ไข่มดแดงจากคำของยาย – “ไข่มดส้ม เป็นของเขียม”
‘ป้ออุ้ยแม่อุ้ย’ หรือปู่ตาย่ายายของเรามักจะรับบทคะยั้นคะยอให้ลูกหลานกินอาหารเยอะๆ เสมอ ไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม ยายของฉันก็เป็นแบบนั้น ยกเว้นกับบางเมนูที่บ้านฉันมักหยอกกันทีเล่นทีจริงแทบทุกครั้งที่มันวางอยู่บน ‘ขันโตก’
“จะไปกิ๋นกำนัก มันเขียม” (อย่ากินทีละเยอะๆ มันมีน้อย) ยายมักพูดอย่างนี้เมื่อมีเมนูไข่มดแดงอยู่ในสำรับด้วย เนื่องด้วยว่าในขวบปีที่ฉันยังเป็นเด็กเล็กๆ ‘ไข่มดส้ม’ หรือไข่มดแดงยังไม่ใช่อาหารที่มีการซื้อขายกันเป็นล่ำเป็นสัน ส่วนใหญ่มันมักมาในรูปแบบของผลพลอยได้จากการออกไปทำสวนเสียมากกว่า ดังนั้นมันจึงมาครั้งละขีดสองขีด พอให้ได้แกงสักหนึ่งหม้อย่อมๆ เท่านั้น
ในช่วงปิดเทอมหน้าร้อน เด็กบ้านนอกอย่างฉันเป็นอันต้องอยู่กับปู่ตาย่ายายที่บ้านเป็นหลัก กิจกรรมจำเป็นประจำฤดูอย่างหนึ่งคือการเดินต้อยๆ ตามผู้ใหญ่เข้าสวน และการเข้าสวนนี่แหละที่ทำให้ฉันเข้าใจว่าไข่มดแดงมันเป็นของ ‘เขียม’ ได้อย่างไร
ขั้นตอนกว่าจะได้มาซึ่งไข่มดแดงซักขีดสองขีดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มต้นจากการแต่งตัวให้รัดกุมในระดับที่วางใจได้ว่ามดงานทั้งหลายจะไม่สามารถมุดเข้ามากัดแขนขาเอาได้ หลังจากนั้นก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ซึ่งได้แก่ ‘ไม้ส้าว’ (ไม้สอย) พร้อมกระสอบหรือกระแป๋งขนาดพอเหมาะผูกไว้ที่ปลายไม้ กระด้งหรือถาด และแป้งมันสำปะหลัง เมื่อข้าวของครบแล้วฉันก็จะเดินหน้าบูดตามผู้ใหญ่เข้าสวนไปอย่างไม่ค่อยเต็มใจเท่าไรนัก
พื้นที่ภาคเหนือมีลำไยและมะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่บ้านของฉันก็ทำสวนลำไยและมะม่วงเช่นกัน ลักษณะของใบที่เรียวยาว ประกอบกับความหวานฉ่ำสมบูรณ์ของผลผลิตจึงดึงดูดมดแดงและแมลงอื่นๆ เข้ามาตามธรรมชาติ ดังนั้นสวนฉันจึงมีรังมดแดงอยู่ตรงโน้นตรงนี้เป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับการจะ ‘สิฮังมดส้ม’ (สอยรังมดแดง) ใช่ว่าจะสุ่มสี่สุ่มห้าแหย่รังไหนก็ได้ ยายของฉันมีวิธีการเลือกไข่มดแดงที่ค่อนข้างแม่นยำ อย่างที่ว่ากระทุ้งรังไหนก็เป็นอันต้องเห็นไข่มดแดงขาวๆ ร่วงกราว
หลักการของยายไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน ข้อแรกคือมดแดงจะมีไข่มากในช่วงหลังฝนแรก ดังนั้นในเดือนมีนาคมถึงช่วงกลางเมษาไข่มดแดงจะมีมากเป็นพิเศษ ส่วนไข่มดแดงก่อนหรือหลังช่วงนั้นจะมี ‘เต้งมดส้ม’ หรือไข่เม็ดโตๆ อยู่น้อยกว่าเป็นธรรมดา อันดับทีสองคือมองหารังมดแดงที่มีขนาดใหญ่ และอยู่ใกล้กับร่องสวน ที่สำคัญคือให้เลือกรังที่มีใยขาว แน่น ใยขาวๆ ยิ่งมีมากก็แสดงว่ารังมดแดงรังนั้นมีอายุมาก มีโอกาสที่เราจะได้เต้งมดส้มมากกว่ารังใหม่ๆ นั่นเอง
เมื่อตามหารังมดแดงที่ตรงสเป็กเจอแล้ว ก็เป็นช่วงเวลาของความเร้าใจ
อาณาจักรแสนสุขของมดแดงผู้โชคร้ายจะถูกกระทุ้งด้วยปลายไม้สอย เมื่อรังมดแดงแตกออก สรรพสิ่งด้านในทั้งไข่และตัวมดก็จะหล่นลงในกระสอบหรือกระแป๋งที่เตรียมไว้ ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จะหล่นร่วงลงบนเนื้อตัวของคนสอยด้วยเหมือนกัน
แม้จะถูกมดแดงกัดตรงโน้นทีตรงนี้ที ด้วยศักดิ์ศรีของนักสอยไข่มดแดง เจ็บปวดเพียงไหนก็ยังต้องเขย่าไม้ต่อไปจนกว่าจะได้ไข่หมดรัง แม้จะเบื่อแสนเบื่อการไปสวนกับยาย แต่ท่าทางของผู้ใหญ่ที่สอยมดแดงไป โดนกัดไป ปัดมดไป พลางร้อยอุ้ยๆ โอ้ยๆ นั่นก็นับเป็นมหรสพของฉันอย่างหนึ่ง
พอทลายรังมดแดงเสร็จแล้ว ก็จะต้องเทมดแดงจากกระสอบลงในถาดหรือกระด้งที่เตรียมไป เมื่อบ้านแตกสาแหรกขาด บรรดามดงานผู้น่าสงสารก็ย่อมต้องขนทรัพย์สมบัติหนีตายกันให้วุ่น ทรัพย์สมบัติที่ว่าก็ไม่ใช่สิ่งใดอื่นนอกเสียจากไข่มดซึ่งเราจะเอาไปทำกินนั่นแหละ เพราะฉะนั้นขั้นตอนนี้จึงเป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องโรยผงแป้งลงไปให้ทั่ว ในขณะที่ยายจะทำหน้าที่ฝัดไข่มดแดงในถาดไปเรื่อยๆ เพื่อให้แป้งมันกระจายตัวอย่างทั่วถึง ผงแป้งจะทำให้ตัวมดงานหนีออกไป และไปเคลือบผิวของไข่มดแดง แม้จะเป็นเพียงชั้นบางๆ แต่ก็จะทำให้มดงานไม่สามารถขนไข่ไปด้วยได้
เคล็ดลับการหาไข่มดแดงแบบยั่งยืนของยาย คือเราจำเป็นจะต้องเขย่าเอาตัวมดงานและมดนางพญาออกให้มากที่สุด ก่อนจะโรยแป้งลงไป เพราะตัวมดที่โดนแป้ง แม้จะหนีออกจากกระสอบและกระด้งไปได้ แต่มันก็จะตายภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ที่สำคัญคือยายฉันมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าถ้าเอาตัวมดงานมากิน มดแดงจะย้ายไปทำรังที่อื่นในฤดูกาลหน้า และสวนเราจะมีมดแดงให้กินน้อยลง นับเป็น Sustainability ที่ผูกโยงมากับความเชื่อได้อย่างชาญฉลาดทีเดียว
ฝัดไข่มดไปด้วย ปัดตัวมดที่พากันมาฝังเขี้ยวตามแขนขาไปด้วย เพียงเดี๋ยวเดียวเราก็จะได้ไข่มดแดงขาวๆ พร้อมนำไปปรุงอาหารแล้วละค่ะ
ไข่มดสีขาวๆ ที่ได้มานั้นจะต้องถูกนำไปล้างเอาแป้งออกเสียก่อน โดยต้องล้างซ้ำๆ อย่างเบามือเพื่อไม่ให้ไข่มดแดงชิงแหลกเละไปก่อนจะได้เข้าปาก ในขั้นตอนการล้างนี้เองฉันจึงได้เรียนรู้วัฏจักรชีวิตของมดแดง ด้วยว่าไข่สีขาวๆ ที่ได้มานั้นมีหน้าตาแตกต่างกันไปถึง 3 แบบด้วยกัน
แบบแรกเรียกว่า “ไข่แย็บ” ภาษาไทยกลางเรียกกันว่าไข่ฝากหรือไข่ข้าวสาร เป็นไข่ซึ่งจะเติบโตไปเป็นมดงาน มีขนาดเล็กจิ๋วเท่าเมล็ดข้าวสารสมชื่อ ซึ่งหากอยู่ในขันโตกก็จะเป็นไข่ที่ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรเท่าใดนัก ในกระบวนการการหาไข่มดแดงเราจึงไม่ใคร่จะใส่ใจเก็บไข่แย็บมาก จะตกๆ หล่นๆ ไปบ้างก็ตามยถากรรมไปเสีย
ไข่แบบที่เรามองหาคือ ‘เต้งมดส้ม’ เม็ดโตนั่นต่างหาก เพราะเมื่อกินเข้าไปแล้วมันจะแตกเปาะแปะเป็นความครีมมี่หวานนวลอยู่ในปาก ความอร่อยที่ยากจะอธิบายของเต้งมดส้มนี้มันเลอค่าจนฉันอยากเรียกมันว่าอัญมณีแห่งฤดูกาลเลยทีเดียว
นอกจากไข่มดแดงแล้ว อีกสิ่งที่จะเหลือรอดมาถึงกระบวนการนี้ก็คือตัวอ่อนมดแดง ทั้งตัวอ่อนมดงานและตัวอ่อนนางพญาที่มีหน้าตาเหมือนมดแล้วทุกประการ เพียงแต่ว่าตัวยังนิ่มและเป็นสีขาว ซึ่งให้รสชาติครีมมี่ไม่แพ้กัน (แต่ส่วนตัวแล้วฉันให้คะแนนรสสัมผัสของเต้งมดส้มนำโด่งไปหลายระดับ)
ในครัวล้านนา ไข่มดแดงเป็นเมนูโอชะได้อย่างหลากหลาย เมนูยอดนิยมได้แก่แกงผักเชียงดาไข่มดแดง แกงผักหวานไข่มดแดง ไข่เจียวไข่มดแดง หรือจะหงายครกขึ้นมา ตำกระเทียม หอมแดง พริกแห้ง เกลือ และมะนาวหรือมะขามเปียกให้แหลกเข้ากัน ชิมรสให้เค็มเผ็ดพึงใจแล้วจึงเทไข่มดแดงลวกลงไปคลุกเคล้าแต่พอเบามือ จะได้เป็นเมนู ‘ตำไข่มดส้ม’ รสชาติเหมือนน้ำพริกแต่มีความนวลเนียนกว่าอย่างเป็นเอกลักษณ์
ในบรรดาเมนูไข่มดแดงทั้งหลาย ฉันมีเมนูโปรดตลอดกาลเป็น ‘เจี๋ยวไข่มดส้ม’ ค่ะ
‘เจี๋ยว’ ฟังแล้วละม้ายคล้ายกับคำว่าเจียว แต่กรรมวิธีและผลลัพธ์ต่างกันคนละโยชน์ เจี๋ยวในห้องครัวของคนล้านนาหมายถึงแกงน้ำใสอย่างหนึ่ง รสชาติไม่จัดมาก อย่างเช่นเจี๋ยวผักปลัง เจี๋ยวผักกาดหน้อย หรือเจี๋ยวไข่มดส้มเมนูโปรดของฉันนี่แหละค่ะ
กรรมวิธีการทำเจี๋ยวไข่มดส้มนั้นไม่ยุ่งยาก เริ่มต้นด้วยตั้งหม้อต้มน้ำบนไฟค่อนแรง บุบหรือซอยหอมแดงโยนลงไปสักสองสามหัว ใส่มะเขือส้มลงไปด้วยสักสองสามลูก เสร็จแล้วตีไข่สักสองฟองกำลังดี เมื่อน้ำเดือด หอมแดงสุก เทไข่ลงหม้อ (แบบเดียวกับต้มจืดไข่น้ำ) ทิ้งไว้เดี๋ยวเดียวรอไข่สุกและจับตัว ปรุงเค็มด้วยซีอิ๊วขาว น้ำปลา หรือเกลือ ใส่ไข่มดแดง ผักชี และต้นหอมลงไป หลังจากนั้นสักพัก กลิ่นหอมๆ ของเจี๋ยวไข่มดส้มก็จะลอยล่องอบอวลในครัว เป็นอันว่าพร้อมเสิร์ฟ
ตำรับของการเจี๋ยวไข่มดส้มนั้นไม่ได้มีสูตรตายตัว หลายบ้านมักตำพริกแห้งเม็ดใหญ่แช่น้ำพอนิ่ม กระเทียมไทยซัก 8-10 กลีบ หอมแดงสองสามหัว กะปิ และเกลืออีกเล็กน้อยเข้าด้วยกัน ละลายลงในน้ำก่อนเจี๋ยว พอให้น้ำแกงมีกลิ่นรสเผ็ดร้อนขึ้นเล็กน้อย แต่ลิ้นฉันติดรสเจี๋ยวไข่มดส้มแบบเครื่องเคราน้อย ๆ เพราะแม่ฉันไม่ชอบให้กลิ่นกะปิมากลบรสหวานมันตามธรรมชาติของไข่มดแดง สูตรเจี๋ยวไข่มดแดงที่ฉันเล่าไว้ข้างต้นจึงเป็นรสมือแม่ (ของฉันเอง) อย่างแท้จริง
คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรเจี๋ยวไข่มดแดง
อูมามิจางๆ จากมะเขือส้ม ไข่ และซีอิ๊ว พร้อมกับความกลมกล่อมครีมมี่จากเต้งมดส้ม และความเปรี้ยวน้อยๆ จากตัวอ่อนมด ทำให้เจี๋ยวไข่มดส้มเป็นจานโปรดประจำฤดูกาลของฉันอย่างที่ว่าซดน้ำแกงเกลี้ยงไม่มีเหลือเสมอ แถมยังเป็นเมนูพิจารณาอาหาร คือต้องตักกินคำเล็กๆ แล้วค่อยละเลียดรสชาติของไข่มดแดงที่แตกเปาะอยู่ในปากทีละน้อย เพราะไข่มดแดงนั้นเป็นของ ‘เขียม’ อย่างคำยายว่าจริงๆ
เมี่ยงแม่เป้ง ก้อยมดแดง มดแดงในสำรับอีสาน
เรื่องความเขียมของไข่มดแดงนั้นเป็นความทรงจำตั้งแต่ฉันยังอายุไม่ครบสิบขวบ จนถึงวันนี้ที่เดินหน้าเข้าสู่เลขสามและย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพเป็นที่เรียบร้อย ฉันก็ยังคงกินไข่มดแดงอยู่สม่ำเสมอ เสมือนว่าเป็นวาระประจำปี โดยมีที่พึ่งหลักเป็นร้านอาหารอีสาน จึงถือว่าร้านอาหารอีสานนั้นเป็นธุรกิจที่มีคุณูปการกับคนกินมดอย่างฉันในระดับยิ่งยวด และจะขอเล่าถึงมดแดงในสำรับอีสานไว้เพื่อเป็นคำขอบคุณในบรรทัดต่อไปนี้
นอกจากหมู่เอาจาวเหนือแล้ว อีสานก็เป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่บริโภคมดแดงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และฉันเชื่อว่า ก็เพราะพี่น้องคนอีสานอีกนั่นแหละที่ผลักดันให้ไข่มดแดงกลายเป็น Pop Culture แห่งโลกคนกินแมลงในกรุงเทพได้ ด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ากรุงเทพมาเป็นแรงงานขับเคลื่อนเมืองหลวงในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
เมนูมดแดงแบบเบสิกตามร้านอาหารอีสานก็มี แกงผักหวานไข่มดแดง หมกไข่มดแดง สะเออไข่มดแดง และไข่เจียวไข่มดแดง เป็นอาทิ ต้องขอบคุณนวัตกรรมไข่มดแดงกระป๋องที่ทำให้บางร้านมีเมนูไข่มดแดงเหล่านี้เสิร์ฟอยู่ตลอดทั้งปี ส่วนเมนูที่ติดดาวขึ้นมาอีกหน่อยอย่าง “ก้อยไข่มดแดง” เพื่อนนักกินของฉันบอกว่าไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้ไข่มดแดงกระป๋อง เพราะก้อยเป็นเมนูที่ไม่ได้เสิร์ฟแบบร้อน ๆ จึงควรจะได้รับรสชาติ “นัว” จากไข่มดแดงสดใหม่มากกว่า ดังนั้นการสั่งก้อยไข่มดแดงนอกฤดูจึงเป็นเรื่องเสี่ยงดวงเกินไปสักนิด
นอกจากรสนัวของไข่มดแดงแล้ว คนอีสานก็มีวิธีกินมดแดงซึ่งต่างจากดินแดนล้านนาบ้านฉันอยู่บ้าง ด้วยว่าคนเหนือแต่เดิมมักไม่นิยมอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เราจึงไม่ค่อยสนใจไยดีตัวมดแดงในฐานะของวัตถุดิบรสเปรี้ยวมากนัก ขณะที่คนอีสานมองเห็นความเปรี้ยวจากกรดในตัวมดและนำมาปรุงอาหารได้อย่างเข้าท่าเข้าที เป็นต้นว่าแกงปลาช่อนใส่มดแดง ที่มีทั้งความหวานจากเนื้อปลา ความนัวจากไข่มดแดง และความเปรี้ยวสดชื่นจากตัวมด
อีกเมนูที่ต้องพูดถึงคือเมี่ยงมดแดง เมนูที่ฉันในฐานะคนกินมดแดงด้วยกันเองยังมี Culture Shock ด้วยว่ามันคือมดที่เป็นตัวเป็นตนสุดๆ ชนิดที่ว่าเหมือนเอามดทั้งรังมาใส่ในจานไว้ แต่พี่น้องคนอีสานหลายคนกลับยกให้เป็นเมนูขวัญใจด้วยว่ากินแล้วมัน ‘ส่วง’ หรือสดชื่นดีนักแล
กรรมวิธีการทำเมี่ยงมดแดงก็ได้แก่การนำมดแดง ไม่ว่าจะเป็นตัวมดงานสีแดง ๆ ตัว ‘แม่แป้ง’ หรือมดนางพญาตัวโตเต็มวัยสีเขียวๆ แดงๆ มาลวกน้ำเดือดเร็วๆ ให้พอสุก หากมีใบกระโดนก็โยนลงหม้อไปด้วยจะทำให้มีรสกลมกล่อมขึ้น เสร็จแล้วนำมาคั้นน้ำที่มีรสเปรี้ยวจัดออกก่อนสักน้ำหนึ่ง เสร็จแล้วตั้งกระทะใส่น้ำมันเล็กน้อย นำมดแดงที่คั้นน้ำแล้วมาคั่วกับสมุนไพรซอยละเอียด ได้แก่หอมแดง ตะไคร้ และใบมะกรูด ปรุงเค็มด้วยเกลือหรือน้ำปลา เพิ่มรสเผ็ดด้วยพริกสดหรือพริกแห้งตามชอบ วิธีกินก็คือนำมดแดงคั่วไปห่อด้วยใบกระโดน ใบชะพลู ฯลฯ แล้วกินเป็นคำๆ แบบเมี่ยง หรือจะกินเป็นอาหารจานคั่วแนมกับผักพื้นบ้านอื่นๆ ก็ได้เช่นกัน
เมนูเมี่ยงมดแดงมีเสน่ห์ที่รสชาติหลากหลายเปลี่ยนไปในแต่ละคำ รสเปรี้ยวสดชื่นจากมดแดง ความเข้มข้นครีมมี่จากแม่เป้ง หรือหากใส่ใข่มดแดงลวกลงไปด้วยก็จะได้เนื้อสัมผัสของไข่มดที่แตกเปาะทุกครั้งที่เคี้ยว เป็นเมนูวัดใจที่หากใจไม่ถึงก็จะพลาดแนวกินแซ่บๆ เมนูนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
ความนิยมชมชอบในมดแดงของพี่น้องชาวอีสานไม่ได้หยุดอยู่เพียงรสโอชะเท่านั้น หากแต่ยังลามเลยไปถึงการแสดงพื้นบ้านอย่างเซิ้งอีกด้วย!
‘เซิ้งแหย่ไข่มดแดง’ แม้จะเป็นการแสดงถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การแสดงพื้นบ้านดั้งเดิมของอีสาน แต่ท่วงท่าการเซิ้งนั้นก็ม่วนซื่นโฮแซวกลมกลืนกับการแสดงพื้นบ้านดั้งเดิม ที่สำคัญคือเป็นการเล่ากรรมวิธีการหาไข่มดแดงไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยอารมณ์ขัน ด้วยความสนุกสนาน และด้วยความเข้าอกเข้าใจในวิถีท้องถิ่น จึงกลายนาฏศิลป์อีสานที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาไม่กี่สิบปี สำหรับตัวฉันเองในฐานะของผู้ชม ลีลาการสอย การปัดป่าย รวมถึงการเกี้ยวกันของผู้บ่าวผู้สาวนั้นทำให้เซิ้งแหย่ไข่มดแดงควรได้รับการยกย่องให้เป็นการแสดงที่ทรงคุณค่าไม่แพ้รำแม่บทหรือโขนละครอื่นๆ เลยทีเดียว
ยุคใหม่ของไข่มดแดง โปรตีนระดับสูงแบบคอตั้งบ่า
‘มดแดงแฝงพวงมะม่วง’ เคยมีความหมายในเชิงน่าเสียอกเสียใจ คือมักถูกนำไปเปรียบกับหนุ่มหรือสาวที่เฝ้ารักคนใกล้ตัว แม้ไม่ได้ความรักตอบแต่ก็คอยวอแวห่วงหวงอยู่อย่างนั้น เปรียบเหมือนกับมดแดงที่คอยหวงพวงมะม่วง แม้ตนเองจะไม่ได้กินมะม่วงทั้งพวง แต่หากมีใครมายุ่มยามก็คอยไปกัดเขาอยู่เรื่อย
แต่ในพ.ศ. นี้ สำหรับเกษตรกรบางคน มดแดงแฝงพวงมะม่วงอาจไม่ใช่ถ้อยคำในแง่ลบอีกต่อไป
ไข่มดแดงไม่ได้มีดีแค่สชาตินวลเนียนจับใจเท่านั้น หากแต่ยังมีโปรตีนสูง มีไขมันต่ำ คือในไข่มดแดง 100 กรัม จะมีโปรตีนราว 6-8 กรัม มีไขมันราว 3 กรัม และให้พลังงาน 86 กิโลแคลเลอรี (เทียบกับไข่ไก่ 100 กรัม จะมีไขมันราว 11 กรัม และให้พลังงาน 155 กิโลแคลเลอรี) แถมด้วยกระแสอาหารแห่งอนาคตที่อาจหันเหเข้าหาโปรตีนนอกฟาร์มอย่างแมลงต่าง ๆ มากขึ้น ไม่แน่ว่าไข่มดแดงก็อาจเป็นคำตอบใหม่แสนคุ้นเคยในโลกของความยั่งยืนก็เป็นได้
เมื่อไข่มดแดงกลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ราคาก็สูงขึ้นตาม ไข่ฝากเม็ดเล็กๆ ถูกขายเป็นอาหารนกสวยงาม ส่วนไข่มากเม็ดกลมโตมีตลาดรับซื้อตลอดทั้งปี ทั้งจากบรรดาร้านอาหารอีสานทั่วประเทศ และจากโรงงานอุตสาหกรรมที่นำไปทำไข่มดแดงนำน้ำเกลือ บรรจุลงกระป๋องขาย
ราคาไข่มดแดงตามท้องตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 500 บาทเป็นอย่างต่ำ – สวนไหนมีมดแดงมาแฝงพวงมะม่วงมากหน่อย เจ้าของสวนก็เป็นอันว่าต้องเตรียมตัวนับเงิน!
จากเดิมที่เป็นการหามดแดงตามธรรมชาติ เกษตรกรกลุ่มหนึ่งจึงเริ่มศึกษาธรรมชาติของมดแดงจนสามารถเพาะเลี้ยงได้ แถมยังเป็นการเลี้ยงแบบ Free Range ให้มดได้อาศัยอยู่และหากินไปตามธรรมชาติอย่างเดิม หลักใหญ่ใจความของการเลี้ยงมดแดงคือต้องสร้างธรรมชาติที่เอื้อให้มดแดงได้สืบพันธุ์และเพิ่มจำนวน เป็นต้นว่างดใช้ยาฆ่าแมลง คอยกำจัดศัตรูตามธรรมชาติอย่างมดดำให้ลดน้อยลง รวมถึงคอยเพิ่มอาหารเสริมให้มดแดงได้อิ่มหนำสำราญ
อาหารเสริมที่ว่านี้ไม่ใช่สิ่งใดอื่น นอกเสียจากข้าวสวยคลุกกับอาหารที่มีกลิ่นถูกใจมดแดง อย่างเช่นน้ำมันหมูหรือปลาทู แถมยังต้องอำนวยความสะดวกด้วยการใช้เชือกขึงระหว่างกิ่งไม้ใกล้รังมดแดงไปยังถาดวางอาหาร เพื่อทำทางลัดให้มดงานเดินไปขนอาหารกลับรังได้อย่างสะดวกขึ้นอีกด้วย การให้อาหารมดแดง นอกจากจะทำให้ประชากรมดแดงในสวนหนาแน่นขึ้นแล้ว ยังทำให้มดแดงไม่ไปยุ่มย่ามกับผลไม้ในสวนอีกด้วย หากไม่เรียกว่าอัจฉริยะฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าควรจะเรียกอะไรดี
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมไข่มดแดงประป๋องและแม่เป้งกระป๋องทำให้เรามีมดแดงกินได้ตลอดทั้งปี หากแต่วันคืนของการแหงนหน้าหารังมดแดงแบบคอตั้งบ่า และความสนุกปนเหนื่อยจากการไปสวนกับยายก็ยังหอมหวนอยู่ในความทรงจำของฉันเสมอ
กระทั่งว่าผ่านมาเกือบยี่สิบปี วันไหนที่นึกครึ้มอกครึ้มใจไปหาไข่มดแดงกินตามร้านอาหารอีสาน ฉันก็ยังต้องค่อยๆ ละเมียดกินไข่มดแดงคำละสองสามเม็ดอยู่เหมือนเดิมเลยละค่ะ