คู่มือเครื่องดื่มในร้านอิซากายะ อ่านจบพร้อมลงสนามจริง!

27 VIEWS
PIN

image alternate text
เครื่องดื่มในร้านอิซากายะมีอะไรบ้างนะ ไปทำความรู้จักกัน จะได้ไม่ต้องยืนงงในดงขวด

อิซากายะ คือร้านกินดื่มแบบญี่ปุ่น มีองค์ประกอบเป็นเครื่องดื่มมึนเมาสารพัด พร้อมกับอาหารจานเล็กจานน้อยที่ไม่ได้ตั้งใจมีไว้เพื่อให้อิ่มท้องเป็นมื้อใหญ่ วัฒนธรรมการดื่มไปกินไปแบบนี้ตรงจริตกับมนุษยชาติอย่างยากจะต้านทาน ปัจจุบันร้านแบบอิซากายะจึงแพร่หลายไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยเราด้วยเช่นกัน

การเลือกอาหารในร้านอิซากายะไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลัง เพราะอาหารส่วนใหญ่มักมีชื่อแซ่และหน้าตาที่พอจะจินตนาการรสชาติเบื้องต้นได้บ้าง แต่กับเครื่องดื่มนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะวัฒนธรรมการดื่มแบบชาวญี่ปุ่นนั้นเฉพาะตัวมาก เมื่อเห็นเมนูครั้งแรกมือใหม่หัดเข้าอิซากายะจึงอาจจะถึงขั้นขมวดคิ้วได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้การดื่มกินในอิซากายะอร่อยขึ้น สนุกขึ้น นี่คือคู่มือสั่งเครื่องดื่มฉบับพื้นฐาน Izakaya nomi-guide 101 รับรองว่ารู้จักตามนี้แล้ว พร้อมลงสนามจริงได้แบบไม่เขินแน่นอนค่ะ

ป.ล. อย่าลืมดื่มแบบมีความรับผิดชอบ เมาไม่ขับ ไม่เป็นภาระกับคนอื่นๆ ที่ร่วมใช้รถใช้ถนนด้วยนะคะ

เบียร์ (Beer – ビール)
ชาวญี่ปุ่นนิยมสั่งเบียร์เป็นเครื่องดื่มแก้วแรกในร้านอิซากายะ เพราะเป็นเครื่องดื่มสามัญที่ใครๆ ก็รัก และที่สำคัญคือเบียร์ใช้เวลาเตรียมก่อนเสิร์ฟน้อยที่สุด ธรรมเนียมเบียร์แก้วแรกจึงช่วยย่นระยะเดดแอร์ระหว่างอ่านเมนูได้อย่างยอดเยี่ยม และทำให้ทุกคนสามารถ “คัมไป” หรือชนแก้วได้พร้อมกันตั้งแต่เริ่มดื่ม

อิซากายะในญี่ปุ่นมีทั้งดราฟต์เบียร์ และเบียร์สดหรือนามะเบียร์ (Namabeeru – 生ビール) ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นคราฟต์เบียร์จากโรงเบียร์ท้องถิ่นทั่วประเทศ เพราะกระแสคราฟต์เบียร์ในญี่ปุ่นเรียกได้ว่ารุ่งเรื่องเฟื่องฟูจนกลายเป็นของดีประจำถิ่นมาแต่ไหนแต่ไร

ฮอปปี้ (Hoppy – ホッピ)
ฮอปปี้ เป็นเครื่องดื่มแบบญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น เพราะมันเป็นเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ แต่ถูกผลิตมาเพื่อใช้เป็นมิกเซอร์โดยเฉพาะ ใช้ผสมกับสปิริตใดๆ ไม่ว่าจะเป็นโซจูหรือสาโท เพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่มีรสชาติเหมือนเบียร์ แต่มึนเมาด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์จากเหล้านั่นเอง นอกจากนี้ ตัวฮอปปี้เองจะให้พลังงานน้อยกว่าเบียร์ จึงเหมาะมากๆ สำหรับสายสุขภาพที่ไม่อยากดื่ม แต่ต้องการบรรยากาศอิซากายะร่วมกับเพื่อนๆ เพราะพอเทฮอปปี้ใส่แก้วเบียร์แล้วก็เหมือนกันจนแทบแยกไม่ออกเลยล่ะ

โซจู (Shochu – 焼酎)
โซจูเป็นเหล้ากลั่นที่อยู่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาเนิ่นนาน ว่ากันว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นรับเทคโนโลยีการกลั่นมาจากชาวโปรตุเกสอีกทอดหนึ่ง โซจูญี่ปุ่นมักผลิตมาจากข้าว อ้อย บัควีต บาร์เลย์ รวมถึงมันเทศ และส่วนใหญ่แล้วจะผลิตมาอย่างพิถีพิถัน ใช้ของดีประจำถิ่น นักดื่มโซจูจึงค่อยละเลียดชิมทีละน้อยเพื่อให้ความสำคัญกับกลิ่นรสที่ซับซ้อน แต่โซจูราคาย่อมเยาว์ที่ผลิตจากมันหวานก็มีขายอยู่เช่นกัน และส่วนใหญ่มักดื่มกันแบบผสมน้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือน้ำชา เพื่อลดความเข้มข้นของปริมาณแอลกอฮอล์ลง

โอฉะวาริ (Ochawari – お茶割り)
อย่างที่บอกว่าโซจูสามารถผสมกับเครื่องดื่มอื่นๆ ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำร้อน น้ำเย็น โซดา แต่คอมบิเนชั่นหนึ่งของโซจูที่น่าสนใจและดูเป็นญี่ปุ่นมากๆ ก็คือเครื่องดื่มที่เรียกว่า โอฉะวาริ ซึ่งเป็นการผสมโซจูเข้ากับชาต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ เช่น โซจูที่ผลิตจากมันหวาน มักผสมกับชาอู่หลง โซจูที่ผลิตจากข้าว มักผสมกับชาเขียว และโซจูที่ผลิตจากข้าวบาร์เลย์ ก็มักจะผสมกับชาบาร์เลย์ ว่ากันว่าการดื่มโอฉะวารินอกจากจะรสชาติดีแล้วยังช่วยลดอาการเมาค้างในตอนเช้าได้ด้วยนะ

นิฮงจู (Nihonchu – 日本酒)
สาเกที่คนทั่วโลกเรียกกันจนติดปากนั้น ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า นิฮงจู ซึ่งหมายถึง เหล้าญี่ปุ่น ผลิตมาจากข้าวสายพันธ์ุดีของแต่ละท้องถิ่น หมักกับยีสต์โคจิ จะได้เครื่องดื่มสีขาวขุ่นที่สามารถเสิร์ฟได้หลายแบบ ทั้งแบบเย็น แบบร้อน และแบบอุณหภูมิห้อง สาเกเป็นเครื่องดื่มที่นิยมมากในญี่ปุ่น โดยเฉพาะจิซาเกะหรือสาเกท้องถิ่นที่มีกลิ่นรสเป็นเอกลักษณ์ จากการเลือกใช้สายพันธุ์ข้าว การขัดเนื้อข้าว ยีสต์ที่ใช้หมัก ไปจนถึงกระบวนการและระยะเวลาในการหมัก เรียกได้ว่าสาเกถือเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของญี่ปุ่นที่โดดเด่นมากๆ เลยทีเดียว

ไฮบอล (Highball – ハイボール)
นอกจากเหล้าและเบียร์แล้ว ร้านอิซากายะญี่ปุ่นยังนิยมขายเหล้าผสม ค็อกเทลต่างๆ มากมาย อย่างหนึ่งที่เห็นกันจนเป็นเอกลักษณ์ก็คือไฮบอลนั่นเอง ไฮบอลเป็นเหล้าวิสกี้ผสมโซดา จึงถูกในบรรดานักดื่มสายอิซากายะเพราะดื่มง่าย สดชื่น และรสชาติเข้ากับบรรดาอาหารอิซากายะได้ดีสุดๆ แม้จะได้รับความนิยมจนกลายเป็นเครื่องดื่มคลาสสิกประจำร้านอิซากายะ แต่จริงๆ แล้วไฮบอลถือกำเนิดขึ้นในอังกฤษ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งการผลิตโซดานั่นเอง

ชูไฮ (Chuhai – 酎ハ) และ ซาวา (Sour – サワー)
ชูไฮก็เป็นเหล้าผสมอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน เกิดจากการผสมโซจูเข้ากับน้ำผลไม้ต่างๆ จึงถูกเรียกว่า Shochu highball และย่นย่อมาเป็นชื่อสั้นๆ ว่าชูไฮ หากเป็นผลไม้รสเปรี้ยวหวานอย่างผลไม้ตระกูลส้ม แอปเปิ้ล มักเรียกว่าซาวา (ซึ่งมาจากคำว่า Sour) ชูไฮและซาวามีสูตรที่หลากหลายมากขึ้นอยู่กับรสมือของแต่ละร้าน รสเปรี้ยวหวานสดชื่น ดื่มง่ายจนปิดสวิตช์นักดื่มมือใหม่มาแล้วนักต่อนัก

เหล้าบ๊วย (Umeshu – 梅酒)
อย่างสุดท้ายนี้ไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้ เพราะเหล้าบ๊วยเป็นเมนูชูใจที่ใครๆ ต่างก็หลงรัก รสหวานหอมของเหล้าบ๊วยในร้านอิซากายะไม่ได้มีแค่บ๊วยดองกับโซจูเท่านั้น แต่มีนับสิบนับร้อย เพราะชาวญี่ปุ่นทุกภูมิภาคต่างก็ผลิตเหล้าบ๊วยสูตรเด็ดของตัวเองกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเหล้าบ๊วยหมักผลไม้ เหล้าบ๊วยหมักใบชิโสะ เหล้าบ๊วยหมักเกิน 1 ปี ฯลฯ ถึงขนาดที่ว่าบ้านร้านเรียกตัวเองว่าเป็น ‘บาร์เหล้าบ๊วย’ โดยเฉพาะเลยก็มี

ข้อมูลจาก
How To Drink Hoppy – A Traditional Japanese Flavor
How to Serve Shochu
Types of Sake

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS