทานเพลิงศพของพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ดูแลการจัดพิมพ์ จุดประสงค์แรกเริ่มในการจัดพิมพ์นั้นพระองค์ต้องการอนุรักษ์หนังสือสำคัญและมีคุณค่า จึงให้พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ ชนชั้นสูง ขุนนางยึดถือการจัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานศพเป็นธรรมเนียมเรื่อยมา

กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 ก็พยายามให้บรรดาชนชั้นเจ้านาย ขุนนางชนชั้นสูงคืนชีวิตให้หนังสือเก่า เพิ่มการกระจายสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือให้ขยายวงกว้างมากขึ้น คัดเลือกหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความรู้ วิชาการแขนงต่างๆ รวมถึงตำราอาหารมาตีพิมพ์ประกอบเป็นหนังสืออนุสรณ์ของผู้วายชนม์ เพื่อแจกแก่คนที่มาร่วมงาน โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ดูแลและเผยแพร่ให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการจัดพิมพ์หนังสืองานศพ จนเป็นยุครุ่งเรืองและนิยมจัดพิมพ์หนังสือแจกจ่ายเป็นที่ระลึกในงานมานับแต่นั้น  

หนังสืองานศพ บันทึกแห่งยุคสมัยของผู้วายชนม์ 

ทุกวันนี้หนังสืองานศพจัดเป็นหมวดหมู่หนึ่งที่คนรักหนังสือเก่าเฟ้นหา เป็นหนังสือระลึกที่มีราคาและคุณค่าในตลาดหนังสือเก่าเช่นเดียวกับ หอสมุดห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(ศมส.) (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ที่เห็นคุณค่าและรวบรวมหนังสืองานศพของบุคคลสำคัญจากหลากหลายแวดวง จัดเป็นคอลเลกชั่น ‘หนังสืองานศพของผู้วายชนม์’ ไว้กว่า 100 เล่ม ภายในห้องสมุดชั้น 8 และเพราะปริมาณหนังสือนั่นละที่เชื้อเชิญให้เรามาทำความรู้จักหนังสืองานศพให้ถ่องแท้กันถึงที่นี่ โดยมีคุณอนันต์ สมมูล บรรณารักษ์ผู้มีส่วนเฟ้นหาและรวบรวมหนังสือเล่าให้ฟังถึงคุณค่าหนังสืองานศพในแง่บันทึกประวัติศาสตร์สังคมจากมุมมองของคนในแต่ละยุคสมัย

“ความสำคัญของหนังสืออนุสรณ์งานศพเป็นหนังสือบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนอยู่ในนั้น ไม่เหมือนประวัติศาสตร์ที่ทางรัฐจัดทำหรือที่มีปรากฏอยู่ในตำราเรียน แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนจากคนตัวเล็กๆ บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน ชุมชนและสังคมของผู้วายชนม์ไว้ นี่คือเหตุผลที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรให้ไว้ และแนะนำให้รวบรวมหนังสืองานศพเหล่านี้ เพื่อที่จะให้เป็นข้อมูลในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แล้วก็ประวัติศาสตร์สังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย” 

หนังสืองานศพประกอบด้วยเนื้อหาส่วนอัตชีวประวัติที่มาจากลูกหลานเขียนขึ้น หรืออาจมาจากตัวผู้วายชนม์เองเขียนบันทึกเรื่องราวชีวิตเอาไว้ และประสงค์จะเผยแพร่ก็ต่อเมื่อลาโลกนี้ไปแล้ว ประกอบกับเนื้อหาส่วนที่นำมาจากหนังสือ เช่น หนังสือสวดมนต์ วรรณกรรม ไตรภูมิพระร่วง เกร็ดความรู้ต่างๆ รวมถึงตำราอาหาร พิมพ์รวมไว้ในเล่มเดียวกัน 

ความน่าสนใจคือ บันทึกเหล่านี้มาจากผู้คนหลากหลายแขนงวิชาชีพ เช่น ศิลปิน แพทย์ นักดาราศาสตร์ ข้าราชการ ทหาร นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ​ ซึ่งบันทึกเรื่องราวตั้งแต่เกิด เติบโตตลอดจนช่วงชีวิตการทำงาน จึงเป็นบันทึกความรู้ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรง เมื่ออ่านหนังสืองานศพจึงเหมือนอ่านบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีน้ำเสียงของผู้วายชนม์อยู่ในตัวอักษร อารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ล้วนสะท้อนมาจากมุมมองผู้เขียนที่มีต่อเหตุการณ์และเรื่องราวขณะนั้น บางเล่มเหมือนไดอารีบันทึกช่วงชีวิต เหตุการณ์สำคัญ และการเติบโตของคนหนึ่งจนถึงวาระสุดท้าย บางเล่มก็อ่านเพลินเหมือนนวนิยายสนุกๆ สักเรื่อง ผิดแต่ตัวละครล้วนมีเลือดเนื้อ ชีวิตจริงไม่ใช่จินตนาการ

บันทึกอาหารในตำราหนังสืองานศพ 

ข้อสังเกตหนึ่งจากที่ไล่หยิบหนังสืองานศพมาเปิดดูทีละเล่ม หากเป็นหนังสืองานศพที่ประกอบด้วยสูตรอาหาร ล้วนเป็นหนังสือของผู้วายชนม์ที่เป็นหญิงมากกว่าชายอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเมื่อมองบริบทในอดีตที่ผู้หญิงมักรับผิดชอบเรื่องงานบ้านงานเรือนเป็นหลัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เห็นบันทึกสูตรอาหารที่มาจากผู้วายชนม์ที่เป็นชายเลย เพราะในหนังสืองานศพที่มีส่วนสูตรอาหารประกอบนั้นมีทั้งที่พิมพ์จากตำราอาหาร และบันทึกสูตรรสมือของตัวผู้วายชนม์ สูตรอาหารตำรับที่ผู้ตายชอบกินตอนยังมีชีวิต รวมถึงสูตรจากวงศาคนาญาติที่มีรสมือเป็นที่ติดอกติดใจ 

“ในส่วนเนื้อหาจะมีการเอาหนังสือ ประวัติศาตร์ ตำราอาหาร เป็นได้ทั้งผลงานของผู้วายชนม์ หรือผลงานของลูกหลาน เครือญาติ ก็มารวมในเล่มนี้ หนังสืองานศพจึงเป็นบันทึกสำคัญที่ใช้สืบสาแหรกตระกูลเช่นกัน

“ถ้าเป็นหนังสืองานศพที่มีชื่อเสียงเรื่องสูตรอาหารเล่มหนึ่งคือตำราแม่ครัวหัวป่าก์ เป็นบันทึกของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เครือญาติของท่านผู้หญิงเมื่อเสียชีวิตไปก็จะขออนุญาตนำตำราบันทึกสูตรอาหารของท่านใส่ไว้ในหนังสือ โดยส่วนหน้าเป็นประวัติของผู้วายชนม์แล้วตามด้วยบันทึกสูตรอาหารแม่ครัวหัวป่าก์ เช่น หนังสืออนุสรณ์งานศพของอรพินท์ บุนนาค แต่งโดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรณ์วง ภรรยาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ หรือชื่อเล่นว่า กร บุนนาค จะเห็นว่ามีความเกี่ยวพันกันระหว่างผู้วายชนม์กับผู้เขียนซึ่งเป็นเครือญาติกัน”

ความสนุกในการอ่านบันทึกสูตรอาหารจากตำราหนังสืองานศพ ยิ่งถ้าเป็นสูตรเฉพาะบ้านจะเจอเมนูแปลกตา แปลกหูชวนตื่นเต้นและจินตนาการว่ารสชาติจะเป็นอย่างไร เช่นว่า เมนูนี้ไม่มีชื่อ บะหมี่รสแปลก ข้าวผัดสาลิกา บ้างเป็นเมนูที่เห็นซ้ำๆ หลายเล่มและน่าจะเป็นเมนูสามัญประจำบ้านในสมัยนั้น อย่าง ‘ข้าวคลุกเต้าหู้ยี้’  

ตลอดบ่ายวันนั้นทีมครัวจึงช่วยกันคัดเลือกสูตรอาหารและเลือกถอดสูตร ‘ข้าวคลุกสาลิกา’ จากหนังสืออนุสรณ์งานศพของคุณเอม อมาตยกุล ที่ชื่นชอบและเรียนรู้การทำอาหารทั้งไทยและต่างประเทศจากการฝึกฝนด้วยตนเอง และอ่านจากตำราอาหารซึ่งเป็นสูตรของตระกูล และมีบันทึกพิมพ์เป็นตำราอาหารส่งต่อกันมาภายในตระกูล ทั้งยังใช้พิมพ์ประกอบหนังสืออนุสรณ์งานศพของเครือญาติ

คลิกดูสูตรข้าวคลุกสาลิกา

ชื่อสาลิกา ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึงนกหรือเครื่องรางที่ทำให้คนหลงรัก (มค. สาลิกา สก. ศาริกา) น. นกขุนทอง, นกสาลิกา. 2.น. ชื่อเครื่องรางชนิดหนึ่ง เป็นตะกรุดดอกเล็กๆ อมไว้ในปาก ว่ามีสรรพคุณทำให้คนรัก ชื่อเมนูคล้องรูปกับวิธีจัดตกแต่งหน้าข้าวสาลิกา ที่เขียนบรรยายไว้ เมื่อจัดออกมาริ้วที่เป็นเนื้อผัดมีลักษณะคล้ายลายบนตัวนกสาลิกา นัยหนึ่งความหมายของชื่อนั้นอาจหมายถึงกินแล้วหลงรักในรสชาติก็เป็นได้ ทั้งหมดทั้งมวลก็มาจากการคาดเดาค่ะ

คลิกดูสูตรข้าวหมากทรงเครื่อง

ตำรับอาหารหวาน ‘ข้าวหมากทรงเครื่อง’ จากหนังสืออนุสรณ์งานศพของคุณเนือง นิมิราชทรงวุฒิ สูตรอาหารทั้งหมดในเล่มนี้ ผู้เขียนคือคุณโฉมศรี วินิจฉัยกุล บุตรสาวของคุณหญิงเนือง ซึ่งเขียนสูตรขึ้นจากความทรงจำและล้วนแต่เป็นอาหารที่คุณหญิงเนืองชอบรับประทาน บางสูตรไม่มีอัตราส่วนระบุชัดเจน โดยคุณโฉมศรี ให้เหตุผลว่า อาหารไทยไม่เหมือนตำราอาหารฝรั่ง ไม่ได้ชั่งตวง ใช้กะเกณฑ์ตามความชอบของผู้กิน ใครชอบรสกลิ่นอะไรมากน้อยแค่ไหนก็เติมแต่งเพิ่มลดได้ตามความพอใจ

ความน่าสนใจของ ‘ข้าวหมากทรงเครื่อง’ คือเราคุ้นชินกับการกินข้าวหมากเป็นอาหารว่าง ไม่ได้หยิบมาปรุงแต่งเพิ่ม แต่ในตำรับนี้นำข้าวหมากมาต้มกับไข่ไก่เป็นอาหารหวาน ราดด้วยกะทิ คล้ายกินข้าวเปียกผสมบัวลอยไข่หวาน คือมีเมล็ดข้าวให้ได้เคี้ยว หอมน้ำข้าวหมากและรสละมุนจากไข่กับกะทิ 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS