กระเบนนกและเมนูไหนบ้างที่เสี่ยงสาบสูญจากท้องทะเล

4,589 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ประเด็นร้อนแรงเรื่องวัตถุดิบจากรายการทำอาหาร ชวนเรามาทบทวนต่อ ว่ามีอะไรอีกบ้างที่กำลังจะหายไปจากท้องทะเล

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ เมื่อรายการแข่งขันทำอาหารรายการดัง เผยวัตถุดิบลับประจำสัปดาห์เป็นปลากระเบนค้างคาว หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อปลากระเบนเนื้อดำหรือปลายี่สน ซึ่งปรากฎอยู่ในวัฒนธรรมอาหารของไทยมาอย่างยาวนาน มักนิยมนำมาทำทั้งกับข้าวและของกินเล่น ไม่ว่าจะเป็นปลายี่สนฟู ปลากระเบนหวาน หรือปลายี่สนผัดหวานซึ่งเป็นเครื่องข้าวแช่ที่นิยมรับประทานกันอีกเมนูหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีกระแสต่อต้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์และนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่แจ้งข้อเท็จจริงว่า ปลากระเบนน้ำเค็ม แม้ไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง แต่ก็ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีปริมาณลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย จนถูกจัดสถานะการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิต (Conservation status) อยู่ที่ระดับ ‘สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT – Near Threatened)’ โดยมีการพยายามผลักดันให้เป็นสัตว์คุ้มครอง แต่อาจด้วยเงื่อนไขในการล่าซึ่งพิสูจน์ได้ว่า กระเบนเป็น ‘สัตว์น้ำพลอยได้’ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเป้าหมายของชาวประมง ไม่มีเครื่องมือเฉพาะสำหรับจับกระเบน ปลากระเบนจึงเป็นเพียงปลาที่บังเอิญติดมากับอวนหาปลาอื่น ๆ เท่านั้น การผลักดันนี้จึงยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่แม้จะมีการขอความร่วมมือให้ชาวประมงปล่อยกระเบนเหล่านี้คืนสู่ทะเล ด้วยกระบวนการในการลากอวนก็ทำให้กระเบนหรือสัตว์อื่นๆ ที่ติดมาอยู่ในสภาพไม่แข็งแรง หรือตายไปก่อนที่จะได้กลับสู่ทะเลอีกครั้ง

ความก้ำกึ่งระหว่างการคุ้นหน้าคุ้นตาในฐานะอาหารบนสำรับ กับปริมาณที่ลดน้อยลงอย่างรวดเร็วกว่า 70% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทำให้เมนูกระเบนจากรายการอาหารถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและผลกระทบที่อาจทำให้เนื้อกระเบนกลายเป็นที่นิยมอีกครั้งหรือไม่

ดราม่าปลากระเบนยังคงส่งเสียงสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างทั้งสองฝั่ง ในขณะเดียวกัน มันก็เตือนให้เรานึกถึงสถานะของสัตว์ทะเลหลายชนิดซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโอชะที่หารับประทานได้อย่างแพร่หลาย แต่กลับลดจำนวนลงจนหลายชนิดแทบสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

ปลาทูน่ายักษ์ครีบน้ำเงิน

ปลาทูน่ายักษ์ครีบน้ำเงิน หรือ Bluefin Tuna คือชื่อแรกๆ ที่เรานึกถึง ทูน่าอาจจะหาได้ง่ายในตลาดอาหารทะเลทั่วไป แต่ความพิเศษของทูน่าชนิดนี้อยู่ตรงขนาดซึ่งใหญ่กว่าทูน่าชนิดอื่น ซึ่งทำให้มันอุดมไปด้วยไขมัน ลำตัวที่กว้างก็ทำให้มีเนื้อส่วนติดไขมันหรือที่เรียกว่า ‘โอโทโระ’ มาก จึงเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น

ความอร่อยที่แซงหน้าบรรดาทูน่าด้วยกันเองนี้ บลูฟินเลยกลายเป็นสัตว์ที่มีสถานะการอนุรักษ์อยู่ในระดับ ‘สิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์’ (EN – Endangered species) และแน่นอนว่าเช่นเดียวกับกระเบนนก การล่าและซื้อขายบลูฟินทูน่าไม่ใช่ความผิดตามกฎหมาย จำนวนน้อยนิดที่สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ในฤดูกาลประมูลปลาช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา บลูฟินทูน่าถูกประมูลไปด้วยราคาเกือบ 100 ล้านบาท (333.6 ล้านเยน) เป็นอีกหนึ่งสถิติที่จัดว่าสูงที่สุดในตลาดปลาแห่งใหม่ของโตเกียวเลยทีเดียว

วาฬ

วาฬ ก็เป็นอีกหนึ่งชื่อเมื่อเรานึกถึงการทำประมงในประเทศญี่ปุ่น การล่าวาฬเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1890 และไม่เพียงเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน  วาฬยังเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของชาวญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามที่ความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหารลดลง จนทำให้ในช่วงศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นมีการล่าวาฬเชิงพานิชย์อย่างแพร่หลาย จนคณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC -International Whaling Commission) ต้องระงับการล่าวาฬเชิงพานิชย์ในญี่ปุ่นหลังจากนั้น ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเริ่มล่าวาฬอีกครั้งโดยอาศัยเงื่อนไขที่อนุญาตให้ล่าเพื่อใช้ในการค้นคว้าและวิทยาศาสตร์ แต่สื่อหลายสำนักกลับรายงานว่าเนื้อของวาฬเหล่านั้นมักเดินทางไปจบลงบนโต๊ะอาหารไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

วาฬแม้จะอาศัยอยู่ในน้ำและมีรูปร่างเหมือนปลา แต่โดยธรรมชาติของวาฬนั้นเติบโตช้าตามแบบฉบับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวนประชากรวาฬสายพันธุ์ต่างๆ บนโลกนี้จึงลดน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งจากเงื่อนไขเรื่องความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ขยะพลาสติก และการถูกล่า ทำให้วาฬหลายชนิดขยับเข้าใกล้ความเสี่ยงสูญพันธุ์มากขึ้น

เดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประกาศลาออกจาก IWC  ส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถกลับมาล่าวาฬมิงค์และวาฬชนิดอื่นที่ได้รับการคุ้มครองโดย IWC ในเขตน่านน้ำของตนเองได้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป แม้จะไม่มีการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะล่าวาฬเพิ่มมากขึ้นเท่าใด หากมีการล่าในเชิงพานิชย์ได้อย่างถูกต้อง แต่ในฤดูล่าวาฬครั้งล่าสุด ญี่ปุ่นสามารถจับวาฬในแอนตาร์กติกและมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือเกือบ 600 ตัว นับว่าเป็นอีกหนึ่งสัตว์ทะเลที่นักอนุรักษ์กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาไว้

ฉลาม

หูฉลาม เมนูจักรพรรดิที่เป็นประเด็นต่อต้านมาอย่างยาวนาน แต่ยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน หูฉลามไม่ใช่ส่วนหูของฉลาม แต่เป็นส่วนก้านครีบที่ผ่านกระบวนการตากแห้ง ขูดหนัง และต้มจนเปื่อยจนเหลือแต่ส่วนกระดูกอ่อน โดยเดิมทีเชื่อกันว่าหูฉลามเป็นอาหารบำรุงร่างกายชั้นเลิศ จึงนิยมรับประทานกันในโอกาสสำคัญหรือเพื่อแสดงความยินดี หูฉลามมีราคาสูง ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น แม้กระทั่งถ้วยเล็กๆ ตามร้านรถเข็นข้างทางเองก็ราคาหลายร้อย แต่แท้จริงแล้วส่วนครีบของฉลามนั้นไม่ได้มีสรรพคุณทางยาหรือมีคุณค่าทางโภชนาการพิเศษไปกว่าปลาทั่วไปแต่อย่างใด

นอกจากประโยชน์ฟังดูไม่คุ้มราคาแล้ว หูฉลามเพียงชิ้นเดียวยังแลกมาด้วยการสูญเสียฉลามทั้งตัว เนื่องจากเนื้อส่วนอื่นไม่เป็นที่นิยมในการบริโภคและไม่คุ้มค่าหากต้องบรรทุกฉลามขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก กลับเข้ามาถึงชายฝั่งเพื่อแลกกับครีบฉลามเพียงชิ้นเดียว ชาวประมงจึงมักใช้วิธีเฉือนเก็บเพียงครีบฉลาม แล้วปล่อยฉลามที่บาดเจ็บกลับลงทะเลไปโดยไร้ครีบ ซึ่งแน่นอนว่ามันก็กลับไปพบกับความตายนั่นเอง ความนิยมในการบริโภคหูฉลามยังคงมีอยู่ปัจจุบัน รวมถึงในประเทศไทยเองที่แทบจะหาซื้อได้ตามร้านอาหารจีนทั่วไป ประกอบกับการล่าฉลามในไทยยังคงถูกกฎหมาย ทำให้ไทยขึ้นโผเป็นผู้ส่งออกหูฉลามติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

ปลาทู

อีกหนึ่งสายพันธุ์แห่งท้องทะเลที่น่าเป็นห่วงและผู้บริโภคทั่วไปอาจยังไม่รู้ก็คือ ปลาทูไทย ที่นับวันจะหาซื้อยากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจตั้งคำถามว่าปลาทูยังคงเป็นอาหารที่มีให้เห็นทั่วไปตามท้องตลาด แต่หารู้ไม่ว่า ประเทศไทยเราจากที่เคยเป็นผู้ส่งออกปลาทูรายใหญ่ ปัจจุบันปลาทูซึ่งเคยเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีราคาถูกของชาวไทยกลับลดจำนวนลงจนต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า อินเดีย และอินโดนีเซีย ส่งผลให้ปลาทูไม่ใช่อาหารราคาถูกอีกต่อไป คำถามก็คือ ปลาทูหายไปจากน่านน้ำไทยได้อย่างไร

คำตอบนั้นอยู่ที่ปลาทูตัวเล็กๆ รวมถึงปลาเล็กปลาน้อยที่ถูกจับมาด้วยเรือปั่นไฟ ซึ่งล่อให้ปลาตัวเล็กตัวน้อยรวมถึงลูกปลาพันธุ์ต่างๆ ขึ้นมาเล่นแสงไฟแล้วจับขึ้นมาทั้งหมด บางส่วนถูกนำมาตากแห้งขายตามตลาดอาหารทะเลทั่วไป อีกบางส่วนถูกจัดสรรส่งต่อไปยังกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ แม้อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โตนักสำหรับการบริโภคลูกปลา แต่นี่กลับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ปลาทูไทยค่อยๆ หายไปจากท้องทะเลจนเข้าขั้นวิกฤติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (อ่านเรื่องหายนะปลาทูไทยเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

บรรดาสัตว์ทะเลที่ถูกกล่าวถึงในบทความนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ยังมีสัตว์อีกหลายชนิดที่กำลังลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย แม้จะไม่ใช่สัตว์คุ้มครองตามกฎหมายก็ตาม จริงอยู่ว่าในอดีตสัตว์เหล่านี้เคยเป็นอาหารอันโอชะบนสำรับทั้งไทยและเทศ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกรรมวิธีการจับ ความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ แหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยที่ลดลง ทำให้ไม่อาจกล่าวได้เต็มที่ว่าสัตว์เหล่านี้จะอยู่คู่ท้องทะเลได้ตลอดไป เช่นเดียวกับสมัน และสัตว์สูญพันธุ์อีกหลายชนิดที่ครั้งหนึ่งเคยมีการล่าได้อย่างถูกกฎหมาย กว่าจะมีการผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองสำเร็จ ก็เหลือเพียงแค่ชื่อและรูปภาพให้เห็นกันในตำราเท่านั้น

ในฐานะผู้บริโภค การหยุดวงจรเหล่านี้เริ่มต้นได้ง่ายๆ ที่ตัวเราเอง โดยการศึกษาที่มาของอาหารแต่ละอย่างในสำรับ รู้จักกับแหล่งที่อยู่ กรรมวิธีการจับ รวมถึงการขนส่งที่ไม่ทำลายธรรมชาติ และประมงพื้นบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้อาจดูมีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมายในอาหารทะเลแต่ละมื้อ แต่เราเชื่อว่า การเป็นส่วนหนึ่งในวงจรของอาหารทะเลที่ยั่งยืนก็คุ้มค่าและน่าภูมิใจไม่น้อย (อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านได้ ที่นี่)

ภาพประกอบเพิ่มเติมจาก

https://www.flickr.com/photos/annapang/

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS