เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารอย่างอื่นที่ทำกินในงานปอย “แก๋งโฮะ” หรือบางคนเรียก “คั่วโฮะ” ไม่น่าจะมีความหมายมงคลนัก แต่กลับทำกินกันมากหลังเสร็จงานปอย
“โฮะ” เป็นคำเมือง แปลว่า เอามารวมๆกัน โดยปกติตามงานปอยคนเมืองมักทำแกงฮังเล แกงอ่อม ลาบ ต้มจืดวุ้นเส้น แกงหน่อไม้ แกงกะทิ ห่อนึ่ง ถวายพระ หรือทำเลี้ยงกัน เมื่อเป็นอาหารทำถวายพระก็ล้วนทำจากของดีๆ แต่พออาหารเหล่านี้เหลือ ก็นึกเสียดาย คนโบร่ำโบราณจึงนำมาผัดรวมกัน แล้วใส่เครื่องปรุงอื่นๆเพิ่มเข้าไป เพื่อกลบกลิ่นเหม็นบูด เช่น หน่อไม้ดอง ใบมะกรูด ตะไคร้ บางบ้านโรยผงกะหรี่ลงไปด้วย กลายเป็นอาหารจานอร่อย แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า “แกงโฮะ” มาตอนหลังเมื่อมีคนนิยมกินกันมากขึ้น เครื่องปรุงแกงโฮะจึงได้มาจากของดี ไม่ใช่ของใกล้เสียอย่างแต่ก่อน แต่เครื่องปรุงอันจะช่วยชูรสให้กับแกงโฮะได้ดี คือ หน่อไม้ส้มหรือหน่อไม้ดอง ช่วยเพิ่มรสเปรี้ยว นอกจากนี้บางคนจะเลือกใส่ผักที่ตัวเองชอบได้หลายๆอย่าง จึงกลายเป็นโฮะแบบใหม่ กิ๋นแล้วลำได้เหมือนกัน