ปากีสถานตอนเหนือเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย เรื่องภูมิประเทศ งดงามด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน อีกยอดเขาสูงเสียดฟ้า 7,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป หลายยอด แต่น้อยคนที่รู้ว่าปากีสถานตอนเหนือในอดีตกว่า 2,500 ปีที่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นคันธาระซึ่งพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เป็นจุดเริ่มต้นของพุทธศิลป์ โดยเฉพาะการอุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกของการจำหลักรูปเคารพของพระพุทธเจ้า โดยได้อิทธิพลจากรูปเคารพเทพเจ้ากรีกและโรมัน และการขยายตัวของพุทธศาสนาออกไปอย่างกว้างขวางทั่วเอเชียกลาง ทิเบต และจีน ผู้รู้หลายท่านฟันธงว่าพุทธศาสนามิได้แพร่สู่จีนโดยตรงจากอินเดีย หากเป็นจากอินเดียสู่แคว้นคันธาระและเอเชียกลางตามเส้นทางสายไหม แล้วจึงต่อไปทางตะวันออกเข้าจีน และทิเบต
โดยข้อเท็จจริงฉะนี้ จึงควรสรรเสริญการริเริ่มของ Planet Worldwide ที่จัดโปรแกรมทัวร์ปากีสถานตอนเหนือโดยเน้นเยี่ยมชมพุทธโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์สำคัญ แถมด้วยชมธรรมชาติเทือกเขาสูงบนคาราโครัมไฮเวย์ที่เชื่อมพรมแดนปากีสถาน-จีน บนระดับความสูง 4,693 เหนือน้ำทะเล หากไม่นับวันเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-อิสลามาบัด (ลาฮอร์) เรามีเวลาเที่ยวชมพุทธโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ 4 วัน เหลืออีก 4 วันชมธรรมชาติ ทว่า ด้วยถนนหนทางไม่ดี อีกจุดเที่ยวมักห่างไกลกันมาก จึงเสียเวลากับการนั่งรถไปเยอะ ไม่ว่าจะเที่ยววัฒนธรรมหรือธรรมชาติจึงเป็นไปอย่างเร่งรีบ ชมธรรมชาติจากบนรถเป็นส่วนใหญ่ ราวกับนั่งดูภาพยนตร์ปานนั้น ที่ดูคุ้มค่าแม้เวลาน้อย คือ พิพิธภัณฑ์และพุทธโบราณสถาน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าดินแดน “คันธาระ” (Gandhara) มีอาณาจักรเกิดขึ้น ล่มสลาย เกิดใหม่ เปลี่ยนไปหลายอาณาจักรตั้งแต่สมัยหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล เพราะเป็นแหล่งชุมนุมการค้าบนเส้นทางสายไหม เชื่อมตะวันตกกับตะวันออก หรือยุโรปกับเอเชีย สมัยพุทธกาล แคว้นคันธาระอยู่ภายใต้การปกครองของเปอร์เชีย ต่อมาในปี 326 ก่อนคริสตกาล ถูกกองทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์เข้ายึดครอง แม้ภายหลังมีอันต้องยกทัพกลับ และสิ้นพระชนม์ชีพในอีก 5 ปีต่อมาที่บาบิโลน แต่ยังทิ้งเหล่าทหารไว้ข้างหลัง โดยในกาลต่อมามีกำลังแข็งกล้าจนสามารถกลับมายึดครองสร้างอาณาจักรอย่างกรีกขึ้นใหม่ คือ Greco-Bactria หลังสมัยอเล็กซานเดอร์ คันธาระอยู่ในอาณัติของราชวงศ์โมริยะแห่งอินเดีย พระเจ้าอโศกเองก็เคยเป็นอุปราชครองตักศิลา เมืองสำคัญแห่งหนึ่งในคันธาระ และเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว คันธาระก็เป็น 1 ใน 15 มหาชนบทภายใต้การปกครองของพระองค์
หลังราชวงศ์โมริยะเสื่อมอำนาจ คันธาระตกเป็นของอาณาจักรบากเตรียและปาร์เธีย ซึ่งได้อิทธิพลวัฒนธรรมกรีกอยู่มาก แต่ศาสนาพุทธก็ยังจำเริญสืบมา กระทั่งมีกษัตริย์องค์หนึ่ง คือ พระเจ้ามิลินท์เกิดเลื่อมใสในคำสอนของพุทธศาสนา ดังปรากฏหลักฐานใน “มิลินทปัญหา” ของฝ่ายพุทธเถรวาท ต่อมาในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 1 อาณาจักรกุษาณะจากเอเชียกลางขึ้นเป็นใหญ่ ตั้งเมืองหลวงที่เปชวาร์ (Peshawar) สมัยนี้พุทธศาสนาจำเริญถึงขีดสุด โดยเฉพาะในรัชกาลพระเจ้ากนิษกะ เกิดสังคายนาครั้งที่ 4 และพุทธศาสนาเผยแผ่ไปอย่างกว้างขวางในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออก แคว้นคันธาระกลายเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาด้วยมีวัดวาอารามสถูปเจดีย์มากมาย เป็นที่สถิตแห่งพระพุทธรูปสักการะ อีกพุทธประวัติและชาดกจำหลักรายรอบสถูปเจดีย์และวิหาร ดึงดูดให้พระสงฆ์จากจีนและดินแดนไกลโพ้น ต่างเดินทางมาจาริกบุญ ดังปรากฏในบันทึกการเดินทางยังตักศิลาของพระธรรมทูตจีนฟาเหียน ในปี ค.ศ.400 เป็นต้น
หากสุดท้ายแล้ว อาณาจักรกุษาณะก็เสื่อมลง ปี ค.ศ. 451 ได้เสียเมืองให้กับพวกฮั่นขาวเชื้อสายเติร์ก ผู้ปกครองโดยใช้ความรุนแรง อีกเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาพุทธ วัดพุทธต่างๆ มีอันเสื่อมถอยลงไปอย่างมาก โดยศาสนาฮินดูเฟื่องฟูขึ้นแทน ความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาในแคว้นคันธาระดำเนินต่อเนื่องมาอีกหลายร้อยปี จนกระทั่งกองทัพมุสลิมอาหรับรุกเข้ามาครอบครองและซัดซ้ำจนแทบพนาสูญ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของแคว้นคันธาระ แม้ยืดยาวไปบ้าง แต่ถือว่าจำเป็นมากสำหรับการชมมรดกพุทธศิลป์ในปากีสถานตอนเหนือให้ได้อรรถรส
สถานที่แห่งแรกที่เราได้เยือน คือ ตักศิลา ตามชื่อหมายถึงเมืองที่มีหินตัดเยอะ ซึ่งผมก็เห็นจริงตามนั้นเพราะตามรายทางมีการสลักหินขายกันมาก เข้าใจว่าคงเป็นหินแกรนิต แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ตักศิลาเป็นเมืองโบราณ มีชื่อเสียงเป็นแหล่งศิลปวิทยามาแต่ครั้งก่อนพุทธกาล รวมทั้งเป็นเมืองศูนย์กลางพุทธศาสนา ดังพระจีนฟาเหียนก็เดินทางมาศึกษาพุทธคัมภีร์ที่นี่ในปี ค.ศ. 400 ดังกล่าวแล้ว
ที่ตักศิลา เนื่องจากเวลามีน้อย จึงเข้าชมได้เฉพาะวัดจูเรียน สถูปธรรมราชิก และพิพิธภันฑ์ตักศิลา จูเรียนเป็นวัดสมัยกุษาณะ ปัจจุบันไม่เหลือซากเจดีย์ประธาน คงมีแต่เจดีย์ขนาดเล็กและห้องกุฏิรายรอบ ประดับประติมากรรมปูนปั้นพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ และสัตว์ในชาดก พระพุทธรูปปูนปั้นหลายองค์เป็นองค์จำลอง องค์จริงไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์แล้ว กระนั้นวัดจูเรียนก็ทำให้ผมประทับใจที่ได้เห็นพระพุทธรูปปูนปั้น อันพระพักตร์ดูออกฝรั่งและห่มจีวรผ้าพริ้วแบบตอกาอย่างกรีก-โรมัน จำนวนมากเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรก
“ธรรมราชิกสถูป” สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชเพื่อประกาศพุทธศาสนา เป็นหลักฐานยืนยันว่าพุทธศาสนาสถาปนาอยู่แล้วที่นี่ โดยทั่วไปโครงสร้างคล้ายคลึงสถูปสาญจีแห่งรัฐมัทธยประเทศ อินเดีย แต่วันนี้ธรรมราชิกสถูปเหลือเพียงซาก สถูปทรงระฆังคว่ำกร่อนลึกเป็นบ่อ เผยให้เห็นว่าเป็นสถูปตันสร้างด้วยหินก้อนโตทับถมเป็นองค์สถูป น่าเสียดายที่ธรรมราชิกสถูปขาดการบูรณะดูแลอย่างจริงจัง
สิ่งน่าประทับใจสุดยกให้ Taxila Museum ที่มีคอลเลกชันพุทธศิลป์คันธาระจำนวนมากให้ชม โดยเฉพาะพระพุทธรูปหินจำหลักองค์ใหญ่หลายองค์ที่ขุดค้นพบในเขตตักศิลา อันส่วนใหญ่อยู่ในปางสมาธิ นอกจากพระพุทธรูปหินแล้ว ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งงดงามไม่แพ้กัน สำหรับรูปพระโพธิสัตว์มีจำนวนไม่มาก ที่นี่เรามีปัญหาเรื่องถ่ายรูป เจ้าหน้าที่ห้องขายตั๋วบอกถ่ายได้ แต่เจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์บอกว่าไม่ได้ สุดท้ายก่อนหมดเวลาเราซื้อหนังสือจากเขา จึงเชื้อเชิญให้ถ่ายเต็มที่ เป็นซะอย่างนี้ จึงเก็บภาพได้น้อยมาก
จากตักศิลา เดินทางต่อไปยังเปชวาร์ ทางตะวันตกราว 100 กิโลเมตร พอทันเข้าชมพิพิธภัณฑ์เปชวาร์ตอนบ่ายแก่ๆ เมืองนี้อยู่ห่างชายแดน Khyber Pass กับอัฟกานิสถานเพียง 50 กิโลเมตร สำคัญยิ่งกว่า คือ เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรกุษาณะ ซึ่งน่าจะรุ่มรวยด้วยพุทธสถานโบราณ อย่างน้อยผมอ่านมาว่าหลังทำสังคายนาครั้งที่ 4 (บ้างว่าทำที่เปชวาร์ บ้างว่าที่แคชเมียร์) พระเจ้ากนิษกะทรงโปรดให้สร้างมหาเจดีย์สูง 550 ฟุตเพื่อบรรจุพระไตรปิฎก บันทึกการเดินทางของพระถังซำจัง ปี 1199 ระบุว่าได้กราบนมัสการเจดีย์แห่งนี้ ถามไถ่จากไกด์ชาวปากีสถานได้ความว่า มหาเจดีย์ดังกล่าวไม่เหลือซากเสียแล้ว ในเมืองเปชวาร์เราจึงได้เข้าชม Peshawar Museum อย่างเดียว
พิพิธภัณฑ์เปชวาร์ในอาคารสถาปัตยกรรมผสมอังกฤษ มุสลิม ฮินดู และพุทธ สร้างขึ้นในปี 1907 ไฮไลต์สำคัญได้แก่คอลเลกชันประติมากรรมพุทธศิลป์คันธาระจำนวนมากที่สุดในโลก นอกจากพระพุทธรูปหินจำหลักแล้ว ที่นี่ผมสังเกตเห็นมีประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์จำนวนมาก เค้าพระพักตร์ออกฝรั่งมากกว่าพระพุทธรูปศิลปะคันธาระ ผมปล่อยสั้น ไม่เกล้ามวยเยี่ยงพระพุทธรูป แถมมีหนวดเข้ม ทำให้ผมเดาว่ารูปพระโพธิสัตว์อาจจินตนาการต่างกันไปตามวัฒนธรรม แต่รูปเหมือนพระพุทธเจ้ามีกำหนดรายละเอียดชัดเจน เช่น อุณาโลมที่ระหว่างกลางคิ้วทั้งสอง หูยาวกว่าทั่วไป นิ้วเรียว ตาดำ กรามใหญ่ (ราวสิงโต) เป็นต้น พระพุทธรูปในยุคสมัยและวัฒนธรรมต่างๆ จึงมีลักษณะใหญ่ๆ คล้ายกันมากกว่า
พูดถึงประติมากรรมพระพุทธรูปแบบคันธาระที่รับอิทธิพลจากรูปเหมือนของเทพเจ้ากรีกโรมันโบราณ วงวิชาการส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าเริ่มขึ้นครั้งแรกในสมัยอาณาจักรกุษาณะ (ก่อนหน้านี้ไม่มีรูปเคารพศากยมุนีในศาสนาพุทธ) นักประวัติศาสตร์บางท่านมีความเห็นว่า ราชวงศ์กุษาณะเมื่อเข้าปกครองแคว้นคันธาระ ซึ่งประชาชนจำนวนมากนับถือพุทธศาสนา จำเป็นต้องสร้างการยอมรับในธรรมาภิบาลของตน จึงส่งเสริมและเผยแผ่พุทธศาสนาอย่างมากเป็นพิเศษ โดยสร้างรูปเคารพแห่งสัมมาสัมพุทธะขึ้น ตามอย่างประติมากรรมเทพเจ้าของกรีกและโรมันโบราณ ซึ่งได้เชื้อมาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
จากเปชวาร์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราวร้อยกว่ากิโลเมตร คือ มาร์ดาน อดีตศูนย์กลางพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งในแคว้นคันธาระ ที่นี่มีวัดพุทธขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นสถานปฏิบัติธรรมด้วย ชื่อ ตักตาชท์อีไภ อยู่บนเนินเขาสูง 500 ฟุต อายุระหว่างศตวรรษที่ 1-7 เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่บรรจุผู้คนจำนวนมาก เป็นประจักษ์พยานอีกชิ้นหนึ่งแห่งความสำคัญของแคว้นคันธาระ ในฐานะศูนย์กลางพุทธศาสนา ยูเนสโกขึ้นทะเบียนตักตาชท์อีไภเป็นมรดกโลก แม้จะเหลือเพียงโครงสร้าง ก็ยังได้รับการดูแลรักษาอย่างดี
จากมาร์ดาน เราขึ้นเหนือสู่เมืองหุบเขาสวัต หรือเมืองอุทยานในประวัติพุทธศาสนา ที่นี่ในอดีตดารดาษด้วยวัดวาอาราม สถูปเจดีย์ และพระสงฆ์จำนวนมาก ดังกรณีองค์คุรุปัทมสมภพ หรือคุรุรินโปเช ผู้สถาปนาพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานขึ้นในทิเบต อุทยานก็เป็นเมืองเกิดของท่าน แม้ปัจจุบันจะไม่ปรากฏซากวัดวาอารามให้เห็นแล้ว แต่ที่ Swat Museum กลับมีคอลเลกชันภาพจำหลักหินและปูนปั้นเกี่ยวกับพุทธประวัติ และชาดกต่างๆ ที่เคยประดับประดาวิหารและเจดีย์เหล่านั้น เก็บรักษาและแสดงไว้อย่างดี
ระหว่างเดินทางใกล้ถึงเมืองสวัต เราถูกกักที่ด่านตำรวจกว่า 1 ชั่วโมง ด้วยเหตุผลความปลอดภัยจากปฏิบัติการตาลีบันในอัฟกานิสถาน จากนี้ไปเราต้องมีรถปิคอัปตำรวจนำเป็นช่วงๆ กว่าจะถึงสวัตก็มืดค่ำ รุ่งเช้ายังต้องรอรถตำรวจนำไปพิพิธภัณฑ์สวัต ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ก่อนอนุญาตให้เราเข้าชม ตื่นเต้นดีไม่น้อย!
จากหุบเขาสวัต เราขึ้นคาราโครัมไฮเวย์มุ่งเหนือสู่หุบเขาฮุนซา (Hunza) ทางช่วงนี้ทับหรือขนานไปกับเส้นทางสายไหม อันเป็นเส้นทางของนักจาริกชาวพุทธและพ่อค้าคาราวาน ระหว่างทางปรากฏมี rock carving เป็นพระพุทธรูป สถูปเจดีย์ และจารึกข้อความในภาษาต่างๆ ใกล้กับเมืองกิลลิต มีภาพพุทธรูปจำหลักบนผาสูงชื่อ Kargah Buddha ต้องบอกว่าไฮเวย์คาราโครัมช่วงนี้เละเทะมาก รถเคลื่อนตัวได้ช้ามาก พ้นเมืองกิลลิตไปแล้วทางจึงเรียบขึ้น สวยขึ้น
หุบเขาฮุนซาเป็นที่ตั้งของแคว้นชื่อเดียวกัน สมัยโบราณมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทิเบต ดังปรากฏลวดลายทิเบตภายในบ้านเรือน ชาวฮุนซาเคยมีชื่อกระฉ่อนโลกเพราะประชากรอายุยืนเกินร้อยเป็นจำนวนมาก เพราะดำรงชีพและกินอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ
แต่บัดนี้เมื่อความเจริญทางวัตถุและการค้าเข้ามาตามไฮเวย์คาราโครัม ฮุนซากลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของปากีสถานตอนเหนือ ธุรกิจท่องเที่ยวเฟื่องฟู ผู้คนมีเงินจับจ่ายมากขึ้น ทว่า อายุขัยเฉลี่ยของชาวฮุนซากลับหดสั้นลง เหมือนกับชาวปากีสถานทั่วไป นับเป็นความย้อนแย้งของการพัฒนาโดยแท้ จะอย่างไรก็ตาม ในคาลิมาบัด เมืองหลวงของฮุนซา ชาวบ้านก็ยังน่ารัก เป็นมิตร และใสบริสุทธิ์อยู่ มีร้านค้าให้เดินชมอย่างสบายใจ ที่นี่มีชื่อทางผลไม้ โดยเฉพาะแอปปริคอต แอปเปิล และลูกพลับ
เส้นทางระหว่างฮุนซากับด่านพรมแดนจีน วิวสองข้างทางสวยมาก โดยเฉพาะทะเลสาบอัตตาบัต และทิวยอดเขาหินที่ปกคลุมด้วยหิมะ หากเป็นความสวยที่ไร้ชีวิต เพราะส่วนใหญ่เราได้แต่นั่งเห็นบ้างไม่เห็นบ้างภายในรถมินิบัสอันคับแคบ สวยครับแต่ไม่ประทับใจ
จากฮุนซา เราล่องใต้ตามคาราโครัมไฮเวย์สู่อิสลามาบัด และลาฮอร์ในที่สุด ป้อมลาฮอร์และสุเหร่าบัดซาฮิ การดูแลบูรณะยังไม่ดี พิพิธภัณฑ์ลาฮอร์ดีมาก ด้วยมีห้องแสดงพุทธศิลป์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ไฮไลต์สำคัญ คือ พระพุทธรูปหินปางบำเพ็ญทุกรกิริยา สมบูรณ์ที่สุดในโลก
ในด้านอาหารการกิน แม้จะไม่มีโอกาสชิมอาหารข้างทาง อาหารทั่วไป แต่บอกได้ว่าแกงของปากีสถานรสนุ่มนวลกว่าแกงอินเดียมาก โดยเฉพาะ Mutton Korma อร่อยมาก แกงมักกินแนมกับขนมปังนาน หรือจาปาตี นานของปากีสถานเป็นแผ่นกลม ไม่ใช่ทรงกรวยรีอย่างของอินเดีย
ปากีมีชื่อเสียงเกี่ยวกับข้าวบัสมาติคุณภาพเยี่ยม นิยมหุงกินเป็นข้าวปุเลา รสไม่จัดจ้านเหมือนข้าวบริยานีของอินเดีย ของว่างยอดนิยมที่ได้ชิม คือ พาโครา หรือผักชุบแป้งถั่วทอด ซาโมซาไส้มันฝรั่งเป็นของว่างยอดนิยมอีกอย่างของชาวปากีสถาน เสียดาย ไม่มีโอกาสได้ชิม ในอิสลามาบัดและลาฮอร์ อาหารจีนได้รับความนิยมมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนมีความสัมพันธ์ดีมากกับปากีสถาน โดยเฉพาะในด้านความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมขนส่ง เราได้ชิมอาหารจีน 2 มื้อ รสชาติปานกลาง สุดท้ายของหวานที่ผมกินเป็นประจำในทริปนี้ คือ พุดดิ้งข้าว ที่ชาวปากีฯ เรียก “Kheer”
เรื่องเล็กๆ ที่อดพูดถึงไม่ได้ คือ คนปากีฯ ทั้งชายและหญิง เด็กและผู้ใหญ่ ชอบถ่ายรูปกับชาวต่างชาติมากๆ ตอนเที่ยวอยู่ในต่างจังหวัด มีคนขอถ่ายรูปด้วยพอเป็นกระสาย แต่ในอิสลามาบัดและลาฮอร์สิ เขาแห่กันเข้ามาขอถ่ายรูปด้วยมากราวกับเราเป็นเซเลบชื่อดัง จนเรากลัว ไปเที่ยวที่ไหน เคยแต่ไปขอชาวบ้านถ่ายรูปด้วย เพิ่งครั้งนี้แหละ ชาวบ้านขอเราถ่ายรูปด้วยมาก จนเหนื่อยอ่อน