เราอาจชอบกินขนมไทย แต่เราก็รู้กันดีว่าขนมไทยมีส่วนประกอบหลักๆ คือ แป้ง กะทิ และน้ำตาล ยิ่งขนมไทยจำพวกทองทั้งหลาย เช่น ทองหยิบ ทองหยอด หรือขนมไทยอบต่างๆ นานา มีแถมไข่เข้ามาอีกเพื่อทำให้ขนมออกมาทั้งหวาน หอม มันถูกใจสาวๆ ยิ่งนัก ชิ้นก็กระจุ๋มกระจิ๋มน่ารัก ยิ่งกินยิ่งเพลิน เผลอๆ กินหมดกล่องได้แคลอรีมากกว่ากินขนมเค้กฝรั่งทั้งชิ้นเสียอีก
แต่ในเมื่อขนมฝรั่งเขายังมีการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบเพื่อความเฮลธ์ตี้ ขนมไทยของเราก็ทำได้เช่นกันนะคะ ฉันได้ข้อแนะนำจากเพื่อนที่ฝึกงานอยู่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งว่าทางโรงพยาบาลใช้ ‘กะทิธัญพืช’ สำหรับคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องคอเรสเตอรอล โรคหัวใจ และความดัน ตัวอย่างเช่น ขนมบัวลอย ที่มีส่วนประกอบ 3 อย่าง คือ ตัวบัวลอย กะทิ และน้ำตาล ก็ทำให้เป็นขนมเพื่อสุขภาพได้ โดยการลดทอนปริมาณแป้งข้าวเหนียวในตัวบัวลอย แล้วใช้เนื้อเผือก มันม่วง หรือฟักทองแทน นอกจากจะลดปริมาณแป้ง ยังทำให้บัวลอยเนื้อนุ่มขึ้น แถมยังได้สารอาหารจากวัตถุดิบเหล่านี้ด้วย
ต่อมาคือ ‘น้ำกะทิ’ ส่วนประกอบสำคัญของบัวลอย เรามี 2 ทางเลือกในการทำน้ำกะทิเฮลธ์ตี้ ทางเลือกแรกคือ ใช้กะทิธรรมดาและนมถั่วเหลืองในอัตราส่วน 1:1 จะทำให้รสชาติและกลิ่นของกะทิผิดเพี้ยนจากเดิมเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ทางเลือกที่ 2 คือ ใช้น้ำมันรำข้าวและโปรตีนถั่วเหลืองทดแทนกะทิ ซึ่งจะให้สี และรสชาติหวานมันได้ไกล้เคียงกับกะทิแท้ที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพ แม้นมถั่วเหลืองและกะทิธัญพืชจะให้ความหอมหวานไม่เท่ากะทิจากมะพร้าว แต่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อสุขภาพที่ดี หรือใช้ทดแทนสำหรับคนที่กินกะทิไม่ได้
ส่วนประกอบสุดท้ายในบัวลอยก็คือ ‘น้ำตาล’ ซึ่งทำให้น้ำกะทิหอมหวาน กลมกล่อม แต่หากใส่ในปริมาณที่มากย่อมไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย เรามีอีกทางเลือกหนึ่งคือใช้ ‘น้ำตาลหญ้าหวาน’ เป็นตัวให้ความหวานทดแทน แม้จะไม่มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำตาลมะพร้าว แต่ก็ดีต่อสุขภาพกว่า เพราะน้ำตาลหญ้าหวานน้ำหนัก 2 กรัม ให้พลังงานเป็น 0 แต่ให้ความหวานเท่ากับน้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
เมื่อรู้เคล็ดลับการทำขนมไทยแบบไม่ทำร้ายสุขภาพกันแล้ว เราก็มีตัวอย่างให้ลองทำตาม จะได้เชื่อว่าการทำขนมไทยแบบสุขภาพนั้นทำได้จริงๆ แถมอร่อยด้วยนะ
บัวลอยเพื่อสุขภาพ
ขนมไทยที่มีส่วนผสมหลักคือแป้ง กะทิ ได้ความหวานจากน้ำตาลทรายเป็นตัวชูรสขนม ในปริมาณที่มากพอๆ กัน แต่หากจะทำให้เป็นขนมไทยที่กินได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องสุขภาพ เราต้องใช้วิธีลดแป้งมาใช้มันม่วงและฟักทองทดแทน ใช้กะทิธัญพืชแทนกะทิจากมะพร้าว และใช้น้ำตาลหญ้าหวานแทนน้ำตาลทราย
วุ้นกะทิเพื่อสุขภาพ
ขนมไทยยอดฮิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพราะสีสันสวยงามและรสชาติเค็มหวานตัดกันได้อย่างพอดี แต่วุ้นกะทิก็เป็นขนมที่มีปริมาณของน้ำตาลและกะทิอยู่มาก หากกินเข้าไปในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดโรคกระดูกเปราะและฟันผุในเด็ก หรืออาจทำให้เกิดไขมันสะสมหรือไขมันอุดตันในหลอดเลือดสำหรับผู้ใหญ่ ถ้าอยากกินวุ้นกะทิแบบไม่ต้องกังวล จึงจำเป็นต้องปรับเปลื่ยนปริมาณน้ำตาลกับกะทิให้เหมาะสมกับปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ
เรื่องและสูตรอาหารโดย อรอนงค์ ตาลประเสริฐ