ขนมไทยบ้านพลอยหวาน เมื่อความประณีตคือความท้าทาย

457 VIEWS
PIN

image alternate text
คุยกับคนทำขนมไทยที่เห็นภาพขนมก็สวยสะดุดตา ได้กินก็อร่อยละมุนลิ้น

เมื่อมีโจทย์ตามหาคนรุ่นใหม่ที่รักขนมไทยและมีขนมไทยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ฉันก็ไปประทับใจกับขนมหน้าตาสวยงามประณีตของเพจ บ้านพลอยหวาน เข้า และก็เป็นเรื่องบังเอิญมากๆ ที่เจ้าของเพจคือ เจ-จิราพร แก้วดวงเล็ก เคยเป็นนักเขียนของนิตยสารครัว เธอยังทำหนังสือ ‘ขนมไทย’ ให้สำนักพิมพ์แสงแดดด้วย (ยังมีขายนะคะ ใครสนใจสั่งซื้อเข้ามาได้เลย) โปรไฟล์เหมาะสมขนาดนี้ ไม่ต้องไปหาใครอื่นแล้ว

บ่ายต้นๆ ฉันจึงไปพบกับเจที่บ้านของเธอแถวโชคชัย 4 เธอต้อนรับด้วยการเปิดครัวให้ทั้งนั่งคุยกันและสาธิตการทำขนมที่สวยเป๊ะเหมือนที่เห็นในเพจจริงๆ แล้วยังอร่อยมากด้วย

เรื่องราวของเจกับขนมไทย อาจจะไม่สามารถเรียกได้ว่ารักแรกพบ แต่บอกได้ว่าคือรักแท้ที่อยู่กันไปตลอดชีวิต เพราะเธอเติบโตมากับย่าที่ชอบทำขนมไทย ทำให้ภาพและเรื่องราวของขนมไทยเป็นความทรงจำติดตัว แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ตัวว่าชอบ แต่เธอก็เลือกเรียนที่วิทยาลัยในวังหญิง และจบมาเป็นคุณครูสอนทำขนมไทย รวมทั้งรับทำขนมไทยที่ครัวในบ้านของเธอเอง

บ้านพลอยหวาน
บ้านพลอยหวาน
บ้านพลอยหวาน

จุดเริ่มต้นของเส้นทางคนทำขนมไทย

“เราเรียนคหกรรม แต่พบว่ามันไม่น่าเหมาะกับตัวเอง เพราะออกแนววิชาการ จบมาต้องทำงานแนวโภชนากรหรือผู้จัดการร้าน ซึ่งเราไม่ชอบ ไม่มีความสุข ก็เลยมานั่งคิดว่าทำยังไงดี” เธอเล่าถึงช่วงเคว้ง เพราะเด็กสมัยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนไม่ได้รับการแนะแนวที่เข้มข้นแบบทุกวันนี้ ตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไรจึงเป็นโจทย์ยากและไม่ชัดเจน

“แต่เรามีในใจนานแล้วว่าอยากเรียนที่วิทยาลัยในวังหญิง เห็นมาตั้งแต่สมัยมัธยมจากข่าวในพระราชสำนัก เห็นตลอด เห็นทุกปี พอดีมีป้าทำงานที่กทม.เลยถามป้า เขาหามาให้ว่าอยู่ที่ไหน สมัครยังไง เราเลยไปสมัคร แล้วก็ได้เรียน พอเรียนจบก็มีครูชวนไปทำงาน ไปสอนทำอาหาร ก็เลยกลายเป็นครูสอนทั้งอาหารคาวหวาน แต่พบว่าอาหารไม่ถูกจริตกับเรา ทำขนมแล้วกินได้มากกว่า กับไม่ชอบความเลอะเทอะ ไม่ชอบกลิ่นคาว เลยมาทางขนมไทยเต็มตัว”

เธอว่าชอบขนมไทยเพราะ ‘ชอบอยู่แบบเก่าๆ’

“อย่างพวกเบเกอรี่ มันต้องพยายาม ต้องอัปเดทตัวเองเยอะ เพราะมันมีของใหม่มาตลอดเวลา ซึ่งขนมไทยถ้าพูดถึงตอนนี้ก็ต้องอัปเดทเหมือนกัน แต่ตอนนั้นยังไม่ต้อง ไม่ต้องขวนขวายอะไรเยอะ เพราะขนมไทยมันค่อนข้างดั้งเดิม” เจหัวเราะ

แต่ในความดั้งเดิมก็มีการประยุกต์เพราะไม่มีใครเคยชิมรสชาติดั้งเดิมจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร ตัวเธอเองก็ใช้วิธีครูพักลักจำ ดูจากครู จากรุ่นพี่ ทำความเข้าใจส่วนผสม ซึ่งมีหลายครั้งที่ทำตามแล้วไม่อร่อย เธอจึงปรับเปลี่ยนส่วนผสมเพื่อให้ได้ขนมที่สามารถ ‘นำไปใช้งานได้จริง’ ในความหมายว่าหน้าตาสวยแล้วยังต้องอร่อยด้วย

บ้านพลอยหวาน
บ้านพลอยหวาน
บ้านพลอยหวาน

ขนมไทยเลี้ยงชีพ

หลังไปเป็นครูสอนทำขนมอยู่พักหนึ่งพร้อมปรับตัวพัฒนาทักษะไปด้วย ทำงานประจำไปด้วย ทำแคเทอริ่งไปด้วย เจก็ค้นพบว่าตัวเองไม่เหมาะกับการรับคำสั่ง เลยลาออกจากงานประจำมาเป็นเจ้านายตัวเอง ด้วยการเปิดคอร์สสอนทำขนมไทยและรับทำขนมไทยควบคู่กันไป

“เราเริ่มตอนปี 54 หลังน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ยุคนั้นเฟสบุ๊คยังไม่มีโฆษณาเลย” เธอหัวเราะอีกครั้ง “ก็แค่โพสต์เงียบๆ ของเราไป แต่มีคนเห็น ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามาจากไหน กับอีกอย่างอาจจะเพราะตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครเปิดสอนทำขนมไทยเท่าไหร่ เราก็เปิดเพจ ลงรูปขนม แรกๆ มีคนสั่งขนมมา หลังๆ ก็เริ่มมาลงเรียน มันมีช่วงหนึ่งที่มีละครเรื่องสุภาพบุรุษจุฑาเทพ ในละครมีขนมไทย แล้วก็มีละครอีกหลายเรื่องที่เขามีขนมไทยอันนั้นอันนี้ คนเลยเริ่มอยากเรียนและหาที่เรียน มาเรียนกันเยอะมาก”

บ้านพลอยหวาน
บ้านพลอยหวาน

เสน่ห์ของขนมไทย

“มันมีความเก่าๆ” เธอย้ำคำเดิมพร้อมขยายความว่าอาจเป็นเพราะสมัยเด็กเธออยู่กับบย่าที่ทำขนมไทยขาย “ตอนนั้นเราก็อยากทำแล้วนะ แต่อยากทำในแบบของเราแบบ.. ขนมของย่าทำไมมันหวานจัง”

“แล้วมันก็มีความประณีต ซึ่งเป็นความท้าทายว่ามันยาก มันต้องทำยังไง และเราต้องทำให้ได้ ส่วนหนึ่งก็คือเป็นเรื่องของการท้าทายตัวเอง กับอีกส่วนเราก็ชอบความประณีตด้วยแหละ แต่อันนี้ก็ขึ้นกับคนทำด้วย เพราะถ้าพูดเรื่องหน้าตาแล้ว ความสวยของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน”

พูดถึงความประณีต นอกจากจะนั่งดูเธอประดิษฐ์ประดอยแปะกลีบดาราทองที่ทำจากเม็ดแตงโมกวาดน้ำตาลจนออกมาได้ลวดลายสวยทีละกลีบๆ ฉันยังอดพูดถึงขนมจีบนกของเธอที่เห็นภาพในเพจไม่ได้ ว่าช่างเป๊ะแบบหน้าตาเหมือนกัน หันองศาเดียวกันไม่มีผิดเพี้ยน เจหัวเราะแล้วบอกว่านั่นคือตัวอย่างความสวยในมุมของเธอ

“เวลาสอนนักเรียน เราจะบอกเขาว่าถ้าติดตาตรงนี้ๆ มันจะแปลกๆ หน้าตามันจะดูตลก แล้วก็สอนว่าตาต้องติดแบบนี้ หน้าตาจะเป็นแบบนี้ นี่คือความสวยของเรา แต่เราไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำให้เหมือนเรานะ ไม่เหมือนการเรียนในวังที่ต้องเป๊ะมากๆ  ของเราจะเป็นแนวแล้วแต่คนทำ แล้วแต่คนมองว่าสวยของใครเป็นแบบไหน”

บ้านพลอยหวาน

พูดได้ไหมว่าขนมไทยไม่ต้องเป๊ะ

“ต้องเป๊ะ แต่ไม่ได้เป๊ะแบบ 100%” เธอย้ำ “ขนมมันก็มีการเปลี่ยนแปลงประยุกต์ไปเรื่อยๆ แหละ เหมือนอย่างตอนนี้มีเปียกปูนกะทิสดมา ซึ่งเรากินไม่เป็น มันแปลกๆ เหมือนกินตะโก้ราดกะทิ ในขณะที่เปียกปูนจริงต้องหนึบ เราก็จะไม่ทำ เพราะไม่ได้อยากทำ…

“ความเป๊ะที่ว่ามันเป็นเรื่องของการทำมากกว่า อย่างขนมน้ำดอกไม้คือยากที่สุดของเรา ยากเพราะน้ำเหรอ หรือแป้ง ไฟ ภาชนะ หรืออะไรที่ทำให้มันออกมาไม่เป๊ะ ไม่เหมือนเดิม แล้วมันยากเพราะเราไม่รู้ว่าเป็นเพราะปัจจัยไหน แต่ที่บอกว่าไม่ต้องเป๊ะ 100% เพราะเราเองเวลาสอนทำดาราทองแต่ละวันก็ออกมาไม่เหมือนกัน ทั้งที่ส่วนผสมเหมือนกัน บางวันนักเรียนกวนแรงมากก็แตกมัน บางวันก็ไม่มัน มันขึ้นอยู่กับคนทำ แล้วมันก็ยากตรงที่เราหาคำตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร”

บ้านพลอยหวาน
บ้านพลอยหวาน

คุณสมบัติของคนที่อยากลองหรืออยากเรียนทำขนมไทย

ทักษะเป็นเรื่องรอง อันดับแรกขอแค่มีใจรักที่จะทำที่จะเรียน เริ่มจากถามตัวเองก่อนว่าอยากกินอะไร หรือชอบกินอะไร แล้วเริ่มจากสิ่งนั้น

“เพราะเราแนะนำไปก็ไม่รู้ว่ายากไปมั้ยหรือเขาอยากทำมั้ย ก็เลยจะถามแบบนี้ก่อน” เจว่า เรียกว่าเป็นการเอาความรักชอบขึ้นมาเป็นสารตั้งต้นเพื่อที่จะสามารถเดินต่อไปได้โดยไม่ถอดใจไปก่อน เพราะแม้เธอจะบอกว่าทุกคนสามารถทำขนมไทยได้โดยไม่ต้องมีทักษะใดๆ แต่เลเวลของการทำก็มีลำดับความยากง่ายอยู่

“ขนมที่เหมาะกับเลเวลเริ่มต้นก็อย่างพวกขนมต้ม มะพร้าวแก้ว ทำง่ายๆ แค่ผัดๆ กวนๆ” แต่ก็เป็นอีกครั้งที่เธอบอกว่าในความง่ายก็มีความเป๊ะอยู่เช่นกัน เจออกตัวว่าเพราะเธอมาแนวอนุรักษ์นิยมแบบดั้งเดิม แม้ขนมไทยสมัยใหม่อาจจะอะแดปต์ไปใช้กระทะเทปล่อน กะทิกล่อง น้ำตาลถุง แต่สำหรับบ้านพลอยหวานยังคงใช้กระทะทองเหลือง กะทิสด “เพราะทุกอย่างมันมีผลหมดเลย ความแรงไฟต่างขนมก็ต่าง”

แต่นั่นหมายถึงการทำขนมของเธอเองเท่านั้น สำหรับคนที่มาขอความรู้เธอปล่อยจอยสบายๆ เป็นไปตามยุคสมัยและปัจจัยของแต่ละคน  

“ไม่อยากฟิกซ์ว่าต้องใช้กระทะนี้ วัตถุดิบนี้ บางครูอาจจะบอกว่าต้องใช้แป้งชูถิ่นเท่านั้น แต่เราไม่ขนาดนั้น อย่างบางทีมีนักเรียนที่อยู่เมืองนอก เขาจะไปหาแป้งชูถิ่นที่ไหน ความจำเพาะเลยไม่ค่อยมี แต่ว่าก็ต้องยอมรับแหละว่าเปลี่ยนวัตถุดิบก็มีผลจริงๆ อย่างเปลี่ยนแป้งทำไส่ไส้ ใช้แป้งข้าวเหนียวคนละยี่ห้อ มันก็เปลี่ยน เพราะแป้งดูดน้ำไม่เท่ากัน แต่ใช้ไปเถอะ แห้งไปก็เติมน้ำ เหลวไปก็เติมแป้ง คนอยู่คอนโดจะให้เขาซื้อกระทะทองเหลืองก็อาจจะไม่เหมาะ ก็ใช้เทปล่อนไป”

บ้านพลอยหวาน
บ้านพลอยหวาน
บ้านพลอยหวาน

ขนมไทยที่มีให้เห็นทุกบ้าน

แม้โลกที่เปิดกว้างจะทำให้มีขนมสารพัดชนิดจากประเทศต่างๆ เข้ามาปะปน แต่ขนมไทยจะไม่มีวันหายไปเพราะมันคือสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตและสังคมไทย ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่

“เห็นขนมไทยทุกวัน อย่างตัวเราเจอมาตั้งแต่เด็ก คนอื่นก็น่าจะเหมือนกัน” เจว่า “วัยรุ่นอาจจะไม่ค่อยสนใจขนมไทย แต่เชื่อเถอะว่าพอถึงวัยหนึ่ง ความอินขนมไทยมันจะกลับมา อย่างนักเรียนของเราบางคนก็บอกสมัยก่อนเห็นแม่เห็นยายทำ แต่เขาไม่สนใจ จนพอเข้าสู่วัยหนึ่ง เอ้า อยากทำขนมไทยขึ้นมาแล้ว มันจะวนอยู่แบบนี้”

ความพิถีพิถัน ประณีต ของขนมไทยก็เป็นอีกอย่างที่ทำให้ไม่น่าเบื่อ เพราะตัวเธอเองแม้จะทำขนมไทยเป็นอาชีพ ก็ยังมีขนมไทยบางชนิดที่ไม่ได้ทำบ่อยๆ แล้วรู้สึกว่ามันยากและท้าทาย

“ขนมไทยเกี่ยวข้องกับชีวิต ทั้งงานแต่ง งานบวช งานศพ งานประเพณีต่างๆ ต้องใช้ขนมไทยตลอด มีตลอด เห็นตลอด และถ้าเราสามารถทำได้ทั้งหมดก็คงดี”

บ้านพลอยหวาน
FB: https://www.facebook.com/banploywan
IG: https://www.instagram.com/banploywan/

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS