ศรัทธาในจานอาหารกับหมู่บ้านมังสวิรัติแห่งเดียวของไทย

10,465 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ตามไปศึกษาวิถีปกาเกอะญอมังสวิรัติแห่งหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน ที่คนทั้งหมู่บ้านหันหลังให้เนื้อสัตว์ด้วยความเชื่ออันเหนียวแน่น

เหตุผลในการกินมังสวิรัตินั้นมีหลากหลาย บ้างเพื่อดูแลสุขภาพ บ้างเพื่อดูแลรูปร่างและความงาม บ้างเพื่อรักษาโรคร้ายให้หายเป็นปลิดทิ้ง แต่รู้ไหมว่ายังมีอีกหลายคนที่กินมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดเพื่อแสดงความศรัทธา ทั้งผู้นับถือศาสนาซิกข์ที่มีข้อบังคับทางศาสนาว่าต้องบริโภคอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ หรือพุทธศาสนาเองก็มีหลายนิกายที่มีข้อบังคับในการรับประทานอาหารมังสวิรัติเพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้สะอาด อาทิ พระสงฆ์นิกายเซน ในประเทศญี่ปุ่น ผู้เลือกฉันอาหารแบบ ‘โชจินเรียวริ’ (ShojinRyori) หรืออาหารมังสวิรัติที่ปรุงด้วยหลักสมดุลรสชาติและมีโภชนาการครบครัน

และในบ้านเราก็มีชุมชนชาวพุทธเล็กๆ แห่งหนึ่งที่สมาชิกในชุมชนทั้งหมดพร้อมใจกันกินมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด สถานที่แห่งนั้นคือ ‘ชุมชนพระบาทห้วยต้ม’ ณ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จุดหมายปลายทางที่เราเดินทางไปเยือนเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ความน่าสนใจของชุมชนปกาเกอะญอแห่งนี้เริ่มต้นตั้งแต่วินาทีแรกที่เดินทางไปถึงด้วยรูปปั้นสัตว์ที่เรียงรายอยู่ตลอดทางเข้าวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม วัดประจำชุมชนที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของความศรัทธาชาวปกาเกอะญอแถบนี้ รวมถึงป้าย ‘ห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้ามาในบริเวณชุมชน’ ที่ติดประกาศให้เห็นอยู่ตลอดทางที่ผ่านมา

ความเคร่งครัดในระดับเดียวกับนักบวชนั้นทำให้เราใคร่รู้ว่า เพราะอะไรชาวปกาเกอะญอ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่วนมากกระจายตัวอยู่ทางภาคเหนือ และมีวิถีการกินใกล้เคียงกับชาวล้านนาซึ่งบริโภคทั้งเนื้อและผัก จึงตัดสินใจปวารณาตัวเป็นมังสวิรัติกันเช่นนี้

และความข้องใจก็ถูกไขกระจ่าง เมื่อเราพบกับ หนาน-วิมลสุขแดง ชาวปกาเกอะญอผู้กินมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดมานานนับสิบปี และผู้อาสาพาเราชมชุมชนตั้งแต่เช้าจรดเย็น

หนานเล่าให้เราฟังอย่างออกรสว่า ราว 50 ปีก่อนพื้นที่บริเวณเชิงเขาแห่งนี้รกร้างปลูกพืชได้ยาก เนื่องจากใต้ดินมีหินทรายจำนวนมาก ชาวปกาเกอะญอผู้อาศัยในละแวกนี้จึงยังชีพด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์ กระทั่งวันหนึ่งหลวงปู่ครูบาชัยยะ วงศาพัฒนา หรือ ‘ครูบาวงศ์’ ได้ธุดงค์มาเยือนละแวกนี้และเริ่มต้นพัฒนาวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอผ่านการเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อในหลักเหตุผลและกฎแห่งกรรม เพื่อฉุดดึงชาวปกาเกอะญอจากการนับถือผีสางเทวดาตามความเชื่อแต่เก่าก่อน

จากนั้นไม่นานวัดพระบาทห้วยต้มก็ถือกำเนิดขึ้นพร้อมความเลื่อมใสศรัทธาของชาวปกาเกอะญอในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน กระทั่งขอปวารณาตัวเป็นชาวพุทธและถือศีล 5 อย่างเคร่งครัดมานับแต่นั้น แต่มากกว่าการถือศีลโดยทั่วไป ชาวพระบาทห้วยต้มยังแสดงความศรัทธาต่อองค์พระศาสดาด้วยการเลิกบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิดจนถึงทุกวันนี้

“คนนอกอาจมองว่าพวกเราฝืนตัวเองหรือเปล่า แต่สำหรับชาวพระบาทห้วยต้มการกินอาหารมังสวิรัติมันกลายเป็นวิถีชีวิต เป็นความเคยชินตั้งแต่เกิดจึงไม่ได้มีความรู้สึกว่ากำลังถูกบีบบังคับ และเพราะการกระทำของเราเกิดจากความศรัทธาข้างใน” หนานเล่าเรื่อยๆ ระหว่างพาเราเดินเข้าไปในหมู่บ้านน้ำบ่อน้อย หมู่บ้านย่อยที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนพระบาทห้วยต้มเพื่อสัมผัสกับวิถีการหุงหาอาหารแบบดั้งเดิมที่อนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์

นอกจากท้องนาสองข้างทางและบรรดาร่มเงาไม้ใหญ่ที่ปกคลุมบ้านเรือนให้ร่มเย็น สมาชิกชุมชนพระบาทห้วยต้มยังมีวิธีสร้างอาหารบนข้อจำกัดอย่างน่าสนใจ นั่นคือการทำแปลงผักลอยฟ้า ด้วยแผ่นไม้ต่อกันเป็นกระบะยกสูง เติมดินจนแน่น เพื่อปลูกสมุนไพรและผักสวนครัวรากตื้นสำหรับใช้ปรุงอาหารในครัวเรือน ซึ่งเป็นวิถีที่ชาวปกาเกอะญอทั่วประเทศมีร่วมกัน แตกต่างเพียงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์และการปรุงเท่านั้นเอง

“หลายคนสงสัยว่าเราเป็นปกาเกอะญอที่ไม่ได้อยู่บนดอยจะกลายเป็นคนเมืองไปหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วความเป็นปกาเกอะญอคือวิถีชีวิตที่ผูกพันและเคารพธรรมชาติ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนเราก็ยึดหลักการนี้เช่นกัน” หนานเล่ายิ้มๆ ระหว่างชี้ชวนให้เราดูคุณลุงที่กำลังหว่านเมล็ด ‘ฮ่อวอ’ สมุนไพรพิเศษที่มีเฉพาะในชุมชนชาวปกาเกอะญอ กลิ่นรสคล้ายใบแมงลักผสมใบสะระแหน่นับเป็นเครื่องปรุงสำคัญในอาหารปกาเกอะญอแทบทุกชนิด

ทว่าเราก็อดสงสัยไม่ได้ว่านอกจากโปรตีนจากถั่วบางชนิด สารอาหารในวิถีมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดมีอะไรอีกบ้าง? “ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาเยือนชุมชนพระบาทห้วยต้ม ท่านทรงตรัสถามครูบาวงศ์ว่า นอกจากผักและถั่วแล้วชาวบ้านเลี้ยงไก่ไว้กินไข่ได้หรือไม่ เมื่อท่านทราบว่าชุมชนนี้ห้ามนำสัตว์เข้ามาเลี้ยง ภายหลังในหลวงจึงส่งคณะทำงานมาสอนการทำเต้าหู้อย่างง่ายให้คนในชุมชนจนส่งสูตรสืบทอดถึงทุกวันนี้”

สุดท้ายเมื่อเดินลัดเลาะรอบชุมชนพระบาทห้วยต้มจนเหงื่อเริ่มตก หนานก็ชวนให้เราลิ้มรสอาหารมังสวิรัติกันสักมื้อ เรารับคำชวนอย่างไม่รีรอ และขอจับจองพื้นที่ร้านอาหารมังสวิรัติเล็กๆ ภายในหมู่บ้านเพื่อรอคอยของอร่อยที่น้อยคนจะเคยลิ้มลอง

นอกจากอาหารแบบชาวปกาเกอะญอ อย่างน้ำพริกและผักพื้นบ้าน อาหารมังสวิรัติของชุมชนแห่งนี้ยังมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งข้าวมันไก่เจ ที่เลือกใช้เนื้อไก่เจที่ชาวบ้านทำขึ้นจากถั่วเหลืองคุณภาพดี ให้สัมผัสคล้ายเนื้อไก่จนแยกยาก หรือจะข้าวผัดใส่ถั่ว ก๋วยเตี๋ยวคั่วใส่เต้าหู้ก็อร่อยไม่แพ้จานเด็ดในร้านอาหารดัง

หนานยังเล่าว่าทุกเช้าชาวบ้านจะพากันทำอาหารมังสวิรัติมาตักบาตรที่วัดอย่างคึกคักราวกับหน้าเทศกาล หรือในวันพระ ก็จะมีกิจกรรมถวายผักและธัญพืชสดใหม่ให้พระสงฆ์ได้ฉันเสริมกำลัง และเป็นเช่นนี้มานานหลายสิบปี อันเป็นศรัทธาแรงกล้าที่หาได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS