‘หม้อสุกี้’ ถือเป็นไอเท็มที่เกือบทุกบ้านต้องมีติดครัวไว้ ด้วยความเป็นหม้ออเนกประสงค์ นอกจากจะเหมาะกับคนที่ชอบกินชาบูแบบเข้าเส้นเลือดแล้ว ยังเหมาะกับมือใหม่ที่มีพื้นที่ทำครัวน้อยและอยากมีอุปกรณ์แค่อย่างเดียวจบอีกด้วย แต่ก่อนจะไปถึงเมนูจากหม้อสุกี้ เรามาทำความรู้จักเจ้าหม้อสุกี้กันดีกว่าว่ามีคุณสมบัติและลักษณะอย่างไร
- เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีการทำงานเหมือนกับหม้อต้มทั่วไป มีก้นหม้อลึกและตัดตรง ซึ่งแตกต่างจากกระทะไฟฟ้าที่เราเห็นกัน
- ขนาดมีตั้งแต่ไซส์เล็ก (ความจุ 1 ลิตร) ไซส์กลาง (ความจุ 2-3 ลิตร) ไปจนถึงไส์ใหญ่ (ความจุ 6 ลิตร)
- เป็นหม้ออเนกประสงค์ที่นอกจากจะใช้ต้มสุกี้แล้วยังสามารถทำเมนูอื่นๆ ได้อีกไม่ว่าจะเป็น ต้ม ผัด แกง ทอด นึ่ง อบ
- สามารถปรับระดับความร้อนได้หลายระดับตามความต้องการ แต่ความร้อนที่ได้จากหม้อจะไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากหม้อจะตัดไฟเองอัตโนมัติเมื่อได้ความร้อนที่ต้องการ และจะเริ่มทำงานใหม่เมื่ออุณหภูมิลดลง
- ในท้องตลาดจะมีด้วยกัน 2 แบบ คือหม้ออะลูมิเนียมและหม้อเคลือบ ซึ่งโดยทั่วไปจะนิยมแบบเคลือบมากกว่า เพราะอาหารจะไม่ติดหม้อและล้างทำความสะอาดได้ง่ายกว่า
- หม้อสุกี้ที่ดีควรมีฟังก์ชั่นถอดหม้อต้มออกมาได้ เพราะจะช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงที่น้ำจะโดนตัวหม้อโดยตรง
ทีนี้ก็เข้าเรื่องกันนน หม้อสุกี้ทำอะไรนอกจากต้มสุกี้ได้บ้างนะ…
นอกจากจะใช้ต้มสุกี้ชาบูได้แล้ว หม้อสุกี้ยังสามารถทำขนมง่ายๆ อย่างแพนเค้กได้ เนื่องจากตัวหม้อสามารถปรับระดับความร้อนได้และเป็นหม้อเคลือบ จึงทำให้ง่ายต่อการทอดแป้งประเภทแพนเค้ก เครป หรือโตเกียว แต่ข้อด้อยคือความร้อนไม่สม่ำเสมอ เราต้องคอยสังเกตให้ไฟตรงปุ่มควบคุมติดเสียก่อนแล้วจึงค่อยหยอดแป้ง ถ้าเป็นหม้อแบบอะลูมิเนียมไม่มีสารเคลือบ แนะนำให้ทาเนยให้ทั่วก่อนหยอดแป้ง จะทำให้แซะขนมได้ง่ายขึ้น หยอดน้ำลงไปเล็กน้อยแล้วปิดฝาเพื่อให้แป้งมีความนุ่มไม่กระด้าง นอกจากนี้ยังเหมาะกับขนมที่ใช้ความร้อนต่ำให้ขนมค่อยๆ สุกได้ เช่น คัสตาร์ดคาราเมล
เมนูเบสิคอย่างข้าวพวกข้าวอบต่างๆ เนื้อสัตว์อบ หรือเมนูที่ใช้ทั้งการผัด ต้ม และตุ๋นให้สุกในหม้อใบเดียว ก็ทำในหม้อสุกี้ได้และทำออกมาได้ดีด้วย เพราะหม้อสามารถปรับระดับความร้อนได้ ทำให้เราควบคุมความร้อนตามความต้องการ สามารถทำในหม้อสุกี้ทั้งแบบเคลือบและแบบอะลูมิเนียมได้
ตบท้ายด้วยเมนูของว่างอย่างขนมจีบ หรือจะเป็นเมนูประเภทนึ่งทั้งคาวทั้งหวานก็ทำได้ หลักการอยู่ที่เราต้องหาจานหรือภาชนะที่ทนความร้อน มีขอบสูงขึ้นมาซักหน่อย และมีขนาดเล็กพอที่จะใส่ลงในหม้อแล้วเหลือพื้นที่ว่างไว้สำหรับเทน้ำใส่ โดยวิธีการนึ่งทำง่ายๆ เพียงแค่วางจานอาหารที่ต้องการนึ่งลงในหม้อ จากนั้นเติมน้ำรอบๆให้สูงประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของจาน ปิดฝา ปรับระดับความร้อนไปที่ระดับกลางถึงแรง จับเวลาหลังจากน้ำเริ่มเดือดประมาณ 10-15 นาที ซึ่งเวลาขึ้นอยู่กับขนาดและการสุกยากง่ายของอาหารที่เรานึ่งนั่นเอง
บทความเพิ่มเติม