หลากความอร่อยแปลกตาที่ปรากฏใน ‘งานบุญ’

2,714 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
งานบุญ วัฒนธรรมการผูกสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น ผ่านพิธีกรรม ความศรัทธา และอาหารงานบุญ

ย่างเข้าปลายปี ก็มีงานบุญให้ร่วมไม่ขาดระยะ

โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล ที่ผู้คนอาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ จึงมีวัฒนธรรมในการผูกสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น ผ่านทั้งการทำกิจกรรมในท่องไร่ปลายนา และการทำบุญร่วมกันตามวาระเทศกาลสำคัญต่างๆ ซึ่งในโมงยามแห่งความอิ่มใจในการให้นี้เอง ที่สำรับอร่อยมากหน้าหลายตาจะปรากฎให้เราได้ลิ้มรส และเป็นเพียงไม่กี่ครั้งในรอบปีที่ของอร่อยเหล่านี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาปรุง ด้วยต้องใช้แรงกายแรงใจของเหล่าผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันลงครัว ไม่ว่าจะแกงหม้อใหญ่ ขนมสอดไส้หลายพันชิ้น หรือการทำลาบที่ต้องล้มหมูหรือวัวกันเป็นตัวๆ เพื่อพอให้เลี้ยงผู้คนที่เข้ามาร่วมในเทศกาลงานบุญในคราวนั้น

ทว่างานบุญของแต่ละท้องถิ่นก็มีรายละเอียดแตกต่างหลากหลาย ทั้งเรื่องของพิธีกรรม และเรื่องของรสชาติสำรับในงานบุญที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งวัตถุดิบพื้นบ้าน วัฒนธรรมการปรุงของชุมชน หรือกระทั่งเรื่องของความเชื่อทางศาสนาที่เนรมิตรให้สำรับในงานบุญเดียวกัน มีรสชาติแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ

ไม่เพียงงานบุญที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างเข้าพรรษา ออกพรรษา หรือวันสำคัญทางศาสนาใหญ่ๆ เท่านั้นที่มีวัฒนธรรมการกินน่าตื่นตาตื่นใจ ทว่าลึกเข้าไปในชุมชนเล็กๆ ก็ยังมีงานบุญประเพณีอีกมากมายที่เราชาวเมืองใหญ่อาจไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันมาก่อน และแน่นอนว่าพรั่งพร้อมด้วยอาหารการกินแปลกหน้า ที่เราอยากชวนมาทำความรู้จักดังต่อไปนี้

บุญข้าวจี่ (บุญเดือนสาม) / ข้าวจี่

นับเป็นงานบุญสำคัญของบรรดาลูกอีสาน งานบุญข้าวจี่ที่จัดขึ้นในเดือนสาม (ราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม)​ ของทุกปีนั้น เป็นงานบุญใหญ่ที่ชาวบ้านจะพร้อมใจกันทำข้าวจี่มาถวายพระในวัดประจำชุมชน หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘บุญคุ้ม’ ด้วยในอดีตนิยมร่วมกันทำข้าวจี่เป็นคุ้ม (กลุ่มของเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กัน) แล้วนำไปถวายพระพร้อมกัน โดยเหตุที่ทำไมถึงต้องเป็นข้าวจี่นั้น เนื่องจากในเดือนสามเป็นฤดูเก็บเกี่ยว จึงมีข้าวใหม่อยู่เต็มยุ้งฉาง และอะไรจะดีไปกว่าการนำข้าวเหนียวใหม่มานึ่งร้อนๆ ทาด้วยไข่ แล้วย่างไฟอ่อนจนหอมกรุ่น ได้เป็นข้าวจี่แสนอร่อยที่นับเป็นอาหารซึ่งลูกอีสานนิยมกินชมชอบกันทุกบ้านทุกตำบล

นอกจากนั้น ชาวอีสานยังเชื่อว่าเดือนสามนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งสิริมงคล ด้วยเป็นจังหวะเวลาของการทำขวัญข้าว ขณะข้าวกำลังออกรวงเหลืองอร่ามอยู่เต็มท้องนา ชาวอีสานจึงนิยมทำบุญบ้านหรือทำบุญใหญ่กันในคราวนี้ และบุญข้าวจี่ก็นับเป็นหนึ่งใน ‘บุญใหญ่’ ช่วยเสริมสิริมงคลและสร้างกำลังใจในฤดูกาลเพาะปลูกถัดไป

บุญข้าวสาก / กระยาสารท (ข้าวสาก), ขนมลา

ปลายปีช่วงราวเดือนสิบ (ประมาณเดือนกันยายน) แต่ละชุมชนทั่วภูมิภาคของประเทศไทย มักพร้อมใจจัดงานบุญใหญ่กันถ้วนหน้า เรียกกันว่า ‘บุญเดือนสิบ’ หรือบุญสารทเดือนสิบ โดยในแต่ละภาคของประเทศไทยจะมีรายละเอียดในงานบุญครั้งนี้แตกต่างกันไป ทว่าแก่นของงานบุญใหญ่ยังคงเดิม นั่นคือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ พร้อมเผื่อแผ่ให้กับเหล่าผีตามความเชื่อเชิงพุทธ-ผีที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณ อาทิ งานบุญเดือนสิบของทางภาคใต้ที่มี ‘ขนมลา’ ขนมทำจากแผ่นแป้งข้าวจ้าวผสมน้ำผึ้งและไข่แล้วรีดบนกระทะร้อนๆ จนเป็นแผ่นบาง เป็นขนมชูโรง ด้วยเชื่อว่าลักษณะแผ่นบางๆ ของขนมลานั้นเทียบได้กับเสื้อผ้าอาภรณ์ที่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะได้รับหลังการทำบุญ

ขนมลา

ส่วนงานบุญเดือนสิบในภาคอีสานนั้นมีรายละเอียดแตกต่างออกไป โดยชาวอีสานเรียกบุญใหญ่ในครั้งนี้ว่า ‘บุญข้าวสาก’ หรือข้าวสลาก ชาวบ้านจะเตรียมข้าวพอง ข้าวตอก ขนม และอาหารไว้สำหรับถวายพระ สำคัญคือในลานวัดจะมีกิจกรรมกวนขนมธัชพืชอันอุดมด้วยข้าวเม่า ข้าวพอง ข้าวตอก คลุกเคล้าเข้ากับน้ำอ้อย น้ำตาล ถั่ว งา และมะพร้าว เรียกกันว่า ‘ข้าวสาก’ (คนภาคกลางเรียกข้าวกระยาสารท ทำแบบเดียวกัน ต่างตรงวัตถุดิบ) เมื่อกวนจนได้ที่ ชาวบ้านจะนำข้าวสากถวายแด่พระสงฆ์ จากนั้นจึงแจกจ่ายแก่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง เป็นการเชื่อมสัมพันธ์กัน

งานบุญประเพณีมาแกปูโล๊ะ (งานกินเหนียว) / มัสมั่นเนื้อ, มัสมั่นไก่, ข้าวเหนียว

งานบุญสำคัญในชุมชนชาวมลายู โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นเกิดขึ้นตลอดทั้งปี ทว่างานบุญหนึ่งที่มีส่วนเชื่อมโยงกับทั้งชาวไทยมุสลิมและไทยพุทธก็คือ งานบุญประเพณีมาแกปูโล๊ะ หรือที่ชาวพุทธเรียกกันว่างานกินเหนียว เป็นงานมงคลที่มักจัดขึ้นเมื่อถึงวาระสำคัญในชีวิตชาวมุสลิม อาทิ งานแต่งงาน (นิกะ)​ งานเข้าสุหนัด หรืองานการกุศลที่มีความสำคัญ สำหรับชาวพุทธงานกินเหนียวจะเกิดขึ้นในพิธีแต่งงานเป็นหลัก โดยเมื่อสืบย้อนไปยังต้นกำเนิดของประเพณีนี้นั้น พบว่าเป็นงานบุญที่เริ่มจากความเชื่อเชิงพุทธ-พราหมณ์-ผี ก่อนศาสนาอิสลามจะเผยแพร่เข้ามาในพื้นที่ภาคใต้

การเลี้ยงอาหารในงานบุญใหญ่ครั้งนี้จึงมีความคลับคล้ายกับการเลี้ยงอาหารพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง โดยเมนูที่พบเจอได้บ่อยในงานกินเหนียวก็หนีไม่พ้นข้าวเหนียว ทั้งข้าวเหนียวหุงสุกธรรมดาและข้าวเหนียวสังขยารสกลมกล่อม ซึ่งเจ้าภาพจะนำมาแจกจ่ายให้ผู้ร่วมงานกินเป็นสิริมงคล แสดงออกถึงความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ และอีกเมนูที่ขาดเสียไม่ได้ก็คือ ‘มัสมั่น’ ไม่ว่าจะเนื้อวัว เนื้อไก่ หรือเนื้อแพะ พิเศษตรงมัสมั่นในงานมาแกปูโล๊ะฉบับต้นตำรับนั้นนิยมใส่ทั้งมันฝรั่งและมะเขือยาว ทั้งยังหอมกลิ่นเครื่องเทศโดยเฉพาะยี่หร่ารสร้อนแรง หนำซ้ำยังเคี่ยวกันนานหลายวัน เรียกว่าเป็นแกงหม้อพิเศษที่คนในชุมชนร่วมมือร่วมใจกันทำ ชนิดที่บางชุมชนถึงกับต้องมีเวรยามนอนเฝ้าหม้อแกงมัสมั่นเพื่อเคี่ยวกันข้ามวันข้ามคืน!

 

ข้อมูลอ้างอิง: ตำรับอาหารอีสาน, นุจรีย์ ศรีธัญรัตน์, วิทยาลัยอาชีวะขอนแก่น

ภาพจาก: muslimited.com

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS