คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรแกงขี้เหล็กย่านาง
ขี้เหล็กเป็นผักปรุงอาหารพื้นฐานของครัวไทย ร้านข้าวแกงไหนๆ ที่ได้มาตรฐานต้องมี “แกงขี้เหล็ก” อยู่ด้วยเสมอ ผู้คนนิยมซื้อแกงขี้เหล็กมากินมากกว่าทำเอง
ครัวบ้านฉันชอบกินแกงขี้เหล็กกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กแดงแค่ไหน เพราะที่บ้านแกงกินเอง เนื้อผักจะนุ่มทุกคำเคี้ยว บางบ้านแม้ว่าแกงกินเอง ก็ซื้อผักขี้เหล็กต้มสำเร็จรูปจากตลาดมาแกงเองที่บ้าน ลดขั้นตอนไปมากโข แต่ผักที่ซื้อจากตลาด มักปนผักขี้เหล็กแก่เข้ามาด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณ ใบแก่หยาบกระด้าง ตัวใบยังคงรูปใบอยู่ ถ้าผู้ปรุงพิถีพิถันหน่อย ก็จะเก็บเอาใบแก่ออก ไม่ให้เป็นที่รำคาญเมื่อกิน
ครัวบ้านฉันทำตั้งแต่ซื้อผักขี้เหล็กกำสดๆ มาจากตลาด เผอิญฉันมีเจ้าประจำขายผักพื้นบ้านที่ตลาดอาหารในสวนรถไฟ ดังนั้น แทบทุกเช้าวันเสาร์ ฉันจะเหมาเอามาหมด มี 10 กำ ก็เอาทั้ง 10 กำ กำละ 5 บาทเท่านั้น แม่ค้าบอกว่ามีฉันคนเดียวที่ซื้อเหมาให้แก วันใดฉันไม่อยู่ไม่มาตลาด ก็เป็นอันว่าผักขี้เหล็กเหลือค้าง
คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรแกงขี้เหล็กขาเห็ดย่าง
ผักขี้เหล็กเด็ดยอด รูดใบอ่อน ใบกลางอ่อนกลางแก่ (ใบเพสลาด) มาต้มน้ำใส่เกลือพอเค็ม พอเดือดสักพัก (5-7 นาที) สีน้ำออกเหลืองมากๆ ตรงนี้ชาวบ้านเรียกว่า ใบแตกดีขมออกมา เทน้ำทิ้ง เติมน้ำต้มใหม่ ทำเช่นนี้ 3-4 ครั้ง ใบขี้เหล็กก็หมดขม หรือเหลือขมเล็กน้อยที่ทำให้อร่อย ใบอ่อนนุ่ม เทผักขี้เหล็กใส่ตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ พักไว้ให้เย็น ปั้นเป็นก้อนใส่ในภาชนะมีฝาปิด เก็บไว้ในตู้เย็น ทยอยนำออกมาแกงใหม่ๆร้อนๆ ทำได้เรื่อยๆจนกว่าผักจะหมด ไม่เปลืองเวลาสักเท่าไร ได้ของสด สะอาด คุณภาพดี ในมาตรฐานของเราเอาไว้กินตลอดไป
ดอกขี้เหล็กมีมากเฉพาะช่วงฤดูฝน ขอบอกว่าดอกตูมๆนั้นมันมาก ขมหน่อยๆ หวานนิดๆ อร่อยที่สุด เมื่อเจอก็อย่าพลาดที่จะนำมาทำกิน
ผู้คนคุ้นชินแต่แกงขี้เหล็กใส่กะทิ อันที่จริงแกงแบบใส่ใบย่านางก็ได้ และที่ไม่น่าเชื่อว่าอร่อยสุดยอดเช่นกัน คือ นำมายำ โดยเฉพาะดอกขี้เหล็กตูม
คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรยำขี้เหล็ก
ต้นขี้เหล็กไม่ธรรมดา เป็นพืชสวนครัวต้นยักษ์ใหญ่มหึมา สูง 8-15 เมตร โตเร็ว แตกยอดดกทั้งปี เป็นผักสวนครัวที่เป็นไม้ประดับก็ได้ เพราะใบอ่อนสีน้ำตาลอมเขียว ดอกบานแล้วสีเหลืองสวยงาม
ต้นขี้เหล็กเป็นไม้เบญจพรรณที่เกิดทั่วไป ขึ้นเองตามริมถนน ตามป่าเขา และปลูกบ้างตามบ้านเรือน ต้นขี้เหล็กเกิดในหลายประเทศ หลายพันธุ์ แต่ที่กินกระหน่ำก็คือประเทศไทยประเทศเดียว ด้วยเหตุนี้ ชื่อสามัญของต้นขี้เหล็กก็คือ Siamese Cassia หรือต้นแคสเซียสยามนั่นเอง
ภูมิปัญญาไทยใช้ต้น ราก ใบ ดอก มาทำเป็นยา ปัจจุบันนี้องค์การเภสัชกรรมของไทย นำใบขี้เหล็กแห้งมาป่นเป็นผง อัดเป็นแคปซูลขาย เป็นยาสมุนไพร ช่วยให้ผ่อนคลายนอนหลับ และขับถ่ายดี
คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรแกงฮวมขี้เหล็ก (แกงเลียงขี้เหล็ก)
สรรพคุณของขี้เหล็ก
ใบขี้เหล็ก มีรสขม ถ่ายพรรดึก ถ่ายกระษัย ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ระดูขาว แก้นิ่ว ตำพอกแก้เหน็บชา แก้บวม บำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต แก้นอนไม่หลับ ยาระบาย รักษานิ่ว ลดความดัน
ใบอ่อน ดอกตูม แก่นไม้ขี้เหล็ก มีสารกลุ่มแอนทราควิโนนหลายชนิด มีฤทธิ์เป็นยาระบาย วิธีใช้เป็นยาระบายนั้น นำใบอ่อนหรือดอกตูมมา 2-3 กำมือ ต้มกับน้ำ 1-1½ ถ้วย เติมเกลือเล็กน้อย ต้มด้วยไฟกลางจนเดือดสัก 10-15 นาที เอาน้ำมาดื่มทั้งหมด ดื่มก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว ก็จะขับถ่ายได้ดี แก้หืดด้วย
นอกจากนี้พบสารจำพวก chromone ชื่อ barakol มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนหลับสบาย
รสขมของขี้เหล็กทั้งดอกและใบ แก้กระษัย และริดสีดวงทวาร แก้โรคประสาท แก้รังแค เป็นยาระบาย รักษาโรคบิด รักษาโรคเบาหวาน แก้ร้อนใน รักษาฝีมะม่วง โรคเหน็บชา ลดความดันโลหิตสูง
คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรแกงขี้เหล็กปักษ์ใต้
ฝัก มียาฝาดสมาน (tannin) แก้ท้องร่วง ยังมีสารจำพวก alkaloid เป็นยาระบายอ่อนๆ
เปลือกต้น รสขม แก้กระษัย แก้ริดสีดวงทวาร
แก่น รสขมเฝื่อน ถ่ายพิษถ่ายเส้น ถ่ายม้าม แก้กระษัย แก้เหน็บชา แก้ไข้ ขับโลหิต แก้แสบตา แก้กามโรค หนองใส
ราก รสขม แก้ไข้ แก้ไข้กลับ ไข้ช้ำ รักษาแผลกามโรค
นี่แหละคือสมญานามของต้นขี้เหล็ก ที่เปรียบเปรยว่า เป็นพืชผักสวนครัวขนาดยักษ์ พืชสมุนไพรต้นใหญ่ยิ่ง ตลอดทั้งลำต้นขี้เหล็กใช้เป็นยาได้ทุกส่วน
คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรยำสลัดดอกขี้เหล็ก
คุณค่าอาหาร
ใบขี้เหล็ก 100 กรัม ประกอบด้วยโปรตีน 7.7 กรัม ไขมัน 1.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 10.9 กรัม แคลเซียม 156 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 190 มิลลิกรัม เหล็ก 5.8 มิลลิกรัม วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม ไนอะซิน 1.3 มิลลิกรัม วิตามินซี 110 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 163.84 ไมโครกรัม เส้นใย 5.6 กรัม วิตามินเอ 233 RE
ดอกขี้เหล็ก 100 กรัม ประกอบด้วยไขมัน 0.4 กรัม โปรตีน 4.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 18.7 กรัม แคลเซียม 13 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม เหล็ก 1.6 มิลลิกรัม วิตามินบี1 0.11 มิลลิกรัม ไนอะซิน 1.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 484 มิลลิกรัม เส้นใย 9.8 กรัม วิตามินเอ 39 RE
ลองทำอาหารด้วยผักขี้เหล็กและดอกขี้เหล็กด้วยตัวเองดู ตั้งแต่เริ่มซื้อใบสดดอกสดมาเลย แล้วจะรู้ว่าอร่อยยิ่งกว่าซื้อมากินเป็นไหนๆ รสมัน หอม อมหวาน นุ่มนวล กินได้ไม่รู้เบื่อ สดใหม่จากเตา ทำแค่พอกิน ใบต้มแล้วเก็บไว้ทำวันอื่นๆได้อีก ยิ่งรู้คุณค่าอย่างนี้ ยิ่งกินอร่อยมากขึ้น ด้วยความประทับใจ
คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรขี้เหล็กต้มจื้มน้ำปลาถั่ว
เรื่อง นิดดา หงษ์วิวัฒน์