มือใหม่หัดเข้าครัวทั้งหลายเชิญทางนี้! หากคุณเคยประสบปัญหาหุงข้าวแฉะ ข้าวไม่สุก ข้าวแข็งติดก้นหม้อ เราจะมาบอกเคล็ด (ไม่) ลับของข้าวสวยที่เรากินกันทุกวันว่าทำอย่างไรให้หุงออกมาแล้วนุ่มสวยสมชื่อ พร้อมทั้งไขข้อข้องใจเรื่องข้าวใหม่-ข้าวเก่า ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ไปกันเล้ยยย
ข้าวใหม่ VS ข้าวเก่า
เคยสงสัยกันไหมล่ะว่าข้าวใหม่-ข้าวเก่าที่เคยได้ยินนั้นมันต่างกันอย่างไร แล้ววิธีหุงเหมือนกันไหม วันนี้เราจะมาไขความลับให้ฟังกัน…ถ้าสังเกตจากภายนอกบอกเลยว่าแยกกันไม่ออก แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะ? ง่ายๆ คือสังเกตได้จากข้างถุงจะมีระบุบชนิดของข้าวไว้ ควรซื้อข้าวที่มียี่ห้อชัดเจน เชื่อถือได้ มีวันผลิตและได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบได้เพื่อที่จะเลือกซื้อนำไปใช้ได้ถูกต้องตามความต้องการ
โดย ข้าวใหม่ คือข้าวสารที่ได้จากการขัดสีหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทันที เมล็ดข้าวมีสีขาวใส หุงไม่ค่อยขึ้นหม้อ เนื่องจากยังคงมียางข้าวค่อนข้างมาก จึงทำให้เมล็ดข้าวเกาะติดกันเป็นก้อน มีกลิ่นหอมกว่า นุ่มกว่าข้าวเก่า นิยมนำมาทำข้าวต้มหรือโจ๊กในขณะที่ข้าวเก่าคือข้าวที่เก็บไว้นานค้างปีหรือเก็บเกี่ยวมากกว่า 4-6 เดือนแล้วจึงค่อยนำมาขัดสี เมล็ดข้าวมีสีขาวขุ่น มีรอยแตกหักบ้างเล็กน้อย หุงขึ้นหม้อ เมล็ดข้าวไม่เกาะติดกัน เนื่องจากมียางข้าวน้อย กลิ่นไม่ค่อยหอม ข้าวมีลักษณะร่วนและแข็งกว่าข้าวใหม่ นิยมนำมาหุงข้าวในร้านอาหารทั่วไป
การเก็บรักษา
สำหรับการเก็บรักษาข้าวสารให้อยู่คู่กับเราไปนานๆ นั้นมีวิธีง้าย…ง่าย คือหลังจากเปิดถุงควรเทส่วนที่เหลือเก็บในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท จำพวกกล่องซูเปอร์ล็อกหรือกล่องสำหรับใส่ข้าวสารโดยเฉพาะ เก็บไว้ในที่แห้ง เย็น และห่างจากแสงแดด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ข้าวสารของเราเสื่อมสภาพและเกิดมอดขึ้นได้
ขั้นตอนการหุง…ทำอย่างไรให้ข้าวสวยเหมือนมือโปร
เริ่มต้นที่การซาวข้าว แนะนำให้ซาวข้าวเพียง 2-3 ครั้งเพื่อล้างสิ่งสกปรกหรือฝุ่นที่ติดมากับข้าวเท่านั้น ถ้ามากกว่า 3 ครั้งอาจทำให้สูญเสียสารอาหารในข้าวได้ รวมทั้งรสชาติ ความหอมของข้าวก็จะลดลงไปด้วย
ต่อมาคืออัตราส่วนของข้าวสารและน้ำโดยมีหลักอยู่ว่าภาชนะที่ใช้ตวงน้ำและข้าวสารควรเป็นภาชนะเดียวกัน สำหรับการหุงข้าวให้สวยนุ่มน่ากินนั้นต้องคำนึงถึงประเภทของข้าวด้วย ถ้าเป็นข้าวใหม่ให้ใช้ข้าวในอัตรา 1 ส่วน : น้ำ 1.2 ส่วน แต่ถ้าเป็นข้าวเก่าให้ใช้ข้าวในอัตราส่วน 1 ส่วน : น้ำ 1.5 ส่วน หรือดูอัตราส่วนง่ายๆ ได้จากข้างถุงข้าวที่ซื้อมานั่นเอง
สำหรับมือใหม่ที่เน้นง่าย สะดวก ไม่อยากมานั่งตวง แนะนำให้ใช้วิธีแบบบ้านๆ เพียงแค่เกลี่ยข้าวให้เรียบเสมอกัน จากนั้นเอานิ้วชี้จุ่มลงไปโดยให้ปลายนิ้วแตะที่เมล็ดข้าวพอดี ถ้าเป็นข้าวใหม่ ต้องให้น้ำอยู่ประมาณข้อแรกของนิ้ว แต่ถ้าเป็นข้าวเก่าจะต้องให้น้ำเลยข้อนิ้วขึ้นมาครึ่งข้อ และอย่าลืมใช้ผ้าเช็ดก้นหม้อให้แห้งก่อนหุงด้วยนะจ๊ะ เพียงเท่านี้ข้าวของเราก็จะออกมานุ่ม ฟู สวย เหมือนมือโปรมาหุงเองแล้ววว