ถ้วยชามรามไหจาก ‘ธนบุรี’ ข้ามทะเลไปเป็น ‘ดงบุริ’ จริงไหม

5,725 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ว่าด้วยเรื่องข้าวด้ง หรือ ดงบุริ กับทฤษฎีที่ว่าอาหารญี่ปุ่นชื่อนี้เพี้ยนไปจากชื่อกรุงธนบุรีของไทยเรานี่แหละ

อาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ที่ติดตัวมนุษย์ไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าเราจะเดินทางไปไหน ด้วยเหตุผลอะไร ในยุคใดก็ตาม และการเดินทางของอาหารเช่นนี้ มักพ่วงรวมเอาพืชพันธุ์ วัฒนธรรม ศิลปะ หรือแม้กระทั่งแนวคิดอื่นๆ ติดตามไปด้วย ทำให้บรรดาอาหารทั่วโลกล้วนแต่มีญาติห่างๆ อยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเสมอ

กระทั่งกับประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ อย่างญี่ปุ่นเองก็ตาม ก็มีการรับวัฒนธรรมอาหารต่างประเทศเข้ามาปรับให้ถูกจริตกับลิ้นของคนญี่ปุ่น จนกลายเป็นอาหารญี่ปุ่นที่ทั่วโลกคุ้นเคยหลายต่อหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นคาเรไรซุ (ข้าวแกงกะหรี่) ฮัมบากุ (แฮมเบอร์เกอร์) หรือกระทั่งทาโก-ไรซุ (ทาโก้) แห่งเกาะโอกินาว่า

เมื่อไม่นานมานี้ ฉันเพิ่งเคยได้ยินสมมติฐานข้อหนึ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจ ว่าด้วยเมนูยอดนิยมอย่าง ‘ดงบุริ’ หรือที่เรามักเรียกว่าข้าวด้ง ข้าวชามโตที่โปะด้วยหน้าต่างๆ ว่าที่จริงแล้วเจ้าเมนูดงบุรินี้ คือเมนูที่เป็นผลพวงมาจากการรับวัฒนธรรมแบบไทยๆ อย่างชามก้นลึกจากกรุงธนบุรีบ้านเรานี่เอง

ค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตดูไวๆ ก็พบว่ามีหลายเว็บไซต์ที่อ้างไว้ในทำนองเดียวกัน ว่า ในยุคเอโดะ ชนชั้นสูงในญี่ปุ่นมักใช้ภาชนะที่นำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงเครื่องชามจากธนบุรีด้วย เครื่องชามแบบมีฝาปิดจากธนบุรีมีลวดลายงดงาม ทั้งยังเดินทางมาไกล เป็นของหายาก จึงกลายเป็นเครื่องใช้และของสะสมราคาแพงในยุคเอโดะ อาหารที่ถูกจัดเตรียมในเครื่องชามแบบธนบุรีนี้จึงถูกเรียกว่า ‘ดงบุริ’ ตามสำเนียงการออกเสียงของชาวญี่ปุ่น

พอขอให้เพื่อนชาวญี่ปุ่นออกเสียงคำว่าธนบุรี – เขาก็ดันออกเสียงเป็น ‘ดงบุริ’ จริงๆ เสียด้วยสิ

เอ… หรือมันจะพอมีเค้ามาจากธนบุรีได้จริงๆ

คำว่า ดงบุริ (Donburi, 丼) ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงชามก้นลึก อาจทำจากไม้ เซรามิก หรือเครื่องปั้นดินเผา แต่ในปัจจุบันเป็นคำที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในความหมายของคำว่า ดงบุริโมโนะ (Donburi-mono, 丼物) คืออาหารญี่ปุ่นอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยข้าวสวยและท็อปปิ้ง รวมถึงอาหารต่างประเทศอื่น ๆ ที่จัดเสิร์ฟในรูปแบบเดียวกันนี้ ในมุมมองของชาวญี่ปุ่นก็ถือให้เป็นดงบุริด้วยเหมือนกัน

ดงบุริมีหลากหลายประเภทเกินจะสามารถอธิบายได้หมดในบทความนี้ แต่มีการเรียกชื่ออย่างเป็นแบบแผน คือเรียกชื่อหน้าใดๆ แล้วตามท้ายด้วยคำว่า –don เช่น คัตสึด้ง ข้าวหน้าหมูชุบแป้งทอด เทนด้ง ข้าวหน้าเทมปุระ หรืออุนะด้ง ข้าวหน้าปลาไหลที่ได้ชื่อว่าเป็นดงบุริที่เก่าแก่ที่สุด คือมีมาตั้งแต่ยุคเอโดะ ก่อนจะพัฒนาแตกสาแหรกมาเป็นดงบุริแบบต่างๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

กระนั้นเลยจึงต้องขอติดตามต่อ เริ่มจากการทบทวนวิชาประวัติศาสตร์ มัธยมปลายกันอีกครั้ง หลังจากอาณาจักรอยุธยาล่มสลายแล้ว ธนบุรีก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของไทย แต่ก็มีระยะการเป็นเมืองหลวงของไทยอยู่เพียง 15 ปีเท่านั้น ในช่วง พ.ศ. 2310 – พ.ศ. 2325 (หรือ ค.ศ.1767 – ค.ศ. 1782) ซึ่งคาบเกี่ยวกับส่วนหนึ่งของยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603 – ค.ศ. 1868) พอดี

ในช่วงเวลาสั้นๆ ของสมัยธนบุรีนั้น ศิลปะวัฒนธรรม งานฝีมือต่างๆ ล้วนสืบต่อมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น รวมถึงงานเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วยเบญจรงค์ ราชสำนักสยามมีการสั่งผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์จากประเทศจีนโดยใช้ของสมัยอยุธยาเป็นแบบ หากแต่บ้านเมืองในสมัยนั้นยังวนเวียนอยู่กับสงครามและความไม่มั่นคงทางการเมืองการปกครอง ไม่มีช่างไทยไปควบคุมคุณภาพเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่สั่งผลิต จึงทำให้เครื่องถ้วยสมัยธนบุรี หรือที่เรียกว่า ‘เครื่องถ้วยเลียนแบบสมัยอยุธยา’ มีลวดลายที่กระเดียดไปทางจีนอย่างเป็นเอกลักษณ์

ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นยังอยู่ภายใต้นโยบายปิดประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพทางสังคมและการเมือง เหล่าโชกุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครองแห่งยุคเอโดะเห็นว่า วิทยาการ ความรู้ทางการแพทย์ และแนวคิดเรื่องศาสนาอื่นที่เข้ามากับการค้าขายและชาวยุโรปในยุคก่อนหน้าคืออาวุธร้ายแรง จึงจำกัดให้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศเพียงสองชนชาติ คือชาวจีนและชาวฮอลันดาที่เข้ามาค้าขายเพียงอย่างเดียว ไม่เผยแพร่ศาสนา และให้กระทำที่เมืองท่าอย่างเมืองนางาซากิแห่งเดียวเท่านั้น

เรียกได้ว่าในช่วงธนบุรี มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ประเทศไทยจะได้ติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหรือส่งเครื่องบรรณาการให้กับญี่ปุ่นโดยตรง และยังเป็นยุคที่ไทยเองยังคงมีความตึงเครียดว่าด้วยเรื่องสงคราม ในขณะที่ฝั่งญี่ปุ่นก็กำลังเข้าสู่ช่วงเข้มข้นของยุคเอโดะ ที่มีทั้งกบฏในบ้าน และปัจจัยภายนอกที่เริ่มกดดันให้ญี่ปุ่นต้องยกเลิกนโยบายปิดประเทศ เป็น 15 ปีที่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอย่างแน่นแฟ้นถึงขนาดนำชื่อเมืองจากแดนไกลไปเรียกเป็นชื่อประเภทอาหารหรือของใช้อาจเกิดขึ้นได้ยากเกินไป

นอกจากนโยบายปิดประเทศของญี่ปุ่นในยุคเอโดะ และอายุอันแสนสั้นของกรุงธนบุรี อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจลบล้างทฤษฎี ‘ดงบุริ-ธนบุรี’ นี้ได้ ก็คือชื่อที่ใช้ในการติดต่อค้าขายหรือส่งเครื่องบรรณาการไปยังต่างประเทศ แม้ในสมัยธนบุรีเอง ประเทศไทยก็ไม่ได้ใช้ชื่อธนบุรีแต่อย่างใด พระราชสาส์นและจดหมายที่ไทยส่งไปติดต่อกับต่างชาติในยุคธนบุรี กลับเรียกแทนประเทศไทยว่า ‘กรุงไทย’ หรือ ‘กรุงศรีอยุธยา’ เช่นเดียวกับที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อแปลเป็นภาษาจีนแล้วก็ย่อมต้องเป็นคำศัพท์ตัวเดิม การตั้งสมมติฐานให้ชาวญี่ปุ่นรู้จักชื่อธนบุรี ผ่านการแปลภาษาจากไทยเป็นจีน จากจีนเป็นญี่ปุ่น ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้น้อยลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม กระทั่งเว็บไซต์ภาษาญี่ปุ่นเองก็ยังมีการยกให้ชื่อดงบุริ – ธนบุรี เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายที่มาของข้าวราดชามโตเมนูนี้ แต่เป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายข้อสันนิษฐาน ที่ต่างก็ยังไม่มีหลักฐานมายืนยันอย่างเป็นรูปธรรม

กระนั้นเอง ด้วยหลักฐานอันน้อยนิดข้างต้น มีแนวโน้มว่า ดงบุริ – ธนบุรี อาจไม่ใช่ญาติห่าง ๆ แต่คงเป็นเพียงแฝดคนละฝาที่ออกเสียงใกล้เคียงกันเท่านั้น คำว่า ‘มีแนวโน้ม’ ย่อมหมายถึงฉันเองก็ไม่สามารถฟันธง และขอเป็นอีกคนที่รอคอยการพิสูจน์ทฤษฎีนี้อย่างใจจดใจจ่อด้วยอีกคน

ที่มา:
หนังสือ ดงบุริ ข้าวราดหน้าญี่ปุ่น สำนักพิมพ์แสงแดด
สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน เล่มที่ 22 และ เล่มที่ 24
https://www.silpa-mag.com/history/article_42065

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS