ปวยเล้ง ผักทรงพลังของป๊อปอาย

29,471 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ผักใบเขียวมากประโยชน์ ที่ปรุงอาหารจานโปรดได้หลากเมนู

เรารู้จักผักป๊อปอายดี ก็คือผักสปิแนช (Spinach) ที่ถูกเรียกว่าผักโขมนั่นเอง…ขอบอกว่ามันคือผักปวยเล้ง ซึ่งมีขายอยู่จำนวนมากในท้องตลาด คนละชนิดกับผักโขมนะคะ

ผักปวยเล้งเป็นผักประจำบ้านของฉัน เพราะเป็นผักที่ทรงคุณประโยชน์มากมายอย่างเหลือเชื่อ ที่แน่ชัดคือ เป็นผักที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียม ตลอดจนวิตามินซีสูงมาก ที่บ้านฉันนำผักปวยเล้งมากินสดๆ ด้วยการห่อผักหลายชนิด หลักๆ คือ ผักกาดคอส ผักกาดแก้ว ผักปวยเล้ง ผักอื่นๆ ตามแต่ฤดูกาล เช่น ผักกาดขาว ผักกาดหางหงส์ ผักตังโอ๋ แตงกวา มะเขือเทศ เป็นต้น ผักอะไรก็นำมากินร่วมกันได้ แต่ผักที่ต้องไม่ขาดเลย คือ ผักปวยเล้ง

ผักปวยเล้งกินสดมีรสชาติกินได้ง่าย กินสุกก็กินได้หลายวิธี มีทั้งต้มเป็นแกงจืด ผัดไฟมีทั้งแบบไฟแรงและเร็ว และแบบไฟอ่อนใช้เวลานานหน่อย อร่อยทั้ง 2 แบบ ที่สำคัญยังรักษาสารอาหารในผักปวยเล้งได้อย่างมั่นคง ลวกจิ้ม ใส่ในข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว ต้มในอาหารเด็กเล็ก

คุณสมบัติของผักปวยเล้งนั้น มีฤทธิ์เย็น มีรสหวาน มีสารอาหารเยอะมาก มีเส้นใยชนิดดี มีพลังงานต่ำ ดังนี้

สารอาหารกลุ่มแคโรทีนอยด์เข้มข้น สารเบต้าแคโรทีน สารลูทีน สารโพแทสเซียม วิตามินซีมีมากเป็น 2 เท่าของหัวผักกาด เป็นวิตามินซีที่ร่างกายดูดซึมได้ดี มีธาตุเหล็กและแคลเซียมจำนวนมาก ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ถึง 50% วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค

กรดโฟลิกที่มีอยู่มากในผักปวยเล้งนั้น มีด้านดี เกี่ยวกับระบบประสาท คือ เป็นสารประกอบจำเป็นในการสร้างสารซีโรโทนินในระบบเซลล์ประสาท สารตัวนี้ช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลาย นอนหลับง่าย

ด้านเสียของผักปวยเล้ง คือ มีกรดออกซาลิก (oxalic acid) ทำให้ผักปวยเล้งมีรสฝาดนิดๆ กรดตัวนี้สามารถทำปฏิกิริยากับแคลเซียมแล้วทำให้เกิดตะกอนหรือนิ่วได้ วิธีแก้ง่ายๆ คือ นำไปลวกเสียก่อนที่จะนำมาปรุงอาหาร ซึ่งลดกรดออกซาลิกได้ 80-90% ดังนั้นจึงกินผักปวยเล้งสุกได้ทุกวัน

ผักปวยเล้งมียูริกมาก ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับคนเป็นโรคเกาต์หรือโรคไขข้ออักเสบ แต่ถ้าจะกินก็ต้องนำไปขจัดยูริกออกก่อนด้วยการลวก ต้ม ทำให้สุก

 

 

สรรพคุณของผักปวยเล้ง

  • รักษาโรคตาบอดกลางคืน (Nyctalopia) ดื่มน้ำคั้นผักปวยเล้งวันละ 1 แก้ว เช้า-เย็น รักษาโรคตาบอดในผู้สูงอายุด้วย นอกจากนี้ยังรักษา ต้อกระจก อาการเพลียตา ซึ่งเป็นกันมากในผู้สูงอายุ และผู้ใช้สายตามากๆ อีกด้วย
  • ท้องผูก กินผักปวยเล้งสดหรือลวกทุกวัน ครั้งละ 300 กรัม เช้า-เย็น มีเส้นใยอาหารชนิดดี
  • โลหิตจาง เพราะผักปวยเล้งมีทั้งเหล็ก วิตามินซี โฟเลต (บี12) สารคลอโรฟิลล์ ในระดับสูง จึงร่วมด้วยช่วยกันสร้างเม็ดโลหิตแดง ดังนั้น ผักปวยเล้งจึงเหมาะกับสตรีมีครรภ์อย่างยิ่ง เพราะกำลังต้องการสร้างเม็ดเลือดแดงเพื่อลูกน้อยในครรภ์ จึงเป็นการบำรุงเลือดที่ดีอีกสถานหนึ่ง
  • ห้ามเลือด ด้วยคุณสมบัติสร้างและบำรุงเลือด จึงสร้างเกล็ดเลือดช่วยในการห้ามเลือดด้วย
  • รักษาอาการเลือดกำเดาออก เกล็ดเลือด การบำรุงเลือดนี้ก็นำมาสู่การรักษาเลือดกำเดาออกง่ายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ผักปวยเล้งสามารถควบคุม บรรเทาอาการ และฟื้นฟูสภาพผิดปกติในลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน ช่วยห้ามเลือดแผลในลำไส้ได้
  • เลือดออกตามไรฟัน (โรคลักปิดลักเปิด) ทั้งนี้เพราะในปวยเล้งนอกจากเป็นผักสร้างเม็ดเลือดแล้ว ยังเป็นผักที่มีวิตามินซีสูง จนสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันได้
  • ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร เพราะผักปวยเล้งมีประโยชน์ต่อกระเพาะอาหาร ลำไส้ ช่วยการย่อยได้ดี ช่วยให้หายใจโล่ง มีใยอาหารชั้นดี จึงช่วยรักษาทั้งโรคท้องผูก และโรคริดสีดวงทวาร อันเกิดจากท้องผูกและการสะสมความร้อนในกระเพาะอาหารและลำไส้ ด้วยคุณสมบัติที่มีฤทธิ์เย็น มีรสฝาด อันเป็นยาสมานแผลได้อย่างดี
  • ป้องกันโรคกระดูกสันหลังโหว่ในเด็กทารก ความที่ปวยเล้งมีโฟเลต หรือวิตามินบี12 มาก นอกจากจะช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือด ทำให้เราแข็งแรงแล้ว ยังช่วยสตรีมีครรภ์ป้องกันทารกในครรภ์ให้รอดปลอดภัยจากโรคกระดูกสันหลังโหว่ในเด็กทารกแรกเกิด
  • ลดความดันโลหิตสูง เพราะมีสารโพแทสเซียมสูงมาก สารนี้จะควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในระดับเป็นปกติ
  • ป้องกันโรคมะเร็ง เพราะในผักปวยเล้งมีสารอาหารกลุ่มแคโรทีนอยด์เข้มข้น มีสารเบต้าแคโรทีน (จากความเขียว) มีสารลูทีน (lutein) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ อนุมูลอิสระก็คือสาเหตุการเกิดมะเร็งโดยเฉพาะสารลูทีน ต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ลดโคเลสเตอรอลในเลือด อันเป็นไขมันตัวเบา (LDL) ซึ่งถ้ามีมากเกินไปก็จะกระทบกับผนังหลอดเลือด ในผักปวยเล้งมีสารซาโปนิน เป็นสารที่ขจัดโคเลสเตอรอลในเลือดโดยเฉพาะ
  • รักษาโรคเบาหวาน เพราะในผักปวยเล้งยังมีคุณสมบัติกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งสารอินซูลินฮอร์โมนได้เป็นอย่างดี จึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้

มารู้จักผักปวยเล้ง ผักชื่อจีน ที่ได้รับการขนานนามในแผ่นดินจีนว่าเป็น “ราชาแห่งผัก” ชื่อภาษาอังกฤษว่า “spinach” เป็นผักเพิ่มพลังของป๊อปอาย เป็นไม้ล้มลุกอายุ 1-2 ปี ใบกระจุกซ้อนกันคล้ายกลีบกุหลาบ แผ่นใบรูปไข่หัวลูกศร ก้านใบยาว 6-12 เซนติเมตร โคนก้านสีเขียวชมพู กินได้ทั้งใบและก้านใบ ใบแก่สีเขียวจัด ใบอ่อนสีเขียวอ่อน ทั้งใบแก่ใบอ่อนมีผิวสัมผัสอ่อนนุ่ม กินง่าย เกิดในที่สูงอุณหภูมิ 18-20 องศาเซลเซียส แดดครึ่งวัน น้ำชุ่ม ดินฉ่ำ อุดมด้วยแร่ธาตุ

คุณค่าอาหารของปวยเล้ง 100 กรัม ให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี ประกอบไปด้วยไขมัน 0.9 กรัม คาร์โบไฮเครต 1.6 กรัม โปรตีน 2.6 กรัม แคลเซียม 54 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 60 มิลลิกรัม เหล็ก 0.1 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.4 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน  2,520 ไมโครกรัม วิตามินบี1 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.48 มิลลิกรัม วิตามินซี 15 มิลลิกรัม

คุณประโยชน์มากและทำได้หลากหลายเมนูขนาดนี้ เราเลยมีสูตรอาหารจากปวยเล้งมาฝาก ให้ได้ลองทำตามกันดูค่ะ 

ดูสูตรข้าวต้มไก่ทรงเครื่องได้ที่นี่

ดูสูตรผัดสปาเกตตีปวยเล้งได้ที่นี่

ดูสูตรสลัดผักปวยเล้งได้ที่นี่

ดูสูตรแกงจืดผักปวยเล้งได้ที่นี่

ดูสูตรผัดผักปวยเล้ง เห็ด กระเทียมได้ที่นี่

ดูสูตรซุปผักปวยเล้งได้ที่นี่

ดูสูตรยำผักปวยเล้งได้ที่นี่

 

เรื่อง นิดดา หงษ์วิวัฒน์
สูตรอาหาร อบเชย อิ่มสบาย

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS