ราเมงเรืองแสง เมนูในฝันสู่ประสบการณ์ Glow in the Dark

2,897 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ราเมงเรืองแสงหน้าตาสุดล้ำในบรรยากาศแปลกใหม่ที่สร้างปรากฏการณ์ที่นั่งถูกจองเต็มทุกวันตั้งแต่ร้านยังไม่เปิดกิจการ

ลองนึกถึงภาพการกินอาหารใต้แสงไฟแบล็กไลต์ซึ่งทุกอย่างแทบจะมืดสนิท ยกเว้นราเมงในถ้วยตรงหน้าเท่านั้นที่เรืองแสงจนเป็นสิ่งที่สว่างที่สุดในห้อง ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคือ – นี่ไม่น่าจะใช่อาหารมนุษย์

เชี่อว่าหลายคนคงคิดเหมือนกัน และดูเหมือนเราจะคิดถูกเสียด้วย เพราะราเมงเรืองแสงที่เห็นอยู่นี้เป็นอาหารฝีมือ 7 พี่น้องตระกูลนากามูระซึ่งไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นโยไก (妖怪 – Yōkai สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติตามคติความเชื่อแบบญี่ปุ่นโบราณ) ที่สูญเสียทั้งพ่อและแม่ไปกับพายุครั้งใหญ่ นับแต่นั้นมา พี่น้องโยไกทั้งเจ็ดก็ใช้เวลาไปกับการออกตามหาพ่อแม่ไปทั่วโลก เผื่อว่าทั้งสองจะยังอยู่ที่ใดสักแห่ง แน่นอนว่าในระหว่างนั้นตระกูลนากามูระก็ทำราเมงเสิร์ฟไปด้วย ในร้านป็อปอัปเล็กๆ เพียง 6 ที่นั่งที่ชื่อว่า Nakamura.ke แห่งนี้

และทั้งหมดนั้นคือเรื่องแต่ง…

อย่าเพิ่งด่วนปิดบทความนี้ไปก่อน เพราะเรื่องราวของพี่น้องโยไกตระกูลนากามูระไม่ใช่เรื่องที่เราแต่งขึ้น แต่เป็นเรื่องที่ ‘อามิ ซูเอกิ’ สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นแบ็กกราวนด์ของโปรเจกต์สุดแปลกอย่าง Nakamura.ke ร้านอาหารกึ่งโรงภาพยนตร์เล็ก ๆ ซึ่งผุดขึ้นมาเป็นการชั่วคราวที่ Edgewood Avenue ย่านกินเที่ยวและไนต์ไลฟ์ยอดนิยมอีกแห่งในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา

Nakamura.ke เป็นร้านอาหารป็อปอัปขนาดราว 2 ล็อกจอดรถยนต์ที่เกิดขึ้นจากกลางดึกคืนหนึ่งคุณซูเอกิ อดีตดีไซน์เนอร์จากโคคาโคล่าฝันถึงราเมงเรืองแสง และเก็บเอารายละเอียดในฝันนั้นไว้หลายปี ก่อนจะพัฒนามาเป็น Nakamura.ke ภายใต้ชื่อ Zoo as Zoo ดีไซน์สตูดิโอที่เธอเป็นผู้ก่อตั้ง ร่วมกับ Bompas and Parr อิเวนต์สตูดิโออาหารสุดแหวกแนว ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างไนต์คลับที่เสิร์ฟค็อกเทลที่มีไว้สูดเข้าไปพร้อมลมหายใจก็ทำให้เมาได้ และ Dashboard ครีเอทีฟเอเจนซีที่สร้างงานศิลปะโดยการขังศิลปิน 2 คนไว้ในไนต์คลับร้างยาวนานกว่า 3 สัปดาห์ เพราะการรวมตัวกันของนักสร้างสรรค์ที่มีไอเดียสุดโลดโผนเหล่านี้ ราเมงเรืองแสงจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นเมนูหลักของร้าน Nakamura.ke

สิ่งท้าทายที่สุดคือการตอบคำถามว่าจะทำอาหารเรืองแสงออกมาอย่างไรให้ปลอดภัยและที่สำคัญคือต้องมีรสชาติที่ดีด้วย Bompas and Parr สตูดิโออาหารที่จับมือร่วมด้วยครั้งนี้หมกมุ่นศึกษาเรื่องอาหารเรืองแสงมากว่าทศวรรษ และเคยจัดแสดงงานศิลปะที่ใช้ ‘ควินิน’ ผสมเข้ากับเยลลีกลายเป็นงานศิลปะเรืองแสงตั้งแต่ปี 2009 ครั้งนี้พวกเขาก็ใช้ควินินในการปรุงราเมงเรืองแสง

ควินิน (Quinine) คือสารที่ได้จากต้นซิงโคนา (Cinchona) เดิมทีใช้เพื่อการรักษาโรคมาลาเรีย แต่ภายหลังนิยมใช้ตัวยาอื่นแทน เพราะมีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่า สิ่งที่หลงเหลือจากการใช้ควินินเป็นยารักษาโรคก็คือน้ำโทนิก (Tonic) ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย เนื่องจากควินินมีรสขม กินยาก จึงต้องนำไปผสมกับเครื่องดื่มเพื่อให้สามารถดื่มได้ง่ายขึ้น และยังคงมีอยู่ในนาม Gin & Tonic จนถึงปัจจุบันเครื่องดื่มอัดลมสุดซ่าที่มีรสขมติดปลายลิ้นเล็กน้อยอย่างโทนิกก็ยังคงมีการผสมควินินในปริมาณน้อยมากๆ เพื่อแต่งรสอยู่ ดังนั้นหากคุณลองรินโทนิกใส่แก้วใสแล้วถือเข้าไปในห้องที่สาดด้วยไฟแบล็กไลต์ มันก็จะเรืองแสงสะท้อนออกมาอยู่นั่นเอง

ไม่ใช่เพียงแค่ควินินเท่านั้น เมื่อได้ลองค้นหาข้อมูลดูคร่าวๆ ก็พบว่าสารที่มีอยู่ในอาหารบางชนิดก็สามารถเรืองแสงเมื่อเจอแบล็กไลต์ได้ด้วยเหมือนกัน อย่างเช่นวิตามิน B2 แบคทีเรียตามธรรมชาติบางชนิด หรือแม้กระทั่งอาหารที่มีสีขาวจัดหรือสีอ่อน อย่างมาร์ชเมลโลว์หรือมันฝรั่งทอด แม้จะไม่มีคุณสมบัติในการเรืองแสง แต่เมื่ออยู่ภายใต้แสงแบล็กไลต์ก็จะมองเห็นเป็นสีน้ำเงินดูน่าตื่นเต้น

แต่ปัญหาหลักก็คือ ทีมผู้คิดค้นจะต้องหาปริมาณพอดีที่ควินินจะทำให้ราเมงเรืองแสงได้สวยงาม โดยที่ไม่หายไปกับความร้อนของอาหาร และไม่ทำให้กลิ่นหรือรสชาติผิดเพี้ยนไป ซึ่งกระบวนการนี้กินเวลากว่า 3 สัปดาห์เต็ม ๆ

Nakamura.ke ไม่เพียงแต่เสิร์ฟประสบการณ์ด้วยอาหารเรืองแสงเท่านั้น แต่ยังเติมเต็มด้วยเรื่องราวของตระกูลนากามูระ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายครอบครัว การตกแต่งสถานที่ภายใน พร้อมกับสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์ที่จะชวนให้ใครก็ตามที่แวะเวียนมาได้เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของเหล่าโยไกทั้งเจ็ดนี้ในทุกมิติ

Nakamura.ke ให้บริการในราคา 75 ดอลลาร์ หรือราว 2,300 บาท เสิร์ฟราเมงเรืองแสงสุดไอคอนิกในห้องเล็กๆ ขนาด 6 ที่นั่ง จำกัดเวลา 30 นาที (ได้แรงบันดาลใจมาจากบรรยากาศของร้านราเมงยืนกินในญี่ปุ่น) ส่วนใครที่สนใจจะอยู่ในบ้านนากามูระนานขึ้นอีกหน่อย สามารถใช้บริการพื้นที่ส่วน Nakamuras’ living room ซึ่งมีบริการอาหารกินเล่น ค็อกเทล โซจู และสาเก

Nakamura.ke ตั้งร้านอยู่ที่ Edgewood Avenue ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคมจนถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งตั๋วถูกจองล่วงหน้าเต็มหมดแล้ว แต่ใครที่อยากเปิดประสบการณ์เรืองแสงไปกับตระกูลนากามูระอย่าเพิ่งเสียใจ เพราะอามิ ซูเอกิเผยว่า Nakamura.ke วางแผนจะเดินทางต่อไปยังลอสแอนเจลิส ลอนดอน ไมอามี่ นิวยอร์ก โตเกียว โซล และสุดท้ายก็จะกลับมาที่แอตแลนต้าเช่นเดิม ถ้าสนใจก็ติดตามข่าวคราวตระกูลนากามูระได้ที่ nakamura-ke.com

ข้อมูลจาก:

https://www.atlantamagazine.com/dining-news/worlds-first-glow-dark-ramen-pop-up-debuting-atlanta/

https://sciencenotes.org/food-glows-black-light/

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS