เวลาทองของฮอว์เกอร์ กินตามรอย Crazy Rich Asians

2,794 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
Hawker stall หนึ่งวิถีอาหารอันแข็งแกร่งของสิงคโปร์ ที่ปรากฏตัวในฮอลลีวูดแทนภาพของความเป็นเอเชียจากมุมมองแบบตะวันตก

มองย้อนกลับไปในปี 2018 มีปรากฏการณ์ระดับโลกเกิดขึ้นกับวงการหนังคือความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง Crazy Rich Asians โดยผู้กำกับเชื้อสายจีน จอน เอ็ม ชู ที่สร้างชื่อจากหนังพาฝันอย่าง Step Up ภาค 2-3 จนมาถึงเรื่องนี้ที่เป็นหนังซึ่งประสบความสำเร็จสูงสุดในวิชาชีพเขาแล้ว ทำเงินทั่วโลกไปเกือบ 240 ล้านเหรียญฯ ด้วยทุนสร้างย่อมเยาแค่ 30 ล้านเหรียญฯ แถมยังได้เข้าชิงรางวัลใหญ่ปลายปีอย่างลูกโลกทองคำและ SAG Awards สาขาทีมนักแสดงยอดเยี่ยม หรือเทียบเท่าหนังยอดเยี่ยมจากสมาคมนักแสดงนั่นเลย อะไรกันนักกันหนากับหนังซินเดอเรลลาเวอร์ชั่นชาวเอเชียเรื่องนี้ แต่ใครก็คงไม่ยิ้มแป้นเท่าชาวสิงคโปร์ที่จู่ๆ ก็ได้หนังเรื่องนี้มาช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และหนึ่งในผลพวงนั้นก็คือการกินแบบชาวสิงคโปร์ที่เรียกว่า ‘ฮอว์เกอร์’ นั่นเอง

เพียงแค่เสิร์ชกูเกิ้ลด้วยคำว่า Crazy Rich Asians เราจะเจอบทความแนะนำที่เที่ยวที่กินตามรอยหนังจนเลือกคลิกไม่ถูก และคำว่า ‘ฮอว์เกอร์’ (hawker stall) ก็กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด ซึ่งหากจะเทียบกันก็ไม่ต่างนักกับตลาดโต้รุ่งเมืองไทย แต่มันละลานตาไปด้วยอาหารชั้นเลิศ ลองจินตนาการภาพตลาดอาหารที่เต็มไปด้วยร้านเจ๊ไฝดูก็ได้ เพราะบางร้านก็ได้ดาวมิชลินมาประดับประดาด้วย ฮอว์เกอร์เลยเป็นสถานที่ฝากท้องยอดฮิตของชาวสิงคโปร์ จนเป็นปกติที่จะเห็นภาพผู้คนต่อคิวยาวเหยียด กระทั่งนั่งเบียดเสียดกันตามโต๊ะ เหมือนโรงอาหารโรงเรียนตอนพักเที่ยง และหากหนังสักเรื่องคิดจะนำเสนอวิถีชีวิตชาวสิงคโปร์ให้โลกได้รับรู้ในฉากเดียว ฮอว์เกอร์คือทางเลือกที่ดีที่สุด แม้มันจะสร้างความยุ่งยากให้การทำงานแค่ไหนก็ตาม

ตามท้องเรื่องของเทพนิยาย Crazy Rich Asians ราเชลเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย มีหน้ามีตาจากการเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยดัง อีกด้านของชีวิตกำลังพลอดรักกับนิค หนุ่มหล่อล่ำชาวสิงคโปร์ แต่ที่เธอไม่เคยรู้เลยก็คือ เขาร่ำรวยระดับเป็นเจ้าของประเทศได้สบาย เธอได้ประจักษ์ความรวยอย่างบ้าคลั่งของนิคในวันที่เขาพาเธอกลับไปไหว้แม่ที่สิงคโปร์ อะไรก็คงไม่แซ่บเท่าการที่แม่ผัวมองหางตาใส่ว่าที่ลูกสะใภ้ด้วยอินเนอร์หยามเหยียด

แต่ก่อนที่ราเชลจะต้องไปผจญกับปมขัดแย้งทางศักดินาตามประสาชาวเอเชียนั้น ทันทีที่เท้าแตะแผ่นดินสิงคโปร์ นิคก็พาเธอ (หรือในอีกแง่ก็คือคนดูชาวตะวันตก) ไปทำความคุ้นเคยกับการกินสไตล์สิงคโปร์อย่างฮอว์เกอร์ตั้งแต่ร่างกายยังปรับไทม์โซนไม่ได้ ซึ่งในสิงคโปร์มีฮอว์เกอร์ดังๆ อยู่หลายแห่ง แต่ระดับมหาเศรษฐีอย่างนิคก็ต้องสร้างความประทับใจสาวด้วยการพาไปกินฮอว์เกอร์ที่ดังที่สุดของสิงค์โปร์อย่าง Newton Circus Food Center นั่นเอง

Newton Circus Food Center เป็นแลนด์มาร์คที่ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวสิงคโปร์ให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ด้วยความที่มันอยู่บริเวณศูนย์กลางความเจริญพอดี จึงเพิ่งมีการปรับปรุงทัศนียภาพให้หรูหราแสดงความเป็นเอเชียนชัดเจน รวมถึงร้านอาหารที่ได้รับการคัดเลือกให้มาออกร้านก็ล้วนเป็นตัวท็อปของประเทศทั้งนั้น เมนูระดับเหลาที่ได้รับควานิยมของที่นี่ก็คือ ขนมผักกาด กับปูผัดผงกะหรี่ ซึ่งล้วนปรากฏอยู่ในหนังทั้งสิ้น

ฟู้ดสไตลิสต์ของ Crazy Rich Asians ทำตามหน้าที่ของเขา นั่นคือการจัดการกับอาหารเพื่อเข้าฉาก ไม่ว่าจะด้วยกลวิธีใดก็ตาม (อ่านบทบาทหน้าที่ food stylist ในหนังฮอลลีวูดได้ที่นี่) โดยผู้ทำหน้าที่นี้คือ เปลิตา ลิม ฟู้ดสไตลิสต์ชาวมาเลเซีย ที่เชื้อเชิญจอห์น ซี ซึ่งเป็นเชฟรุ่นใหญ่และที่ปรึกษาด้านอาหารเจ้าถิ่นแห่งสิงคโปร์ ด้วยความประสงค์ให้เขาถ่ายทอดจิตวิญญาณด้านอาหารของบ้านเกิดอย่างซื่อตรงที่สุด ดังนั้นผลงานด้านอาหารในหนังเรื่องนี้จึงเป็นการผนึกกำลังของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยแท้จริง

สิ่งที่ซีต้องจัดการในฉากฮอว์เกอร์นี้มีตั้งแต่การเตรียมงานที่ Newton Circus Food Center ล่วงหน้าหนึ่งสัปดาห์ พร้อมจ่ายเงินให้กับร้านค้ามากขึ้น 80% เพื่อความมั่นใจว่าพวกเขาจะอยู่ถ่ายทำหน้างานให้จนจบ ระหว่างนั้นก็ได้ตกแต่งบางร้านใหม่เพราะมันดู ‘ทันสมัยเกินไป’ เพื่อตอบสนองจินตนาการของชาวตะวันตกที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีการปรับปรุงให้บรรยากาศของฮอว์เกอร์ย้อนกลับไปในยุค 90 มากกว่าจะเก๋ไก๋แบบที่มันเป็นอยู่จริง รวมทั้งยังข้ามทะเลไปยังมะละกา มาเลเซีย เพื่อหาถ้วยชามลายมังกรมาเข้าฉาก ขยี้ความเป็นเอเชียให้หนักยิ่งกว่าเดิม

เงินที่ใช้ไปกับฉากนี้นับว่าไม่น้อย อาทิ 9,000 เหรียญฯ ที่กว้านปูเป็นๆ มาเข้าฉากทั้งวัน สะเต๊ะนับพันไม้ที่คอยเติมในฉากอย่าให้ว่าง และขนมผักกาดไม่ต่ำกว่า 600 ปอนด์ ซียังเทรนนักแสดงประกอบด้วยว่าควรจะผัดอาหารในกระทะยังไง และเมื่อใดที่ไฟควรจะลุกท่วมกระทะ ลงรายละเอียดลึกเพราะเป็นฉากที่ผู้สร้างต้องการ ‘ปั้น’ ความเป็นเอเชียให้มากที่สุด ไม่ต่างกับฉากครัวเอเชียแสนอลหม่านในคฤหาสน์คืนปาร์ตี้ของตระกูลยัง และฉากปั้นเกี๊ยวของตระกูลที่หนังให้ข้อมูลว่าเป็นการสืบทอดทักษะจากรุ่นสู่รุ่น

จริงอยู่ที่หนังค่อนข้างใส่ใจในรายละเอียดทางวัฒนธรรมเอเชียที่ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการใช้ชีวิต ธรรมเนียมปฏิบัติ และความเชื่อ ด้วยการใช้ประโยชน์จากทีมงานชาวเอเชียเป็นส่วนใหญ่ กล่าวได้ว่า 80% ของทีมงานหนังเรื่องนี้ผิวเหลืองโดยทั่วกัน ทว่ามันไม่ใช่ยังงั้นเลยสำหรับทีมงานฝ่ายบริหารที่เป็นชาวตะวันตกเสียกว่า 80% กระแสโต้กลับของหนังจึงบอกว่าแม้มันจะเป็นตัวอย่างความต่างของหนังตลาดฮอลลีวูดที่ประสบความสำเร็จในปี 2018 แต่ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งภาพเหมารวมของวัฒนธรรมเอเชียที่ยากจะปลดล็อคได้ในเร็ววัน

น่าขันใช่ย่อยที่หนังได้รับคำชมจากนักวิจารณ์และผู้ชมฝั่งอเมริกาว่า Crazy Rich Asians เพิ่มเติมความหลากหลายทางเชื้อชาติให้ฮอลลีวูดด้วยแนวทางสูตรสำเร็จ แต่ก็ยังผลิตซ้ำมายาคติที่ฝรั่งมีต่อชาวเอเชียอยู่ดี ซึ่งก็ต้องย้อนกลับมาที่นโยบายการค้าเชิงวัฒนธรรม ดังเช่นการปรับปรุง Newton Circus Food Center เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว จากที่เป็นชุมชนอาหารแบบบ้านๆ ในอดีต สู่ความทันสมัยด้วยสถาปัตยกรรมแบบเอเชียๆ อันสะท้อนให้เห็นว่าบางทีมันก็เกิดจากการสร้าง ‘ภาพลักษณ์’ อย่างไรให้เป็นที่จดจำ โดยหาได้ใส่ใจที่จะให้ข้อมูลเชิงโครงสร้างของสังคม อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ความแตกต่างอย่างแท้จริง

…ซึ่งไม่ใช่แค่สิงคโปร์หรอก แถวนี้ก็เช่นกัน

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS