MTCH มัทฉะต้องหลากหลายในการดื่ม แต่เรียบง่ายในการเสพ

1,217 VIEWS
PIN

image alternate text
ร้านมัทฉะพรีเมียมที่เกิดจากคนที่รักและหลงใหลในมัทฉะมากว่า 10 ปี

บ่ายแก่ๆ ของวันแดดแรงวันหนึ่ง ฉันเดินทางมาที่ร้าน MTCH ร้านมัทฉะพรีเมียมในซอยอารีย์ที่เพิ่งรีโนเวทได้อย่างน่านั่ง เพราะมากับคอนเส็ปต์ modern Japanese บรรยากาศโปร่งโล่งด้วยกระจกใสบานใหญ่แทบจะทุกมุมทุกชั้น เรียกว่านั่งดื่มชาไปมองวิวทิวทัศน์ข้างนอกไปทำงานไปด้วยก็ได้อย่างเพลินตาเพลินใจ โดยมีประติมากรรมโฟมหินผลงานประติมากรชาวจีนสีเดียวกับโม่หินที่ใช้สำหรับบดมัทฉะชิ้นใหญ่แขวนลอยอยู่ตรงกลางเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน และเป็นร้านที่ว่ากันว่าคนรักมัทฉะ ‘ต้อง’ มาสักครั้ง (วว. แวววรรณและวรรณแววของเราก็แวะเวียนมาบ่อยๆ) ความที่ไม่ได้เป็นมัทฉะเลิฟเว่อร์ขนาดนั้น แรกๆ ก็เกรงจะคุยไม่รู้เรื่อง แต่ปรากฎว่ากลัวไปเอง เพราะคุณ จิว-สรวิศ พันธ์เกษม เจ้าของร้าน MTCH ที่มานั่งคุยด้วยในวันนี้เล่าเรื่องมัทฉะได้อย่างสนุกและเต็มไปด้วยแพสชั่น จนทำให้คนที่ปกติเลือกสั่งกาแฟก่อนมัทฉะเสมออย่างฉันชักเริ่มลังเลเมื่อจะต้องสั่งเครื่องดื่มคราวต่อไป

MTCH
MTCH
MTCH

จุดเริ่มต้นความรักในมัทฉะของคุณจิวเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเกิดจากเรื่องพื้นๆ ที่โรแมนติกไม่น้อย เพราะเขาบอกอย่างง่ายๆ ว่าเป็นเพราะภรรยาไม่ดื่มกาแฟ ไม่ดื่มชา ดื่มเฉพาะชาเขียวอย่างเดียว ชาเขียวจึงเป็นหัวข้อที่ทั้งสองคนหยิบขึ้นมาพูดคุยกันบ่อยครั้งและคุยกันได้ทั้งวัน ตั้งแต่สมัยที่เป็นเพียงแฟนจนวันที่กลายเป็นสามีภรรยา ที่เขาบอกว่าเมื่อถึงวันที่ต้องการนำไอเดียเรื่องมัทฉะในหัวออกมาทำเป็นภาพหรือก็คือการเปิดร้าน เขาก็ไม่ต้องการจะหาพาร์ตเนอร์ที่ไหนนอกจากภรรยาเพียงคนเดียว

“แล้วผมก็ชอบเพราะดื่มแล้วมันอร่อย” การเป็นคนชอบเที่ยว ชอบกิน ชอบดื่ม ไปที่ไหนก็หาของอร่อยกินเสมอ เขาจึงค้นพบว่ามัทฉะนั้นมีความหลากหลายไม่แพ้กาแฟ ไวน์ หรือเบียร์ เพราะมัทฉะของแต่ร้านแต่ละที่ก็มีกลิ่นรสเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน “แต่มัทฉะกลับไม่ค่อยถูกพรีเซนต์เรื่องความหลากหลาย ทั้งที่รส กลิ่น สี ควอลิตี้ ราคา มีความแตกต่างกันมาก น่าเอามาขยายต่อ และพอศึกษาแล้วค้นพบดีเทลก็ยิ่งชอบ ผมมีของในหัวเยอะจนอยากหาที่พรีเซนต์ไอเดียนี้ ก็เลยกลายเป็นร้าน MTCH ที่ใช้เวลาศึกษาและเดเวลอป 2 ปีถึงเปิดร้าน เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งมา 6 ปีแล้ว แต่ถ้านับตั้งแต่ที่อินสไปร์ ตั้งแต่เริ่มฝึกชงชาก็ร่วม 10 ปี”

ความหลากหลายและความง่ายคือสองไอเดียที่ต้องทำให้เป็นรูปร่าง

เวลาไปร้านกาแฟ เราสามารถสั่งกาแฟได้ตามรสนิยม เช่น อเมริกาโน่คั่วเข้มแบบรัมเรซินหรือช็อกโกแลต ติดเปรี้ยวแบบฟลอรัลเบาๆ หรือเบอรี่เยอะๆ เมื่อมาร้านมัทฉะเราก็ควรสั่งได้ตามรสนิยมเช่นกัน เช่น ขอชาใสอูมามิเยอะๆ ไม่ roasted นี่คือไอเดียที่คุณจิวต้องการนำเสนอ

“ชอบแบบนี้ มีตัวไหนบ้าง เลือกได้ ถูกใจ ตรงปก คุ้มค่า ราคาโอเค ผมอยากให้เกิดอะไรแบบนี้ เพราะก็อย่างที่บอกไปว่ามัทฉะมันมีตั้งหลายแบบ ทำไมไม่มีใครพูดถึงความแตกต่างเลย ไม่เห็นเอาประเด็นนี้มาทำให้มันชัดเจนจนสามารถสร้างออฟเฟอร์ได้ ทุกวันนี้ดีใจมากที่ร้านเรากำลังทำสิ่งนี้อยู่ ก่อนนี้อาจจะมีคนเดินเข้ามาสั่งชาเขียวนมหวานน้อยแก้วหนึ่ง แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะ เอาโรสตี้หน่อย สายพันธุ์นี้หน่อย มีคนแบบนี้เยอะขึ้น เราดีใจตรงที่มันเป็นงานที่เราเริ่มต้นแล้ววันนี้มันเริ่มเกิดขึ้น ซึ่งไม่ต้องมาที่นี่ก็ได้ เพียงแต่ให้มันมีการเรียนรู้ เกิดคำถาม เกิด experience ใหม่ๆ เพราะตอนทำแบรนด์ผมก็เริ่มจากคำถามแบบนี้แหละ”

MTCH

นอกจากต้องการพรีเซนต์ความหลากหลายของมัทฉะ ยังมีอีกหนึ่งอย่างที่เกิดจากความฝังใจกับเหตุการณ์บางอย่าง

“มีอยู่วันหนึ่ง ผมอยากกินชาญี่ปุ่น แต่แต่งตัวไม่ดี กินเหล้าเยอะ แฮงก์อีก เข้าไปในร้านเจอคนแต่งตัวมาแบบตั้งใจมาก จนเรารู้สึกไม่เข้าพวก ทั้งที่จริงๆ แค่อยากเข้ามากินชา ต้องคิดชุด ต้องหามุมถ่ายรูปด้วยเหรอ มัทฉะมันควรง่ายสิ ไม่งั้นก็ไม่เข้าถึงทุกคน เลยคิดคอนเส็ปต์ว่าที่ร้านเราต้องสบายๆ ใครแต่งตัวยังไงก็มาได้ การฟอร์แมทก็ปลดล็อค สั่งแก้วพลาสติกได้ เทคแอนด์โกได้ นั่งกินก็ได้ ต้องแคชวล แพรคติคอล”

ความแพรคติคอลปรากฏในรูปของการนำชาใส่ถุงพลาสติกใส่น้ำในช่วงที่ต้องอาศัยการเดลิเวอรี่ในช่วงโควิด ซึ่งเป็นร้านแรกๆ ที่ทำ รวมถึงการแยกน้ำแข็งกับชาพร้อมเทปพันรอบแก้วเพื่อกันฝาเปิด เพื่อให้ง่ายและสะดวกกับการใช้งาน เพราะมัทฉะเป็นสินค้าพรีเมี่ยม ราคาสูง จึงต้องส่งมอบประสบการณ์ให้คนที่แวะเวียนมาได้แฮปปี้กับเรื่องเรียลๆ ที่เป็นคอร์แวลูของ MTCH

ชิม จดบันทึก พูดคุย สามหัวใจหลักในการทำความเข้าใจมัทฉะ

“ช่วงแรกๆ ผมเคยพยายามจะเรียนชงชาญี่ปุ่น ลองหาข้อมูลดู แต่พบว่าการเรียนพิธีชงชามันเป็นเรื่องของ ceremony ที่มีขั้นตอนมากมาย ดูหลักสูตร ณ วันนั้น มันไม่ใช่คำตอบที่เราหาอยู่ เพราะผมอยากเข้าใจรสชาติ เรียนรู้สิ่งต่างๆ กระบวนการที่มาของรส ทำไมชาจากที่นั่นรสแบบนี้ ชาจากที่นี่รสไม่เหมือนกัน ซึ่งมันไม่ได้คำตอบจากพิธีชงชา ห้องเรียนของผมคือการชิม เดินทาง ชิม พูดคุย”

บ่อยครั้งที่เขาบินไปคุยกับคนญี่ปุ่น โดยยอมรับว่ายังไม่เข้าใจนักในเรื่องที่ได้ยิน

“พูดมา 5 จับได้อย่างเดียว อีก 4 อย่างค่อยๆ มาย่อย มาใช้เวลาเรียนรู้ ผมว่ามันเป็นเรื่องการเดินทางตามหาไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ เพราะไม่มีสูตรตายตัว ต้องค่อยๆ เดเวลอป ย่อย ทำความเข้าใจ แล้วก็เดเวลอป เวย์นี้ทำให้ MTCH แข็งแรงมากในแง่ของ selection menu เราพอใจเพราะเดเวลอปจากไอเดียโลจิก ไม่ได้เป็นคอร์สแล้วไปเทคมา…

MTCH
MTCH

“ปี 2015 ผมไปเกียวโต ไปร้านหนึ่งเขามีคอร์สโม่ชาด้วยหินให้นักท่องเที่ยวลองทำ เสร็จแล้วก็เอาชามาไห้เราชงดื่มดู ผมก็ลองทำ แล้วถามเขาว่าสิ่งที่เราได้ดื่มกับในกระปุกเป็นอย่างเดียวกันมั้ย เขาบอกในกระปุกอร่อยกว่า เพราะทำโดยทีมมาสเตอร์ที่ฝึกการชิมแบบชิมแล้วชิมเล่า เห็นแค่น้ำยังไม่ต้องเอาชาไปบด แค่แช่น้ำร้อนเอาไปให้ชิม เขาก็รู้แล้วว่ารสชาติเป็นยังไง ต้องจัดการแบบไหน แล้วอย่างเรากินไม่เป็น จะรู้ได้ยังไงว่ามันต่างกัน เขาบอกต้องชิมทุกวัน ตื่นมาชิมตั้งแต่เช้ายันค่ำ เป็นงานและเป็นสกิลที่พิเศษมาก การฝึกที่ดีคือชิม จดบันทึก พูดคุย มันอาจจะฟังเรียบง่ายธรรมดา แต่มันแค่นั้นจริงๆ”

ชิม จดบันทึก พูดคุย จึงเป็นสามเรื่องหลักที่คุณจิวใช้ในการศึกษาและพัฒนามัทฉะ โดยวางแก่นหรือระบบให้การชิมมีคุณค่า ต้องมีความ proper และ evaluate ซึ่งไม่เพียงทำในช่วงเวลาที่เขาเริ่มต้นเท่านั้น แต่จนทุกวันนี้ก็ยังทำแบบเดียวกันนี้กับทั้งตัว เมทีเรียลและแซมเพลอร์ของ MTCH

“ผมเป็น head brewer ของร้าน ชาทุกตัวต้องผ่านผม น้องๆ ที่เซอร์วิส กว่าจะชงชาได้ต้องผ่านการฝึกและไซน์ออฟจากผมว่าชงชาได้ เรามีระบบจริงจังในการชิมชาที่นี่”

มัทฉะที่ตรงตาม criteria ต้องเป็นชาจากญี่ปุ่น

MTCH ใช้มัทฉะจากสองจังหวัดในญี่ปุ่นคือเกียวโต แคปิตอลของชาเขียวคุณภาพสูง ที่แม้จะมีกำลังการผลิตน้อย แต่มั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพ และฟุกุโอกะที่เริ่มทำมัทฉะหลังเกียวโตนับร้อยปีแต่มีสไตล์โดดเด่น สร้างความนิยมได้อย่างรวดเร็ว

“เทอมของคำว่ามัทฉะ เอาญี่ปุ่นมาแปลเป็นไทยหรือแปลเป็นจีนแล้วถึงมาเป็นไทยก็ตาม มันแปลว่า ‘ชาบด’ ต้นกำเนิดมาจากจีน เข้ามาในญี่ปุ่นผ่านการเผยแพร่ศาสนา พอมันคือชาบดเราก็อาจจะมองว่าชาที่ไหนๆ ก็เป็นมัทฉะได้ ซึ่งทุกวันนี้คนก็ยังเถียงกันว่ามัทฉะที่ดีมาจากไหนและต้องเป็นยังไง อะไรเรียกมัทฉะ ไม่เรียกมัทฉะ แต่ความเห็นผม ย้ำนะครับว่าความเห็น ไม่ใช่ข้อเท็จจริง” คุณจิวย้ำ “สิ่งที่ผมยอมรับคือผงชาเขียวคุณภาพสูงมาจากญี่ปุ่น ถามว่าทำไม ก็เพราะรีเลทที่คุณภาพสูง แล้วอะไรคือตัวบ่งบอกความคุณภาพสูง สำหรับผมคือสีต้องสวย เขียวเข้ม กลิ่นต้องหอม เป็นผงมาก็หอม แค่ใบแห้งมาก็หอมแล้ว และสุดท้าย ต้องมีรสอร่อยทั้งคอมเพลกซิตี้และอินเทนซิตี้ ต้องมีหลายอย่างให้พูดถึง มีความเข้มข้น ไม่บางไม่แบน สามอย่างนี้คือชาคุณภาพสูงสำหรับผม และชาที่ปลูกในญี่ปุ่น เป็นสายพันธุ์ญี่ปุ่น ผ่านกรรมวิธีของคนญี่ปุ่นที่ชำนาญส่งผ่านรุ่นสู่ร่นมันสำคัญมากที่ทำให้เกิดแฟกเตอร์ของคุณภาพนี้ ผมยอมรับสิ่งนี้ เลยเลือกใช้ชาจากญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ถูกหรือผิดแต่มันเป็น criteria ที่เราเลือกจะทำงานกับชา”

MTCH เป็นร้านมัทฉะสำหรับเซียนมัทฉะเท่านั้น… หรือเปล่า

ฟังมาถึงตรงนี้ก็อดถามคำถามนี้ไม่ได้ เพราะฟังดูเหมือนที่นี่เป็นสถานที่สำหรับคนที่มี ‘ของ’ เกี่ยวกับมัทฉะที่จะแวะเวียนเข้ามา

“เราโอเพนนะ สิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดคือเข้าใจลูกค้าว่าต้องการอะไร และลูกค้าเราก็กว้างมาก เดินเข้ามาสั่งชาเขียวเย็นแก้วหนึ่งก็มี ซึ่งเราจะทำยังไงไม่ให้เขารู้สึกว่ามาแล้วยากจัง คุยไม่รู้เรื่อง แล้วก็จากกันไปไม่ดี”

คำตอบถูกเน้นย้ำด้วยการขยายความว่าที่ MTCH จะมีชุดคำถามคำตอบสำหรับคนที่เรียกได้ว่าไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมัทฉะเลย เช่น ชอบแบบใส่นมหรือไม่ใส่ ชอบเข้มไหม สองคำถามนี้สามารถตัดตัวเลือกจากชา 20 ชนิดให้เหลือเพียง 5 ได้ ก่อนจะตามด้วยการแนะนำว่ามีชาตัวหนึ่ง สไตล์นี้ กลิ่นแบบนี้ สนใจไหม

MTCH
MTCH

“เราให้ออปชั่นจากสิ่งที่เขาตอบมา ซึ่งก็ให้สิ่งที่ใกล้เคียงได้ค่อนข้างเยอะ เขาน่าจะพอใจ เพราะในส่วนของอินกรีเดียน เรื่องส่วนผสม ผมมั่นใจมาก เมื่อไหร่เขาบอกไม่อร่อย รสเพี้ยน ผมแก้เลย ชิมแล้วถ้าเป็นแบบที่เขาว่าก็ทิ้งเลย แต่ถ้าชิมแล้วยังเหมือนที่อยากพรีเซนต์ก็ตามนั้น”

ทุกวันนี้การเรียนรู้ก็ยังไม่จบสิ้น เพราะบ่อยครั้งที่ยังคงทำแล้วรื้อ ทำแล้วทิ้ง

“หลายคนชอบบอกว่าวัตถุดิบดีชงยังไงก็อร่อย แต่ไม่เสมอไป วัตถุดิบดีเข้าใจยากก็เยอะ ผมได้ชาเกรดประกวดตัวหนึ่งมา ดีมาก ลองชิมชงร้อนเฉยๆ แบบคัปปิ้งอร่อยมาก แต่กำลังปวดหัวว่าจะพัฒนาจากการชิมเป็นเมนูยังไงดี เพราะมีปัญหาหลายอย่าง ทุกวันนี้ก็ยังทำทิ้งอยู่หลังร้านเยอะแยะ ถ้าไม่มั่นใจจะไม่ขาย”

MTCH ชื่อร้านเจ้าปัญหา!

แม้แต่ในทีมงานด้วยกันเอง เราก็ยังอ่านชื่อร้าน MTCH ไม่เหมือนกัน บางคนอ่านเอ็มทีซีเอช บางคนอ่านมัทช์ บางคนอ่านว่ามัทฉะ

“งงใช่ไหม” คุณจิวหัวเราะ “อ่านว่าเอ็มทีซีเอช มาจากคำว่า MATCHA ที่ตัดตัว A ออก ซึ่งมันมีเหตุผลจริงๆ กับเหตุผลแบบกวนๆ เหตุผลจริงๆ ก็คือผมคิดว่าเวลาเราไปร้านชาเขียว มันเคร่งเครียด จริงจัง เราอยากให้ฟรี ทำอะไรก็ได้ เลยเอาตัว A ออก  A เป็นสระทำให้เกิดสตรักเจอร์ ก็เอาออกไปซะ เหลือแต่อีลิเมนต์สำคัญโดยเอาสตรักเจอร์ออกไป ให้สามารถใส่ความครีเอทได้เต็มที่ นี่คือคอนเส็ปต์ของร้าน กับเหตุผลกวนๆ ก็คืออยากให้เกิดการตั้งคำถามนั่นแหละ ว่าตกลงชื่อร้านอ่านว่าอะไร เวลามานั่งรอแล้วโทรบอกเพื่อน ฉันอยู่ร้านมิทช์ ร้านแมทช์ ร้านอะไรนะ ให้มันเกิดคำถามคนจะได้จำได้ เพราะถ้าชื่อร้านอย่าง Green Tea Shop หรือ I Love Matcha มันจะไม่เกิดคำถาม แล้วคำว่า MTCH คำนี้ยังไงก็ต้องเดาเป็นมัทฉะ จะเดาว่าเป็นเบียร์ เป็นฟู้ด เป็นคอฟฟี่ไม่ได้ พอสองอย่างนี้มาเจอกันก็เอาตามนี้เลย”

เสน่ห์ของมัทฉะที่ทำให้หลงใหลมากว่าสิบปี

“ดื่มแล้วตอบโจทย์หลายอย่าง ยิ่งวันที่เรียนรู้มากขึ้นก็ยิ่งรักมากขึ้น ทุกวันนี้ผมก็ยังเรียนรู้เพิ่มขึ้น มันมีหลายมุมมอง มีประเด็นให้ศึกษาเพิ่ม เมื่อตอนที่เริ่มต้นมีหลายสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ พอโตขึ้นก็เข้าใจมากขึ้น สำหรับผม นอกจากจะอร่อย มัทฉะยังมีเสน่ห์ตรงที่มีความน่าค้นหา…

“เราได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ไปญี่ปุ่นบ่อยมาก ไปเรียนรู้หลายอย่าง อย่างก่อนนี้เพิ่งมีลูกค้าถามว่ากินชาแล้วจะเปรี้ยวก็ไม่เปรี้ยว จะดีดก็ไม่ดีดเกิดจากอะไร เราก็อธิบายว่าความเข้มข้นของกรดอะมิโนทำให้ลิ้นสะดุ้ง แต่ไม่เหมือนน้ำมะนาวนะ เพราะกรดมันก็มีหลายตัว เขาถามต่อว่าปีที่แล้วทำไมไม่มี ผมก็ต้องมาดูปัจจัย ดูความตั้งใจของผู้ผลิตว่าเขารู้ไหมว่าชาเขาเปลี่ยนไป เขาอาจจะรู้หรืออาจจะไม่รู้เพราะมันมาจากปัจจัยที่ไม่ได้อะแวร์ ซึ่งผมว่าเขารู้ แต่ทำไมยังปล่อยออกมา เรื่องแบบนี้สนุกดี…

MTCH
MTCH

“เราอยากเป็นคนสร้างความหลากหลายให้เกิดอินสไปร์ในการดื่มชา เขาถาม เราไปหาคำตอบ มันสนุก ดีใจที่ได้ไปหาคำตอบมาให้ มันเลยเป็นโมติเวชั่นที่ทำให้ยังอยากเข้าร้าน ทุกวันนี้ผมยังยืนชงชาหน้าร้าน ไม่ใช่เพราะชงอร่อย บางทีน้องชงอาจจะตีนิ่งกว่าผมอีก ที่เรามายืนชงเพราะอยากเห็นแอคติวิตี้ เห็นรีแอคชั่นลูกค้า บางคนแนะนำไป เขากินแล้วกลับมถามว่าชื่ออะไรนะ อร่อย ขอถ่ายรูปไป มันย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ถึงสิ่งที่เราอยากทำว่าเรามาถูกแล้วแหละ เป็นความดีใจยิ่งกว่าเรื่องขายดี ผมอยากให้เขากลับออกไปแล้วชอบมัทฉะ รู้ว่ามันอร่อย”

ถ้าคุณยังไม่รู้ MTCH มีมิสชั่นด้วยนะ โดยมิสชั่นแรกตอนเปิดร้านคือ Contemporary Matcha Bar พรีเซนต์ความหลากหลาย ภาพลักษณ์ใหม่ๆ ความแคชวลเข้าถึงง่าย และหลังจากรีโนเวทรอบล่าสุดก็เปลี่ยนมิสชั่นใหม่เป็น Matcha for Everyone มีติดไว้ที่หน้าร้านและที่แก้ว

“เราแค่ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดี นั่นคือให้เขามาที่ร้านและแฮปปี้กับสิ่งที่เขาได้ ให้เขาไว้ใจร้านเรา”

KRUA recommend

ARASHI (180 บาท) อาราชิแปลว่า ‘พายุ’ ซึ่งบ่งบอกถึงความ ‘มากมาย’ ทางด้านรสชาติของชาเข้มๆ ใส่นมตัวนี้ ที่ทางร้านทำงานต่อเนื่องมากว่า 4 ปี เพราะถ้าปัจจัยเปลี่ยนจะส่งผลต่อรสชาติ เป็นชาเขียวใส่นมที่รสชาติซับซ้อนและหลากหลาย แต่ละจิบให้รสที่แตกต่างปะปนกันไป แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะดื่มยาก ตรงกันข้าม ดื่มง่ายมาก สีสวยมาก และกลิ่นหอมมาก

MTCH

MATCHA COCONUT (140 บาท) มัทฉะใส่น้ำมะพร้าว เมนูที่ภรรยาของคุณจิวคิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเปิดร้าน และจนวันนี้ก็ยังคงไม่มีการปรับสูตร ใช้ชาที่มีกลิ่นคั่วคล้ายช็อกโกแลตกับถั่วมารวมร่างกับน้ำมะพร้าวเผา เป็นอีกแก้วที่ดื่มง่าย รสชาติออกหวาน ใครอยากลองเปลี่ยนจากชาใส่นมมาเป็นชาใสแล้วยังกล้าๆ กลัวๆ ลองตัวนี้ก่อนได้เลย

MATCHA MONAKA (160-190 บาท) ไอศกรีมมัทฉะที่มีให้เลือกระดับความเข้ม 2 แบบคือ Balance กับ Strong กินกับถั่วแดงและขนมโมนากะ-แผ่นแป้งโมจิย่างไฟจนกรอบ ให้สัมผัสและกลิ่นที่อยู่ตรงกลางระหว่างเวเฟอร์ที่มีกลิ่นแป้งสาลีกับกลิ่นเนย กับข้าวเกรียบว่าวที่มีกลิ่นข้าว เนื้อไอศกรีมเนียนแน่นละมุนรสเข้มข้น ตัดด้วยรสหวานของถั่วแดง และความกรอบหอมของโมนากะที่เข้ากันได้อย่างลงตัว

MATCHA CHEESECAKE (225 บาท) มัทฉะชีสเค้กที่เพิ่งพัฒนารสชาติใหม่โดยทีมน้องๆ ในร้าน และถือเป็นการกลับมาเปิดตัวอีกครั้งหลังเลิกขายไปสักพัก เป็นอีกเมนูที่ควรสั่งมาลอง ชีสเค้กมัทฉะเนื้อเนียนรสละมุนไม่เข้มข้นจนกินไป มากับความกรุบกรอบของฐานแครกเกอร์รสเค็มเล็กน้อย ท็อปด้วยครีมและผลไม้สดอย่างเบอร์รี่กับสตรอวเบอรี่ให้ความสดชื่น

MTCH

พิกัด: ซ. พหลโยธิน 5 (อารีย์)

เปิด-ปิด: 09.00-18.00 น. (ปิดวันอังคาร)

โทร: 06-5691-3584

FB: MTCH.BKK

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS