ถ้าว่ากันถึงปรัชญาการกินของคนยุคใหม่ เชื่อว่าหนึ่งในนั้นหนีไม่พ้น ‘การกินอย่างยั่งยืน’ ตามหลักความยั่งยืนที่คล้ายเป็นแบบแผนในการใช้ชีวิตของคนเมืองรุ่นใหม่ผู้มีหัวใจอนุรักษ์ แต่ช้าก่อน… ระหว่างที่เรากำลังลด ละ เลิกการใช้หลอดพลาสติก พยายามกินข้าวให้หมดจาน หรือทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารเหลือทิ้งภายในบ้าน นักวิชาการด้านอาหารฝั่งตะวันตกก็พากันครุ่นคิดว่า ปัญหาเรื่องอาหารของโลกของเราน่าจะซับซ้อนกว่านั้น และถ้าจะสะสางปัญหาอย่างยั่งยืนแล้วละก็ เราอาจต้องมองกว้างในระดับโครงสร้างสังคม
นั่นคือจุดเริ่มต้นของแนวคิดเศรษฐศาสตร์ด้านอาหารแบบหมุนเวียน (Circular Food Economy) ที่กำลังกลายเป็นโมเดลพัฒนาระบบอาหารในหลายประเทศฝั่งตะวันตกทั้งอังกฤษ สวีเดน เดนมาร์ก หรือสวิสเซอร์แลนด์ แนวคิดดังกล่าวฟังดูเผินๆ อาจคลับคล้ายกับวิถีการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและยั่งยืน ที่เราพยายามรณรงค์กันมานานนับสิบปี แต่ในรายละเอียดแล้วมีความแตกต่างชวนให้คิดและตื่นตัวหลายประการ ด้วยหลักสำคัญที่มองทุกหน่วยของสังคมเป็นองค์รวม ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือ ลดทอน และผลักดันระบบอาหารทั้งสิ้น
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อาหารในจานของเราไม่เคย ‘ดีเท่าที่ควร’ แม้จะเลือกกินแค่ไหนก็ตาม เกิดขึ้นเมื่อราวครึ่งศตวรรษก่อน เมื่อสารเคมีกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรมรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ระบบอาหารขนาดใหญ่ซึ่งเน้นการผลิตเพื่อขายเติบโตสวนทางกับคุณภาพอาหาร โดยเฉพาะอาหารของคนเมืองที่มีแต่จะแย่ลงทุกเมื่อเชื่อวัน
เรื่องน่าหวั่นใจไม่ใช่แค่คุณภาพของอาหารเท่านั้น แต่รวมถึงสุขภาพของสิ่งแวดล้อมที่ถูกบั่นทอนลงชนิดน่าใจหาย ก๊าซมีเทนที่มีผลทำลายชั้นบรรยากาศถึง 1 ใน 4 เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมอาหาร แถมยังมีการประเมินว่าทรัพยากรน้ำจืดเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์นั้นถูกใช้ไปกับภาคเกษตรกรรม!
แล้วเราจะเดินออกจากวังวนนี้ได้อย่างไร?
นักวิจัยด้านอาหารจาก The Ellen MacArthur Foundation จึงเสนอแนวทางการ ‘ออกแบบ’ ระบบอาหารสำหรับโลกยุคใหม่ ด้วยหลัก 4 ข้อคือ
- ใช้ทรัพยากรในการผลิตอาหารแบบหมุนเวียน เพิ่มการใช้ซ้ำ และลดขยะในทุกขั้นตอนการผลิตอาหารให้ได้มากที่สุด เช่น การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อเปลี่ยนน้ำเสียในการผลิตอาหารเป็นน้ำสะอาดเพื่อใช้ซ้ำในการผลิต
- สร้างมูลค่าให้กับสินค้าส่วนเพิ่ม (By-Product) จากการผลิตอาหาร เช่น การนำเปลือกผลไม้มาทำน้ำหมักไล่แมลง หรือการนำผลเมล่อนอ่อนที่ต้องปลิดทิ้งระหว่างการผลิต มาเปลี่ยนเป็นสินค้าใหม่เพื่อลดการสูญเปล่า
- สนับสนุนให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะประชากรในเมืองใหญ่ บริโภคอาหารที่ผลิตจากพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อลดต้นทุนในการจัดการและขนส่งอาหาร ซึ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นนั้นจะกลับไปช่วยพัฒนาคุณภาพของอาหารได้ในอีกทาง
- นำเทคโนโลยีมาใช้ให้สอดคล้องกับการผลิต ไม่เพียงในแง่ช่วยเพิ่มอัตราการผลิตหรือลดต้นทุน แต่รวมถึงใช้ในการจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านอาหาร เพราะเชื่อว่า ความรู้ที่ถูกต้อง คือต้นทางของการกินที่ถูกต้องนั่นเอง
แนวทางดังกล่าวถูกพูดถึงในวงกว้าง โดยประเด็นที่คนในวงการอาหารทั่วโลกต่างให้ความสนใจคือการให้นิยามและตีกรอบคำว่า ‘สูญเปล่า’ (waste) และ ‘ยั่งยืน’ (Sustainable) เสียใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมและใช้การได้ในโลกทุกวันนี้
ความสูญเปล่าหรือที่เราเรียกติดปากว่าเวสท์ (waste) อาทิ Food waste หรืออาหารเหลือทิ้งจากการผลิต การปรุง และการกินนั้น แนวทาง Circular Food Economy โฟกัสไปที่การผลิตอาหารให้พอดีกับความต้องการ เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งตั้งแต่ต้นทาง และลดต้นทุนในการจัดการอาหารเหลือทิ้งที่ปลายทาง ซึ่งบางครั้งอาจเป็นการเพิ่มมลภาวะให้กับโลกอย่างไม่ตั้งใจ
ส่วนความยั่งยืนนั้น แนวทางนี้ให้ความหมายว่าไม่ใช่เพียงการมีวิถีชีวิตเชิงอนุรักษ์ แต่คือการช่วยกันส่งต่อ ‘องค์ความรู้’ ในการเลือกกินที่ถูกต้องให้กันและกัน ไล่เรียงมาตั้งแต่ภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา โรงพยาบาล รวมถึงการแนะนำคนรอบตัวถึงวิถีการกินที่ยืดหยุ่นเหมาะสม ดีต่อสุขภาพและดีต่อโลก
กว่านั้น ยังรวมถึงการดึงเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและลดความสูญเปล่าอย่างมีศิลปะ ตัวอย่างอันน่าสนใจก็เช่น ซอฟแวร์คำนวนอาหารเหลือทิ้งสัญชาติอังกฤษนาม ‘Winnow’ ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมใน 30 ประเทศทั่วโลก และช่วยลดต้นทุนการซื้อวัตถุดิบรวมถึงลดขยะจากอาหารได้ถึงเท่าตัว โดยการทำงานของ Winnow นั้นเรียบง่าย ผ่านการติดตั้งโปรแกรมการคำนวนปริมาณอาหารเหลือทิ้งไว้กับถังขยะอิเลคทรอนิกส์ของร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล หรือสถานศึกษา จากนั้นประเมินออกมาเป็นน้ำหนักของอาหารเหลือทิ้งแต่ละชนิด และนำมาวิเคราะห์กับพฤติกรรมการกินหรือเทรนด์อาหารในเวลานั้น เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจซื้อวัตถุดิบอะไรมากน้อย และเป็นหนทางช่วยลดอาหารเหลือทิ้งตั้งแต่ต้นทาง
พูดอย่างรวบรัดก็คือ เป็นการออกแบบโมเดลการพัฒนาระบบอาหารที่มองภาพกว้าง มากกว่าการตีกรอบพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงโครงสร้างของระบบอาหารให้แข็งแรง ซึ่งความแข็งแรงในที่นี้หมายถึงการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่ดี และกระจายอำนาจในการควบคุมระบบอาหารที่เคยตกอยู่ในมือบริษัทผลิตอาหารอุตสาหกรรมรายใหญ่ ไปสู่ผู้ผลิตรายย่อยมากขึ้น ผ่านความร่วมมือของทุกส่วนในสังคม… ด้วยเชื่อว่า ‘อาหารที่ดีจริงๆ’ นั้นต้องดีตั้งแต่ต้นทาง และดีกับทุกคน
เอกสารประกอบการเขียน
– https://www.ellenmacarthurfoundation.org/case-studies/data-backed-stories-that-drive-change
– https://medium.com/circulatenews/a-circular-economy-for-food-5-case-studies-5722728c9f1e
ภาพประกอบจาก
– https://www.rabobank.com
– https://www.freepik.com
– https://inhabitat.com/
– https://www.wasteminz.org.nz/
– https://www.businessinsider.com/