คำถามยอดฮิต: มื้อเที่ยงวันนี้ กินอะไรดี
คำตอบไม่คาดคิด: กินข้าวบ้าน… แต่เป็นแบบเดลิเวอรีนะ
ในยุคสมัยเราต้องรีบเร่งแข่งกับเวลา เรื่องอาหารการกินก็พลอยฟ้าพลอยฝนติดสปีดตามไปด้วย บางวันข้าวเช้าก็แทบจะไม่ได้กิน ต้องหิ้วท้องรอฝากกับมื้อกลางวันที่สุดท้ายแล้วบางทีก็แค่กินๆ ให้พ้นมื้อไป ร้ายที่สุดคือไม่ได้กิน ต้องหิ้วท้องรอไปยันเย็น ซึ่งก็มีโอกาสสูงว่าจะวนลูปเหมือนมื้อเช้าและมื้อกลางวันอยู่รำไร จึงทำให้เราอดคิดถึงตอนเป็นเด็กที่มีอาหารโฮมเมดไซส์พกพาจากบ้านซึ่งกลายร่างมาเป็น Lunch Box หรือข้าวกล่องมื้อกลางวันไม่ได้
แต่ด้วยความที่อาหารไม่ใช่เรื่องเล็กและด้วยอาหารเป็นเรื่องสากล วิถีพกข้าวกล่องคู่ใจออกจากบ้านไว้เป็นอาหารกลางวันคงไม่ได้มีแค่ในประเทศเรา เชื่อว่ายังมีข้าว (กล่อง) อีกหลายกล่องรอให้ทำความรู้จัก
มาค่ะ มาเยี่ยมชมกล่องข้าวน้อยทั้งใกล้ทั้งไกล เตรียมสัมภาระอย่างกล่องข้าวของคุณให้พร้อมด้วยนะคะ เดี๋ยวจะหิวกลางทาง
ประเทศไทย
กล่องแรกขอเริ่มที่บ้านเกิดเมืองนอนของเรา คิดว่าใครหลายคนน่าจะเคยฟังนิทานเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่มาบ้าง แม้เนื้อหาดูโหดร้ายที่ความหิวทำให้คนเราขาดสติและความยั้งคิด แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้รับจากนิทานเรื่องนี้ นอกจากแง่คิดสอนใจที่อยากให้เรามีสติในทุกสถานการณ์และให้รู้จักบุญคุณของบิดามารดานั่นก็คือ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่สอดแทรกให้เราได้เรียนรู้อย่างข้าวกล่อง (AKA ก่องข้าวน้อยหรือกระติบข้าว) ที่เป็นคีย์หลักของเรื่อง ซึ่งภายในนั้นมี ‘อาหารมื้อกลางวัน’ ที่ผู้เป็นแม่ทำจากบ้านและหอบหิ้วไปให้ลูกชายผู้ทำไร่ไถนาอยู่กลางแดดจ้า
นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานพื้นบ้านอีสาน ดังนั้นในกระติบข้าวใบน้อยจะมีอะไรไปได้ถ้าไม่ใช่ ‘ข้าวเหนียว’ ที่อัดมาเต็มแน่น กับข้างเคียงก็เป็นเมนูง่ายๆ อย่าง ปิ้งปลา ปิ้งเขียด ปิ้งเนื้อ และแจ่วบอง พอถึงเวลาพักก็ตั้งหน้าตั้งตาจกข้าวเหนียว จิ้มแจ่ว เอาเข้าปากแล้วบิปิ้งปลาหรือสารพัดปิ้งประดามีตามเข้าไป เป็นอันจบคำ นี่แหละคือ Lunch Box แต่นานมาของคนไทย แม้ดูเรียบง่ายบ้านๆ แต่ก็เติมเต็มท้องให้อิ่มได้ทุกมื้อ อนึ่ง นอกจากแถบอีสานแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ประเทศลาว ก็มีวิถียืดอกพกกระติบด้วยเช่นกัน ลิสต์เมนูนั้นไม่แตกต่างกันเท่าไร เพราะคนแถบนี้กินข้าวเหนียวกันเป็นอาหารหลักนั่นเอง
และก่อนจะเข้าสู่ยุคกล่องข้าวพลาสติกฮอตฮิตอย่างยุคฉันที่ไม่ทำกับข้าวแล้ว ไปซื้อเอาดีกว่า Lunch Box อีกอย่างหนึ่งที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดี ก็คือ ‘ปิ่นโต’
ตอนเด็กๆ ที่บ้านของฉัน ทุกวันพระคุณยายจะหิ้วปิ่นโตสีเหลืองๆ ขอบเขียวๆ มีห้าชั้นไปวัด ชั้นล่างใส่ข้าวสวยหุงสุก ชั้นถัดมาเป็นอาหารจำพวกแกงที่น้ำเยอะหน่อย ชั้นต่อมาเป็นอาหารผัดแห้งๆ หรือน้ำขลุกขลิก (แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมเนียมแค่บ้านของฉันหรือเปล่า ที่อาหารใส่ปิ่นโตส่วนมาก จะไม่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เพราะมีเหตุผลที่จำจากปากของคุณยายได้ขึ้นใจว่า ‘เอาแกงกะทิใส่ไปอบๆ ในปิ่นโต เดี๋ยวก็บูดกันพอดี’) ชั้นถัดขึ้นมาเป็นขนมหวาน แล้วตามด้วยผลไม้ ปิดฝาเสร็จก็ขัดหัวปิ่นโตด้วยกระดาษลังเสียหน่อยจะได้แน่นหนา เดินแกว่งไปแกว่งมาแล้วไม่เขยื้อน ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็หิ้วปิ่นโตเถาเล็กที่มีแค่สามชั้นไปเป็นมื้อกลางวัน อานิสงส์กับข้าวในปิ่นโตก็ได้มาจากส่วนที่คุณยายตักแบ่งไว้ให้จากอาหารถวายพระ ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าความโฮมเมดที่มาเต็มมมมม กับข้าวที่กินทุกมื้อจะอุดมเครื่องเคราขนาดไหน ความโฮมเมดนี่ทำให้เราได้กินอยู่อย่างราชาจริงๆ นะ
เพิ่งมาสำนึกถึงความโฮมเมดทุกตารางนิ้วในห้องครัวก็ตอนที่รู้สึกว่าวงจรการกินมันดูพังพินาศนี่แหละ ไม่น่าแปลกใจเลยที่ตอนนี้พวกเราซึ่งเคยละทิ้งวิถี Lunch Box ไป กลับเริ่มโหยหามันขึ้นมา จะด้วยเรื่องปัจจัยทางสุขภาพ (ฉันจะลดน้ำหนักต้องกินคลีน! ผมจะเล่นกล้าม ต้องกินอกไก่!) ปัจจัยทางการเงิน (ทำข้าวไปกินเองประหยัดกว่ามาก!) หรือปัจจัยอะไรก็ตามแต่ รู้ตัวอีกที ที่ทำงานของฉันก็มีแก๊งข้าวกล่องอยู่กินข้าวด้วยกันทุกมื้อกลางวันเสียแล้ว
ทิ้งท้ายไว้ก่อนไปต่อกันที่ประเทศอื่น
Lunch Box ของเมืองไทยซึ่งในที่นี่ตอนนี้ขอหมายถึงแค่กล่องข้าว/ ปิ่นโต กลายมาเป็นหนึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจไม่แพ้อาหารที่บรรจุอยู่ข้างใน
ปิ่นโตตราหัวม้าโพนั่นเหรอ อย่าหวัง! พ.ศ.นี้ต้องปิ่นโตสีพาสเทลเท่านั้น ถึงจะชิคๆ คูลๆ หิ้วไปแล้วไม่อายใคร ยึดเป็นสรณะขนาดที่ร้านอาหารบางร้าน เสิร์ฟอาหารใส่ปิ่นโต ก็ได้รับผลตอบรับดีเยี่ยม เพราะลูกค้าพอเห็นปิ่นโตที่มาแทนจานเสิร์ฟแล้วรู้สึกมีที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ กินเข้าไปแล้วตระหนักถึงความโฮมเมดทุกคำ
มายุคนี้ คำกล่าวที่ว่า Don’t judge a book by its cover คงใช้ไม่ได้เสียทั้งหมด ปิ่นโตที่ดี ก็ควรจะต้องสวยนอกและสวยในกระมัง แต่ก็เอาเถอะ หันกลับมาลองทำ Lunch Box ไปกินเองดูบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องราวดีๆ แล้วละนะ
ประเทศญี่ปุ่น
‘เบนโตะ’ หรือข้าวกล่องญี่ปุ่นที่เรารู้จักก็คือข้าวกล่องสำหรับเด็ก หน้าตาน่ารัก สุดแสนครีเอต ประดิดประดอย ถ่ายรูปสักแชะลงโซเชียล ก็มีคนชมเป็นร้อยเป็นพัน หรือไม่ก็เป็นข้าวกล่องสำหรับผู้ใหญ่ที่ปรุงอย่างพิถีพิถัน เปิดกล่องมา คนกินก็รู้สึกชื่นใจ นอกจากจัดเรียงสวยเป็นระเบียบแล้ว ตรงนั้นก็ของโปรด นี่ก็ของที่กินแล้วเข้ากันได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะกินตรงไหนก็รู้สึกอร่อยถูกปาก รสชาติมีความสมดุล คุณค่าทางอาหารครบถ้วน (ใน KRUA.CO ก็มีสูตรทำข้าวกล่องแบบญี่ปุ่นนะคะ เข้าไปดูสูตรแล้วลองทำกันได้ >คลิกที่นี่<)
ฝ่ายหญิงที่เป็นผู้สร้างสรรค์เบนโตะขึ้นมา รับรองได้ว่ารสมือเชื่อถือได้ เพราะได้ฝึกปรือฝีมือการทำกับข้าวมาเป็นอย่างดี ทั้งฝึกกับแม่ และจากสารพัดรายการสอนทำอาหารประดามีในสถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น อีกทั้งเบนโตะที่ฝ่ายหนึ่งส่งมอบให้อีกฝ่าย ทำขึ้นก็เพราะอยากให้เป็นสื่อกลางส่งต่อความรักความหวังดีผ่านอาหารโฮมเมดฝีมือของตัวเอง แถมยังเป็นการแสดงออกถึงความเป็นภรรยาและแม่ที่ดีด้วย หัวใจหลักของการทำเบนโตะโฮมเมดดวงนี้นี่เอง ทำให้ในบางครั้ง เบนโตะก็กลายเป็นเครื่องมือวัดความรักของคนทำที่มีต่อผู้รับ จากสายตาสาธารณชนไปโดยไม่รู้ตัว
ผู้ชายวัยทำงานคนไหนต้องพึ่งข้าวกล่องร้านสะดวกซื้ออยู่ร่ำไป คนภายนอกอาจมองว่าเขาไร้ญาติขาดมิตร ผู้หญิงไม่ใกล้ชิด มีแต่จะลิดรอนความสัมพันธ์ สำหรับเด็กในวัยเรียน หากผู้เป็นแม่ไม่ทำเบนโตะมาให้เป็นมื้อกลางวัน แต่ให้เงินไว้ซื้อกินเอง ซึ่งผิดวิสัยของแม่บ้านชาวญี่ปุ่นทั่วไป ก็อาจทำให้ครูกังวลใจว่าที่บ้านของเด็กคนนี้มีปัญหาหรือไม่ กระทั่งเบนโตะมีหน้าตาดูขี้ริ้วขี้เหร่ ไม่มีตัวการ์ตูนอย่างใครเขา ก็อาจโดนเพื่อนกลั่นแกล้งเอาได้ เพราะเห็นว่าเด็กคนที่ ‘แม่ทำเบนโตะให้ไม่สวย’ นั้นแตกต่างจากตัวเอง เลยไม่อยากคบเป็นเพื่อน (อันนี้ก็เป็นด้านมืดของสังคมเบนโตะในหมู่เด็กๆ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งผู้เขียนเคยอ่านมาเมื่อไม่นานนี้)
ประเทศเกาหลี
ประเทศนี้มาแปลก ข้าวกล่องของญี่ปุ่นเปิดมาต้องสวยเนี้ยบ แต่ของเกาหลีนั้น Shake it! Shake it! เขย่าสิ เขย่าเข้าไป รวมกันเป็นเนื้อเดียวกันก็ไม่เป็นไร
‘โทซิรัก’ คือชื่อเรียกของข้าวกล่องในเกาหลี ถ้าเป็นแบบดั้งเดิมจะถูกใส่มาในกล่องแบนๆ ทำจากแผ่นเหล็กเคลือบดีบุก หรือไม่ก็ทำจากนิกเกิล (ถ้านึกถึงลักษณะกล่องไม่ออก โปรดจินตนาการถึงกล่องดินสอสมัยก่อน ที่แบนๆ ทำจากวัสดุคล้ายกัน และลอกสติกเกอร์ เพื่อเปลี่ยนลายใหม่ได้ตามใจชอบ) ภายในกล่องมีข้าว กิมจิ ไส้กรอกชุบไข่ทอด ไข่ดาว และสาหร่ายแผ่นฉีกฝอย ซึ่งผู้เป็นแม่เตรียมไว้ให้ลูกๆ นำไปกินเป็นมื้อกลางวัน แต่ด้วยความที่กล่องข้าวจำพวกนี้นั้น ไม่สามารถป้องกันแรงสะเทือนจากภายนอก ดังนั้นกว่าจะถึงที่หมายและได้หยิบออกมากิน ต่อให้ผู้เป็นแม่จัดกล่องข้าวมาให้สวยงามเรียบร้อยขนาดไหน ก็เป็นอันไหลรวมไปมิกซ์เป็นเนื้อเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย ครั้นจะไม่กินก็ไม่ได้ ก็เลยคลุกรวมกันแล้วกินไปเสียเลย
แม้ในปัจจุบัน กล่องข้าวกลางวันของชาวเกาหลีจะมีคุณภาพล้ำไปถึงไหนต่อไหน ความรักความเอาใจใส่ของแม่บ้านชาวเกาหลีที่มีต่อลูกก็ไม่เปลี่ยนไป (ดูซีรีส์ทีไร ต่อให้พระเอกนางเอกโดนแม่ด่าแรงขนาดไหน กลับบ้านมาก็ยังมีข้าวให้กินตลอด) เจ้ากล่องข้าวโทซิรักอย่างดั้งเดิมที่แสนจะอ่อนแอ ก็ยังไม่สูญหายไป แต่กลายเป็นเทรนด์ให้ร้านอาหารหลายร้านนำมาประยุกต์ใช้ (ก็คงคล้ายกับที่บ้านเรานำปิ่นโตมาใช้แทนจานข้าว) จะขายโทซิรักทั้งแบบดั้งเดิมหรือแบบเสริมเพิ่มเครื่องเคียงก็ตามใจ เพียงแต่ต้องใช้ความอ่อนแอของเจ้ากล่องนี้ให้เป็นประโยชน์และเป็นจุดขาย เขย่า เขย่ามันเข้าไปค่ะรู้สึกว่าผสมรวมกันได้ที่เมื่อไร ค่อยเปิดฝากล่องแล้วคลุกกิน!
ประเทศอินเดีย
อินเดียเป็นประเทศที่เราอาจกล้าพูดได้ว่า Lunch box นั้นเป็นโฮมเมดฟู้ดหอมกรุ่นจากเตาที่บ้านขนานแท้ แถมยังเสิร์ฟร้อนมาทันตอนพักเที่ยงด้วยนะ!
เปิดปิ่นโตขึ้นมา อาหารพื้นฐานที่มีก็อย่างเช่น Chapati (จาปาตี), Naan (นาน), Aloo Gobhi (อลู โกบี้ – ผัดมันฝรั่งกับดอกกะหล่ำ), Dal (ดาล-แกงถั่ว), ผักดอง
ใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Lunchbox คงจำได้ว่าพอคุณผู้ชายก้าวเท้าออกจากบ้านไปทำงานได้ไม่นาน คุณผู้หญิงที่บ้านก็จะเริ่มลงมือทำอาหารมื้อกลางวันทันที พอทำเสร็จแล้วก็บรรจุลงปิ่นโต รอจนถึงเวลานัดหมาย จะมี Dubbawala Man หรือพูดง่ายๆ ก็คือแมสเซนเจอร์ที่คอยรับส่งอาหาร มารับปิ่นโตไปส่งคุณผู้ชายให้ทันภายในเที่ยงวัน และรับปิ่นโตที่ว่างเปล่ากลับไปคืนคุณผู้หญิงที่บ้าน วนลูปเรื่อยไปทุกวัน
สังคมอินเดียมีวัฒนธรรมการกินอาหารจากปิ่นโตเป็นมื้อกลางวันที่เหนียวแน่นแข็งแกร่งมายาวนาน แต่ก็ด้วยโลกเราที่หมุนไปทุกวัน ชีวิตที่รีบเร่งทำให้คนเราต้องตัดทอนบางอย่างออกจากชีวิต ไม่หาซื้ออาหารกลางวันด้วยตัวเอง ก็ต้องทนกินอาหารในปิ่นโตที่เย็นชืดให้พ้นมื้อไป จะโฮมเมดไม่โฮมเมดก็ไม่สนแล้ว การเกิดขึ้นและการมีอยู่ของ Dubbawala ทั้งในภาพยนตร์และในโลกแห่งความจริง จึงเข้ามาช่วยอุดรอยรั่วของปัญหานี้ได้อย่างงดงาม คนบ้านไกลหน่อยก็ได้กินปิ่นโตจากบ้าน ถึงต้องเสียค่าส่งเป็นรายเดือน แต่ก็คงคุ้มค่ากว่าการกินอาหารกลางวันนอกบ้านที่ทั้งแพงและอาจไม่ถูกปากแถมไม่อิ่มท้องเอาเสียเลยก็ได้