Inside Out มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง (2015) เป็นแอนิเมชันจากการทำงานร่วมกันของ Walt Disney Studios และ Pixar Animation Studios ค่ะ และเมื่อยักษ์ใหญ่แห่งวงการมาจับมือกัน Inside Out ก็ขึ้นหิ้งเป็นการ์ตูนดีแห่งยุคไปเลยอย่างไม่ต้องสงสัย การันตีด้วยรางวัลจากเวทีระดับโลกกว่า 20 รางวัล พร้อมรายได้กว่า 856 ล้านดอลลาสหรัฐจากผู้ชมทั่วโลกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และหลายคนให้ความเห็นว่า การ์ตูนเรื่องนี้อาจเหมาะกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็กๆ เสียอีก เพราะมันเป็นเรื่องว่าด้วยการยอมรับอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ นี่แหละจัดการได้เละเทะเสียยิ่งกว่าอะไร
Inside Out เล่าเรื่องการเปลี่ยนผ่านของ ‘ไรลีย์’ สาวน้อยอายุ 11 ปีที่ต้องต่อสู้กับความปั่นป่วนของการย้ายบ้านจากรัฐมินนิโซตาอันแสนสุข ไปสู่ซานฟรานซิสโกที่เธอไม่รู้จักเลยแม้แต่น้อย ทาบทับเข้ากับการก้าวเท้าเข้าไปยังดินแดนแห่ง ‘วัยรุ่น’ ที่ตัวละครในหัวของเธอต่างพากันว้าวุ่นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ลั้ลลา (Joy) เศร้าซึม (Sadness) กลั๊วกลัว (Fear) ฉุนเฉียว (Anger) และ หยะแหยง (Disgust) คือชื่อของตัวละครทั้ง 5 ที่แทนอารมณ์ต่างๆ ของไรลีย์ และการที่ Pixar ชี้ให้เห็นว่าโลกในหัวเรามีสิ่งที่ซับซ้อนมากกว่าแค่สุขและเศร้า หรือดีและไม่ดี กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ Inside Out เชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนได้แทบจะทันทีเลยค่ะ
สำหรับฉันผู้หมกมุ่นเรื่องอาหาร และได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้ไปแล้วมากกว่า 3 รอบ สิ่งเล็กๆ ที่น่าสนใจจนปล่อยผ่านไม่ได้ก็คือ ‘พิซซ่าหน้าบรอกโคลี’ เมนูต้อนรับจากซานฟรานซิสโกที่ทำให้ไรลีย์ฟิวส์ขาดนั่นเองค่ะ
Congratulations, San Francisco. You’ve ruined pizza.
ขอสปอยล์ฉากนี้เล็กๆ ว่ามันเป็นฉากที่ไรลีย์เพิ่งจะมาถึงซานฟานซิสโกหยกๆ สภาพบ้านหลังใหม่ที่ไม่มีอะไรพร้อมซักอย่างกำลังทำให้ไรลีย์ผิดหวัง สับสน และพร้อมจะระเบิดอารมณ์อย่างเต็มที่ กระนั้นเลยลั้ลลาที่อยู่ในหัวก็พยายามกอบสู้สถานการณ์โดยการชวนแม่ไปซื้อพิซซ่ามาเป็นมื้อเย็น – ปัญหาไหนจะสยบไม่ได้ด้วยพิซซ่าอบใหม่ร้อนๆ ละ จริงไหม?
แต่แล้วฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึง เมื่อร้านพิซซ่าที่ไรลีย์และแม่ไป มีพิซซ่าเพียงหน้าเดียว นั่นก็คือหน้าบรอกโคลี ผักที่ไรลีย์เกลียดที่สุดในชีวิตมาตั้งแต่จำความได้!
ฉุนเฉียว และ หยะแหยง เต้นเร่าอยู่ในหัวไรลีย์ไม่หยุด บรรยากาศทั้งหมดมันแย่ขนาดที่ว่าเจ้าแม่แห่งการมองโลกในแง่ดีอย่าง ลั้ลลา ก็ยังรับมือไม่อยู่ ฉุนเฉียวแผดเสียงขึ้นมาว่า “Congratulations, San Francisco. You’ve ruined pizza. First the Hawaiians, and now you!” (ยินดีด้วยนะซานฟรานซิสโก นายทำลายพิซซ่าได้ราบคาบ ตอนแรกก็เป็นพวกฮาวาย แล้วตอนนี้ก็เป็นนายสินะ! – แปลโดยผู้เขียน)
และตั้งแต่วินาทีที่ได้เห็นพิซซ่าหน้าบรอกโคลี ไรลีย์กับซานฟรานซิสโกก็ถือว่าได้ทำความ (ไม่อยาก )รู้จักกันแล้วอย่างเป็นทางการ
หลังจากที่ไรลีย์ฟิวส์ขาด เหตุการณ์ชุลมุนต่างๆ ก็ตามมาไม่หยุด ใครที่อยากรู้เรื่องราวฉากต่อๆ ไป สามารถคลิกไปดูได้ที่ Disney+ hotstar ได้เลยนะคะ
พิซซ่าหน้าบรอกโคลีเจ้าปัญหานี้ แม้เป็นรายละเอียดเล็กๆ แต่มันก็เล่าเรื่องอะไรๆ ไว้ในนั้นพอตัวเลยค่ะ เป็นต้นว่าพิซซ่าหน้าบรอกโคลีนั้นเป็นเมนูที่มีอยู่จริง และดูท่าว่ามันจะไม่ใช่ของหายากในเลยอเมริกา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีชุมชนนักมังสวิรัติอาศัยอยู่จำนวนหนึ่งอย่างซานฟรานซิสโกนี่แหละค่ะ
ส่วนไอเดียที่ร้านทั้งร้านขายพิซซ่าแค่หน้าเดียวนั้นชาวเน็ตต่างชาติก็เดากันว่า Pixar อาจได้ไอเดียมาจากร้าน Cheeseboard Pizza ในเมืองเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเสิร์ฟพิซซ่ามังสวิรัติวันละ 1 หน้า แต่หน้าพิซซ่าก็จะสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่หน้าบรอกโคลีเท่านั้น หลายคนก็บอกว่าเป็นข้อสังเกตที่เข้าเค้า เพราะสำนักงานใหญ่ของ Pixar ตั้งอยู่ที่เมืองเอเมอรีวิลล์ ซึ่งไม่ได้ไกลจากเมืองเบิร์กลีย์และรัฐซานฟรานซิสโกมากนัก – ทั้งนี้ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานและการพยายามสืบคืนของชาวเน็ตขี้สงสัยเท่านั้นนะคะ และ Pixar เองก็ไม่ได้มาเฉลยที่มาของบรอกโคลีพิซซ่าแต่อย่างใด
จากบรอกโคลีสู่พริกหยวก อาหารน่าหยะแหยงแห่งชาติ
สาวน้อยไรลีย์ของเรานั้นเกลียดบรอกโคลีเข้าไส้ เข้าพุง เข้าไปลึกถึงระดับจิตใต้สำนึกเลยทีเดียว แม้กระทั่งในฝันร้ายของเธอ นอกจากตัวตลกสุดสยองและฉากฟันร่วงหมดปากต่อหน้าเพื่อนทั้งห้องแล้ว การโดนปีศาจบรอกโคลีไล่ตามก็นับเป็นฝันที่น่ากลัวเป็นอันดับต้นๆ ของเธอด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่ Pixar ต้องจับเอาบรอกโคลีมาเป็นความสยองขวัญของไรลีย์ ก็เพราะว่าบรอกโคลีรับบทเป็นอาหารโดนเกลียดในบรรดาการ์ตูนสารพัดเรื่องมาแทบทุกยุค และสาเหตุที่บรอกโคลีต้องรับเป็นตัวจบในโลกการ์ตูน ก็เพราะว่าบรอกโคลีในชีวิตจริงก็โดนเด็กๆ เกลียด อยู่เสมอไม่ต่างกันเลยค่ะ (น่าสงสารจัง)
สาเหตุที่เด็กๆ (ทั้งในการ์ตูนและในชีวิตจริง) เกลียดบรอกโคลีแบบเข้าไส้ ก็อาจเป็นเพราะว่าบรอกโคลีและผักในตระกูลกะหล่ำ (brassica vegetables) ทั้งหลาย จะมีสารประกอบที่ชื่อว่า S-methyl-ʟ-cysteine sulfoxide อยู่ เมื่อมันเจอกับแบคทีเรียที่อยู่ในน้ำลายมนุษย์ตามธรรมชาติ ก็จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นที่คล้ายกับกลิ่นกำมะถันขึ้นในช่องปากได้ และเด็กๆ ก็จะมีประสาทสัมผัสที่ไวกับกลิ่นนี้ จึงทำให้บรอกโคลีเป็นผักทีเหม็นและขมสำหรับเด็กๆ หลายคน ส่วนร่างกายของมนุษย์วัยผู้ใหญ่ส่วนมากจะเคยชินกลับกลิ่นนี้ไปโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ใหญ่ไม่ได้กลิ่นกำมะถันอันแสนหยะแหยงในบรอกโคลีไปเสียอย่างนั้น
เป็นเรื่องน่าสนุกอีกอย่างหนึ่งที่ได้รู้ว่า การ์ตูน Inside Out เวอร์ชันที่ถูกฉายในญี่ปุ่น ความหยะแหยงจะถูกแทนที่ด้วยพิซซ่าหน้าพริกหวานไปแทน เพราะพริกหวานได้ชื่อว่าเป็นผักที่เด็กๆ ชาวญี่ปุ่นเกลียดกลัวมากที่สุด ในขณะที่บรอกโคลีนั้นถือว่าเป็นผักที่เด็กญี่ปุ่นกินได้สบายๆ
การปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอในการ์ตูนแอนิเมชันฟอร์มยักษ์ฉายในหลายประเทศ แต่การปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารโดยเฉพาะเช่นนี้ก็อาจชี้ให้เห็นว่า นอกจากรสนิยมส่วนบุคคลและหลักการทางกายวิภาคศาสตร์แล้ว วัฒนธรรมก็มีผลไม่น้อยกับการสร้าง ‘อาหารน่าหยะแหยง’ ขึ้นมาในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อย่างที่ไรลีย์เวอร์ชั่นต้นฉบับและและไรลีย์ของชาวญี่ปุ่นเกลียดผักต่างกันนั่นเองค่ะ
แค่ฉากอาหารในการ์ตูนแอนิเมชั่นเพียงฉากเดียว ก็มีเรื่องให้เล่าเป็นตุเป็นตะถึงเพียงนี้ ชักนึกอย่างเห็นอาหารไทยไปโผล่ในการ์ตูนบ้างเสียแล้วละค่ะ คงจะมีเรื่องให้เล่าได้อีกเยอะเลยทีเดียว
ข้อมูลจาก
–A Disappointing Meal Can Change Your Whole Mood
–Why do children hate broccoli? Scientists may just have found the answer
–รู้มั้ย? Inside Out มีการเปลี่ยนฉากให้เข้ากับวัฒนธรรมแต่ละประเทศด้วย!
– The Sweet Side of Japanese Green Peppers