สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 80 จากดอยสู่จานอาหาร

5,063 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 กับ 4 เมนูอร่อยจากสตรอว์เบอร์รี่รสหวานอมเปรี้ยว ฉ่ำน้ำ

สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ที่ผู้เขียนรู้จักมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยความที่เติบโตมาบนพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกสตรอว์เบอร์รีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นั่นคืออำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยสภาพของที่ราบกลางหุบเขาสูง อากาศเย็นสบายตลอดปี โดยเฉพาะในหน้าหนาวอากาศเย็นจัด เหมาะกับการเจริญเติบโตของตาดอกสตรอว์เบอร์รี สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์ไทยจึงถือกำเนิดขึ้นที่นี่

สตรอว์เบอร์รีเป็นผลไม้ที่ผู้เขียนชื่นชอบที่สุด เนื่องจากรสชาติหวานอมเปรี้ยว สีแดงสดน่ากิน และกลิ่นหอม ทุกๆ ปีคุณแม่และคุณยายจะชอบซื้อสตรอว์เบอร์รีมาให้กิน จนจำได้ว่าช่วงหน้าหนาวของทุกปีจะต้องได้กินสตรอว์เบอร์รี พอเรียนชั้นประถมก็เริ่มได้ออกไปเดินเที่ยว ‘งานสตรอว์เบอร์รีและของดีอำเภอสะเมิง’ ซึ่งจัดช่วงวันวาเลนไทน์ของทุกปี ช่วงนั้นแถวที่ทำการอำเภอจะเนื้อหอมมาก เพราะนักท่องเที่ยวทั่วทั้งเชียงใหม่จะแวะเวียนกันมาร่วมงาน ไฮไลต์อยู่ที่การพบปะกันโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและเกษตรกรจากทั่วทุกฟาร์มในอำเภอสะเมิง ทำให้ผู้ซื้อได้ผลผลิตคุณภาพดีส่งตรงจากฟาร์มทุกวัน และราคาถูกกว่าท้องตลาด

อำเภอสะเมิงนั้นเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขามาช้านาน เดิมชาวบ้านนิยมปลูกฝิ่นกันมาก จนเมื่อ 40 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริในการนำพันธุ์สตรอว์เบอร์รีจากต่างประเทศมาวิจัยและพัฒนาที่สถานีวิจัยโครงการหลวง เพื่อส่งเสริมให้เกษตรปลูกทดแทนฝิ่น และเริ่มการส่งเสริมขึ้นที่ตำบลบ่อแก้วเป็นแห่งแรก ในหน้าหนาวนั้นเมื่อก่อนเวลามีญาติหรือเพื่อนฝูงของคุณพ่อคุณแม่มาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ คุณแม่มักจะพาเพื่อนไปเดินชมสวนสตรอว์เบอร์รีที่ตำบลบ่อแก้วอยู่เสมอ

คุณกิตติยา ผู้ดูแลสวนดอยแก้วเล่าให้เราฟังว่า ปัจจุบันสวนสตรอว์เบอร์รีที่ทำเกษตรแบบอินทรีย์นั้นยังมีไม่มากเท่าไร ส่วนมากใช้ยาฆ่าแมลงเพราะเป็นวิธีที่ง่าย ต้นทุนถูกกว่า แต่มีข้อเสียในระยะยาวนั่นคือดินจะเสื่อมสภาพเร็วมาก ทำให้ผลผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพและต้องย้ายแหล่งปลูกไปเรื่อยๆ แต่ไร่สวนดอยแก้ว ที่ตำบลบ่อแก้ว ได้ทำไร่สตรอว์เบอร์รีมาแล้ว 30 กว่าปี ทำอยู่ที่เดิมไม่ย้ายไปไหน เพราะทำเกษตรอินทรีย์ 100% ใช้ปุ๋ยและน้ำหมักจากพืชในการฉีดพ่นไล่ศัตรูพืช ในช่วงนอกฤดูกาลก็จะมีการฟื้นฟูสภาพดินใหม่ ทำให้ผลผลิตที่ได้ มีความแข็งแรงตามธรรมชาติ ผิวหนา ไม่บอบบาง อีกทั้งไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างสู่สิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค เมื่อไม่ต้องย้ายแหล่งเพาะปลูก ก็สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันสวนดอยแก้วมีการพัฒนาทำโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสธรรมชาติในหน้าหนาว สามารถเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีจากต้น กินได้อย่างสบายใจ

สตรอว์เบอร์รีที่ปลูกในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ แต่ที่ตลาดปัจจุบันนิยมกันมากที่สุดคือสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เนื่องจากรสชาติออกหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีความฉ่ำน้ำ รูปทรงกลมสวย กลิ่นหอมกว่าพันธุ์อื่นๆ เหมาะจะรับประทานสด คุณแม่แนะนำมาว่า เวลาเลือกซื้อสตรอว์เบอร์รี ให้เลือกดูผลที่กลมสวยทั้งกล่อง ไม่มีรอยช้ำ ซื้อแบบที่สุก 70-80% ลักษณะคือมีผิวสีแดงทั่วทั้งผล อมส้มเล็กน้อย ซึ่งรสชาติก็หวานแล้ว ถ้าเราทิ้งไว้สักพักก็จะสุกพร้อมกินพอดี ไม่ควรซื้อผลแดงจัดสุกงอม 100% เพราะเวลาอยู่ในกล่องผลก็ช้ำแล้ว ซื้อกลับบ้านยิ่งช้ำไปอีกและจะเน่าเร็วมาก สำคัญที่สุดคือควรซื้อจากแหล่งปลูกที่เชื่อถือได้ ถ้าเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ยิ่งดี เพราะสตรอว์เบอร์รีนั้นต้องใช้ยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมากในการปกป้องผลที่บอบบาง ถ้าบริโภคมากๆ ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ควรแช่น้ำเกลือและล้างน้ำไหลผ่านหลายๆ ครั้งก่อนนำมารับประทาน ถ้าหยิบสตรอว์เบอร์รีมากินเลยโดยที่ยังไม่ได้ล้าง คุณแม่ก็จะดุยกใหญ่

แต่นอกจากเหมาะกับการรับประทานสด สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อยยังนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารคาว อาหารหวาน และทำขนมได้หลากหลายตามความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งพอถึงฤดูกาลก็สามารถหาซื้อสตรอว์เบอร์รีได้ง่ายๆ ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป วันนี้ผู้เขียนมี 4 เมนู 4 สไตล์จากสตรอว์เบอร์รี่สัญชาติไทยให้ลองทำกันดู

สตรอว์เบอร์รีช็อตเค้กไดฟุกุ

พูดถึงขนมที่ทำจากสตรอว์เบอร์รี หลายคนคงนึกถึงไดฟุกุเป็นเมนูแรก แต่เมนูขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่นที่หลายคนชื่นชอบนี้หากินไม่ได้ง่ายนักในไทย ผู้เขียนเองก็ได้ลองกินเมื่อตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น เป็นสูตรที่ไม่มีถั่วแดงกวน แต่ใช้ครีมสดและชิ้นสปันจ์เค้กวานิลลาสอดไส้แทน มีขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป เลยนำมาดัดแปลงสูตรโดยเลือกสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 80 ลูกโตๆ สีแดงสดทั้งลูก เป็นเมนูที่หวานเบาๆ แต่ได้รสชาติของสตรอว์เบอร์รีพันธุ์บ้านเราอย่างเต็มปากเต็มคำ 

ทาร์ตสตรอว์เบอร์รีสไตล์เกาหลี 

ทาร์ตเกาหลีมีเอกลักษณ์ที่ความละเอียดอ่อนในการอบขนมอย่างฝรั่งเศสดั้งเดิม แต่เพิ่มความเป็นเกาหลีลงไป เช่น เพิ่มครีมชีสรสเนียนนุ่ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ชาวเกาหลีชอบกิน ตกแต่งด้วยผลไม้หลากชนิดที่กำลังเป็นที่นิยม เช่น องุ่นเขียว เกรปฟรุ้ต พีช กีวี สตรอว์เบอร์รี เบเกอรีลักษณะนี้หากินได้ทั่วไปในกรุงโซลอย่างย่านฮงแด คังนัม อิแทวอน ทงแดมุน เมนูนี้เลือกใช้สตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 80 ที่สุกแดงกำลังดี รสชาติออกหวานอมเปรี้ยวนิดๆ มาเป็นวัตถุดิบหลัก ถึงกลิ่นจะไม่หอมเท่าสตรอว์เบอร์รีเกาหลี แต่ความหวานและความฉ่ำน้ำนั้นชนะเลิศ

ยำสตรอว์เบอร์รีกุ้งสด

ด้วยความที่มีรสชาติเปรี้ยวนำ ชาวบ้านที่อำเภอสะเมิงจึงมักจะนำผลสตรอว์เบอร์รีมาสไลซ์หนาๆ ผสมในส้มตำไทยเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด ซึ่งหากินได้แถวตลาดเทศบาล ส่วนเมนูนี้ผู้เขียนดัดแปลงนำมายำร่วมกับกุ้งลวกเด้งๆ ก้านคะน้ากรอบๆ และเม็ดมะม่วงหิมพานต์มันๆ เป็นส่วนผสมที่ลงตัวทั้งรสชาติ และยังให้เนื้อสัมผัสที่แตกต่าง เป็นเมนูอาหารว่างสำหรับสายแซ่บ

สตรอว์เบอร์รีโฟรเซนโยเกิร์ต

ใครซื้อสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 80 ที่ขายตามท้องตลาดในช่วงฤดูกาลแต่กินไม่ทัน แล้วเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง ผู้เขียนแนะนำเมนูง่ายๆ ที่ใช้วัตถุดิบไม่มากนัก สามารถชวนเด็กๆ มาทำร่วมกันได้ อย่างเมนูไอศกรีมโฟรเซ่นโยเกิร์ต รสชาติเปรี้ยวนุ่มละมุน อมหวานสตรอว์เบอร์รี เย็นชื่นใจ ทำเก็บไว้กินได้ยาวๆ ไปจนถึงหน้าร้อน

ที่จริงแล้วสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 ยังดัดแปลงเป็นอาหารคาวหวานได้อีกกว่าร้อยเมนู ใครทมีไอเดียดีๆ ลองแนะนำกันมาได้ ยิ่งกินยิ่งใช้ ไทยยิ่งเจริญ ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งสตรอว์เบอร์รีไทยจะมีคุณภาพเทียบเท่าสตรอว์เบอร์รีจากอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี อยู่บนจานในร้านอาหารหรูๆ ได้อย่างภาคภูมิ และยังหวังว่าการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์จะสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกร สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติเสียที

อ้างอิง:

คุณกิตติยา นาระต๊ะ สวนสตรอว์เบอร์รี่ดอยแก้ว เกษตรอินทรีย์ 100% ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
https://www.facebook.com/suandoikeaworganicfarm/
https://www.komchadluek.net/news/local/147798

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS