เที่ยวไปกินไป อิ่มอร่อยที่บ้านทรายขาว ปัตตานี

6,280 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
อร่อยหลากรสชาติ พร้อมนั่งรถจี๊ปท่องไปในดินแดน 2 วัฒนธรรม

แวบแรกที่พี่ชวนไปเที่ยวปัตตานี สารภาพว่าแค่ชื่อก็ชวนตื่นเต้น เพราะเป็นครั้งแรกที่จะได้ไปเยือนถิ่นใต้ในเขตสามจังหวัดชายแดน และปฏิเสธไม่ได้ว่าเรารู้จักปัตตานีผ่านข่าวสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มาโดยตลอด แม้เวลาผันผ่านสถานการณ์จะเงียบสงบไปมาก แต่ความรู้สึกเก่าๆ ก็ยังคงฝังอยู่ในสำนึก กระทั่งโครงการเปิดมุมมองใหม่ชายแดนใต้ เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส ที่เชิญชวนให้ผู้คนไปสัมผัสความจริงอีกด้านของชายแดนใต้ เมื่ออยากไปเห็นด้วยตาตนเอง เราจึงตอบปากรับคำอย่างไม่ลังเล ซึ่งหมุดหมายของเราครั้งนี้อยู่ที่ บ้านทรายขาว ปัตตานี

การเดินทาง เราต้องนั่งรถจากสนามบินหาดใหญ่ เพื่อเดินทางต่อไปยังปัตตานี มื้อเช้าเราฝากท้องกันที่ร้านโชคดี แต่เตี้ยม ตั้งอยู่ในอำเภอหาดใหญ่ เป็นร้านติ่มซำที่ให้เราเลือกติ่มซำ อยากกินอะไรก็หยิบใส่ถาดถือไปคิดตังค์ แล้วไปนั่งประจำที่รอติ่มซำอุ่นร้อนๆ มาเสิร์ฟ

บรรยากาศหน้าร้านจึงค่อนข้างคึกคัก มีทั้งคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวมาเลเซียมารออุดหนุนกันมาก ที่ร้านมีติ่มซำให้เลือกหลากหลายและที่พลาดไม่ได้คือ บะกุ๊ดเต๋เสิร์ฟมาในหม้อร้อน หอมเครื่องเทศ รสชาติกลมกล่อม ซดคล่องคอเหมาะกับเพิ่มพลังในเช้าวันใหม่

อิ่มได้ที่ก็เดินทางต่อราวๆ 2 ชั่วโมง ก็มาถึงที่ทำการชุมชนท่องเที่ยวบ้านทรายขาว ศูนย์กลางอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เพื่อติดต่อเรื่องที่พักเพราะที่นี่ไม่มีโรงแรม แต่เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งมีแพคเกจนำเที่ยวโดยไกด์ท้องถิ่น พร้อมอาหารพื้นบ้านให้ได้อิ่มอร่อย กระซิบดังๆ ว่าราคาเกินคุ้มแล้วยังกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย

เจ้าหน้าที่ชุมชนต้อนรับเราด้วยน้ำอัญชัน ผลไม้สดกระจาดใหญ่ และ ‘ขนมปำจี’ ขนมท้องถิ่นหน้าตาคล้ายทองม้วนสด ที่ชื่อปำจี เพราะกิริยา ‘จี’ ภาษาถิ่นใต้ หมายถึงการละเลงแป้งเป็นแผ่นบนกระทะ ผนวกกับใช้ส่วนผสมแป้งเหมือน ‘ขนมปำ’ ขนมนึ่งของภาคใต้คล้ายถ้วยฟู จึงเรียกว่า ‘ปำจี’

แป้งนุ่มๆ ม้วนห่อไส้ทำจากมะพร้าวทึนทึกขูด งา ถั่วเขียวเราะซีก ข้าวโพดเกลือและน้ำตาลเคล้ารวมกัน ได้รสชาติหวานอ่อนๆ หอมมันตอนเคี้ยว อีกไส้เป็นไส้กุ้ง รสชาติคล้ายไส้เค็มในขนมเบื้อง ขนมปำจีมักทำช่วงงานบุญ แต่ก็ยังพอหากินได้บ้างตามตลาดชุมชน

ชุมชนบ้านทรายขาวมีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 5 ในอดีตพระยาภักดีชุมพล ได้เดินทางมาจากเมืองไทรบุรี ระหว่างทางพบสถานที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและอาหารจึงตัดสินใจตั้งบ้านเรือนที่นี่ ต่อมาผู้คนย้ายเข้ามาอยู่มากขึ้น ภายหลังจึงตั้งชื่อเป็น ‘บ้านทรายขาว’ จากตำนานที่เล่าว่า “วันหนึ่งมีพายุพัดทรายลงมาจากเขาเต็มไปหมดและทรายที่ถูกพัดมาเป็นสีขาวสวยงาม” และเป็นชุมชนที่พี่น้องไทยพุทธและมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันมายาวนาน ความกลมเกลียวส่งผ่านไปถึงภาษาทั้งศัพท์และสำเนียงที่ใช้ร่วมกันทั้งไทยพุทธ มุสลิม เช่นคำว่า ‘ชองลอง’ ที่แปลว่า สกปรก จึงเรียกว่าภาษาบ้านทรายขาว

รู้ที่มาของบ้านทรายขาวจากคำบอกเล่ากันแล้วก็ได้เวลาโดดขึ้นรถจี๊ปเปิดประทุนปลดระวางจากทหารอเมริกัน พาหนะที่จะพาเราลัดเลาะ โต้ลม ไปทำความรู้จักสถานที่ต่างๆ ในบ้านทรายขาว รถแล่นด้วยความเร็วเท่าที่สายตายังจับความเคลื่อนไหวของผู้คนรายทางได้ ที่นี่เป็นชุมชนที่เงียบสงบ กระทั่งผ่านตลาดขนาดย่อมที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี เต็มไปด้วยผู้คนมาจับจ่ายซื้อของสด รวมทั้งอาหารปรุงสุก นอกจากอากาศบริสุทธิ์สดชื่น เสน่ห์อย่างหนึ่งคือธรรมชาติสองข้างทางที่ยังคงมีแมกไม้หนาแน่น ทั้งไม้ยืนต้นขนาดใหญ่และไม้ผลขึ้นชื่ออย่างทุเรียนหมอนทองทรายขาว ที่นำพันธุ์มาจากเมืองนนท์ตั้งแต่ 100 ปีก่อน ฟูมฟักจนเติบโตบนผืนดินที่ทรายขาว กระทั่งได้รสอร่อย หวานมัน แป้งน้อย จนได้แชมป์ระดับประเทศเป็นรางวัลการันตี แต่ช่วงที่เรามาทุเรียนยังอยู่ในวัยอ่อน เลยได้แต่ทำตาปริบๆ มองทุเรียนลูกแล้วลูกเล่าอวดโฉมอยู่บนต้น—เอาเป็นว่าสาวกทุเรียน ถ้ามีโอกาสมาเที่ยวทรายขาวเพื่อไม่ให้พลาดชิมทุเรียนก็โทรมาสอบถามก่อนได้ค่ะ

สารพัดส้มแขก ผลิตภัณฑ์รับแขกบ้านทรายขาว

ถึงจะอดชิมทุเรียน แต่เราก็ยังได้ลิ้มรสมะไฟเนื้อนุ่มฟูหวานอมเปรี้ยวนิดๆ มังคุดหวานหอม และผลส้มแขก ที่เคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง ในฐานะยาสมุนไพรลดคอเลสเตอรอล แต่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้ยลโฉม ผลหน้าตาหลุดไปไกลจากสารพัดส้มพันธุ์ต่างๆ ที่เคยเห็น คือเป็นลูกกลมใหญ่มีร่องแฉกรอบผล ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม เรื่องรสชาติเราได้ลองกินสด บอกเลยว่าเปรี้ยวเข็ดฟัน ขนหูชูชันกันเลยทีเดียว

ส้มแขกผลสุก

ส้มแขก ชื่อแขกๆ อย่างนี้เพราะเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่อินเดียและศรีลังกา ขึ้นตามภูเขา ซึ่งในไทยปลูกกันมากทางภาคใต้ เช่นบ้านทรายขาวแห่งนี้ และด้วยรสจี๊ดจ๊าดจึงเป็นวัตถุดิบเพิ่มรสเปรี้ยวในอาหารพื้นบ้านหลายชนิด ทั้งแกงส้ม แกงกะทิ ต้มเนื้อ ยำ และน้ำพริกต่างๆ แต่ด้วยผลผลิตที่มีมากขนาดที่ว่าล้นจนกินกันไม่ทัน จึงเกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปส้มแขกเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สำคัญธรรมชาติไร้สาร 100 เปอร์เซ็นต์

ส้มแขกผลดิบ

อย่างที่เราได้มาเห็นคุณพี่คุณป้าย่ายายกำลังจัดการล้างฝานส้มแขกกองโตทั้งผลสุก ผลดิบ เพื่อทำส้มแขกแช่อิ่มที่กินแล้วชุ่มคอ ส้มแขกหยีสามรสที่อร่อยจนต้องหิ้วกลับ หรือสายสุขภาพจ๋าๆ ก็มีชาส้มแขก สรรพคุณปรับสมดุลในร่างกาย ลดคอเลสเตอรอล ดีท็อกซ์ลำไส้ ลดน้ำหนักแบบไร้สารตกค้างในร่างกาย ขายดิบขายดี สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยขายผลสดได้เพียงกิโลกรัมละ 20 บาท

ส้มแขกแช่อิ่ม หวานอมเปรี้ยวชุ่มคอ

สำรับตำรับทรายขาว

ช้อปผลิตภัณฑ์จากส้มแขกจนเต็มไม้เต็มมือกันแล้วก็ได้เวลาเติมช่องว่างในกระเพาะให้เต็มด้วยอาหารพื้นบ้านทรายขาว เมื่ออาหารยกมาเสิร์ฟก็ทำให้เราตาลุกวาว เป็นอาหารพื้นบ้านตำรับที่ทำกินกันตามบ้าน บางเมนูเลยอาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตาหรือเห็นตามร้านอาหารนัก

อย่างเมนูแรก ไข่ทรงเครื่อง หรือไข่เจียวฟูสีเหลืองเข้มเพราะมีส่วนผสมของเครื่องแกงอย่างขมิ้น หัวหอม ตะไคร้ พริก ปรุงรสด้วยเกลือเพิ่มเค็มนิดหน่อย ทอดจนเหลืองฟูโรยพริกชีฟ้าและใบมะกรูดหั่นฝอย กินคู่กับอาจาดรสเปรี้ยวหวานนิดๆ ที่ปรุงด้วยน้ำกระเทียมดอง แน่นด้วยเครื่องที่แตกต่างจากอาจาดทั่วไปอย่างยอดมะพร้าวกับกุ้งแห้งและมะเขือเทศ เป็นเมนูไข่ที่หน้าตาเหมือนทอดมันมากๆ ไข่ฟู หอมเครื่องสมุนไพรกินเล่นก็อร่อย ซึ่งเรากินกันไปเยอะจนต้องเติมอีกรอบ

ยำส้มแขก เป็นจานยำที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนวัตถุดิบหลักอย่างผลไม้รสเปรี้ยวไปตามฤดูกาล ตะลิงปลิงบ้าง ส้มแขกบ้าง ช่วงที่เรามาส้มแขกออกเยอะเลยได้กินยำส้มแขก ใช้ส้มแขกดิบขูดเส้น ยำคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงอย่างหัวกะทิเคี่ยวผสมน้ำตาลทรายแดง เคย เกลือ เสร็จแล้วคลุกกับมะพร้าวคั่ว กุ้งแห้ง หอมแดง พริกสด ถั่วลิสงคั่วบุบ เวลาจะกินก็ตักยำส้มแขกใส่ใบชะพลู ห่อพอดีคำแล้วส่งเข้าปาก จุดเด่นคือเป็นจานยำที่กินแล้วรู้สึกเหมือนกินเมี่ยง ทั้งๆ ที่รสไม่เหมือนเมี่ยงซะทีเดียว แต่เพราะวิธีกินและรสชาติที่มีการจับคู่รสหลากหลายมาผสมไว้ในหนึ่งคำเหมือนๆ กัน คือมีรสเปรี้ยว เค็ม มัน หวานติดปลายลิ้น แซมเผ็ดนิดๆ

คั่วเคย หรือคั่วกะปิ ทำจากหัวกะทิคั่วจนข้น ใส่เครื่องแกงอย่างหัวหอม ตะไคร้ กระเทียม พริก เพิ่มสีเพิ่มกลิ่นด้วยขมิ้น ขาดไม่ได้คือเคยหรือกะปิ คั่วเข้ากันจนงวดพอดีกินคู่กับไข่ต้ม ผักสดผักลวก เราติดใจรสชาติน้ำพริกจานนี้กันมาก เพราะมันกึ่งๆ น้ำพริกกะปิแต่มีความมันหอมของกะทิและเครื่องสมุนไพรเข้ามาผสมทำให้ได้รสนัว คลุกข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อย  

แกงลูกกล้วย เป็นแกงกะทิโบราณของบ้านทรายขาว ที่จะใช้กล้วยน้ำว้าดิบแต่ยังไม่แก่จัดเอามาแกงกับไก่หรือกุ้งก็ได้ เครื่องแกงกะทิมีพริกชีฟ้า ตะไคร้ กะปิ หอม กระเทียม ขมิ้นให้สีน้ำแกงเหลืองสวย ลูกกล้วยอ่อนให้รสมันๆ บางครั้งแกงลูกกล้วยก็จะเพิ่มหยวกกล้วยเข้าไปด้วย

ไก่ต้มขมิ้น เป็นเมนูต้มที่ซดแล้วสดชื่นสุดๆ ไก่ต้มขมิ้นรสชาติสดชื่น เครื่องปรุงหลักแน่นอนว่าต้องเป็นขมิ้นที่ให้ทั้งสีทั้งกลิ่นหอมอ่อนๆ แต่เอกลักษณ์ที่ทำให้ไก่ต้มขมิ้นถ้วยนี้โดดเด่นขึ้นมาคือรสเปรี้ยวกลมกล่อมที่ได้จากผลส้มแขก นอกจากผล ใบส้มแขกและยอดส้มแขกเองก็ให้รสเปรี้ยว ใส่ในอาหารจำพวกแกง ต้ม ได้หลายเมนู คล้ายๆ ต้มหมูชะมวงของภาคตะวันออก คือต้มใบส้มแขกใส่กระดูกอ่อนหมู แต่ถ้าเป็นบ้านอิสลามก็จะต้มใส่เนื้อ

แน่นอนว่าเสน่ห์ของอาหารพื้นบ้านย่อมมาจากวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น รสชาติและหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตผู้คนบนพื้นที่ทรายขาว ดินแดน 2 วัฒนธรรมแห่งนี้ได้อย่างถึงรส อย่างสำรับนี้ล้วนเป็นอาหารที่ทั้งบ้านไทยพุทธ และมุสลิมทำกินเหมือนๆ กัน จะต่างกันก็เพียงส่วนผสมเนื้อสัตว์ ที่ถ้าเป็นมุสลิมจะใช้เนื้อวัว กุ้ง และไก่ เป็นหลัก    

มัสยิดนัจมุดดีน ศาสนสถานตอกย้ำความสัมพันธ์

อิ่มท้องกันแล้วก็ไปเที่ยวต่อ ทรายขาวมีที่เที่ยวอีกหลายแห่ง ทั้งอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว เทีอกเขาสันกาลาคีรี ผาพญางู ฯลฯ แต่ด้วยเวลากระชั้นชิดใกล้เย็นแล้ว เราเลยเลือกเที่ยวโบราณสถานใกล้ๆ ที่มัสยิดนัจมุดดีน

มัสยิดนัจมุดดีน หรือมัสยิดควนลังงา มีอายุกว่า 300 ปี สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2177 โดยความร่วมมือระหว่างเจ้าอาวาสวัดทรายขาวกับโต๊ะอิหม่ามในสมัยนั้น โดยหลังจากโบสถ์วัดทรายขาวสร้างเสร็จแล้ว โต๊ะอิหม่ามได้ขอให้เจ้าอาวาสวัดทรายขาวช่วยสร้างมัสยิดเพื่อที่จะมีสถานประกอบพิธีละหมาด ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามัสยิดแห่งนี้มีความคล้ายคลึงกับโบสถ์พุทธ มัสยิดทั้งหลังก่อสร้างโดยไม่ใช้ตะปู แต่ใช้ลิ่มไม้ เป็นรูปแบบการก่อสร้างตามแบบศิลปกรรมที่สืบทอดจากสถาปัตยกรรมลังกาสุกะ ศาสนาสถานงดงามแห่งนี้ยังคงใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่จวบจนทุกวันนี้ และช่วยตอกย้ำความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนทรายขาวได้อย่างดี

สิ่งที่เราสัมผัสทรายขาวจากทั้งอาหารการกิน ศาสนสถาน และไมตรีที่ชาวบ้านทรายขาวทั้งไทยพุทธและมุสลิม ยิบยื่นให้แก่กัน ทั้งยังเผื่อแผ่มาถึงเราช่วยขจัดความรู้สึกฝังลึกต่างๆ นานาไปได้ปลิดทิ้ง ทุกอย่างที่เราพบมันตอบคำถามได้ดีกว่าคำบอกเล่าจากใครเป็นไหนๆ นี่แหละคือสิ่งที่คุณควรมาสัมผัส เริ่มจากเปิดใจให้กว้าง หาวันว่างมาเที่ยวปัตตานีดูสักครั้งค่ะ 🙂

ภาพโดย ปริญญา ชาวสมุน

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS