“ปลาก้างอ้วนพี อยู่ที่ขุนห้วย หากพวกเธอเห็นใจก็หลอมรวมกัน
ตัดต้นไม้อย่าตัดถึงต้น เหลือไว้ให้นกพญาไฟพักสักหนึ่งกิ่ง
บนขุนเขาห่มผ้าสีแดง บนไหล่เขาห่มผ้าสีแดง แล้วสรรพสิ่งจะอยู่ได้อย่างไร
ป่าดิบเขากลายเป็นป่าเต็งรัง ป่าเต็งรังกลายเป็นป่าแพะ
ป่าแพะกลายเป็นป่าห่าง สรรพสิ่งก็จะสูญสิ้น”
บทกวีข้างต้นนี้ แปลมาจากบทธาบทหนึ่งของชาวปาเกอะญอ ‘ธา’ หรือบทกวีของชาวปกาเกอะญอ เป็นเหมือนแม่น้ำสายใหญ่ที่ส่งต่อวิถีชีวิตของเผ่าพันธุ์ไปยังสายเลือดปกาเกอะญอรุ่นต่อรุ่น บทธามักเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าชีวิตของปกาเกอะญอกับป่าคือสองสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างกลมกลืนและแน่นแฟ้น
ในอดีต คนข้างล่างเรียกพวกเขากันติดปากอย่างวิสาสะว่า กะเหรี่ยงหรือยางกะเลอ และใช้ความไม่รู้ขีดเส้นแบ่ง สร้างช่องว่างระหว่างชาวเขากับชาวเราไว้มากมายมหาศาล ใช้ความกลัววาดภาพให้ปกาเกอะญอเป็นคนเผาป่า เป็นความไม่ศิวิไลซ์ เป็นชนกลุ่มอื่น เป็นชายขอบผู้ตกหล่นและถูกหลงลืมไปจากสังคม
แต่ ‘ปกาเกอะญอ’ ยังคงนิยามตัวเองอย่างหนักแน่นว่าเป็น ‘ปกาเกอะญอ’ – พวกเขาคือ ‘ปกาเกอะญอ’ ซึ่งแปลว่า “คน”
ปกาเกอะญอแห่งมูเส่คี
ปกาเกอะญอเป็นชาติพันธุ์ที่พบได้ทั่วโลก ทั้งในเมียนมาร์ ไทย สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ โดยในประเทศไทยเอง ปกาเกอะญออาจนับได้ว่าเป็นชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคตะวันตก ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของสภาพสังคม ปกาเกอะญอนับเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่ยังรักษาอัตลักษณ์ของกลุ่มไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และต่างเคารพรักกันและกันในฐานะของ ‘พี่น้องปกาเกอะญอ’ สายเลือดเดียว
อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่พี่น้องปกาเกอะญอยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายและสมถะ ก่อนที่จะกลายเป็นอำเภออย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน กัลยาณิวัฒนาคือพื้นที่ของตำบลแจ่มหลวง ตำบลแม่แดด และตำบลวัดจันทร์มาก่อน
พื้นที่ของวัดจันทร์เป็นป่าสนนับแสนไร่ จึงได้ชื่อว่าเป็นป่าสนผืนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสมบูรณ์ของป่าสนผืนนี้คือแหล่งกำเนิดของสายน้ำแม่แจ่มที่ไหลลงมาหล่อเลี้ยงผู้คนมานานแสนนาน ชาวปกาเกอะญอเรียกผืนดินอันแสนอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ว่า ‘มือเจะคี’ ที่แปลว่าต้นน้ำแม่แจ่ม เมื่อสำเนียงเพี้ยนไปปากต่อปากก็กลายเป็น ‘มูเส่คี’ เช่นในทุกวันนี้
‘ปกาเกอะญอ’ แปลว่า คน เช่นเดียวกับคนและคนของทุกพื้นที่ที่ย่อมจะมีหนทางของชีวิตตามแบบของตนเอง หนทางอันเกิดจากการปรับตัวเข้าหาสิ่งแวดล้อม หนทางอันเกิดจากการเรียนรู้และสืบต่อกันรุ่นต่อรุ่น แต่ด้วยความไม่เข้าใจ ครั้งหนึ่งปกาเกอะญอแห่งมูเส่คีถูกปักป้ายให้เป็นผู้ร้ายรุกป่า แผ้วถางความสมบูรณ์ของธรรมชาติมาทำไร่เลื่อนลอย จนคนข้างล่างต้องเดือดเนื้อร้อนใจกันครั้งใหญ่
หัวใจหลักที่จะทำให้ ‘คน’ ข้างบนและ ‘คน’ ข้างล่างมองเห็นความเป็นคนของกันและกันได้มากขึ้นมีเพียงข้อเดียว คือการขยับเข้าใกล้กัน และเรียนรู้วิถีชีวิตอันแตกต่างนั้นให้เข้าใจว่า แท้จริงแล้วเราล้วนแตกต่างกันเป็นธรรมดา และความแตกต่างนี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างโลกให้งดงามสมบูรณ์
“เราจะเข้าป่าไปหาอาหารแบบปกาเกอะญอกัน” จากคำเชิญชวนสั้นๆ บนโซเชียลมีเดียเพียงแค่นั้นก็หนักแน่นพอให้ฉันแบกกระเป๋าขึ้นสะพายบ่า เดินทางสู่แผ่นดินมูเส่คี โดยมีเพื่อนใหม่แปลกหน้าจากคนละทิศละทางมาร่วมอุดมการณ์ด้วยอีกหนึ่งหยิบมือ
การเรียนรู้วัฒนธรรมอันแสนแตกต่างย่อมจะเป็นเรื่องยากและใช้เวลา แต่หากจะมีทางใดทางหนึ่งที่พอจะเรียกว่าเป็นทางลัดให้เรารู้จักกันได้ง่ายขึ้น ฉันขอยกให้อาหารเป็นหนึ่งในนั้น ก็จะมีทางไหนให้เราเข้าใจวัฒนธรรมอย่างถ่องแท้ได้เล่า ถ้าไม่ใช่การเคี้ยวกร้วมๆ แล้วกลืนมันลงท้องเข้าไปเสียเลย!
‘จิเปี่ย’ สายเลือดพี่น้องกะเหรี่ยงทั่วโลก
กว่า 5 ชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่ เราเดินทางถึงมูเส่คีในเวลาใกล้ค่ำ โดยมี คลี – ณัฐวุฒิ ธุระวร เป็นเจ้าบ้านขับรถนำทางขึ้นมา กระเป๋าสัมภาระของแต่ละคนยังไม่ทันถูกเก็บเข้าที่เข้าทาง ทุกคนก็ถูกเรียกรวมตัวมา ‘เอาะเม ออที’ หรือ กินข้าวกินน้ำ ตามคำปกาเกอะญอ
อาหารมื้อแรกของทริปนี้มีชื่อว่า ‘จิเปี่ย’ เป็นเมนูที่คนกินต้องลงมือปรุงเองอยู่บ้างเพื่อให้ได้รสที่ถูกปากตน เมนูนี้มีส่วนประกอบหลักคือเนื้อไก่ที่ผัดมากับเครื่องเทศจนมีกลิ่นหอม สีเหลืองสวย มีรสเผ็ดร้อนเล็กๆ จากสมุนไพรหลายชนิดรวมกัน วิธีกินก็คือตักเนื้อไก่ใส่ในจานตามปริมาณความหิว ราดด้วยน้ำปลาร้ากลิ่นหอม รสเค็มอ่อน โรยพริกคั่วสูตรเฉพาะ เผ็ดมากเผ็ดน้อยเท่าที่ลิ้นจะทนไหว เพิ่มรสเปรี้ยวด้วยมะนาวสดๆ อีกเล็กน้อย หลังจากนั้นคือการคลุกสรรพสิ่งที่ตักมาให้เข้ากัน ตักใส่ปากชิมดูสักคำก่อนแล้วหากจะเพิ่มเผ็ด เปรี้ยว เค็มอีกก็ไม่มีใครขัด
จิเปี่ยวันนี้เสิร์ฟโดยใช้ข้าวบือแกล ข้าวไร่สายพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ คำว่าข้าวไร่ หมายถึงข้าวที่หว่านปลูกเป็นไร่ตามชายป่า ไม่ใช่ข้าวที่ปลูกในนา ชาวปกาเกอะญอยกให้ข้าวเป็นกสิกรรมหลักในวิถีชีวิต โดยเชื่อว่าหากมีข้าวพอกินแล้ว อาหารอื่นๆ ก็จะหากินได้ไม่ยาก
ข้าวไร่มักถูกปลูกทิ้งไว้ตามชายป่า ไม่มีการดูแลมากมายเท่าการทำนาของคนข้างล่าง ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงถือเป็นเรื่องไม่จำเป็น ข้าวบือแกลเป็นข้าวไร่ที่นิยมปลูกกันมากในท้องที่ เพราะเป็นข้าวที่ไม่ชอบน้ำ ทำให้ทนแล้งได้มากกว่าข้าวพันธุ์มาตรฐานหรือข้าวพันธุ์อื่นๆ มีลักษณะเด่นคือเมื่อหุงแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้มทั้งหม้อ นอกจากความสวยแล้วเรายังติดใจรสสัมผัสหนุบนับสู้ฟันที่ไม่เคยเจอในข้าวกล้องสายพันธุ์อื่นๆ นับว่าข้าวบือแกลออร์แกนิกของวันนี้ ทำหน้าที่สำคัญในการชูโรงให้จิเปี่ยเป็นมื้อต้อนรับที่น่าประทับใจ
จิเปี่ยไม่ใช่อาหารที่ชาวปกาเกอะญอมูเส่คีคุ้นเคยกันทุกบ้าน แต่เป็นอาหารดั้งเดิมของพี่น้องปกาเกอะญอจากรัฐกะเหรี่ยง รัฐหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมาร์ ไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ชาวปกาเกอะญอในไทย อย่างที่เรียกได้ว่า ในอำเภอกัลยานิวัฒนาก็อาจมีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่ทำจิเปี่ยกินเป็นเมนูสามัญ
ตุ๊โพ – ทองดี ธุระวร หรือที่ลูกหลานเรียกกันว่าพาตี่ทองดี คือหนึ่งในปกาเกอะญอกลุ่มแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาสื่อสารกับคนข้างล่างให้เข้าใจและยอมรับในวิถีของชาติพันธุ์ ใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการชี้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ชาวปกาเกอะญอกลายเป็นคนตกสำรวจ กลายเป็นชายขอบของการพัฒนาและเป็นผู้ร้ายโดยไม่รู้เรื่องรู้ราวในอีกหลายต่อหลายประเด็น และนอกจากการต่อสู้เพื่อสื่อสารกับคนนอกชาติพันธุ์แล้ว พาตี่ทองดียังเป็นสายเลือดอันเข้มข้นของปกาเกอะญอ ที่ติดต่อกับพี่น้องปกาเกอะญอในที่อื่นอยู่เสมอ
ไม่เพียงแต่คนข้างล่างและชาวปกาเกอะญอเท่านั้นที่ต้องรู้จักกันและกันให้มาก กระทั่งกับสายเลือดและชาติพันธุ์เดียวกัน เมื่ออยู่ต่างถิ่นต่างที่ก็ย่อมมีรายละเอียดของวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป จึงต้องเปิดใจเรียนรู้ระหว่างกลุ่มไม่ต่างกัน
การอยู่ร่วมกันของคนกับคนก็ไม่ต่างจากจิเปี่ยที่เกิดจากการผสมรวมคลุกเคล้า อย่างโน้นนิด อย่างนี้หน่อย ปรับลดและเพิ่มรสชาติไปที่ละน้อยจนเจอความพอดี กลายเป็นวัฒนธรรมจานแรกที่เราได้เรียนรู้กันทะลุปรุโปร่งจนหนังท้องตึง
‘ต่าพอพ่อ’ อดทั้งหมู่บ้าน กินทั้งหมู่บ้าน
หลังจากการล้อมวงรอบกองไฟอย่างหนักหน่วงด้วยเหล้าบ๊วยก้นโหลในคืนก่อน เราตื่นมาในเวลาที่พระอาทิตย์ทำงานเต็มที่แล้ว แทนที่จะเป็นเช้ามืดอย่างที่ตกปากรับคำกันไว้ดิบดี คลีหายออกไปพร้อมมอเตอร์ไซค์คู่ใจตั้งแต่เช้า เป็นอันรู้กันว่ากิจกรรมเข้าป่าตอนเช้าน่าจะเลื่อนออกไป จนกว่าจะเป็นเวลาที่ผู้ร่วมทริปจัดการสภาพร่างกายตัวเองให้พร้อมใช้แรงงาน
ชาวทริปเกือบสิบชีวิตทยอยออกจากกองผ้าห่มมาทีละคนสองคน บนระเบียงบ้านมีอาหารเช้ารออยู่ก่อนแล้ว โดยมีข้าวเบ๊อะเป็นพระเอกของมื้อนี้ แนมด้วยไข่ต้มและผักกาดสีม่วงที่ผัดมาอย่างง่ายๆ
ข้าวเบ๊อะ หรือ ‘ต่าพอพ่อ’ เป็นอาหารประจำชาติพันธุ์ของชาวปกาเกอะญออีกเมนูหนึ่ง ส่วนประกอบสำคัญคือข้าวและพืชผักประจำฤดูกาล ส่วนเนื้อสัตว์หากมีเพิ่มเติมมาก็จะกลายเป็นต่าพอพ่อที่สมบูรณ์มากขึ้น ชาวปกาเกอะญอกินต่าพอพ่อเป็นกับข้าว และต่าพอพ่อก็เป็นกับข้าวที่แทบหน้าตาไม่ซ้ำเดิมเลยในการทำแต่ละครั้ง
ชาวปกาเกอะญอมีคำกล่าวว่า “ได้กินอิ่มต้องอิ่มทั้งหมู่บ้าน อดอยากต้องอดทั้งหมู่บ้าน” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการจัดการกับแหล่งอาหารของชุมชน ไม่ว่าจะในยามที่ได้ผลผลิตมากหรือน้อย พี่น้องปกาเกอะญอก็ต้องมีอาหารกินอย่างทั่วถึง ปรัชญาข้อนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในเมนูต่าพอพ่อ ซึ่งมีตำนานเล่าว่าเป็นเมนูที่เกิดจากวิถีการแบ่งปันและจัดการอาหารในยามวิกฤติ ครั้งหนึ่งเมื่อชาวปกาเกอะญอต้องเผชิญกับ ‘ต่าส่าวีลอโด’ หรือฤดูแร้นเค้น ได้ผลผลิตข้าวน้อย พืชผักไม่พอกิน ผู้นำชุมชนจึงได้ออกความคิดให้ทุกคนรวบรวมอาหารที่เหลืออยู่ แล้วมาแกงรวมกันเป็นหม้อใหญ่เพื่อแบ่งกันกิน ให้ทุกคนในชุมชนได้มีอาหารกินอย่างทั่วถึง เรียกให้เป็นเมนูแห่งความสามัคคีของพี่น้องปาเกอะญอก็คงว่าได้
ปัจจุบันแม้ในฤดูกาลที่มีผลผลิตหลากหลายตลอดปี ต่าพอพ่อยังคงเป็นเมนูประจำบ้านของชาวปกาเกอะญออยู่เช่นเคย ในยามที่ได้ไก่ป่า ได้นกมา ชาวปกาเกอะญอก็ยังคงนิยมนำมาทำต่าพอพ่อเสมอ การปรุงรสอาจเน้นเผ็ด เค็ม ต่างกันไปตามรสมือของแต่ละบ้าน ส่วนต่าพอพ่อในเช้าวันนี้ถูกปรับรสชาติให้อ่อนลง กินแทนข้าวต้มร้อนๆ เป็นมื้อเช้าเพื่อเรียกพลังชีวิตของพวกเราคืนจากการต่อสู้กับแอลกอฮอล์ที่ยังคงตกค้างในร่างกาย และเตรียมความพร้อมเข้าป่าไปหาของกิน (สักที!)
‘กือหล่าเธอ’ เลื่อนลอยหรือหมุนเวียน? ทำลายล้างหรือยั่งยืน?
เมื่อวิญญาณกลับเข้าร่างแบบ 100% คลีพาชาวทริปขึ้นท้ายกระบะ พร้อมอุปกรณ์เท่าที่แต่ละคนจะทันหยิบฉวย ภารกิจสำคัญของวันนี้คือ เหล่าลูกทริปต้องทำอาหารจากการเดินป่าเพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้หนึ่งมื้อ ฟังดูไม่ใช่เรื่องน่าหวั่นใจนักหากนึกถึงฉากเข้าป่าจากละครหลังข่าวหลายๆ เรื่อง เรายังคงเล่นหัวกันได้คิกคักตลอดทางเข้าป่า
“แวะตรงนี้ก่อน จะพาไปเก็บผักกูด” คลีจอดรถข้างทางพาเราเดินลัดเลาะเข้าไปลึกใช่เล่น ในขณะที่บางคน (รวมถึงฉันเอง) ยังเก้ๆ กังๆ กลัวรองเท้าผ้าใบเปียกน้ำ มีฝรั่งตาน้ำข้าวคนหนึ่งเดินเท้าเปล่าบุกป่าไมยราพยักษ์นำหน้าไปไกล ฝรั่งที่อยู่ในยูนิฟอร์มพร้อมเข้าป่าตลอดเวลาคนนี้ชื่อวาย เราเรียกเขาอย่างลำลองว่าพี่ไว – พี่ไวไว
วายตกหลุมรักผืนป่าของเมืองไทย เขาอยู่ที่นี่มาราว 5 ปีและพูดภาษาไทยได้ชัดแจ๋วชีวิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร บางครั้งก็เป็นหมอแคน แต่วันนี้เป็นคนเก็บผัก แรงงานหลักของเราชาวทริปผู้ไม่มีทักษะการรักษาชีวิตให้รอดกลางป่าเอาเสียเลย
ในขณะที่พี่ไวนำลิ่วไปก่อน เราที่เหลือกำลังถูกปฐมนิเทศเรื่องการแยกประเภทผักกูด เฟิร์นใบม้วนชื่อคุ้นหูที่มีมากและรสชาติดีเป็นพิเศษในหน้าฝนอย่างผักกูดไม่ใช่ผักลึกลับสำหรับฉัน รสชาติกรุบกรอบฉ่ำน้ำชวนให้นึกถึงสายฝน หากโชคดีได้มาสดๆ แค่ผัดน้ำมันหอยง่ายๆ ก็อร่อยอย่าบอกใคร ฉันเคยกินและชอบกินผักกูด เสียแต่ว่าไม่เคยเก็บเอง จึงไม่เคยรู้ว่าผักกูดมีทั้งแบบที่นิยมกินและไม่นิยมนำมากิน
ผักกูดที่เราพบเจอได้ทั่วไปในตลาดคือผักกูดก้านเขียว มีลักษณะเด่นคือก้านเป็นสีเขียวสด ใบมีขนคลุมอ่อนๆ แตกต่างกันเล็กน้อยกับผักกูดอีกชนิดที่ไม่นิยมนำมาปรุงอาหาร ซึ่งจะมีก้านแก่สีดำหรือแดงเข้ม มีขนใบที่สากกว่า หากไม่จับมาเทียบกันดูชัดๆ ก็แยกกันออกได้ยากเต็มที กว่าเหล่าลูกทริปจะถึงบางอ้อว่าควรเก็บผักกูดแบบไหน วายก็เดินหายลับเข้าไปในป่าแล้ว
ฉันเสียเวลาไปมากกับการหากอผักกูดที่ก้านเป็นสีเขียวสด และกว่าจะค่อยเด็ด ค่อยเก็บยอดผักกูดแต่ละก้านก็ทุลักทุเลเต็มที กว่าจะได้สักกำทำเอาเหงื่อซึมเต็มหลัง ถ้าใครใจร้ายพาฉันมาปล่อยป่าจริงๆ ฉันคงต้องอดตาย ในขณะที่คลีและวายหอบผักกูดกลับมาได้เต็มแขน
เราโดดขึ้นรถพร้อมผักกูดสดๆ หอบใหญ่ ก่อนที่คลีจะพาเราไปจอดอีกที่หนึ่งเพื่อตามหาไฮไลต์ของทริป นั่นก็คือ ‘กือหล่าเธอ’ เห็ดก้อนกลมๆ ที่คนข้างล่างรู้จักกันในชื่อเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบนั่นเอง
กือหล่าเธอหรือเห็ดเผาะ เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนฉ่าของช่วงหลายเดือนก่อน เพราะถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุของหมอกควันพิษที่ทำเอาป่วยกายป่วยใจกันไปค่อนประเทศ ทั้งในเชียงใหม่และในกรุงเทพฯ ห้างร้านหลายแห่งออกมาประกาศคว่ำบาตรเห็ดเผาะด้วยการไม่สนับสนุนการขายเห็ดเผาะและผลิตภัณฑ์จากเห็ดเผาะทุกชนิด (แม้ว่าเราแทบจะไม่เคยเห็นห้างนั้นขายเห็ดเผาะมาก่อนก็ตาม) ด้วยเชื่อว่าเห็ดเผาะคือสาเหตุหลักที่ทำให้คนเผาป่า เพราะ ‘เขาเล่าว่า’ การเผาป่าทำให้เห็ดถอบขึ้นเยอะ ขึ้นถี่ และงามกว่าเดิม นอกจากนี้แล้วเขาก็ยังเล่ากันอีกว่าชาวเขาจึงเผาป่ากันเป็นการใหญ่เพื่อให้หาเห็ดถอบได้มากๆ ขายกันจนร่ำจนรวย ส่วนคนที่ซวยก็คือคนในเมืองที่ต้องมาดมควันจากการเผาป่าหาเห็ดถอบเหล่านั้น
เห็ดเผาะเป็นเห็ดท้องถิ่นที่หากินได้เฉพาะฤดูกาลและยังคงไม่สามารถเพาะปลูกได้อย่างเป็นระบบโรงเรือนเหมือนเห็ดชนิดอื่น การออกตามหาเห็ดถอบจึงเป็นอาชีพเสริมในช่วงต้นของฤดูฝนที่เห็ดเผาะนับได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ในดินเลยก็ว่าได้
เหตุที่เปรียบให้เห็ดเผาะเป็นขุมทรัพย์ในดินก็เพราะว่าเห็ดเผาะมีราคาสูงกว่าผลผลิตจากป่าชนิดอื่นๆ ค่อนข้างมากเมื่อฤดูบริโภคมาเยือนในแต่ละปี นอกจากนี้แล้ว เห็ดเผาะยังขี้อายแอบหลบอยู่ใต้ชั้นผิวดิน หากไม่ขุดหาก็อาจมองไม่เห็น
เห็ดเผาะลูกกลมๆ มักปรากฏอยู่เป็นกลุ่มๆ เมื่อเจอดอกหนึ่งก็เป็นไปได้สูงว่าจะมีอีกหลายดอกในพื้นที่เดียวกัน ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของป่าและความเข้มข้นของเชื้อเห็ดว่ามีมากน้อยเท่าใด ดอกที่ยังอ่อนอยู่จะมีสีขาว ใส้ด้านในมีสีอ่อน รสสัมผัสกรุบกรอบเคี้ยวอร่อยนัก ส่วนเห็ดเผาะที่แก่แล้วจะสีเข้มขึ้นทั้งเปลือกและด้านใน ผิวแข็งขึ้นแต่มีข้อดีคือขนาดใหญ่เต็มคำ
ฉันหาเห็ดเผาะได้ง่ายกว่าเก็บผักกูด เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ฝนตกหนัก ทำให้หน้าดินบางลง มองเห็นเห็ดเผาะได้ง่ายกว่า และที่สำคัญคือฉันใช้วิธีการอันแสนแยบยล โดยการเดินตามคนอื่นไปเรื่อยๆ หากมีใครเจอเห็ดเผาะสักดอกหนึ่งฉันก็จะรีบไปสำรวจพื้นที่ใกล้ๆ อย่างละเอียด รับรองว่าต้องเจออย่างน้อยสักสี่ห้าดอกให้พอเก็บไปอวดคนอื่นได้แบบไม่อายเขา
เมื่อเดินลัดเลาะไปเจอร่องรอยของการเผาไหม้ เราคนใดคนหนึ่งอดถามไม่ได้ว่าสิ่งนี้เกี่ยวกับการทำลายป่าหรือไม่ แม้การเก็บเห็ดเผาะเองจะเป็นความภูมิใจ แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็ยังหนีไม่พ้นความรู้สึกผิดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
“การเผาเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ร่วมกับป่าสนนะ” คลีเริ่มอธิบาย และดูเหมือนว่าจะต้องเป็นการอธิบายอันยืดยาว กว่าคำถามของเราจะได้คำตอบ “มูเส่คีเป็นป่าสนที่ใหญ่มาก และสนพวกนี้ผลัดใบตลอดปี” เขาเล่าพร้อมกับเขี่ยใบสนที่หล่นลงมาทับถมกันจนเป็นชั้นหนาให้เราดู
“สิ่งที่คนข้างล่างไม่รู้ก็คือ ใบสนเป็นใบไม้ที่มีลักษณะพิเศษ คือมันมีน้ำมันอยู่มาก และมันแทบจะไม่แห้ง ไม่ย่อยไปเหมือนป่าแบบอื่นเลย เราจึงต้องเผาเพื่อกำจัดใบสนที่ร่วงมาแบบนี้ เป็นการเผาย่อมๆ สองสามปีจะทำหนึ่งครั้ง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ ต้องมีคนรู้วิธีจึงจะเผาได้
“หากเราไม่เผาทุกๆ สองถึงสามปี ใบสนพวกนี้มันจะทับถมกันไปเรื่อยๆ พอเกิดไฟป่าในรอบสิบปี พวกนี้คือเชื้อเพลิงชั้นยอด เพราะมันมีน้ำมันมาก ต้นสนเองก็มีน้ำมันมาก จะเป็นไฟที่เราควบคุมไม่ได้ คุมไม่ได้เลย และนั่นอันตรายที่สุด”
ร่องรอยเผาทั้งเก่าใหม่เหล่านี้ นอกจากจะเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่ทำให้ชาวปกาเกอะญออยู่กับป่าสนได้อย่างกลมกลืนแล้ว ยังเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญของการเพาะปลูกแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นการจัดการนิเวศป่าให้คนและป่าได้ประโยชน์จากกันและกันอย่างสูงสุดโดยไม่ทำลายสมดุลของธรรมชาติอีกด้วย
ไร่หมุนเวียนในแบบฉบับของชาวปกาเกอะญอคือสิ่งที่ศาสตร์นิเวศวิทยามนุษย์ (human ecology) เรียกว่าระบบการทำไร่แบบทำการเกษตรซ้ำพื้นที่ในระยะสั้น และทิ้งให้ไร่ฟื้นตัวในระยะยาว ใกล้เคียงกับวิถีของชาวลัวะ ชาติพันธุ์พื้นเมืองของแผ่นดินล้านนา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นระบบเกษตรธรรมชาติที่สร้างเสถียรภาพให้ระบบนิเวศได้มากที่สุดอีกระบบหนึ่ง
การทิ้งพื้นที่ให้ไร่ได้ฟื้นตัวหลังเก็บเกี่ยวตามแบบปกาเกอะญอคือการละที่ดินจากการเพาะปลูกนานถึง 7 ปี แต่เดิมชาวปกาเกอะญอจะแบ่งที่ดินออกเป็น 7 ส่วน แล้วเลือกใช้ที่สำหรับทำการเกษตรเพียงส่วนเดียว เมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวของปีนี้แล้ว จึงแผ้วถางพื้นที่ในแปลงต่อไปอีก 1 ส่วนสำหรับทำไร่ต่อไปในปีหน้า และพักที่ดินแปลงเก่าไว้ให้ฟื้นตัว เรียกว่า ‘ไร่เหล่า’
ไร่เหล่าที่ว่างเว้นจากการเพาะปลูก ใช่ว่าถูกทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ เพราะชาวปกาเกอะญอมีวิธีการหาอาหารจากไร่เหล่าอายุต่างๆ แตกต่างกันไปตามวงจรของธรรมชาติ ไร่อ่อนหรือไร่เหล่าที่เพิ่งพักได้เพียงไม่กี่ปี ต้นไม้ยังไม่สูงมาก คือแหล่งของพืชพันธุ์ที่เก็บกินได้ตลอดทั้งปี ส่วนไร่แก่หรือไร่เหล่าที่พักไว้นานคือป่าขนาดย่อมที่มีสรรพสัตว์มาอยู่อาศัย การทำเกษตรและพักพื้นที่จะเป็นเช่นนี้วนไปจนครบ 7 ปี จึงวนกลับมาใช้ที่ดินส่วนแรกใหม่อีกครั้ง ผืนดินที่ถูกทิ้งไว้ให้เป็นป่าถึง 7 ปีย่อมมีความสมบูรณ์เหลือเฟือให้เพาะปลูกได้ใหม่ ไร่หมุนเวียนของปกาเกอะญอจึงเป็นภูมิปัญญาที่ช่วยให้คนและป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างน่าทึ่ง
ไฟและการเผาคือขั้นตอนอันศักดิ์สิทธิ์ของการทำไร่หมุนเวียน โดยจะต้องมีการเตรียมพื้นที่อย่างรัดกุมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าไฟจะอยู่ในการควบคุมเสมอ ทั้งการถางเพื่อให้ไร่ไม่สะสมเชื้อเพลิงไว้มากเกินไป การเตรียมแนวกันไฟป้องกันไฟลุกลามไปยังพื้นที่อื่น และการเผาเป็นสองแนวทั้งจากหัวไร่และปลายไร่ที่ทำให้ไฟอ่อนกำลังลงเมื่อลามเข้าหาพื้นที่ตรงกลาง หลังจากการเผาเพียงไม่กี่อาทิตย์ ใบอ่อนจากตอไม้และหน่อไผ่ก็จะเริ่มแทงยอด กลายเป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่งของวงจรแหล่งอาหารอีกครั้ง
เราเดินตามรอยไหม้จนหมดแรง และได้เห็ดเผาะราวสองถ้วยใหญ่ แม้ไม่มากมายแต่เมื่อรวมกับผักกูดที่เก็บมาก่อนหน้าแล้วก็เรียกได้ว่ามากเกินพอ เมื่อได้ออกแรงมากกว่าปกติ ท้องไส้ก็เรียกร้องงอแงกว่าทุกๆ วัน ชาวทริปกระโดดขึ้นหลังรถในสภาพหิวโซ แทบจะรอให้ถึงบ้านเด๊อะโพไม่ไหว
เด๊อะโพ: บ้านน้อยหลังนี้สุขีเสียจริง
ในที่สุดชาวทริปก็หิ้วท้องหิวๆ มาถึง “เด๊อะโพ” ฐานทัพของเราในวันนี้ โจทย์ที่คลีมอบให้สำหรับมื้อนี้ก็คือ เราต้องแบ่งเป็นสองกลุ่ม ทำอาหารจากเห็ดเผาะและผักกูดที่หามา ในระหว่างนี้เจ้าบ้านจะไปซ่อมแซมคันนาที่พังยวบลงจากฝนหนักของสองสามวันก่อน กลับมาจะมีการตัดสินมอบตำแหน่งเชฟเจ้าป่าให้กลุ่มที่ทำอาหารได้อร่อยที่สุด
เด๊อะโพ เป็นภาษาปกาเกอะญอ แปลว่าบ้านหลังน้อย เป็นบ้านที่คลีลงแรงสร้างเองกับมือแทบจะทั้งหมด เด๊อะโพยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีและยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ครั้นจะรอให้ชาวทริปก่อไฟติดก็คงหิวตายกันเสียก่อน เตาแก๊สปิคนิค จึงเป็นพระเอกสำหรับครัวคนป่าในวันนี้
ในขณะที่คลีทิ้งเราไปลงนา เราทั้งสองกลุ่มเริ่มสำรวจสิ่งที่พอจะเอามาทำอาหารได้ พริก กระเทียม น้ำปลาที่ติดมาหลังรถ ต่างคนต่างเก้ๆ กังๆ ด้วยคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี ฉันเดินไปสมทบกับทีมแกะพริกแกะกระเทียมแก้เขิน ฝากความหวังไว้ที่คนอื่นๆ ในกลุ่ม
“อันนี้ต้องเด็ดตรงนี้ ถ้าหักได้แสดงว่ากินอร่อย แต่ถ้าหักแล้วไม่ขาดออกจากกันคือส่วนที่แก่เกินไป” หูฉันได้ยินเสียงพี่ไวแว่วอยู่ไม่ไกลมาก นอกจากจะรับบทเป็นแรงงานสำคัญในการเก็บผักแล้ว ทริปนี้พี่ไวยังต้องรับบทเป็นคุณครูสอนเด็ดผักด้วย โดยมีนักเรียนเป็นชาวกรุงเทพฯ ที่เข้าครัวด้วยอาการประดักประเดิดพอประมาณ
เราใช้เวลาหยิบจับคนละไม้ละมืออยู่นานมากจริงๆ กว่าผักและเห็ดจะพร้อมปรุงฉันก็หิวแทบหมดแรง จนพี่ใหญ่คนหนึ่งในทริปเราออกไอเดียขึ้นมา
“พี่ว่า เราทำด้วยกันเลยมั้ย ไม่ต้องแยกกลุ่มแล้ว”
ทุกคนพยักหน้าเห็นด้วยหงึกหงัก แล้วเราก็เริ่มทำผัดกะเพราเห็ดเผาะเป็นเมนูแรก
“เค็มว่ะพี่”
“เออ พี่ก็ว่าเค็ม”
เราลดๆ เติมๆ เครื่องปรุงเท่าที่มีกันอุตลุด แต่ทำอย่างไรก็ไม่หายเค็ม คำตอบสุดท้ายโผล่มาเมื่อชาวทริปคนหนึ่งหันไปสบตากับน้ำอัดลมขวดใหญ่ที่พกมาแต่ไม่มีใครกิน
กว่าผัดกะเพราเห็ดเผาะจะเสร็จสมบูรณ์ เจ้าบ้านก็ลุยโคลนซ่อมคันนาเสร็จไปทั้งผืน และคลีดูจะช็อกไปเล็กน้อยเมื่อเห็นว่าเรายังทำกับข้าวเสร็จไปแค่เมนูเดียว
“สิ่งที่ขัดใจกับคนข้างล่างที่สุดก็น่าจะเรื่องอาหารนี่แหละ มันทำไมยุ่งยากกันขนาดนั้นน่ะ”
เมื่อสิ้นสุดคำพูด คลีก็ขับไสไล่ส่งทุกคนออกจากพื้นที่ทำกับข้าว พร้อมโชว์เดี่ยวทำอาหารอีกสองเมนูโดยใช้ผักกูดที่เหลืออยู่ ฉันได้แต่ยืนสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ กระทั่งจะขอเป็นลูกมือฉันก็เชื่องช้าไม่ทันใจเจ้าบ้านเขา
ตั้งน้ำทิ้งไว้รอให้เดือด ระหว่างนั้นคลีเดินออกไปจากใต้ถุนบ้าน กวาดตาแวบเดียวก็เด็ด ‘ห่อวอ’ กลับมาอย่างรวดเร็ว
“ใส่อันนี้ได้อยู่ มันจะหอมๆ พี่เรียกว่ากะเพราดอย”
โยนผักกูดลงหม้อทันทีที่น้ำเดือด ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อยแล้วโยนใบห่อวอลงไปสมทบ ห่อวอเป็นชื่อภาษาปกาเกอะญอ เป็นพืชที่ฉันไม่รู้จักและไม่คิดว่าจะมีชื่อภาษาไทย ใบหยักและมีขนบางๆ สากเล็กน้อย และในสายตาของฉันหน้าตามันเหมือนวัชพืชมากกว่าจะมาอยู่ในหม้อแกง แต่ทันทีที่ห่อวอเริ่มสุก กลิ่นหอมฉุนก็กระจายชวนน้ำลายสอ เป็นกลิ่นที่ไม่เหมือนกะเพราเสียทีเดียว แต่มีเอกลักษณ์อย่างที่ถึงตอนนี้ฉันก็ยังจำกลิ่นได้
ยกหม้อออกจากเตาแก๊ส ลูกทริปมีหน้าที่แค่ตักต้มผักกูดใส่ถ้วยแจกจ่าย คลีหันไปผัดผักกูดอีกหนึ่งเมนู ต้มผักกูดยังตักแบ่งไม่ทั่ว คลีก็ยกผัดผักมาสมทบแล้วพร้อมกับกับข้าวอีกสองสามอย่างที่เจ้าบ้านใจดีซ้อนแผนไว้ให้ เผื่อว่าอาหารที่เราทำกันเองจะกินได้ไม่คล่องปากนัก
เมื่อเข้าป่าเราจะกินข้าวอร่อยขึ้น ทั้งเพราะเหนื่อยอ่อนมาค่อนวัน เพราะใช้แรงไปมาก เพราะเป็นอาหารที่หามาด้วยมือตัวเอง หรือจะเป็นเพราะทำอาหารช้าจนพากันหิวโซฉันก็ไม่แน่ใจ รู้แต่ว่าข้าวห่อใหญ่กว่ากำปั้นของแต่ละคนพร่องลงไวกว่าที่คิด
“ปกาเกอะญอเรากินเพื่ออยู่ อาหารไม่ใช่เรื่องต้องคิดมาก มีอะไรก็เอามาทำ ใช้เวลากับมันให้น้อย เอาเวลาไปทำงานเยอะๆ ดีกว่า”
อาจจะจริงอย่างที่เขาว่า เพราะเบ็ดเสร็จสองเมนูของคลีใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที ในขณะที่เวลาของการทำผัดกะเพราเห็ดถอบยืดเยื้อจนคลีซ่อมคันนาเสร็จ แถมเมื่อทุกคนจัดการอาหารหมดจดแล้ว เรายังลงคะแนนเสียงตรงกันว่าผัดผักกูดห้านาทีเป็นจานขวัญใจของทุกคนประจำมื้อนี้อีกต่างหาก
หลังจากหนังท้องตึง เรานั่งล้อมวงกันบนระเบียงเล็กๆ ของบ้านเด๊อะโพ ฉันมือบอนหยิบเศษถ่านชุ่มฝนมาขีดๆ เขียนๆ ลงบนพื้น เจ้าของบ้านไม่รอช้า รีบจัดหาแผ่นไม้มาให้ชาวทริปแต่ละคนได้อวดฝีมือกันถ้วนหน้า
I AM A DROP OF WATER IN THE ENDLESS SEA.
พี่ไวเขียนข้อความลงบนแผ่นไม้ด้วยน้ำหนักมือมากๆ จนดำสนิท เป็นตัวหนังสือที่ดูหนักแน่น หากเปลี่ยนเป็นคำพูดก็คงเป็นน้ำเสียงที่ราบเรียบแต่จริงจัง
แผ่นไม้ของแต่ละคน เจ้าบ้านตั้งใจจะติดไว้ตามที่ต่างๆ ในบ้านหลังน้อยแห่งนี้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งใครมาเยือนเด๊อะโพบ้าง และเป็นคำสัญญากลายๆ ว่าอีกไม่นานเกินรอ เราจะกลับมาเจอกันอีกครั้งที่เด๊อะโพ บ้านหลังน้อยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและความสุขเรียบง่ายหลังนี้
หากปกาเกอะญอแปลว่าคน ก็คงมีความหมายจำเพาะเจาะจงถึงคนที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เป็นคนที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่กับป่าอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว ซึ่งจะแตกต่างอะไรกับคนอีกหลายร้อยล้านกลุ่มบนโลกใบนี้ ที่ยอมจะมีวิถีและที่ทางของตัวเอง ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนและเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มตน
หลายครั้งเราเผลอแยกชาวเขาออกจากชาวเรา เพียงเพราะมองเห็นความแตกต่างของเสื้อผ้า ภาษา อาหาร ความเชื่อ โดยหลงลืมว่า ลึกลงไปภายใต้เปลือกนอกอันแตกต่างหลากหลายเหล่านั้น ท้ายที่สุดแล้วเราคือสิ่งเดียวกันทั้งสิ้น คือเราเป็นคนเหมือนกัน เป็นเพียงคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในทะเลแห่งความแตกต่าง กว้างใหญ่ไพศาลไม่มีขอบเขต สิ่งที่เราคุ้นเคยและคิดว่าเป็นความจริงหนึ่งเดียว แท้จริงแล้วมันอาจเป็นเพียงหยดน้ำเล็กๆ อีกหนึ่งหยดในมหาสมุทรแห่งนี้
I AM A DROP OF WATER IN THE ENDLESS SEA. – ฉันยกให้ข้อความบนแผ่นไม้ของพี่ไวเป็นบทสรุปของทริป
ในบรรดาหยดน้ำเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน หากคุณได้ยินเสียงเรียก เอาะเมออที – กินข้าวกินน้ำ จากพี่น้องปกาเกอะญอ ฉันขอให้คุณเตรียมท้องไว้ให้ว่างพอ ทำตัวให้คล่องแคล่วพร้อมหยิบฉวยเป็นลูกมือ เตรียมหูไว้ฟังเรื่องราววิถีชีวิต และเตรียมปากกว้างๆ ไว้เรียนรู้วัฒนธรรมของ ‘คน’ ที่แสนเรียบง่ายกลุ่มนี้
และฉันขอยืนยันว่าวัฒนธรรมของพวกเขาอร่อยจริงๆ!
ต่าบลึ๊ (ขอบคุณ) ชาวแก๊งเก็บเห็ดทุกท่าน
ต่าบลึ๊พี่คลี เจ้าของบ้านที่ต้อนรับกันอย่างอบอุ่นเสมอ
ต่าบลึ๊พี่พาเหล่อโพ พี่นะเดชู พี่เก่อยอเก่อยอ พี่ก๊อตโตะ และโต๊ะเกาะ สำหรับบทสนทนาดีๆ
ต่าบลึ๊แก๊งน้องๆ ทั้ง พอซะ ตาเด๊าะ และห่อโค่ ที่คอยสร้างเสียงหัวเราะให้กัน
ต่าบลึ๊ตามีเมาะด้วย