ฮาวทูกักตุน ‘ของสด’ สู้ Covid-19

3,056 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
วิธีเก็บของสดเพื่อยืดอายุให้อยู่ได้นาน ไม่เน่าคาตู้

แม้วันนี้รัฐบาลจะประกาศว่าตลาดสดและซูเปอร์มาร์เกตยังคงเปิดให้บริการ แต่ออกนอกบ้านให้น้อยที่สุดก็เป็นเรื่องควรทำ แถมยังไม่รู้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน สถานการณ์จะยิ่งรุนแรงขึ้นอีกหรือเปล่า KRUA.CO เลยจะมาแนะนำทริกในการเก็บของสด เผื่อว่าวันหน้าเราอาจจะต้องกักตัวกันเข้มข้นยิ่งขึ้น และอาจจะออกมาหาซื้ออาหารและวัตถุดิบไม่ได้ทุกเมื่ออย่างตอนนี้ ใช่แล้ว เราจะแนะนำการกักตุน ‘ของสด’ ที่แม้จะดูเหมือนเก็บได้ไม่นาน แต่ถ้ารู้จักวิธีจัดการก็จะยืดอายุได้ไม่น้อย

เนื้อสัตว์ โปรตีนหลักสำหรับอาหารทุกมื้อ

เนื้อสัตว์คือโปรตีนหลักของคนส่วนใหญ่ และการนำเข้าตู้เย็นช่องแช่แข็งก็เป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดสำหรับคนที่ไม่อยากออกไปนอกบ้าน การเก็บเนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อไก่ ต้องล้างให้สะอาด ซับน้ำให้แห้ง หั่นเป็นชิ้นพอคำสำหรับพร้อมปรุงเลยหรือจะหมักด้วยซอสปรุงรสต่างๆ หรือแพ็กสดๆ เลยก็ได้

แบ่งเนื้อสัตว์ที่เตรียมไว้ใส่ถุงซิปล็อก ไล่อากาศออกให้มากที่สุดเท่าที่จำทำได้ เพราะอากาศนี่แหละที่จะทำให้ของสดของเราอายุสั้นลง การเก็บในถุงสุญญากาศจึงดีที่สุด ซึ่งถ้าไม่มีถุงสุญญากาศก็ใช้ถุงซิปล็อกแทนได้ ใส่วัตถุดิบลงไปเตรียมภาชนะใส่น้ำพอประมาณ ใส่ถุงซิปล็อคลงไปในน้ำครึ่งหนึ่ง  ใช้มือค่อยๆ กดไล่อากาศออกเบาๆ และกดปิดปากถุงให้มิดชิด แค่นี้ก็ได้ถุงเก็บวัตถุดิบสุญญากาศแบบง่ายๆ แล้ว

ทำจนครบทุกถุง ใช้ปากกาเมจิกหรือสติ๊กเกอร์เขียนประเภทของเนื้อสัตว์และวันที่ที่นำเข้าตู้เย็น กำกับไว้ นำเข้าตู้เย็นช่องแช่แข็ง  ควรจัดให้อยู่ในรูปแผ่นแบนๆ ไม่กระจุกรวมกันเป็นก้อน เพื่อให้ความเย็นเข้าไปได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งยังสามารถจัดวางได้อย่างเป็นระเบียบและหยิบใช้สะดวก ที่สำคัญยังทำให้ละลายน้ำแข็งได้ง่ายขึ้นเมื่อต้องการนำออกมาปรุงอาหาร สำหรับเนื้อสัตว์บดหรือสับ ก็ทำได้เช่นเดียวกัน

ผักสด วิตามินสู้ Covid -19

ผักสดก็เป็นวิตามินที่เป็นปัจจัยหลักสำหรับทุกคนเช่นกัน ทั้งช่วยให้อิ่มอร่อยและทรงคุณประโยชน์ เสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรงต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ แต่การเก็บผักไว้รับประทานนั้นค่อนข้างมีปัญหา เพราะผักบางชนิดต่อให้แช่อยู่ในตู้เย็นก็ยังมีโอกาสที่จะเหี่ยว ฉะนั้นก่อนการเก็บผัก ควรเลือกซื้อผักที่สีสด ไม่มีรอยดำและช้ำ ขั้วหรือก้านต้องแข็งแรง สะอาด ไม่มีคราบดินและคราบรา

ผักที่เก็บไว้ได้นานไม่ต้องนำไปแช่ในตู้เย็น เมื่อจะใช้ค่อยนำมาล้างเป็นผักประเภทหัว เช่น มันฝรั่ง หอมใหญ่ แครอท หัวไช้เท้า ฟักทอง ตะไคร้ ข่า และขิง

ส่วนผักบางชนิดที่ควรมีติดครัวไว้และต้องทำความสะอาดก่อนนำไปใส่ถุงซิปล็อกและแช่ในตู้เย็น เช่น กะหล่ำ บรอกโคลี ผักกาดขาว กะหล่ำดอก ฟัก ใบกะเพรา

ผักบางชนิดนำแช่แข็งได้เพียงแต่ต้องทำความสะอาดและหั่นเตรียมให้เรียบร้อยก่อนใส่ถุงซิปล็อกและนำไปแช่แข็ง เช่น  มะนาว ผักกาดขาว เห็ดเข็มทอง เห็ดฟาง  ต้นหอม พริกต่างๆ และก่อนจะเก็บเข้าตู้เย็น

ถ้าผักเป็นใบๆ ก็ควรนำมาคลี่ใบออกและล้างให้สะอาดก่อน พักให้สะเด็ดน้ำ หรือใช้กระดาษทิชชูซับน้ำให้แห้ง จึงค่อยนำไปใส่ถุงซิปล็อก และนำเข้าตู้เย็น  

วิธีการล้างผักแบ่งได้ 5 แบบ สะดวกจะล้างแบบไหนเลือกวิธีได้

วิธีที่ 1 ล้างผ่านน้ำ เปิดน้ำสะอาดให้ไหลผ่าน และใช้มือค่อยๆ ถูให้เศษดินต่างๆ ออก วิธีนี้จะช่วยขจัดสารพิษและเศษดิน

วิธีที่ 2  ใช้ด่างทับทิม ผสมน้ำสะอาด 4 ลิตรกับด่างทับทิม 1 ช้อนโต๊ะ  คนผสมให้เข้ากัน นำผักไปแช่นาน 10 นาที ช่วยขจัดสารปนเปื้อนได้มากพอสมควร

วิธีที่ 3 ใช้เกลือสมุทร 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร นำผักลงไปล้างและแช่ทิ้งไว้สัก 10 – 15 นาที จะช่วยลดปริมาณสารพิษได้ดี แต่ต้องนำมาล้างน้ำสะอาดอีกรอบนะ มิฉะนั้นผักอาจมีรสเค็มของเกลือได้

วิธีที่ 4 ใช้น้ำส้มสายชู ผสมน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร นำผักลงไปล้าง และแช่ทิ้งไว้สัก 10 นาที จะช่วยลดสารพิษที่อยู่ในผักและนำมาล้างน้ำสะอาดอีกครั้งเพื่อป้องกันความเปรี้ยวจากน้ำส้มสายชู

วิธีที่ 5 ใช้ Baking Soda ผสมน้ำ 10 ลิตร ต่อ Baking Soda ½ ช้อนโต๊ะ คนให้พอเข้ากันนำผักลงไปล้างและแช่ทิ้งไว้ 5-10 นาที จะช่วยลดสารพิษได้มากทีเดียว           

(ข้อควรระวังในการเก็บผัก ต้องล้างผักให้สะอาดทุกครั้งและผึ่งให้แห้งสนิท! มิฉะนั้นอาจส่งผลให้ผักที่เก็บเน่าเร็วได้)

ไข่ไก่ ปัจจัยสำคัญสำหรับทุกเพศทุกวัย!

จะเก็บไข่ไก่ต้องรู้วิธีเลือกไข่ไก่เสียก่อน ไข่ไก่นั้นควรสังเกตวันหมดอายุให้ดีก่อนเลือกซื้อ แต่ถ้าไม่ใช่ไข่ไก่ในซูเปอร์มาร์เกตที่มีวันหมดอายุแบบชัดเจน ให้สังเกตว่า ไข่ไก่ที่เป็นไข่ใหม่เปลือกจะมีลักษณะไม่เรียบ แต่ถ้าเป็นไข่เก่าเปลือกจะบางลงเรื่อยๆ ไข่ไก่ที่ดีควรมีผงนวลๆ ที่เปลือกไข่ เวลาจับจะสากมือไม่ลื่น ในขณะที่ไข่เก่าจะมีจุดสีเทาๆ ที่เปลือก อีกทั้งเปลือกไข่ต้องสะอาด ไม่แตกร้าว เพราะถ้าไม่สะอาดอาจมีเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกปะปนลงในอาหารตอนใช้ น้ำหนักของไข่ต้องไม่เบาเกินไป เพราะถ้าไข่ยังมีน้ำหนักแสดงว่าเป็นไข่ใหม่ และมีสารอาหารต่างๆ อยู่อย่างครบถ้วน

วิธีการเก็บไข่ไก่มีหลากหลายวิธี แต่ที่สำคัญ ก่อนเก็บห้ามล้างไข่ไก่ด้วยน้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้นวลที่เคลือบอยู่ถูกล้างออกหมด คงไว้ซึ่งเปลือกไข่ที่มีรูพรุนทำให้อากาศเข้าไปและไข่ไก่จะเสียไวกว่าปกติ ควรเก็บในช่องเก็บไข่ในตู้เย็น โดยให้ด้านป้านอยู่ด้านบน เพราะด้านป้านจะมีฟองอากาศอยู่ภายใน พอพลิกขึ้นด้านบน จะทำให้ไข่แดงไม่แตกเร็ว จึงเก็บไข่ได้นานถึง 3 สัปดาห์เลยทีเดียว

แต่ถ้าอยากเก็บให้นานกว่านั้น ให้ใช้น้ำมันพืชเป็นตัวช่วย โดยใส่ถุงมือพลาสติก และหยดน้ำมันพืชลงบนฝ่ามือเพียงเล็กน้อย ถูน้ำมันให้ทั่วมือพอหมาดๆ นำไข่มาคลึงบนมือ ให้น้ำมันเคลือบไข่จนทั่ว และนำไข่ไก่เก็บไว้ในถาดเหมือนเดิม วิธีนี้ไข่จะอยู่ได้นาน 10-12 เดือน โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น เพราะน้ำมันจะทำหน้าที่ป้องกันออกซิเจนไม่ให้เข้าไปในไข่ เหมือนไข่ที่เพิ่งออกมาจากแม่ไก่ใหม่ๆ ไขมันของแม่ไก่จะเคลือบไข่เอาไว้ ทำให้ไข่อยู่ได้นาน

ขนมปัง จะเป็นอาหารเช้าหรือขนมหวานก็ได้นะ

ขึ้นชื่อว่าขนมปังหลายคนคงคิดว่าไม่กี่วันก็ราขึ้นซะแล้ว แต่ขนมปังมีวิธีเก็บรักษาที่จะทำให้อยู่ได้นานนับปี นำออกมาอบร้อนๆ ก็รสชาตินุ่มเหมือนเดิมไม่เปลี่ยน เพียงหั่นขนมปังออกเป็นแผ่น (ถ้าเราไม่หั่นหรือแบ่งขนมปังให้เป็นชิ้น เมื่อนำออกมาจากช่องแช่แข็ง จะทำให้ตัดขนมปังลำบากและรอขนมปังคลายตัวนาน)

จากนั้นห่อด้วยแผ่นฟอยล์หรือใส่ถุงซิปล็อก เพื่อรักษาความชื้น และไม่ให้ขนมปังดูดกลิ่นของตู้เย็นจนขนมปังเหม็นรับประทานไม่ได้ แล้วนำไปแช่ในช่องแช่แข็ง ซึ่งจะสามารถยืดอายุของขนมปังได้นานถึง 1 ปี เมื่อต้องการจะกิน ให้นำขนมปังออกมาตั้งไว้ให้คลายความเย็น แล้วนำออกจากถุงซิปล็อก รอให้คลายตัวจากความเย็นสักครู่ นำไปอุ่นในไมโครเวฟหรือเครื่องปิ้งขนมปัง ก็นำมาทาแยมหรือเนยรับประทานได้ทันที

อ่านบทความเพิ่มเติม

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS