ตราด เมืองชายฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกของประเทศไทย นอกจากเกาะน้อยใหญ่แล้ว จังหวัดนี้ยังคงเสน่ห์และกลิ่นอายของวิถีชีวิตชาวเลในชุมชนต่างๆ ไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งมีความหลากหลายของระบบนิเวศ นอกจากปู กุ้ง ปลา ก็ยังมีสัตว์ทะเลอีกชนิดหนึ่งที่หากินไม่ได้ง่ายๆ ต้องมาจังหวัดตราดเท่านั้นจึงจะได้กิน คือ หอยพอกและหอยฉลอง ทั้งสองชนิดนี้เป็นหอยพื้นถิ่นที่ชาวบ้านแถวนี้หากินกัน โดยความพิเศษอยู่ตรงวิธีทำหอยให้สุกแบบที่ไม่ค่อยเห็นที่ไหนมาก่อน รวมทั้งความอยากลองหาหอยเอง เราจึงได้ติดต่อ ผู้ใหญ่สายชล – สายชล สุเนตร ผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้านท่าระแนะให้ช่วยหาคนพาเราไปหาหอย การออกเดินทางบุกป่าฝ่าโกงกางตามหาหอยจึงเริ่มต้นขึ้น โดยที่ไม่รู้เลยว่าความโหด มัน ฮากำลังบังเกิดขึ้นแล้ว
ฉันและสมาชิกอีกสองคนมุ่งหน้าสู่ชุมชนบ้านท่าระแนะ จ.ตราด ที่นี่มีป่าชายเลนและทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งยังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้คนเข้ามาศึกษาและเรียนรู้อีกด้วย ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงเป็นหลัก เช่น วางอวนปู หาหอย หากั้ง จับปลา เราได้นัดแนะกับ ลุงโจ๋น – กองภพ สุเนตร ชายมาดเท่ที่แฝงด้วยอารมณ์ขัน อดีตมัคคุเทศก์ผู้รอบรู้แห่งบ้านท่าระแนะ เชี่ยวชาญด้านการประมงทั้งจับปลา หาหอย จับกุ้ง ลงอวนปู เป็นคนที่จะพาเราออกไปตามหาหอยกันในวันนี้ การเข้าไปหาหอยนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องล่องเรือผ่านป่าโกงกาง แล้วเดินเท้าต่อไปยังป่าชั้นในที่อยู่ลึกขึ้นไปอีก
“คนที่นี่เรียกหอยฉลองว่า หอยหลอง ต้องเดินเข้าไปหาในป่าชายเลนชั้นในที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง ส่วนหอยพอกจะอยู่ตามป่าชายเลน ป่าโกงกางชั้นนอกที่น้ำท่วมถึง ทั้งสองชนิดนี้หาได้ทั้งปีไม่มีฤดูกาล ขึ้นอยู่กับน้ำทะเล ถ้าน้ำลงเราก็หาได้หมด บางคนชำนาญหน่อยน้ำทะเลสูงยังหาได้เลย
“อย่าลืมฉีดยากันยุง เปลี่ยนรองเท้า แล้วเอาของที่จำเป็นขึ้นเรือให้เรียบร้อยนะ ลุงจะพาเข้าป่าไปหาหอยหลองก่อน เห็นบอกชอบลุยๆ กันนี่ เดี๋ยวจัดให้เลย ฮ่าๆ” ลุงโจ๋นหันมาพูดกับพวกเราด้วยน้ำเสียงชอบใจ
ต้นโกงกาง ต้นจาก และต้นไม้น้อยใหญ่ที่ขึ้นสูงรายล้อมอยู่ตลอดทาง ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในป่าดึกดำบรรพ์ยุคจูราสสิคปาร์คอย่างไรอย่างนั้น เรือของเราแล่นเข้าไปเรื่อยๆ จนมาถึงลานตะบูน รากต้นตะบูนที่เลื้อยถักทอสานเป็นคลื่นบนพื้นดูสวยแปลกตาอย่างบอกไม่ถูก ดินโคลนลื่นๆ บวกกับรากไม้และมือที่กำถุงกระสอบไว้แน่น เล่นเอาฉันเดินลำบากอยู่ไม่น้อย ส่วนลุงโจ๋นน่ะเหรอ…เดินนำลิ่วไปโน้นแล้ว
“หอยหลองส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มกัน ถ้าเจอตัวนึงก็จะเจอตัวอื่นอีกใกล้ๆ หรือคอยสังเกตขี้หอยเอาก็ได้ ลักษณะมันคล้ายปุ๋ย เป็นท่อนสั้นๆ สีดำ หอยจะอยู่ตามพื้นดิน แถวโคนต้นเป้ง ต้นตะบันบ้าง บางทีก็หลบใต้ใบไม้ต้องใช้ด้ามเหล็กเขี่ยหาเอา ถ้ามีหอยก็จะได้ยินเสียงแกร๊กๆ” ลุงโจ๋นพูดพลางสอดส่ายสายตามองหาหอยตามพื้น
“นี่ไง!! เจอแล้ว” ฉันร้องขึ้นด้วยดีใจ หลังจากหามานานก็เจอตัวแรกสักที หอยฉลอง เป็นหอยเปลือกเดี่ยว แข็งและหนามาก ขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ สีออกน้ำตาลดำ ทรงเปลือกคล้ายหอยชักตีนและหอยหวาน แต่จะอ้วนกลมมากกว่า ลุงโจ๋นบอกว่าให้เก็บเฉพาะหอยตัวใหญ่เท่านั้น ส่วนตัวเล็กตามโคนต้นไม้ก็ปล่อยไปไม่ต้องเก็บ เราเข้ามาหาไม่ใช่จะเอาไปกินอย่างเดียวแต่ต้องอนุรักษ์ด้วย
ในขณะที่กำลังก้มๆ เงยๆ หาหอยกันอยู่ ท้องฟ้าก็เริ่มครึ้ม แดดเริ่มหุบ ลุงโจ๋นจึงบอกให้เราเดินกลับ เพราะไม่อยากให้เข้าไปลึกกว่านี้ ดูท่าแล้วฝนน่าจะตก… ยังไม่ทันได้ก้าวเท้าเดิน เม็ดฝนบางๆ ก็ค่อยๆ หล่นลงมาแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่มีที่ให้หลบ ไม่มีร่มให้กาง พวกเรารีบเก็บของสำคัญเข้ากระเป๋ากันน้ำอย่างไว พร้อมเดินจ้ำอ้าวเร่งฝีเท้ากลับไปที่เรือ ฝนเริ่มหนักขึ้นบวกกับระยะทางที่ไกล ตอนนี้ตัวของเราเปียกปอนเหมือนลูกหมาตกน้ำกันทุกคน ในใจมีแต่คำว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่เนี้ยย ~”
ตัวยังไม่ทันจะแห้งดี เรือก็แล่นมาหยุดที่ป่าโกงกางต่อ ตรงนี้แหละที่เราจะมาหาหอยพอกกัน พื้นบริเวณนี้เป็นดินเลน มีต้นโกงกางเล็กใหญ่ขึ้นสลับกันไป ดินทั้งลื่น ทั้งนิ่ม บางจุดลึกทำให้การเดินค่อนข้างทุลักทุเล แค่ก้าวแรกที่เหยียบเท้าก็จมหายไปแล้ว! เดินยากกว่าป่าชั้นในอีก
หอยพอก เป็นหอยสองฝา เปลือกใหญ่ หนา มีสีน้ำตาลปนดำ ลักษณะคล้ายหอยตลับแต่ตัวใหญ่กว่ามาก ชอบฝังตัวอยู่ในโคลนทำให้มองหายาก แต่บางตัวก็โผล่พ้นขึ้นมาให้เรามองเห็น สมัยก่อนชาวบ้านเก็บหอยพอกมาเพื่อกินเองภายในครัวเรือน แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้คนในชุมชนไม่น้อยกว่าสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ เลย ส่วนหอยฉลองนั้นด้วยความที่หายากกว่า (มากๆ) ชาวบ้านจึงหาเพื่อกินเองเท่านั้น บอกเลยว่าการมาหาหอยในครั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือ สายตาต้องดีมาก! ไม่งั้นหาไม่เจอแน่นอน!
“ลุงเอาไม้ปักไว้นะ หอยอยู่ตรงนี้เดินมาเก็บเอา” ฉันย่ำเท้าเดินตรงไปยังจุดมาร์กด้วยความยากลำบาก รอบนี้หาไม่เจอสักตัวจนต้องให้ลุงโจ๋นช่วยชี้จุด “โห! ตัวใหญ่มาก หายากจังเลยนะ” ฉันพูดขึ้นพลางเก็บหอยพอกใส่ถุงกระสอบ
ตอนนี้เกือบ 11 โมงแล้ว หอยที่พวกเราหาได้ก็ดูจะเยอะจนเป็นที่พอใจ เนื้อตัวเรามอมแมมเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลน ไม่คิดมาก่อนว่าชีวิตจะสุดได้ขนาดนี้ พวกเราแล่นเรือกลับเพื่อนำหอยที่หาได้มาทำเป็นอาหารกลางวันโดยมี ลุงมานะ – มานะ สงวนหงษ์ อดีตกุ๊กบนเรือสำราญที่ผันตัวเองมาเป็นพ่อครัวของบ้านท่าระแนะ มาช่วยจัดการเรื่องอาหารให้ เมนูที่จะทำในวันนี้คือ หอยพอกย่างจิ้มพริกเกลือ และ ยำหอยฉลองแบบโบราณ
“ชาวบ้านสมัยก่อนเขาจะเอาหอยฉลองที่จับได้มาขังก่อนประมาณ 3 วัน ใช้ตาข่ายหรือไม้ไผ่ปักเป็นคอก เอาหอยใส่ไว้ โยนกากมะพร้าวให้มันกิน ขี้หอยจะได้ขาว เนื้อก็มันอร่อยขึ้นด้วย ปกติที่เราเก็บมาใหม่ๆ สดๆ ขี้จะดำ กินได้เหมือนกันแค่ต้องล้างเอาขี้ออก” ลุงมานะพูดขึ้นพลางเทหอยฉลองลงหม้อน้ำที่กำลังเดือดพล่าน
ด้วยความหนาของเปลือกจึงต้องต้มหอยให้สุกเสียก่อน แล้วค่อยทุบเอาเนื้อออกมา โป๊กๆๆ เสียงค้อนที่กระทบกับเปลือกหอยทำให้ฉันต้องหันไปมองโดยทันที ลุงโจ๋นกำลังใช้ค้อนทุบลงไปบนตัวหอยอย่างแรงเพื่อกระเทาะเปลือกออก เผยให้เห็นเนื้อหอยด้านใน ลุงบอกว่ารสชาติคล้ายหอยหวาน สัมผัสแน่น กรุบ จิ้มกินกับน้ำจิ้มซีฟู๊ด (ที่นี่เรียกว่าพริกเกลือ) หรือเอามายำก็ได้
ยำฉบับลุงมานะเป็นยำสูตรโบราณของคนตราด เริ่มจากเผากะปิ กระเทียม หอมแดง และพริก แล้วตำรวมกัน นำไปผัดกับกะทิจนหอม กลิ่นหอมฟุ้งมาก ~ จากนั้นใส่เนื้อหอยลงไปผัด สุดท้ายเอาหอยที่ผัดมาคลุกกับมะพร้าวขูด มะม่วงเปรี้ยวและใบมะกอกลนไฟอีกรอบ รสชาติจะเปรี้ยวๆ จากใบมะกอก หอมน้ำพริกผัด มันจากมะพร้าวขูด เวลากินรวมกันกับหอยแล้วดีมาก ยิ่งราดน้ำจิ้มพริกเกลือลงไปด้วยแล้ว บอกเลยอร่อยมาก!
ส่วนหอยพอกชาวบ้านนิยมนำไปทำเป็นแกงหอยใบชะพลูหรือไม่ก็ย่างกินง่ายๆ แต่สิ่งที่ต่างจากที่อื่นคือคนที่นี่จะย่างหอยพอกบนแผ่นสังกะสี นอกจากช่วยนำความร้อนทำให้หอยสุกแล้ว ยังเป็นเพราะหอยพอกมีน้ำเยอะ ถ้าเราย่างบนตะแกรงน้ำที่อยู่ในหอยอาจหยดลงด้านล่างจนทำให้ไฟดับได้ เนื้อหอยพอกจะคล้ายหอยตลับไซซ์ใหญ่ เหนียว หนึบ สูตรเด็ดของลุงโจ๋น คือ พอหอยอ้าปากแล้ว ให้พลิกเปลือกด้านเนื้อลง หยอดน้ำจิ้มพริกเกลือลงไปนิดนึง แล้วย่างต่อจนสุกให้สีออกเหลืองนิดๆ ถึงจะอร่อย รู้สึกชอบกว่าหอยตลับอีกนะเนี้ย
พวกเราใช้ช่วงเวลาบ่ายในการกินข้าวและพูดคุยกับลุงโจ๋น ลุงมานะรวมทั้งชาวบ้านที่อยู่แถวนั้นอย่างออกรสออกชาติ สนุกเป็นกันเองสุดๆ บนโต๊ะมีทั้งยำหอยฉลอง หอยพอกย่าง และกั้งทอดกระเทียม อิ่มหนำสำราญกันถ้วนหน้า หอยที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองนี้มันอร่อยจริงๆ แม้จะลำบากไปหน่อย ดูทุลักทุเล แต่ก็สนุกมาก ไม่คิดว่าชีวิตหนึ่งจะได้มาหาหอยในป่าชายเลน เดินย่ำโคลน ทำอะไรแบบนี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีน่าจดจำสำหรับฉันเลยละ
ใครที่อ่านมาจนถึงตอนนี้แล้วอยากกินหอยพอก หอยฉลองบ้าง ต้องบอกว่ามีขายแค่หอยพอกเท่านั้น หาได้ตามตลาดสดหรือร้านอาหารต่างๆ ในจังหวัดตราด ส่วนใครสนใจอยากมาเที่ยวเชิงนิเวศ ล่องเรือดูป่าโกงกาง สัมผัสธรรมชาติแบบนี้ ติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่สายชล โทร 081-161-6694 หรือ Facebook: ท่องเที่ยวมหัศจรรย์บ้านท่าระแนะ | Facebook
บทความเพิ่มเติม
เรื่องของ “หอย” ที่คนชอบกินหอยต้องรู้
หอยหลอดเนื้อหวานนุ่มหนึบมาแล้ว
หอยนางรมตัวอวบเนื้อหวานรับร้อน
ปู ปลา กุ้ง หมึก ต้องเลือกซื้อไซซ์ไหน ถึงจะไม่ทำร้ายท้องทะเล