เปลี่ยนนิสัยการกินรับปีใหม่ 9 ข้อง่ายๆ ไม่ล่มกลางคัน

7,263 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ลืม New Year's Resolution ยากๆ ทิ้งไปแล้วเริ่มปีใหม่กับ 9 ทริกเล็ก ๆ ที่จะเปลี่ยนการกินของคุณให้ดีขึ้น

หลายคนมักยึดเอาวันที่ 1 ของเดือน 1 เป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่หลายคนก็หมดหวังกับการปรับเปลี่ยนอะไรเสียแล้ว เพราะ New Year’s Resolution ของปีก่อนๆ ถูกล้มเลิกกลางคันมานับไม่ถ้วน และถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ละทิ้งปณิธานปีใหม่ไปตั้งแต่ต้นปีก็อย่าเพิ่งท้อใจไป คุณไม่ใช่คนเดียวหรอก ผลการสำรวจพบว่ากว่า 80% ของปณิธานปีใหม่ถูกโยนทิ้งไปตั้งแต่สัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์แล้ว!

ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ความตั้งใจเหล่านี้มักพังไม่เป็นท่าก็เพราะเป้าหมายเหล่านั้นใหญ่เกินไป เป็นนามธรรมเกินไป หรือกว้างเกินไป อย่างเช่น ‘ลดน้ำหนักให้ได้ 20 กิโลกรัม’ ‘กินอาหารสุขภาพ’ หรือ ‘สุขภาพดีขึ้น’ ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายยอดนิยมที่มักจะถูกลืมไปหลังหมดกลิ่นอายเทศกาลเพียงไม่นาน

KRUA.CO เลยมีทางออกง่ายๆ และทำได้จริง ที่จะมาช่วยปรับเปลี่ยนนิสัยการกินให้คุณมีสุขภาพดีขึ้นได้แบบไม่ถูกทิ้งไว้กลางทางเหมือน New Year’s Resolution ยากๆ ของปีก่อนแน่นอน

พกขวดน้ำ

ร่างกายของเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบมากถึง 75% และคนส่วนใหญ่มักดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย วิธีการคำนวณง่าย ๆ คือ (น้ำหนักตัว (กก.) x 2.2 x 30) / 2 หน่วยที่ได้ออกมาเป็นมิลลิลิตร นั่นคือปริมาณน้ำสะอาดที่ควรดื่มให้ได้ในแต่ละวัน เทียบง่ายๆ ว่า คนที่มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ต้องดื่มน้ำให้ได้ 2 ลิตรต่อวัน (ห้ามขี้โกงโดยการรวมกับน้ำหวาน ชา กาแฟ และน้ำอัดลม)

วิธีการง่ายๆ ที่จะทำให้ดื่มน้ำได้เยอะขึ้นคือการพกขวดน้ำ อาจเริ่มจากขวดน้ำสวยๆ ที่ชอบสักขวด เลือกลายที่ถูกใจ น้ำหนักน้อย จะได้พกพาได้ง่าย เป็นพร็อบเก๋ๆ ไว้ถือแก้เขิน เก็บขวดน้ำไว้ใกล้ตัวเสมอและจิบบ่อยๆ นอกจากจะทำให้ดื่มน้ำได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ยังเป็นการลดใช้ขวดน้ำพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งได้อีกด้วย

ชิมก่อนปรุง

เครื่องปรุงพวงๆ กับชามก๋วยเตี๋ยวแทบจะเป็นของคู่กัน แน่นอนกว่าการเพิ่มรสเปรี้ยว หวาน เค็ม เผ็ด นั้นคือการชูรสให้อาหารถูกปากยิ่งขึ้น แต่นั่นก็เป็นการเพิ่มโซเดียม น้ำตาล น้ำส้มสายชู และผงชูรสเข้าสู่อาหารแต่ละจานเกินความจำเป็นเช่นกัน บางคนถึงกับมีสูตรการปรุงเป็นของตัวเองว่าต้องใส่อะไรอย่างละกี่ช้อน แบบที่ต่อให้ฝากเพื่อนไปซื้อก็ยังฝากเพื่อนปรุงให้ได้อยู่ดี

การชิมอาหารก่อนปรุงอาจจะช่วยให้ปรุงอาหารได้เบามือลงบ้าง โดยเฉพาะอาหารประเภทเส้นที่พ่อค้าแม่ค้ามักปรุงมาเรียบร้อยแล้วขั้นหนึ่ง หรือหากจะให้แอดวานซ์ขึ้นไปอีกต้องเลิกคบแม่พุ่มพวงบนโต๊ะก๋วยเตี๋ยวให้เด็ดขาด จะถือเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพอีกอย่างหนึ่ง

สัปดาห์ละครั้ง

กฎ ‘สัปดาห์ละครั้ง’ ทำงานง่ายๆ แค่กำหนดเลือกกินอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาหารโปรดที่แคลอรีสูงปรี๊ด น้ำตาลจัดหนัก หรือไขมันพุ่งพรวดอย่างเช่นชานมไข่มุกที่รักซึ่งดีต่อใจแต่ไม่ดีต่อร่างกาย 

กฎข้อนี้จะง่ายขึ้นเมื่อใช้ปฏิทินเป็นตัวช่วย โดยบันทึกง่ายๆ ว่าในสัปดาห์นี้เรากินเมนูนั้นๆ ไปวันไหนบ้าง วิธีนี้นอกจากจะทำให้เห็นเป้าหมายได้ทันทีอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังทำให้มองเห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้อีกต่างหาก

เลือก Whole Food ไว้ก่อน

การเลือกกินอาหารสุขภาพทุกๆ มื้อสำหรับคนเมืองที่มีวิถีชีวิตเร่งรัดอาจเป็นเรื่องยาก แต่หากเมื่อใดที่มีโอกาสได้เลือกซื้ออาหารเอง ไม่ว่าจะเป็นจากร้านตามสั่งใกล้ออฟฟิศหรือจะเป็นบริการเดลิเวอรี่เจ้าประจำ ก็ขอให้เลือกอาหารที่เป็น Whole Food หรืออาหารธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการซับซ้อน ที่มีเครื่องปรุงรส น้ำตาล และสารปรุงแต่งอื่นๆ น้อยกว่า เช่น เปลี่ยนจากก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเป็นก๋วยเตี๋ยวหมูชิ้น เปลี่ยนไส้แซนด์วิชจากแฮมเป็นไก่ฉีกหรือไข่ต้ม เปลี่ยนเนยบนขนมปังปิ้งเป็นอะโวคาโด เลือกข้าวขัดสีน้อยหรือข้าวไม่ขัดสีแทนข้าวขาวทั่วไป เท่านี้ก็เข้าใกล้คำว่าสุขภาพดีได้อีกนิดแล้ว

อย่ากินข้าวบนโต๊ะทำงาน

คนจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตนับตั้งแต่ก้าวเข้าเขตออฟฟิศไปกับโต๊ะทำงานทั้งหมด รวมไปถึงเวลาของมื้อกลางวันด้วย อาจเป็นเพราะภาระงานที่เร่งรัดหรือด้วยความสะดวก ทำให้มนุษย์ออฟฟิศหลายชีวิตเลือกกินมื้อกลางวันกับหน้าจอ นั่งอยู่กับที่แบบแทบไม่ขยับตัวไปไหนเลยตลอดทั้งวัน

การกินข้าวบนโต๊ะทำงานอาจดูเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีพิษภัย แต่หากลองวิเคราะห์ดูให้ดีก็จะพบว่า การกินข้าวโดยที่ความสนใจยังจดจ่ออยู่กับจอคอมพิวเตอร์ ทำให้เราไม่ทันสังเกตว่าในแต่ละคำของอาหารที่เดินทางเข้าสู่ร่างกายประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนอยู่ไหม มีน้ำมันเยิ้มๆ หรือมีเศษผักที่ไม่สะอาดอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นการสร้างนิสัยในการละเลยอาหารอย่างร้ายกาจ

การลุกออกไปนั่งกินข้าว นอกจากจะทำให้ได้ใส่ใจอาหารแต่ละคำที่กินมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการขยับร่างกายเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นบ้าง และอาจจะได้เมนูน่าสนใจเมนูใหม่จากการลอกเพื่อนร่วมโต๊ะได้ด้วย

‘หวานน้อย’ ให้ติดปาก

ในเวลาบ่ายคล้อยที่พลังงานเริ่มต่ำลง ไม่มีอะไรจะดีกว่าเครื่องดื่มเย็นๆ สักแก้ว ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มประเภทชงอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลปริมาณมหาศาล แถมยังเติมความหวานมันด้วยนมข้นหวานและนมข้นจืดอีกไม่ยั้ง ซึ่งกำลังจะกลายเป็นน้ำตาลส่วนเกินที่สะสมในเลือดและเป็นไขมันที่พอกพูนตามรอบเอวในอนาคต จะให้หักดิบเลยก็ดูจะเป็นเรื่องน่าปวดใจ แต่อย่างน้อยที่สุด การร่ายคาถา ‘หวานน้อย’ ให้ติดปากก็จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานส่วนเกินเหล่านี้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเมนูไหนอย่าลืมลงท้ายด้วยหวานน้อย หวานน้อยมาก หวานน้อยสุดๆ หรือจะเพิ่มความเซียนด้วยการกำหนดปริมาณน้ำตาลด้วยตัวเองไปเลยก็จะเท่ไปอีกหนึ่งระดับ “ป้าคะ ขอชาเชียวน้ำตาลกับนมข้นหวานแค่อย่างละช้อนค่ะ!”

เปลี่ยนวันละอย่าง

หากการปรับพฤติกรรมการกินทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเรื่องยากเกินไปจนทำให้เกิดความท้อแท้และน่าเบื่อจนพาลจะล้มเลิกกลางคันไปอีกปีก็อย่ากดดันตัวเอง อาจเริ่มลองปรับทีละนิดด้วยการเลือกเรื่องที่จะปรับประจำวัน เช่น จันทร์ Whole Food อังคารหวานน้อย พุธหยุดปรุง แล้วลองเพิ่มความท้าทายให้ตัวเองทีละนิดๆ ไม่แน่ว่าคุณอาจไปได้ไกลกว่า 9 ข้อนี้เสียอีก

ใช้มือถือให้เป็นประโยชน์

การทำ Food Tracking หรือการจดบันทึกอาหารที่ทานในแต่ละวันดูเป็นเรื่องยุ่งยากเกินกว่าจะทำไหว แต่หากลองเปลี่ยนเป็นการยกสมาร์ตโฟนเครื่องเก่งมาแชะรูปเก็บไว้ละก็จะทำได้เพียงไม่กี่วินาที กลายเป็น Food Tracking แบบใหม่ที่นอกจากจะช่วยทำให้ย้อนหลังไปดูเมนูของแต่ละวันได้แล้ว ยังอาจเพิ่มความแอดวานซ์ด้วยการอัปโหลดลงในโซเชียลมีเดีย ติดแฮชแท็กเก๋ๆ แล้วหาก๊วนมาร่วมอุดมการณ์ก็ดูน่าสนุกไม่น้อยเลยทีเดียว 

จัดการ News Feed ใหม่

นอกจาก You are what you eat. แล้ว ยุคนี้ต้องบอกว่า You are what you read. ด้วย เพราะสิ่งที่เราอ่านผ่านโซเชียลมีเดียอยู่แทบจะตลอดเวลา ส่งผลต่อความคิดความอ่านของเราไม่น้อย ถ้าการเริ่มปรับพฤติกรรมการกินรับปีใหม่สเต็ปแรกจะเริ่มที่การเคลียร์นิวส์ฟีดบนช่องทางโซเชียลมีเดียก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย 

มาเริ่มต้นปีด้วยการกด Follow สื่ออาหารดีๆ ที่จะส่งต่อเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับวัตถุดิบและอาหาร ให้คุณสนุกกับการเลือกกินและทำอาหาร เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีได้ตลอดทั้งปี หากยังไม่รู้จะเริ่มต้นที่ตรงไหน ขอแนะนำให้เริ่มที่ช่องทางต่างๆ ของ KRUA.CO ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram Twitter Youtube หรือ Line เราสัญญาว่าจะนำเสนอเรื่องราวอาหารรอบด้านพร้อมเกร็ดความรู้สนุกๆ ให้ทุกคนตลอดปีเช่นเคย

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS