ข้าวมันทะเล เป็นอาหารอย่างคนเรือค่ะ หลักใหญ่ใจความในเมนูนี้ก็คือข้าวสารที่หุงกับกะทิและสมุนไพร กินคู่กับอาหารทะเลนึ่งหรือต้มใหม่ๆ ราดด้วยน้ำจิ้มซีฟู้ดรสจัดๆ สักสองสามช้อนก็ดีพอที่จะทำให้อิ่มท้องและมีแรงทำงานต่อไปได้ค่อนวัน คนเรือหรือชาวประมงหลายพื้นที่มีข้าวมันทะเลเป็น comfort food กินเมื่อไรก็อุ่นใจเมื่อนั้น ในบางพื้นที่จึงมีการเรียกข้าวมันทะเลว่า ข้าวมันเรือ ด้วยอีกชื่อหนึ่ง
และฉันได้ลิ้มรสเรียบง่ายของข้าวมันทะเลครั้งแรกที่บ้าน บังนี นักสู้และนักสื่อสารจากบ้านสวนกง อำเภอจะนะค่ะ
เรือเล็กควรออกจากฝั่ง
บังนี – รุ่งเรือง ระหมันยะ เป็นชาวประมงขนานแท้เชียวค่ะ ชนิดที่ว่าต่อให้เห็นกันเพียงปราดเดียวเราก็น่าจะพอเดาอาชีพบังนีได้ไม่ยาก ผิวสีเข้มที่ได้จากการใช้ชีวิตกลางแจ้ง กางเกงเลซึ่งเป็นเครื่องแบบโดยสมัครใจ ความปราดเปรียว พลังงาน และเรื่องเล่าจากบังนีการันตีกับเราว่าคนคนนี้คือชาวประมงตัวจริงทั้งโดยอาชีพและโดยสำนึก
มาบ้านชาวประมง ก็ต้องกินข้าวอย่างชาวประมง – เพราะคิดอย่างนี้ค่ะ ทีม KRUA.CO จึงต้องตื่นตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่และฟ้ายังไม่สาง เพื่อมารอดูชาวประมงเรือเล็กในชุมชนบ้านสวนกงออกเรือกันแต่หัววัน
หาดสวนกงเป็นหาดทรายธรรมชาติที่กว้าง ยาว และยังอยู่รอดปลอดภัยจากกำแพงกันคลื่น โครงการท่าเรือน้ำลึก รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย ณ ปัจจุบันนี้ ชาวบ้านสวนกงและพื้นที่ใกล้เคียงจึงยังสามารถใช้เนินทรายในการทำประมงเรือเล็กตามวิถีของบรรพบุรุษไว้ได้ ที่หาดสวนกงจึงมีเรือออกแทบทุกวัน แม้แต่วันที่ฟ้าครึ้มและฝนโปรยอย่างวันนี้
ฉันไม่ใช่คนใช้ชีวิตในยามเช้าตรู่บ่อยนัก เวลาที่ฟ้ายังไม่สาง สติฉันจึงยังไม่สางด้วยเช่นกัน กระนั้นพวกเราก็ยังเดินเลาะหาดตามบังนีไปต้อยๆ เพื่อไปดูว่าประมงเรือเล็กที่นี่ต่างจากประมงที่อื่นอย่างไร
สิ่งแรกที่ฉันสังเกตเห็นคือ ประมงเรือเล็กที่บ้านสวนกง หมายถึงเรือลำเล็กจริงๆ เพราะเรือลำหนึ่งมีแรงงานประจำการเพียง 2-3 คน เรือที่จอดไว้บนฝั่งจอดจะถูกเข็นลงมาที่หาดด้วยแรงคนล้วนๆ มีเครื่องทุ่นแรงเป็นแพที่ต่อจากไม้ท่อนแค่หยาบๆ ไว้เพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างท้องเรือกับหาดทรายเท่านั้น ชาวประมงบ้านสวนกงจะรวมตัวกันโดยไม่ต้องนัดหมายแต่เช้าอย่างนี้แทบทุกวันเพื่อช่วยกันเข็นเรือ บ้างออกแรงเข็น บ้างยกแพที่ใช้รองท้องเรือ ครู่เดียวเรือเล็กก็สแตนด์บายพร้อมจะออกจากฝั่ง
“เอาเรือลงยากกว่า เพราะเราเอาท้ายลง และเราต้องรอจังหวะคลื่นให้เงียบหน่อย คลื่นจะมีจังหวะของมัน คนเรือที่เขาทำทุกวันเขาก็จะรู้ แต่ตอนเอาเรือขึ้น เราวิ่งตามคลื่นแล้วเกยหาดได้เลย พุ่งขึ้นมาเลย เท่ เดี๋ยวเราค่อยกลับมาดู”
บังนีเล่าว่า การเอาเรือลงและขึ้นแบบนี้แทบจะเหลืออยู่เพียงไม่กี่ที่เท่านั้น เพราะเรือประมงขนาดเล็กจะขึ้นลงอย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีชายหาดที่เอื้ออำนวย จะไปเทียบท่าเดียวกับประมงน้ำลึกหรือเรือขนาดกลางและเรือขนาดใหญ่ไม่ได้ อัตลักษณ์ประมงเรือเล็กที่หาดสวนกงทำให้เกิดการแข่งขันเรือเกยหาดประจำปีทุกปี และแข่งกันจริงจังขนาดที่ว่าชิงแชมป์กันมายาวนานจนเข้าปีที่ 10 แล้ว
เผลอแป๊บเดียวเสียงเครื่องยนต์ก็ดังลั่น ชาวประมงคนหนึ่งถือท้ายเรือ อีกคนที่ออกแรงเข็นเรือเป็นคนสุดท้ายโยนตัวขึ้นเรือคล่องแคล่วเหมือนทำมาแล้วเป็นหมื่นๆ ครั้ง เรือเล็กแล่นผ่านคลื่นลมออกไปแบบไม่กลัวฝน
“ถ้าแบบนี้คือเขาวางอวนทิ้งไว้ 2-3 วันแล้ว ตอนนี้เขาจะไปเก็บอวนมา แล้วค่อยเอามาแกะที่บ้าน เพราะว่าต้องรีบกลับด้วย วันนี้เที่ยงๆ น่าจะมีทั้งลมทั้งคลื่นอีก” บังนีว่าแล้วก็ชีให้ดูกลุ่มเมฆบนฟ้าซึ่งสายตาของคนทั่วๆ ไปอย่างเราไม่สามารถเข้าใจหลักการคาดเดาหรือกะเกณฑ์สภาพอากาศอย่างคนเรือได้เลย
เรือลำแล้วลำเล่าถูกเข็นออกจากหาด เพียงไม่นานเรือทุกลำที่มีภารกิจเก็บอวนวันนี้ก็แล่นออกไปไกลลิบ แต่บังนี้ยังบรรยายวิชาประมงเล็กหาดสวนกง 101 ให้เราฟังต่อเนื่อง
“ถ้าเป็นฤดูปกติ เราจะออกเรือได้ทุกวัน แต่จะได้ไม่เยอะ อาจจะประมาณวันละ 1,000-2,000 บาท ถ้าช่วงมรสุมอย่างนี้ เราจะออกได้น้อยวัน บางอาทิตย์ก็ออกได้แค่ 3-4 วัน บางอาทิตย์ก็ไม่ได้ออกเลย แต่ออกครั้งหนึ่งก็จะได้เยอะ เพราะปูมันจะมาติดคลื่นติดลม ลำละ 3,000-5,000 บาทต่อวันต้องมี ช่วงนี้เป็นโอกาสทองของพี่น้องชาวประมงเลย ฟ้าฝนแบบนี้ ถ้ากลับมาก็จะได้เยอะแน่นอน
“ถามว่าเสี่ยงไหม ก็เสี่ยงนะ แต่ก็คุ้ม เพราะมันเป็นความเสี่ยงแบบไม่ต้องเสี่ยง ความเสี่ยงนี้อยู่ในวิถี อยู่ในภูมิปัญญาของเขา เขามีความชำนาญในอาชีพของเขา ทุกปีมันเป็นอย่างนี้มาตลอดในชีวิตของเขา”
นอกจากจะเป็นชาวประมง เป็นคนเรือตัวจริงเสียงจริงแล้ว บังนี้ยังเป็น ‘ดูหลำ’ หรือเป็น ‘นักฟังเสียงปลา’ ตัวยงด้วย ดูหลำคือตำแหน่งของคนที่จะดำน้ำลงไปเพื่อฟังเสียงปลาใต้น้ำเพื่อวางแผนการจับปลา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีน้อยคนจะทำได้ เพราะต้องอาศัยการความเข้าใจธรรมชาติใต้ท้องทะเล ชั่วโมงการทำงาน และสัญชาตญาณของลูกทะเลด้วย
เหนือไปจากอาชีพประมง บังนี้ยังมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะอีกตำแหน่งหนึ่ง ดังนั้นหากคุณผู้อ่านเห็นภาพบังนีแล้วรู้สึกคุ้นหน้าคุ้นตาก็ไม่ต้องแปลกใจค่ะ เพราะบังนีของเราปรากฎตัวอยู่บนหน้าสื่อหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีก่อนที่เราได้เห็นข่าวการเคลื่อนไหวของพี่น้องจะนะ ว่าด้วยโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซึ่งอาจกินพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ ใน 3 ตำบลของอำเภอจะนะ (และมีการคาดการณ์กันว่าจะรวมถึงพื้นที่หาดสวนกงแห่งนี้ด้วยเช่นกัน)
“มรสุมเราดูได้ เราอ่านออก มันเป็นๆ หายๆ ตามฤดูของมัน แต่การกระทำของมนุษย์ เราอ่านไม่ออกเลยว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นมลพิษหรือสารเคมีที่มันจะลงไปในทะเล มันอยู่ตลอดไป”
ฟ้าเริ่มสว่างและฉันเริ่มมีสติมากขึ้น มากพอที่จะรับรู้ว่าคำพูดของบังนีเท่อย่างกับบทหนังบทละคร แต่ก็น่ากังวลอยู่พอสมควรเมื่อนึกได้ว่ามันเป็นปัญหาที่ชาวจะนะกำลังต่อสู้และส่งเสียงอยู่จริงๆ
ข้าวมันทะเล ข้าวมันอย่างคนเรือ
หลังจากเติมพลังกันด้วยมื้อเช้าที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้าน บังนีพาทีม KRUA.CO ไปนั่งเรือดูวิถีชาวประมงน้ำจืดในคลองนาทับกันต่อ กว่าฉันจะกลับมาถึงหาดสวนกงอีกทีเรือก็เข้าฝั่งมาแล้วเกินครึ่ง โชคดีที่เรายังทันได้เห็นเรือลำท้ายๆ ที่เพิ่งจะเก็บอวนเข้ามา
เรือลำเล็กสีสดแล่นมาด้วยความเร็วที่เร็วเสียยิ่งกว่าคลื่น พุ่งขึ้นมาเกยหาดแบบแม่นยำ เมื่อดับเครื่องยนต์แล้วชาวบ้านที่รออยู่ก็จะลากเรือขึ้นไปจอดที่เดิมด้วยรอกไฟฟ้าตัวเล็ก
อวนในเรือหอบข้าวของมาแน่น มีทั้งปูซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในช่วงสิ้นปี มีทั้งปลา หมึก ที่เป็นของพลอยได้ มีทั้งขยะ เศษปะการัง และของไม่พึงประสงค์มากมาย อวน 1 ปากจึงไม่ได้สร้างรายได้ให้แค่ชาวประมงเท่านั้น แต่ยังสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงทองคนรับจ้างแกะปู คนรับจ้างแกะเศษขยะ คนซ่อมอวน คนถักอวน หรือแม้กระทั่งแมวจรที่มาคลอเคลียขอกินปลาตัวเล็กๆ ทุกครั้งที่เรือขึ้น
พอเราถ่ายรูปเรือกันจนหนำใจแล้วก็เป็นเวลาของมื้อเที่ยง วันนี้ ก๊ะตี – วรรณา ระหมันยะ ภรรยาของบังนีชอปปิ้งปูสดๆ มาเตรียมทำอาหารไว้เรียบร้อย และทีมกรีนพีซ ประเทศไทย ที่ประจำการอยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะก็มารวมตัวกันกินมื้อเที่ยงที่บ้านบังนี KRUA.CO จึงได้โอกาสขอแอบอิงมามั่วบ้านงานด้วยอีกทีมหนึ่ง
ปูสดใหม่ที่เพิ่งแกะออกมาจากอวนราวครึ่งชั่วโมงก่อนถูกล้างทำความสะอาดแล้วเรียงหงายท้องในกระทะใบใหญ่ ใส่น้ำสะอาดลงไปราว 2-3 ถ้วยแค่ไม่ให้ก้นกระทะไหม้ ก๊ะตีปิดฝา จุดไฟ แล้วผละจากกระทะไปเตรียมเครื่องข้าวมันทะเลต่อทันที ถ้าวัตถุดิบต้นทางคุณภาพดี กรรมวิธีปนปรุงก็เรียบง่ายแค่นี้แหละค่ะ
“หน้านี้เป็นหน้าปู เราก็จะหากินปูง่ายหน่อย ปูจะสมบูรณ์มาก ถ้าหน้ากุ้งก็กินกุ้ง คนทะเลก็โชคดีอย่างนี้แหละได้กินปูทะเลสดๆ ขึ้นมาจากทะเลก็กินเลย” ก๊ะตีว่าอย่างนั้น
เมนูหลักของเราวันนี้คือข้าวมันทะเลอย่างที่ฉันเล่าไว้แต่ต้นค่ะ เครื่องเครามีเพียงไม่กี่อย่าง ข้าวสาร กะทิ หอมแดง ตะไคร้ ใบเตย เกลือ ที่เหลือก็เป็นเครื่องน้ำจิ้มซีฟู้ดสูตรใครก็สูตรมัน ก๊ะตีเตรียมของเสร็จสรรพแล้วก็ถึงตาบังนีลงมือ
บังนีเริ่มจากการจุดเตาถ่านตั้งหม้อดินเผา ก๊ะตีใส่กะทิลงในหม้อแล้วปรุงเค็มด้วยเกลือ ข้าวมันทะเลไม่มีอัตราส่วนตายตัว ด้วยว่ามันเป็นอาหารจานสะดวก คือใครสะดวกแบบไหนก็ปรุงแบบนั้น วันนี้บังนีใช้กะทิจากมะพร้าว 1 ลูก ต่อข้าวสาร 1 กิโลกรัม และปรุงเค็มด้วยเกลือราวครึ่งช้อนโต๊ะค่ะ
“เราจะเคี่ยวน้ำกะทิก่อน เพื่อให้ข้าวบูดช้าที่สุด” ระหว่างที่บังนีกำลังสวมวิญญาณ Food Vlogger ทำไปเล่าไป ก๊ะตีก็จัดการเครื่องเคราอย่างอื่นคล่องแคล่ว หอมแดงตำให้พอแตก ใส่เพื่อเพิ่มรสหวานกลมกล่อม ตะไคร้และใบเตย ทุบให้มีกลิ่นหอมแล้วหั่นให้เป็นท่อนยาวราว 3-4 นิ้ว แล้วใส่ลงไปในน้ำกะทิโดยไม่ต้องขมวดปม
“โบราณเขาถือ ถ้าขมวดเป็นปมเดี๋ยวหนี้ก็จะเป็นปม ไม่หลุดซักที” ก๊ะตีเล่าแกล้มเสียงหัวเราะ อ้อ… หลังจากนี้ฉันคงไม่อยากขมวดอะไรให้เป็นปมก่อนใส่ลงหม้ออีกแล้วละค่ะ
เคี่ยวกะทิไปพักใหญ่บังนีก็เอาข้าวสารที่ซาวสะอาดแล้วใส่ตามลงไป คนซ้ายคนขวาแค่สองสามทีแล้วก็ปิดฝาหม้อทิ้งไว้แล้วหันมารับบท Food Vlogger ต่อ
“เมนูนี้จริงๆ มันก็เป็นภูมิปัญญาที่เราทำกินเวลาไม่มีกับข้าว เพราะที่นี่เราเขาทำนาด้วย เราปลูกมะพร้าวด้วยใช่ไหม ริมเลปลูกมะพร้าวขึ้นดี เราก็เอากะทิมาหุงกับข้าว ใส่เกลือแค่นิดๆ มันก็จะมันๆ เค็มๆ เราก็กินได้แม้ไม่มีกับข้าว
“สมัยเราอยู่เรือใหญ่นะ คนเรือเรามี 30-40 คน พอกินข้าวมันต้องกินเป็นเวลาใช่ไหม วันไหนเราตื่นไม่ทันเพื่อน ได้กินนิดๆ หน่อยๆ ก่อนเที่ยงเราก็หิวแล้ว เราก็พากันทำข้าวมันกัน เพราะกินได้โดยไม่ต้องมีกับข้าว หุงกินแค่ 2-3 คนก็ได้ บนเรือเราจะใช้กระทะเล็กๆ แล้วก็ใช้น้ำมันพืช เพราะไม่มีกะทิ แต่มันพิเศษตรงที่เราทำ 2 ดังได้”
‘ดังข้าว’ ของบังนีก็คือข้าวตังหรือข้าวที่เกรียมติดก้นหม้อค่ะ บังนีบอกว่าดังข้าวคือส่วนที่คนหมายตากันที่สุดในข้าวมันหม้อหนึ่ง เวลาทำข้าวมันกินกันบนเรือ บังนีจึงมีเทคนิคการกลับข้าวทั้งกระทะแบบข้าวดังไม่แตก เมื่อพลิกเอาข้าวฝั่งก้นกระทะที่เป็นข้าวดังขึ้นด้านบน ก็ตั้งกระทะต่อให้ข้าวข้างล่างสุกจนเกรียมกรอบเป็นข้าวดังอีกด้านหนึ่ง ได้เป็นข้าวมันที่มีดังทั้งด้านบนและด้านล่าง ในขณะที่ข้าวตรงกลางก็สุกนุ่ม กินเป็นอาหารรองท้องก่อนจะถึงเวลามื้อหลัก ส่วนข้าวมันเวอร์ชั่นบนฝั่งวันนี้ก็พิเศษไม่แพ้กันค่ะ เพราะมะพร้าววันนี้เป็น ‘มะพร้าวริมเล’ ซึ่งให้กะทิที่หอมมันเป็นพิเศษ แถมยังมีรสชาติติดเค็มนิดๆ เป็นเอกลักษณ์ด้วย
การจะหุงข้าวมันให้อร่อยต้องใช้ไฟกลางค่อนอ่อนเพื่อให้ข้าวสุกเสมอกันโดยที่ข้าวก้นหม้อไม่ชิงไหม้ไปเสียก่อน นอกจากเครื่องเคราสี่ซ้าห้าอย่างที่เห็นแล้ว ข้าวมันที่ดีต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย นั่นคือใจที่ไม่รีบร้อนค่ะ ฉันโชคดีที่กินมื้อเช้าเสียอิ่มตื้อ จึงรอข้าวมันได้แบบสบายๆ ประกอบกับลีลาการเล่าเรื่องของบังนีที่ ‘เอาอยู่’ ราวกับเป็น Stand-up comedian การรอข้าวมันในวันนี้เลยกลายเป็นกิจกรรมผ่อนคลายไปเสียอย่างนั้น
พอข้าวเริ่มขึ้นหม้อ บังนีเปิดฝาแล้วตักหน้ากะทิข้นๆ ออกเพื่อไม่ให้ข้าวแฉะ เสร็จแล้ววางไปตองลงไปก่อนปิดฝาหม้อทับอีกที ใบตองจะช่วยเก็บความร้อนให้ระอุทั่วหม้อ และ…
“เพี้ยง! มันต้องสุก ต้องอร่อยแน่นอน” – ฮั่นแน่ บังนีลงคาถากำกับไว้ซะด้วย
อึดใจเดียวหลังจากนั้นข้าวมันก็พร้อมเสิร์ฟ พอดีกับปูที่ต้มจนสุกหอม ระหว่างที่บังนีกำลังเดี่ยวไมโครโฟนให้เราฟัง ก๊ะตีก็แยกตัวไปจัดการวัตถุดิบอื่นๆ ในครัวต่อ นอกจากปูต้มที่ฉันหมายปองแล้ว ข้าวมันทะเลมื้อนี้จึงมีเครื่องเคียงเพิ่มมาเป็นกุ้งต้ม ปลาอินทรีทอด ต้มยำปลาอินทรี เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ดอีก 1 กะละมังย่อมๆ พอจัดสำรับเสร็จสรรพ เห็นอาหารเรียงราย ต่อมน้ำลายฉันก็พร้อมทำงานแทบจะทันที ข้าวมันทะเลพร้อมเสิร์ฟแล้วค่ะ
อาหารอร่อยได้เพราะทะเลดี
ข้าวมันถูกจัดแจงตักแบ่งให้ทุกคนรอบวง ส่วนอาหารที่เหลือถูกเสิร์ฟแบบบุฟเฟ่ต์ คือใครอยากกินอะไรก็ตักกันตามสะดวก ข้าวมันของบังนีหอมและมันสมชื่อ มีกลิ่นเกรียมของข้าวดังก้นหม้อนิดๆ ชวนน้ำลายสอ ฉันชิมเฉพาะข้าวเปล่าๆ แล้วก็นึกถึงเมนูข้าวมันแกงต่างๆ ในปากะศิลป์อย่างมลายู เพียงแต่ว่าข้าวมันทะเลหม้อนี้มีรสชาติที่เรียบง่ายกว่า
หากมองในมุมของชาวประมง คนเรือ ที่ต้องทำงานใช้แรงแทบทั้งวัน การเพิ่มกะทิหรือน้ำมันเข้าไปในกระบวนการหุงข้าวก็ช่วยให้ได้รับพลังงานมากขึ้น ในขณะเดียวกันเมื่อมองจากมุมของวัตถุดิบท้องถิ่น ข้าวมันเรียบง่ายหม้อนี้ก็รวมเอาผลผลิตของผืนนา สวนข้างบ้าน และทะเลในพื้นที่เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างพอดิบพอดี ส่วนถ้ามองจากมุมคนชอบกินอย่างฉัน ความหอมมันของกะทิกับสมุนไพร เมื่อรวมกับรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว ของน้ำจิ้มซีฟู้ด ก็นับว่าเป็นการจับกลุ่มรสชาติใกล้ตัวที่ชาญฉลาดจนต้องขอคาราวะ
เหนือไปกว่าข้าวมันหอมอร่อยก็คืออาหารทะเลสดๆ ที่เห็นค่ะ บ้านของบังรีและก๊ะตีใกล้หาดชนิดที่ว่าถ้าเดินละเมอหนักๆ ก็อาจลงไปถึงหาดได้ ปูในมื้อนี้จึงทำสถิติปูที่สดที่สุดในประสบการณ์การกินของฉันไปทันที
เนื้อปูเป็นอาหารทะเลที่จะหากินสดๆ ได้ไม่ง่ายเลยค่ะ เพราะเนื้อปูเป็นเนื้อสัตว์ที่คงสภาพได้ยาก เมื่อปูตายแล้วเนื้อปูจะค่อยๆ ฝ่อลงทีละน้อย เพียงไม่กี่วันหลังจากตายเนื้อปูก็อาจจะอันตรธานหายไปจนเหลือแต่กระดองเปล่าได้ ต่อให้เอาปูเป็นมาน็อคน้ำแข็งทันทีที่จับได้ เนื้อปูก็จะคงสภาพอยู่ได้ไม่เกิน 1 วันเท่านั้น
เนื้อปูที่เราได้กินกันส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยเหลือความสดใหม่ตามธรรมชาติ ที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงจะเป็นปูที่ทำสุกแล้วแพ็คแบบสุญญากาศก่อนจะแช่แข็งในอุณหภูมิติดลบ ถึงอย่างนั้นคุณภาพความของปูฟรีซก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับปูที่ฉันได้กินในมื้อนี้เลยค่ะ
ลองจินตนาการตามฉันนะคะ เนื้อปูที่หวานและแน่นเป็นลิ่มๆ จนดึงออกมาจากเปลือกได้ทุกขาทุกข้อ มันปู ไข่ปู รสเข้มข้นและไม่มีกลิ่นคาวแม้แต่นิด นี่แหละค่ะ นิยามของการ ‘มาบ้านชาวประมง ก็ต้องกินข้าวอย่างชาวประมง’ ที่ฉันพูดถึง (ถ้าไม่ติดว่าน้ำจิ้มซีฟู้ดของก๊ะตีอร่อยมากๆ ฉันคงนั่งแกะกินปูเปล่าๆ ไปจนอิ่มโน่นละค่ะ)
นอกจากปูต้มขวัญใจฉันแล้ว อาหารอย่างอื่นก็ไม่น้อยหน้าค่ะ กุ้งต้มและปลาอินทรีทอดเนื้อแน่น หวาน ส่วนต้มยำปลาอินทรีรสชาติสะอาดไม่รกเรื้อรุงรังเพราะได้กลิ่นรสจากหอมแดง พริก ตะไคร้ และเกลือเท่านั้น ไม่ต้องมีผงปรุงรส น้ำมันพริกเผา หรือนมข้นจืดมากวนใจ
ความอร่อยที่เรียบง่ายกลมกล่อมอย่างนี้เป็นอภิสิทธิ์ของการมีวัตถุดิบสดๆ จากทะเลที่สมบูรณ์เท่านั้นเลยจริงๆ ค่ะ แม้จะเล่ามาเสียเยิ่นยาวฉันก็ยังขอยืนยันว่าตัวหนังสือพวกนี้เทียบไม่ได้กับรสชาติและประสบการณ์จริงที่ฉันได้รับจากหาดสวนกงและทะเลจะนะเลย
ฉันคงตอบไม่ได้ (และไม่ได้มีอำนาจจะไปชี้นำใคร) ว่าอาหารทะเลสดๆ มีน้ำหนักมากพอที่จะถ่วงดุลย์กับกำแพงกันคลื่น ท่าเรือน้ำลึก หรือนิคมอุตสาหกรรมได้ไหม แต่อย่างหนึ่งที่ฉันพูดได้อย่างมั่นใจคือ หลังจากนี้ไป จะกินข้าวมันทะเลที่ไหนฉันก็คงไม่คิดว่ามันอร่อยและอิ่มใจได้เท่าที่จะนะแล้วละค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
บังนี – รุ่งเรือง ระหมันยะ
ก๊ะตี – วรรณา ระหมันยะ
Greenpeace Thailand
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ที่
– รายงาน เสียงแห่งจะนะ Voice of Chana
– “นิคมจะนะ” ที่ “คนจะนะ” ไม่ได้เลือก
– โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ