ชา ถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่เก่าแก่และหลากหลายที่สุดชนิดหนึ่งในโลกเลยค่ะ อย่างหนุ่มสาววัยรุ่นเดี๋ยวนี้ล้วนมีชานมไข่มุกเป็นเครื่องเพิ่มพลังใจ พี่บ่าวชาวใต้ก็ดื่มชาใต้เข้มข้นหรอยแรงกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ และภาพที่เราหลายคนคุ้นตากันมากที่สุดตั้งแต่เล็กจนโตก็น่าจะเป็นภาพชาจีนร้อนๆ ของอากงอาม่าที่แทบจะดื่มกันแทนน้ำเปล่า ว่าแต่ นักอ่านแต่ละคนมีชาในภาพจำเป็นอย่างไรกันบ้างคะ
ไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์ในการดื่มชาแบบไหนมาก็ตาม ฉันอยากแนะนำให้ทุกคนลองมาเปิดประสบการณ์ดื่มชากันที่ร้าน Deng Deng เต่าแบกกระทะ ร้านชาใหม่หมาดย่านตลาดพลูกันค่ะ ความพิเศษของร้านนี้คือการออกแบบเมนูและคัดสรรสารพัดชามาเพื่อต้อนรับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หัดดื่มชา หรือเนิร์ดชาที่อยากหาชาอร่อยๆ หรืออยากคุยกับคนคอเดียวกัน เพราะเจ้าของร้านนี้ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นสองพี่น้อง ลูกคนจีน Content Creater ที่เล่าเรื่องอาหารจีนได้เนิร์ด สนุก และชวนหิวไปเสียทุกเรื่องนั่นเอง
วันนี้เราโชคดีได้เจอกับคุณดี – สุภมาส สุระเรืองชัย หนึ่งในเจ้าของร้าน Deng Deng เต่าแบกกระทะ จึงถือโอกาสล้อมวงฟังเรื่องเล่าแกล้มกลิ่นชาไปด้วย และนี่คือส่วนหนึ่งจากบทสนทนาจากบ่ายวันนั้นค่ะ
ร้านชาของลูกคนจีน
“ตั้งแต่เด็กจนโต จำความได้ก็กินชาจีนแล้วค่ะ อากงก็จะมีชุดชาแบบนี้อยู่ตลอด แล้วก็ตอนที่เราเด็กๆ ที่บ้านก็ยังต้มน้ำกินอยู่ อาม่าก็จะใส่ใบชาลงไปหน่อยหนึ่งเพื่อกลบกลิ่นน้ำ ก็เลยเหมือนกินชามาตั้งแต่เด็กๆ พอโตขึ้นมาก็ติดการ์ตูนญี่ปุ่น ก็ไปกินชาญี่ปุ่น พออยู่มัธยม เป็นสาวน้อยก็เริ่มมากิน Afternoon Tea ก็ไปติดชาฝรั่งอีก แล้วก็กลับมากินชาจีนจริงๆ ช่วงมหาวิทยาลัย โชคดีว่าเวลาไปจีน ก็ได้ไปกินชาดีๆ เยอะ ด้วยความที่จีน ประเทศเขากว้างใหญ่ เขาทำชามานาน พัฒนามาเยอะ มันก็จะมีสายพันธุ์ มีลูกเล่นที่เยอะกว่าชาจากที่อื่นๆ
“ร้านนี้จริงๆ ตอนแรกเราก็เริ่มมาจากออนไลน์ก่อน อย่างที่บอกว่าเราดื่มชามาตั้งแต่เด็กใช่ไหมคะ แล้วก็โชคดีว่ามีญาติอยู่ที่จีน ที่แต้จิ๋ว ก็ไปรู้จักคนทำโรงชา พอเราได้กินเราชอบ ก็นำเข้ามาขายออนไลน์ ขายซองเล็กๆ เพราะเรารู้ว่าคนที่ลองดื่มชาเขาก็คงอยากจะลองหลายๆ อย่าง ส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะเป็นคนจีนหรือคนมาเลเซียที่อยู่ในไทยมากกว่า ส่วนคนไทยก็ชอบพวกชาผลไม้ ชาเขียวมะลิ เพราะมันทำความเข้าใจง่ายกว่า
“แต่ sensory ของชาจริงๆ มันก็มีเยอะมาก คือกาแฟมีเยอะแค่ไหน ชาก็ไม่น้อยกว่านั้น ถ้าเป็นคนชอบกาแฟ น้ำหอม ไวน์ หรือชีส ก็น่าจะชอบชาเหมือนกัน โชคดีที่เราอยู่ในจุดที่หาวัตถุดิบคุณภาพดีได้ แล้วอยู่ในช่วงราคาที่เราโอเค เราก็เลยอยากให้ทุกคนเข้าถึงชาได้ในนแบบที่ไม่ต้องรู้สึกผิด คือไม่ได้รู้สึกผิดกับทั้งร่างกายแล้วก็กระเป๋าสตางค์ด้วย”
คุณดีเริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของการทำร้านนี้ขึ้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นร้านชา แต่ขอให้ลืมภาพร้านขายส่งชาตามตลาดใหญ่ๆ ไปได้เลยค่ะ เพราะ Deng Deng เต่าแบกกระทะ คือคาเฟ่ดีๆ นี่เอง ด้วยการตกแต่งเรียบง่ายสบายตาและบรรยากาศสงบๆ ที่ชวนให้สบายใจ ท่ามกลางแดดร้อนระอุของเดือนมีนาคมและความคึกคักในย่านตลาดพลูด้านนอก ความสงบกรุ่นกลิ่นชาแบบนี้ถือเป็นโอเอซิสประจำย่านทีเดียว
“คนไทยส่วนใหญ่เวลากินชาใส เราจะนึกถึงอู่หลงก่อนใช่ไหมคะ แต่ว่าจริงๆ แล้วชาที่คนจีนนิยมกินเยอะสุดมันคือชาเขียว ซึ่งหลายคนก็จะนึกถึงชาเขียวญี่ปุ่นที่มักให้รสหนักกว่าชาเขียวจีน และพอนึกถึงชาแดงหรือชาดำ เราก็จะนึกถึงชาฝรั่งมากกว่า คือมันมีภาพจำมาคนละแบบ ที่นี่เรากเลยมีทั้งชาจีนแบบดั้งเดิม มีชาเฮาส์เบลน และมีเมนูที่ออกแบบมาให้ลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่กินง่ายขึ้น เพราะเราอยากลงปรับลดอายุคนดื่มชาลง อยากให้ชาเป็นเครื่องดื่มที่วัยไหนก็เข้าถึงได้หมด ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะอากงอาม่า”
อ๊ะ เดี๋ยวก่อนค่ะ ใครที่เป็นมักเกิ้ลเรื่องชา อย่าเพิ่งเลื่อนผ่าน เพราะเดี๋ยวเราจะพาไปทำความรู้จักชากันตั้งแต่พื้นฐานกัน ไม่ยากค่ะ รับรอง
(วิ)ชาจีน 101
“ต้องบอกก่อนว่าต้นชาบนโลกนี้ ที่เป็นชาแบบมีคาเฟอีน จะมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกก็คือกลุ่มที่เราคุ้นปากกันว่าชาจีน อันนี้คือ Var. Sinensis แต่ถ้าเป็นชาใบใหญ่ เช่น ชาเมี่ยง ชาที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน หรือในอินเดียบางส่วนเช่นที่รัฐอัสสัม เราจะเรียกว่า Var. Assamica เรียกง่ายๆก็คือชาอัสสัม ทั้งสองอย่างสามารถเอามาทำชาได้หมดเลย แต่ว่า ชื่อชาต่างๆ อย่างชาขาว ชาเหลือง ชาเขียว ชาแดง ชาดำ ที่เราเรียกกัน มันคือโพรเซสในการทำ”
สารภาพเลยค่ะว่าตัวฉันเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ในการดื่มชาจีน ชาใส หรือบรรดาชาร้อนมามากมายขนาดนั้น พูดตามตรงฉันก็อยู่ในชนชั้นมักเกิ้ลคนหนึ่งนี่เอง แต่ด้วยความสบายๆ จากคนเล่า (แม้ข้อมูลจะแน่นมาก) และบรรยากาศบางอย่างของร้าน ก็ทำให้ฉันอยากตั้งใจเรียนเป็นมักเกิ้ลหน้าห้องขึ้นมาเสียอย่างนั้น
“รสของใบชาจะเกิดจาก 2 ส่วน มีรสดั้งเดิมในตัวชาซึ่งได้จากดิน น้ำ กลิ่น สายพันธุ์ และมีรสจากโพรเซสหรือกระบวนการทำ เพราะสารเคมีในชาเป็นพวกสารหอมระเหยค่ะ ดังนั้นเราก็จะเล่นกับกระบวนการทางเคมีเพื่อที่จะเปลี่ยนกลิ่นของชาได้ เช่น ชาจากที่เดียวกัน ถ้าทำเป็นชาเขียว จะเป็นกลิ่นแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราเอาไปทำเป็นอู่หลง อาจจะได้กลิ่นดอกไม้มากขึ้นจากกระบวนการหมัก แต่ก็จะสูญเสียความสดหรือคุณสมบัติอื่นๆ ไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตจะดีไซน์ให้เป็นแบบไหน
“ก็คือว่าใบชา 1 ใบที่เราเด็ดมา เราสามารถปรับรสชาติชาด้วยการเอาไปทำปฏิกริยากับอากาศ ชาเขียวคือชาที่เราต้องการรักษาความเป็นธรรมชาติไว้ให้ได้มากที่สุด เขาก็จะรีบใช้ความร้อนในการหยุดเอนไซม์ของใบชา ให้ใบชาไม่ทำปฏิกริยากับอากาศมาก ถ้าเป็นชาเขียวญี่ปุ่นเขาก็จะนิยมเอาใบชาไปนึ่ง ส่วนชาเขียวของจีนจะมีหลายโพรเซส ทั้งนึ่ง ผัด คั่ว
“แต่ทีนี้ถ้าเราเอาใบชาใบเดียวกันไปตากแดด ระหว่างนั้นมันก็จะเกิดปฏิกริยากับอากาศขึ้น ถ้ามีการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนบางส่วน ก็จะได้ชาขาว ซึ่งเป็นรสชาติหนึ่ง อีกสเต็ปก็จะได้ชาเหลืองที่หาดื่มในไทยได้ยาก ถัดมาเป็นอู่หลงที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ถ้าเราอยากให้มันมีกลิ่นเยอะหน่อย เราก็จะเอาใบชาไปทำปฏิกริยากับอากาศให้มากขึ้น ก็จะได้เป็นอู่หลงที่รสเปลี่ยนไป
“ถ้าเกิดว่าอยากหมักให้เข้มขึ้นไปอีก ก็จะได้เป็นชาแดง ของจีนที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Black tea ส่วนชาดำของจีน ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Dark tea คือหลังจากที่ชาทำปฏิกริยากับอากาศจนเต็ม 100% แล้ว เขาเอาไปหมักด้วยจุลินทรีย์ต่อ อย่างพวกผูเออร์สุกที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ตัวนั้นก็เป็นชาดำ
“ผูเออร์สุกกับผูเอ่อร์ดิบ ไม่ใช่ว่าเอาของดิบเก็บไว้แล้วมันจะสุกนะ แต่มันเป็นคนละโพรเซส ก็คือพผูเอ๋อร์ดิบ ถ้าเทียบแล้วมันจะใกล้กับชาเขียวมากกว่า แต่ผูเออร์สุกมันคือการทำชาดำ ในที่นี้คือชาดำแบบจีน หรือ Dark Tea ซึ่งจะมีกลิ่นหมักเพิ่มขึ้น อย่างชาดำที่ร้านเราตัวนี้จะผสมกับใบเนียม จะดื่มง่ายขึ้น เพราะตัว Dark Tea จะมีกลิ่นหมัก กลิ่นดิน กลิ่นหนัก โทน Earthy มากกว่า ในขณะที่ผูเออร์ดิบจะมีกลิ่น timber กลิ่น wild ที่ดื่มง่ายกว่า ถ้าชงแล้วจะเห็นความต่างชัด”
เรื่องโพรเซสชาเหล่านี้ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกันกับกระบวนการผลิตกาแฟเหมือนกันค่ะ เพราะฉะนั้นก็น่าลุ้นว่า เมื่อ Special Coffee เป็นที่นิยมในหมู่นักดื่มคนไทยได้ Special Tea ก็คงกำลังต่อคิวรอจะเป็นตลาดแมสด้วยเหมือนกัน
“สำหรับคนที่อยากเริ่มกินชา ส่วนตัวคิดว่าอย่างแรกเลยต้องหาชาแต่ละประเภทให้เจอ ให้รู้ว่าเราชอบสไตล์ไหน ลองชาขาว ชาเขียวก่อนก็ได้ จากนั้นค่อยไปแยกสายพันธุ์ เช่น ถ้าลองแล้วชอบรสโทนชาขาว ก็ไปมุ่งโทนชาขาว หาตัวที่ใช่ เพราะชาแต่ละแบบต่อให้เป็นตัวเดียวกันแต่คาแรกเตอร์ก็จะต่างกันมากๆ ถ้ามือใหม่มากๆ ถ้าอยากลองก็อยากให้ลองทำพวก cold brew ก่อน เพราะมันสกัดง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องอุณหภูมิการชง เพราะว่าชาหลายๆ ตัวใช้น้ำร้อนมากไม่ได้ ใช้น้ำเย็นเกินไปก็ไม่อร่อย แต่ถ้าสกัดเย็นก็ไม่ต้องกังวลเรื่องอุณหภูมิมากและรสชาก็จะไม่ฝาดด้วย จริงๆใช้น้ำทั่วไปได้เลย แต่ของที่ร้านใช้น้ำ RO มันอาจจะไม่ใช่น้ำที่ดีที่สุดในการชงแต่มันรบกวนรสชาน้อยที่สุด ซึ่งถ้าชอบความแน่นขึ้นของบอดี้ชาก็ซื้อชากับไปลองกับน้ำต่างๆที่บ้านได้”
คำแนะนำสำหรับนักดื่มชามือใหม่จากคุณดีว่าไว้อย่างนั้นค่ะ แต่ถ้าจะให้เราแนะนำ เราคิดว่าหาเวลาว่างๆ มาเดินเล่นตลาดพลูแล้วมาเริ่มต้นรู้จักชาที่ Deng Deng เต่าแบกกระทะ นี่แหละค่ะน่าสนุกที่สุด
Recommend Menu
บ่ายวันนั้นอากาศร้อนมากๆ ค่ะ ดังนั้นนักดื่มชามือใหม่หมาดอย่างนั้นก็ขอเริ่มที่ชานมหวานๆ เย็นๆ เป็นลำดับแรก ใช่ค่ะ แม้จะเป็นร้านชาสายเนิร์ต แต่เมนูเครื่องดื่มทีนี่มีชานมด้วยนะคะ เราลองเป็น ชานมมะพร้าว DENGDENG เบสชาของเมนูนี้จะเป็นชาเฮาส์เบลนด์ของทางร้านโดยเฉพาะ ซึ่งมันเข้ากับนมมะพร้าวได้ดีมากๆ เหมือนเป็นชานมในความคุ้นเคยที่กลิ่นชาหอมชัดและเฉพาะตัวมากกว่า แถมยังหวานน้อยและหอมน้ำมะพร้าวเพิ่มเข้ามาอีก อร่อยมากจนอยากไปหาไข่มุกบุกมาใส่เพิ่มมันเสียเดี๋ยวนั้นเลยค่ะ แก้วนี้แนะนำสุดๆ
อีกแก้วหนึ่งที่ได้ลองแล้วชอบมากคือ ชาอู่หลงตานฉงฝรั่งบ๊วย ค่ะ บ้านใครมีเชื้อแต้จิ๋วย่อมจะเคยได้กินฝรั่งแช่บ๊วยที่ไม่ได้สีสดปรี๊ดปร๊าดอย่างฝรั่งร้านรถเข็นเดี๋ยวนี้ใช่ไหมคะ แก้วนี้เป็นรสชาตินั้นเลยค่ะ ฝรั่งแช่บ๊วยในความทรงจำสุดๆ กลิ่นน้ำฝรั่งและบ๊วยเค็มหอมสดชื่นมาก ในขณะที่เบสชาอู่หลงตานฉงที่เป็นชาท้องถิ่นแต้จิ๋วแท้ๆ ก็ให้กลิ่นรสที่แข็งแรงสู่กับกลิ่นรสของน้ำฝรั่งได้ ใครอยากได้น้ำหวานแก้ง่วงยามบ่าย แก้วนี้ตอบโจทย์ค่ะ
ถึงจะเป็นร้านชาแต่ขนมของที่นี่ไม่ควรมองข้ามนะคะ ร้อนๆ อย่างนี้ต้องได้วุ้นเสฉวน หรือ ปิงเฟิน เย็นๆ สักถ้วย ถ้วยนี้คือปิงเฟินพีชรสดั้งเดิมฉบับ DENGDENG ตัววุ้นปิงเฟินนุ่มเด้งและหนึบหนับ ซึ่งเป็นเท็กซ์เจอร์ที่ต่างจากวุ้นกบหรือโอ้วเอ๋วเลยค่ะ เพราะทำมาจากพืชคนละชนิดกัน เสิร์ฟมาเย็นๆ แล้วท็อปด้วยแผ่นซานจาเปรี้ยวหวาน พืชชิ้นโตๆ และถั่วคั่วหอมๆ เป็นคอมบิเนชั่นที่ลงตัวมากๆ โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อนๆ แบบนี้ค่ะ
หรือถ้าอยากมาเปิดโลกชาใส ที่นี่มีชาให้เลือกเยอะมากค่ะ จะเป็นชาขาว ชาเขียว ชาอู่หลง ชาตานฉง ชาผูเออร์ก็มีหมด จะเลือกซื้อเป็นแก้วก็ได้ หรือจะซื้อใบชากลับไปชงเองก็มีค่ะ
ส่วนเซ็ตที่เราแนะนำ คือเซ็ตชากงฟูค่ะ เซ็ตนี้จะได้ชา 1 กา (เติมน้ำร้อนได้) ผลไม้แห้ง และขนมอีก 2 อย่าง วันนี้เราเลือกเป็นชาเจิ้งซานเสียวจ่งอบดอกหอมหมื่นลี้ ชาแดงรสหวานที่มีตำนานเก่าแก่ว่าเป็นชาแดงชนิดแรกของโลกที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Lapsang souchong แต่อบกับดอกหอมหมื่นลี้เพิ่มเข้ามาทำให้ดื่มง่ายและมีกลิ่นหอมของดอกหอมหมื่นลี้มากขึ้น ส่วนขนมเลือกเป็นโดนัทซานจาสตอรว์เบอร์รี โดนัทเนื้อนุ่ม ใส้หอมหวานกำลังดี มีรสเปรี้ยวจากซานจาเพิ่มมาเป็นไฮไลต์เข้ากันกับชาได้ดีมาก กับขนมเปี๊ยะเผือกโมจิ หอมกลิ่นเผือก ด้านในมีโมจินุ่มๆ เคี้ยวเพลิน ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของทางร้านอีกเช่นกัน
สิ่งที่ชอบเป็นพิเศษในเช็ตชากงฟูก็คือผลไม้แห้งที่เสิร์ฟมาในเซ็ตค่ะ มีพุทราจีนดำที่ให้กลิ่นรมควันหอมๆ ตัวนี้อร่อยแปลกดีค่ะ เป็นรสชาติที่ไม่คุ้นเคยแต่ก็กินได้เรื่อยๆ จนหมด มีองุ่นมือแม่มดตากแห้ง และมีองุ่นสนมหอมซึ่งหอมสมชื่อ เป็นกลิ่นดอกไม้และผลไม้ตระกูลเบอร์รีที่หอมมากๆ จนอยากขอซื้อกลับบ้านไปกินกับชีสเลยค่ะ กินขนม ผลไม้แห้ง แกล้มกับชาหอมๆ ไป คุยเรื่องชาไปแบบเบ็ดเตล็ด ตั้งแต่ต้นสายปลายทางของชา ไปจนถึงชาในปรากฎชื่อในกาพเห่ฯ (ที่ร้านมีให้ลองชิมด้วยนะคะ) เผลอแป๊บเดียวแดดก็ร่มลมก็ตก นี่แหละค่ะเสน่ห์ของการล้อมวงดื่มชา มันทำให้เวลาผ่านไปเร็วจริงๆ
ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มาหาของอร่อยย่านตลาดพลู นัก(อยาก)ดื่มชามือใหม่หาไกด์นำทาง หรือจะเป็นเซียนชา เนิร์ดชามาหาชาดีๆ ดื่ม Deng Deng เต่าแบกกระทะ ร้านชาร่วมสมัยในย่านตลาดพลูจะเป็นจุดหมายหนึ่งที่ทำให้คุณเจอกับประสบการณ์ดีๆ แน่นอนค่ะ ส่วนใครที่อยู่ไกลไม่สะดวกมา ที่ร้านมีบริการจัดส่งแบบเดลิเวอรีด้วยนะคะ คลิกเข้าไปดูรายละเอียดใจเพจ Deng Deng เต่าแบกกระทะ ได้เลย
ร้าน Deng Deng เต่าแบกกระทะ
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/KJA6sKEBWJCyghQG8 (กลับรถใต้สะพานตลาดพลู ร้านอยู่เวิ้งซ้ายมือ)
เวลาเปิด-ปิด : จันทร์-ศุกร์ 09:00-18:00 / เสาร์-อาทิตย์ 10:15-18.45
โทร : 0626969788
เดลิเวอรี : Robinhood