เศรษฐกิจการเมืองเรื่องเนื้อวัว ตอน 2

5,406 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ตอน 2 พิชิตทุ่งหญ้า ฆ่าวัวเลี้ยงทุนนิยมตะวันตก

คลิกที่นี่เพื่ออ่านบทความตอน 1

ยุโรปยุคกลาง (Middle Age ประมาณศตวรรษที่ 6 ถึง 15) ฝูงวัวได้กลายเป็นเครื่องวัดความมั่งคั่งและอำนาจของขุนนางศักดินา ในอังกฤษบรรดาขุนนางแข่งขันอวดความมั่งคั่ง ด้วยการจัดเลี้ยงอาหารชั้นดีที่ทำจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อวัว อย่างไรก็ตามในสมัยนี้ การกินอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ขุนนางศักดินาเป็นหลัก ประชาชนทั่วไปยังกินอยู่อย่างยากแค้น แม้แต่ขนมปังก็ทำจากข้าวไรย์ มิใช่ขนมปังนุ่มๆ สีขาวของศักดินา 

พ้นยุคกลางไปแล้ว ความนิยมกินเนื้อวัวขยายเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษ ที่รุกขึ้นเหนือไปครอบครองไอร์แลนด์และไอซ์แลนด์ โดยหวังผลประโยชน์ทุ่งหญ้ามหึมาที่มีชื่อเสียงเป็นอาหารเลี้ยงวัวพันธุ์ดี (วัวพันธุ์ Iberdeen Augus มาจากทุ่งหญ้าแถบนี้) การกินเนื้อวัวมากขึ้นในช่วงนี้ นักประวัติศาสตร์มองว่า เป็นปัจจัยสำคัญของความต้องการเครื่องเทศจากตะวันออก และต่อมาเมื่ออาหรับทำตัวเป็นอุปสรรคการค้าเครื่องเทศ เป็นปัจจัยผลักดันการค้นพบเส้นทางเดินเรือไปยังอินเดีย ซึ่งโคลัมบัสอาสาและไปขึ้นบกที่โลกใหม่อเมริกาแทน จึงเกิดการเลี้ยงวัวอย่างกว้างขวางในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง และอเมริกาเหนือ เพื่อส่งเนื้อวัวราคาถูกกลับมาเลี้ยงผู้บริโภคในยุโรป ซึ่งต่อไปในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม แม้กรรมาชีพคนงานก็มีโอกาสกินเนื้อวัวอาหารชั้นสูง ตามความวาดหวัง

ในยุโรปตะวันตกสมัยศตวรรษที่ 18-19 ชาวอังกฤษและสเปนเป็นยอดนักกินเนื้อของโลก เป็นผู้นำการทำฟาร์มเลี้ยงวัวไปแพร่หลายในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ชาวยุโรปผู้อพยพไปอยู่ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นำวัวไปเลี้ยงด้วยตั้งแต่ ค.ศ.1788 แต่นั้นมาเกิดการขยายตัวของการเลี้ยงวัวในทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่อย่างรวดเร็ว ถึงปี ค.ศ.1999 ปริมาณวัวเลี้ยงในออสเตรเลียมีจำนวนมากถึง 8.6 ล้านตัว ปัจจุบันเพิ่มสูงถึง 28 ล้านตัว มูลค่าประมาณ 8,600 ล้านดอลล่าห์ และส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล 

พิชิตตะวันตก พลิกทุ่งหญ้าเป็นขุมทอง

สำหรับสหรัฐอเมริกา “Beef is king” เพราะประเทศนี้เป็นแชมป์เปี้ยนการผลิตและบริโภคเนื้อวัว มีวัวเลี้ยงจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ ราว 100 ล้านตัว ปีหนึ่งๆ ฆ่าวัว 35 ล้านตัวเพื่อผลิตเนื้อสเต๊ก แฮมเบอร์เกอร์ และเนื้อบดอื่นๆ 12,000 ล้านกิโลกรัม เนื้อวัวผลิตในอเมริกาได้ถึง 43 % ของโลก ขณะเดียวกันก็กินเนื้อวัวราว 23% ของปริมาณการบริโภคทั้งหมดในโลก ประมาณ 57 ล้านตัน แม้ปริมาณการบริโภคต่อหัวราว 44 กิโลกรัมต่อหัวต่อปีจะเป็นที่ 2 รองจากอาร์เจนตินา (65 กิโลกรัม/หัว/ปี) สหรัฐฯ ส่งออกเนื้อวัวมากเป็นที่สองรองจากออสเตรเลียเล็กน้อย จึงไม่ต้องสงสัยว่า เมื่อทั่วโลกตื่นกลัวภัยโรควัวบ้าและพากันเข้มงวดจำกัดการนำเข้าเนื้อวัว ออสเตรเลียและสหรัฐฯ จึงออกมาโวยวายมากที่สุด

ตัดภาพกลับไปในศตวรรษที่ 16 หลังจากกองเรือของโคลัมบัสขึ้นฝั่งที่เม็กซิโกไม่นาน จักรวรรดินิยมสเปนได้พบว่าที่นี่มีขุมทองเป็นทุ่งหญ้า ไม่ช้าสเปนก็นำวัวจำนวนมากมายเข้ามาเลี้ยงในทุ่งหญ้า ฟาร์มเลี้ยงวัวขนาดใหญ่ในทุ่งหญ้าโดยคนสเปนเป็นเจ้าของและคนพื้นเมืองเป็นแรงงานทวีจำนวนขึ้นมากมายในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ แรกๆ เป็นคนสเปนที่ขี่ม้าสวมรองเท้าใส่สเปอร์คอยต้อนวัว แต่เนื่องจากมีวัวมากมายให้ดูแล ในที่สุดจึงต้องสอนให้คนอินเดียนแดงและคนพื้นเมืองขี่ม้าต้อนวัวแทน เป็นที่มาของวิถีโคบาลหรือ cowboy ในสหรัฐอเมริกา ห้วงศตวรรษที่ 19

ภาพยนตร์คาวบอยจากฮอลลีวูดอาจชักนำให้หลายคนเข้าใจว่า เหตุจูงใจของการพิชิตตะวันตกหลังประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ คือ “การตื่นทอง แสวงโชค” แต่จริงแล้ว “ทุ่งหญ้า” ไพศาลสำหรับเลี้ยงวัวให้อยู่และกินอาหารฟรี อีกทั้งต้อนไปส่งขายต่างหาก ที่เป็นแรงจูงใจให้นายทุนและผู้คนมากมายบ่ายหน้าไปตะวันตก โดยไม่พรั่นอันตรายจากชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียนแดง และควายไบซันที่อาศัยในทุ่งหญ้าอยู่แล้ว ทั้งนี้และทั้งนั้นโดยการสนับสนุนอย่างสำคัญจากรัฐบาลอังกฤษ เพื่อนำเนื้อวัวราคาถูกกลับไปเลี้ยงประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม และนิสัยกินเนื้อวัวกำลังแพร่ขยายสู่ประชากรส่วนใหญ่อย่างรวดเร็ว รัฐบาลและนายทุนอังกฤษเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญมากในขบวนพิชิตตะวันตกของอเมริกา

หัวใจสำคัญของการพิชิตตะวันตกอยู่ที่การขจัดควายไบซันไปจากทุ่งหญ้า (ที่จริงไบซัน เป็นวัวชนิดหนึ่ง แต่เรียกควายตามที่นิยมในอเมริกา บางทีเรียก ​indian bison) และอพยพพวกอินเดียนแดงไปอยู่ในเขตจำเพาะ Indian Reservations สองอย่างนี้สัมพันธ์กัน เพราะควายไบซัน เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งอาหารของอินเดียนแดง เมื่อควายไบซันถูกล่าสังหารล้มตายเป็นเบือ หนังถูกถลกไปขายทำเป็นเต็นท์ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เหลือเพียงซากศพให้เน่าเปื่อยในทุ่งหญ้า ก็เหมือนจิตวิญญาณของอินเดียนแดงสูญสลายไปด้วย นาย Buffalo Bill นักดวลปืน ที่รู้จักกันดีจากหนังคาวบอยและเป็นฮีโร่ของคนดูไม่น้อย แท้จริงเป็นมือล่าสังหารควายไบซันนั่นเอง เมื่อไบซันค่อยหายหน้าไปจากทุ่งหญ้า อินเดียนแดงก็อพยพเข้าอยู่ในแดนจำเพาะที่คนขาวจัดให้โดยปริยาย

จากนั้น ทุ่งหญ้าอันไพศาลก็กลายเป็นผืนดินสาธารณะให้นายทุน cattle ranch รายใหญ่ต่างๆ เข้าไปจับจองใช้ประโยชน์ ภายหลังเมื่อผู้จับจองมีมาก ความขัดแย้งเรื่องเขตปักปันที่ดินจึงมีตามมาเป็นเรื่องธรรมดา แต่ภายหลังกลายเป็นเรื่องราวให้ฮอลลีวูดทำหนังคาวบอยให้ดูชมไปทั่วโลก เมื่ออังกฤษและยุโรปหิวกระหายเนื้อราคาถูกจากอเมริกา อุตสาหกรรมโคเนื้อจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว สร้างความมั่งคั่งให้กับอเมริกาอย่างมาก โครงข่ายเส้นทางรถไฟที่พัฒนาตามมาติดๆ ช่วยทำให้การขนส่งวัวสะดวกยิ่งขึ้น ต่อมาเทคโนโลยีห้องเย็นเปิดให้มีโรงฆ่าสัตว์และชำแหละวัวเกิดขึ้นตามชุมทางรถไฟ แทนที่จะขนส่งวัวทั้งตัวก็เปลี่ยนเป็นวัวชำแหละ ส่งผ่านตู้ห้องเย็นรถไฟและเรือสมุทรไปยังตลาดปลายทาง ซึ่งมีธุรกิจชำแหละและจัดหีบห่อส่งถึงผู้ค้าเนื้อวัวอีกทอดหนึ่ง เรียกว่าธุรกิจการค้าเนื้อวัวพัฒนาขึ้นจนเต็มรูปแบบ ตลาดการค้าเนื้อวัวขยายตัวจากระดับชาติสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลกในที่สุด

เมื่อการเลี้ยงวัวตามทุ่งหญ้าดำเนินไปมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดทุ่งหญ้าย่อมเสื่อมโทรมลง กดดันให้เกิดการบริหารปศุสัตว์โคเนื้อสมัยใหม่ แทนที่จะให้ลูกวัวกินหญ้าในทุ่งจนเติบโตได้น้ำหนักเหมือนเดิม เจ้าของคอกจะเลี้ยงเพียง 6-11 สัปดาห์ แล้วขายต่อให้โรงงาน feedlots ทำหน้าที่ขุนโคให้อ้วนพีจนได้เกณฑ์น้ำหนักที่จะส่งต่อไปยังโรงฆ่าสัตว์ โรงขุนโคมักจำกัดให้วัวอยู่ในคอกแคบๆ เพื่อกินอาหารในราง และเพื่อให้น้ำหนักเพิ่มเร็วมากที่สุด วัวจะถูกป้อนด้วยฮอร์โมนเร่งเติบโต (growth hormone) และยาปฏิชีวนะ อาหารแทนที่จะเป็นหญ้าก็กลายเป็นข้าวโพด ข้าวฟ่าง และธัญพืชถูกๆ ตลอดจนอาหารสัตว์ซึ่งทำจากเศษเครื่องในสัตว์ราคาถูกต่างๆ ดังที่การระบาดของโรควัวบ้ามีเหตุมาจากอาหารสัตว์ที่ทำจากเครื่องในแกะหรือแพะที่เป็นโรคอยู่ก่อน ในทัศนะของนักคุ้มครองสัตว์ วัวในปศุสัตว์โคขุนสมัยใหม่ถูกทารุณกรรมอย่างไม่ปรานี “ถูกตอนและให้ยาจนเชื่อง วันทั้งวันได้แต่เคี้ยวอาหารสารพัดสารพันที่มนุษย์หวังจะขุนให้อ้วนได้น้ำหนักเร็วที่สุด”

ขณะที่อุตสาหกรรมเนื้อวัวขยายตัวเป็นเส้นเลือดใหญ่เศรษฐกิจอเมริกาในศตวรรษที่ 20 การบริโภคภายในก็ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมากไปด้วย จนแยกไม่ออกว่าอุปสงค์สร้างอุปทาน หรืออุปทานสร้างอุปสงค์กันแน่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความต้องการเนื้อวัวในอเมริกาสูงขึ้นมาเป็นประวัติการณ์ การขยายตัวของเขตที่อยู่อาศัยชานเมือง อุตสาหกรรมรถยนต์ การพัฒนาทางหลวง ส่งผลให้เกิดรสนิยมย่างเนื้อที่บ้านของคนชั้นกลาง ที่สำคัญกว่านั้นคือการคลี่คลายของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด โดยเฉพาะแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้รสนิยมกินเนื้อแพร่สู่ประชาชนวงกว้างอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันคุณค่าอาหารของเนื้อในฐานะโปรตีนดีที่สุดก็ถูกเชิดชูจากวงวิชาการ “เนื้อ นม ไข่” อันเป็นหัวใจของแนวกินแบบตะวันตก ได้รับการรับรองและเผยแพร่ไปทั่วโลก

ความต้องการเนื้อวัวในอเมริกาและยุโรปที่เพิ่มมากขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังส่งผลให้การปศุสัตว์โคเนื้อขยายตัวไปอย่างมากในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาร์เจนตินา บราซิลและอุรุกวัย พื้นที่ป่าอเมซอนมากมายถูกถางให้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงวัว สร้างผลกระทบอย่างยิ่งต่อสภาพสิ่งแวดล้อม อนึ่ง ในสามประเทศนี้เสปนได้บุกเบิกการเลี้ยงวัวและวัฒนธรรมคาวบอยมาแต่ครั้งเป็นอาณานิคมเมืองขึ้นมาก่อนแล้ว ปัจจุบัน ด้วยรสนิยมกินเนื้อวัวแพร่ออกไปทั่วโลก ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย จึงหันมาส่งเสริมการทำฟาร์มโคเนื้อกัน โดยเฉพาะโคขุนที่ให้เนื้อคุณภาพดีที่อาจทดแทนเนื้อนำเข้าจากต่างประเทศ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วัฒนธรรมการกินเนื้อวัวอย่างฝรั่งได้เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ทศวรรษ 1990s เป็นต้นมา ปริมาณการบริโภคเนื้อวัวในโลกทวีเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพระการค้าเนื้อวัวระหว่างประเทศได้กลายเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสำคัญของชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และยุโรปตะวันตก ผลักดันการค้าเสรีและข้อตกลงอุรุกวัย ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในเอเชีย ต้องลดกำแพงภาษีเนื้อวัวนำเข้า เมื่อราคาเนื้อวัวถูกลง การบริโภคจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว

คลิกที่นี่เพื่ออ่านบทความตอน 3   

ภาพจาก
– https://www.equus-journeys.com

– https://www.farmlandgrab.org/post

– https://www.abc.net.au/news/2018-02-08/beef-prices-on-the-rise/9405978

– https://duderanch.org/blog/2018

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS