โควิดทำให้หลายทริปต้องล่ม บางทริปก็เลื่อนยาวแบบไม่มีกำหนด สำหรับคนที่รักการเดินทาง ชอบออกไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ต่างแดน ถือว่าบาดเจ็บหนักมาก เพราะป่านนี้เราควรได้ไปเดินสวยๆ อยู่ญี่ปุ่น หรือไม่ก็ไปลั๊นลาอยู่เกาหลี จีน ไต้หวัน แถมยังไม่รู้ว่าจะกลับมาเที่ยวได้แบบปกติอีกเมื่อไหร่ เพื่อบรรเทาความคิดถึง วันนี้เลยชวนทีม KRUA.CO มาร่วมรำลึกความหลัง ‘จานโปรดต่างแดน’ ที่แน่นอนว่าไปต่างประเทศทั้งที เรื่องกินย่อมเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับชาวเรา อ่านแล้วพอจะบรรเทาความคิดถึงต่างแดนไปได้บ้าง เอ๊ะ หรือจะยิ่งคิดถึงจนอยากไปกินจานเด็ดเหล่านี้อีกสักทีสองทีกันนะ
วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์
บรรณาธิการบริหาร
ขณะนั่ง work from home อยู่ที่บ้าน ในช่วงเวลาที่ต้องระแวงโควิดเช่นทุกวันนี้ จู่ๆ ก็คิดถึงการเดิน trekking ไปเรื่อยๆ ตามภูเขาที่ภูฏาน (อ่านว่า พู-ตาน) ภาพภูเขาชัน อากาศเย็นๆ และต้นไม้อันเป็นธรรมชาติผุดขึ้นมาชัดเจน และอีกสิ่งที่ชัดเจนไม่แพ้กันคือ… ‘อาหารภูฏานอร่อยมาก’ จำได้ว่าอร่อยทุกมื้อ มื้ออาหารถือเป็นช่วงพักผ่อนจากการเดินหลายกิโลฯ ที่ฉันรอคอยมากๆ และที่สำคัญพืชผัก เนื้อสัตว์ในประเทศนี้ล้วนแล้วแต่ organic ซึ่งเป็นนโยบายที่มาจากรัฐบาลโดยตรง ตอนที่รู้เรื่องนี้รู้สึกประทับใจมาก รัฐบาลเขาเท่อ่ะ ที่กล้าทวนกระแสทุนนิยมของโลกแบบนี้
การกินอาหารที่ภูฏานจึงเป็นอะไรที่สบายใจมาก ลองทุกอย่างสารพัด ซัดเต็มคราบ แม้จำไม่ได้ว่ากินเมนูไหนเข้าไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่จำได้แม่น คือ เอมา ดะซิ (Ema Datshi) Ema แปลว่า พริก ส่วน Datshi แปลว่า ชีส เรียกเมนูนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า Chili Cheese ลักษณะคือการเอาพริกมาต้มกับซอสชีส สำหรับคนภูฏานพริกไม่ใช่เครื่องปรุง แต่เป็น ‘ผัก’ ที่ดันเผ็ด และมันช่วยสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายได้ดีในสภาพการอยู่อาศัยบนภูเขาสูงของเขา พริกจึงถูกบรรจุลงไปได้ในสารพัดเมนู แต่ที่นิยมสุดๆ ก็เมนูเอมา ดะชินี่แหละ ถือเป็นน้ำพริกเครื่องจิ้มประจำโต๊ะอาหาร ประหนึ่งน้ำปลาพริกบ้านเรา กินกับอะไรก็อร่อย! รสเผ็ดของพริกชูโรงอาหารอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ละบ้านใช้พริกแตกต่างกันไป บ้างพริกเขียวล้วน บ้างผสมพริกแดงเข้ามาบ้าง ในความเผ็ดซี๊ด มีความมันและเค็มของชีสหลอมรวมให้ความเผ็ดออกไปทางละมุนละไม มักใช้ชีสที่ทำจากนมของตัวจามรี หรือ วัว
พูดแล้วก็หิว… และคิดถึงการออกเดินทางไปลองกินอาหารต่างวัฒนธรรมด้วย แต่ตอนนี้ได้แต่รอวันที่โลกจะกลับมาสงบ ปลอดภัยจากโควิด แล้วเราได้จะได้ออกท่องโลกอีกครั้ง 🙂
กัมปนาท
อาร์ตไดเรกเตอร์
เกือบ 4,000 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ Kaneyo ร้านข้าวหน้าปลาไหลในเกียวโต ที่คนเขียนหนังสือท่องเที่ยวอดีตนักเรียนเก่าจากญี่ปุ่นการันตีมาเลยว่าเด็ด
แต่ด้วยความเห่อเกียวโตในครั้งแรกที่ไป กิจวัตรคือตื่นแต่เช้าก็ตะลอนเที่ยวไปรอบเมือง หาได้เอะใจว่าร้านอาหารต่างประเทศจะมีเวลาปิดที่ค่อนข้างไว สุดท้ายคือวิ่งหน้าตั้งเพื่อไปยืนพลิกหน้าหนังสืออ้อนวอนให้เจ้าของร้านเปิดต่ออีกนิด “เนี่ย มาจากกรุงเทพฯ เลยครับ ขอโทษที่รบกวน ทำให้ปิดร้านช้า” ว่าแล้วก็โค้งตัวขอโทษแล้วขอโทษอีก
ตอนนั้นทำทุกอย่างเพื่อให้ได้กินจริงๆ เรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่สุด
ด้วยโปรไฟล์ที่เริ่ดมาก เช่น เปิดร้านมาร้อยกว่าปี เป็นร้านเล็กๆ ไม่มีเว็บไซต์ ไม่โปรโมทอวดตัวเอง ดูมีความน่าค้นหา คนไม่ค่อยรู้จักมาก มีความลับแล หายาก ถูกจริตถูกชะตามาก เพราะสามารถกินแล้วถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กอวดชาวบ้านได้โดยที่คอนเทนต์ไม่ซ้ำเพื่อนฝูง จะอิ่มท้องแแตกแค่ไหน ยังไงก็ต้องมา
ผ่านไปจะสิบปี ที่ยังค้างคาใจตัวเองคือ ดั้นด้นไปขนาดนั้น สุดท้ายสั่งแค่ข้าวหน้าปลาไหลโปะไข่แค่ถ้วยเล็กๆ ถ้วยเดียว ราคาตีเป็นเงินไทยประมาณ 800 บาท ไหนจะรีบกิน กลัวร้านจะรอปิดร้าน ไม่ได้ซึมซับอะไรใดๆ กับอาหารทั้งสิ้น หน้าตาอาหารเหรอ ก็มีข้าวญี่ปุ่น ปลาไหลย่างซอส และไข่ จ้วงสามคำก็หมด
แต่ในความเร่งรีบร้อนรนนั้น มีรสชาติหนึ่งที่เกิดมาไม่เคยสัมผัสมาก่อนคือ มันมีอะไรซ่าๆ เผ็ดๆ กินแล้วชาไปทั้งปาก น้ำหูน้ำตาไหล แถมกลิ่นก็ฉุนๆ กินไปจามไป พลางสงสัยว่านี่คือสิ่งใดกัน จะถามเจ้าของร้าน เขาก็ขึ้นป้ายไว้เลยว่าไม่คุยภาษาอังกฤษ
ต้องขอบคุณตัวเองที่เป็นคนขี้สงสัย การกินครั้งนั้นคือเปิดโลกมาก กลับมาไทยก็พยายามค้นหาทุกวิถีทาง ว่าสิ่งที่เราตักเข้าปากในวันนั้นคืออะไร แถมเล่นท่ายากด้วยการบังคับตัวเองไม่ให้ถามผู้รู้ สิ่งที่ทำจะมีแค่การค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง
เดือนที่หนึ่งผ่านไป
สองเดือนก็แล้ว
ผ่านไปสามเดือนก็ไม่ยอมลดละ
หนึ่งปีผ่านไป จู่ๆ ก็ได้คำตอบ ว่าสิ่งที่เราสงสัยมาเนิ่นนานคืออะไร เอาละ หมดข้อสงสัยไปหนึ่งอย่าง
สองปีผ่านไป จำไม่ได้ด้วยซ้ำ ว่ามันเรียกว่าอะไร
แต่สิบปีผ่านไป ยังจำ ‘ความรู้สึก’ ตอนลิ้มลองได้แม่น
รู้สึก… คล้ายๆ สัมผัสของจูบแรก เพียงแต่ไม่ได้โรแมนติกเท่า
ณวรา เปลี่ยนบุญเลิศ
หัวหน้าฝ่ายอาหาร
อาหารต่างแดนที่ชวนนึกถึงคงจะเป็นอาหารอิสราเอล ร้านนี้ได้เพื่อนชาวอิสราเอลเเนะนำเองเลย ชื่อร้าน Shtsupak ในตัวเมือง Tel Aviv เป็นร้านอาหารอิสราเอลเเท้แต่ทันสมัยใหม่หน่อย ที่นี่เน้นอาหารทะเลสดใหม่เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเล เมนูที่ชวนคิดถึงเป็น หมึกในซอสครีม รสกลมกล่อม จิ้มกับมันฝรั่งอบ (roasted potato) ความประทับใจในมื้อนี้ก็คือเครื่องเคียงที่มาแบบเต็มโต๊ะ เหมือนเวลาเราไปกินอาหารเกาหลี เช่น ขนมปังเชียบัตตา บาบากานุช (ดิ๊บมะเขือม่วง) ซัลซามะเขือเทศ ผักดอง สลัดทาบูเล ฯลฯ เรียกว่าอิ่มแปล้ไปตามๆ กัน
ศรีวิการ์ สันติสุข
คอนเทนต์อีดิเตอร์
99.99% ของการไปเกาหลีคือไปดูคอนเสิร์ต มิสชั่นที่มันอิมพอสซิเบิ้ลสำหรับชาวบ้านส่วนใหญ่อย่างนี้ เราก็เลยต้องไปคนเดียว ซึ่งบ้านนี้เมืองนี้ก็ช่างโหดร้ายกับคนไร้คู่ อาหารคู่เมืองอย่างหมูย่างนั้น ไปคนเดียวเขาไม่ให้กิน ยกเว้นไปคนเดียวแต่สั่ง 2 ที่ (จะเอาตรงไหนมากินหมด) ชีวิตก็หาร้านอะลาคาร์ตวนไป วันหนึ่งระหว่างเดินอยู่ฮงแด ได้ยินเสียงเพลงวง FTISLAND เดินตามเสียงมาหยุดหน้าร้านหมูย่างใหญ่บึ้มสีเหลืองสดใสมองเห็นตั้งแต่แปดร้อยเมตร ตัดใจว่ากินไม่ได้อีกตามเคย หยิบมือถือขึ้นมาเสิร์ชหาที่กิน ‘คนเดียว’ แถวนี้ซิ เจอชื่อ แซมาอึลชิกตัง (새마을식당) เป็นร้านขายหมูย่างแต่มีทีเด็ดตรง ชิลบุนทเวจิกิมจิ (7분 돼지김치) หรือ กิมจิชิเก 7 นาที มาคนเดียวก็กินได้ ดูภาพแล้วเงยดูร้าน เอ๊า มันร้านเดียวกันนี่นา เดินเข้าไปสั่งซุปกิมจิ 7 นาทีที่เขาว่าอร่อยนักหนามาแกล้มเพลงสิรออะไร
แวบแรกที่เห็นหน้าตา แทบไม่อยากเอามือถือขึ้นมาถ่าย ไหงมันดูเขละๆ เละๆ ไม่มีความสวยงามเลยอย่างนี้ล่ะ แต่ตักเข้าปากเท่านั้นแหละ โอ้โห เสียงลือเสียงเล่าอ้างไม่ได้มาเล่นๆ อร่อยผิดหน้าตาไปไกลมาก หลักการของร้านคือปรุงด้วยเวลา 7 นาที ที่เขาคิดค้นมาแล้วว่าเป็นช่วงเวลาที่กิมจิชิเกจะอร่อยที่สุด รสชาติจัดจ้านแต่กลมกล่อมละมุน ไม่เปรี้ยวโดดเค็มโดดแบบซุปกิมจิทั่วไป ไม่มีน้ำเจิ่งนอง ไม่มีกิมจิเป็นใบๆ ไม่มีหมูชิ้นๆ ไม่มีเต้าหู้ชิ้นใหญ่ๆ เพราะทุกสิ่งถูกต้มรวมกันมาแบบเขละๆ ขลุกขลิก ที่เราร้องยี้ตอนเห็นนั่นแหละ เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ทั้งรสทั้งเนื้อสัมผัสเข้มข้น นัว นุ่ม ละลายในปาก กินกับข้าวและเครื่องเคียง อร่อยจนลืมฟังเพลงไปเลย
ตั้งแต่วันนั้นก็ได้รู้ว่าแซมาอึลชิกตังเป็นร้านสุดฮิตของคนไทย ดังทั้งหมูย่างและซุปกิมจิ 7 นาที เมนูมีภาษาไทย อปป้าคนเสิร์ฟพูดไทยง่ายๆ ได้ บรรยากาศอบอุ่นเหมือนนั่งกินอยู่สยามฯ เพราะคนไทยเต็มร้านไปหมด ราคาก็ย่อมเยา กิมจิชิเก 7 นาทีราคา 6,000 วอนเท่านั้น (พร้อมข้าวและเครื่องเคียง) กินมาจะ 10 ปี ร้านเปลี่ยนจากเพลง FTISLAND เป็น WINNER เมื่อไปล่าสุดตอนคริสต์มาสที่ผ่านมา แต่ราคายัง 6,000 เหมือนเดิม มีหลายสาขา สาขาฮงแดมาง่ายสุด ลงรถไฟสถานีฮงอิกทางออก 8 เลี้ยวขวาเข้าซอยแรก เจอวงเวียน มองไปข้างหน้าซ้ายมือจะเห็นร้านกันสาดเหลืองเด่นเป็นสง่า แถมเปิด 24 ชั่วโมง หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา
พัชริดา พันธุมาศ
กราฟิกดีไซเนอร์
ไต้หวันเป็นประเทศแรกของการมาเที่ยวต่างประเทศของเรากับเพื่อน สายกินอย่างเรากับเพื่อนก็ไม่พลาดที่จะรีเสิร์ชหาอาหารที่ต้องกินให้ได้ถ้ามาไต้หวัน ไล่เก็บอาหารที่ชาวเน็ตบอกต้องลองไม่ว่าจะเป็นชานมไข่มุกร้านดัง ไก่ทอดรสเด็ด ซึ่งถูกปากบ้าง ไม่ถูกปากบ้าง แต่ดันมาถูกใจและประทับใจกับร้านอาหารท้องถิ่นร้านหนึ่ง แถว Bopiliao Historical Block เราและเพื่อนเลือกเดินเข้าร้านแบบงงๆ ไม่ได้อ่านรีวิวจากเน็ต ใช้สัญชาตญาณและความหิวล้วนๆ ที่ตัดสินใจให้เข้าไป เห็นป้ายหน้าร้านเป็นเส้นเหมือนบะหมี่เลยคิดว่าน่าจะพอไหว คุณป้าน่ารักและพูดอิ้งค์คล่องมากกก ชาวต่างชาติอย่างเราๆ ที่จะไปกินไม่ต้องห่วงเลยว่าจะสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง
เราสั่งเมนูที่เป็น บะหมี่เนื้อ เส้นนุ่ม น้ำซุปกลมกล่อม รสชาติไม่จัดจ้านมาก สามารถปรุงรสได้ตามใจชอบ สั่งมากินคู่กับลูกชิ้นที่มีไส้หมูข้างใน ซึ่งไส้หมูดีมาก ราคาก็ถูกแสนถูก ร้านนี้อาจไม่ใช่ร้านที่อร่อยที่สุดและดีที่สุดในทริป แต่กลับเป็นร้านที่ทำให้เรามีเรื่องเล่าและประทับใจมากที่สุด ทำให้รู้ว่าการลองเสี่ยงดวง เปิดใจกับร้านอาหารที่เราไม่ได้อ่านรีวิวมาก็เป็นประสบการณ์ที่ดีไปอีกแบบ เพราะเราคิดว่าอาหารที่ใครๆ บอกว่าอร่อยหรือไม่อร่อย ก็ไม่สู้ เราได้ลองกินอาหารนี้เองหรือยัง เพราะฉะนั้นโควิดจากไปเมื่อไหร่ ไปเลยค่ะ! ไปลองเร็ววว!
ชรินรัตน์ จริงจิตร
ฝ่ายอาหาร
“จะออกไปแตะขอบฟ้าแต่เหมือนว่าโชคชะตาไม่เข้าใจ” นี่คือเพลงที่เข้ากับฉันมากที่สุดในตอนนี้เลยก็ว่าได้ เพราะแพลนของฉันที่จะออกไปแตะขอบฟ้าคือการไปไต้หวัน ซึ่งตอนนี้ทำได้แค่เพียงแตะขอบประตูรั้วหน้าบ้านเท่านั้นก่อน แต่ต่อให้ไม่ได้ไปเที่ยวไต้หวัน ฉันก็นึกถึงอาหารของประเทศแรกที่ฉันได้ไปเหยียบมา ประเทศที่ว่าก็คือเวียดนาม ประทับใจตั้งแต่มื้อแรกที่ได้กิน และก็ประทับใจในทุกๆ มื้อต่อมา แต่ต่อให้ประทับใจทุกมื้อก็มีที่สุดของที่สุดที่ทำให้อยากไปซ้ำเป็นรอบสองรอบสาม
จานแรกที่ประทับใจไม่เคยลืมเป็นร้านอาหารของ Top Chef เวียดนาม ประทับใจตั้งแต่ออเดิร์ฟที่เค้าเสิร์ฟให้ แต่จานที่ประทับใจที่สุดคือเมนู ปลาผัดกับเครื่องสมุนไพร อย่างผักชีลาว ใส่ถั่วลิสง หอมเจียว กระเทียมเจียว หอมกลิ่นขมิ้นนิดๆ เสิร์ฟมาในกระทะร้อน แล้วพอมาถึงโต๊ะพนักงานก็จะผัดๆ ส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน แล้วให้เรากินคู่กับเส้นขนมจีน แผ่นแป้งของเวียดนาม และผักสดต่างๆ ขนาดฉันที่ไม่ค่อยชอบกินผักเท่าไร ยังกินเกือบหมดจานคนเดียว ฉันประทับใจถึงขั้นลองถอดสูตรทำกินเองเลยทีเดียว
และไม่ใช่แค่อาหารเวียดนามเท่านั้นที่ฉันหลงรัก ขนมและอาหารฝรั่ง ฉันก็หลงรักไม่แพ้กัน ตกดึกหน่อยก็เดินเล่นหาร้านขนมอร่อยๆ กิน (อันที่จริงไม่รู้หรอกว่าร้านไหนอร่อย ใช้เซนส์เอา) แล้วเซนส์ของฉันก็ไม่ทำให้ผิดหวัง มันอร่อยจริง ๆ เป็นร้านของคนฝรั่งเศสที่อยู่ที่เวียดนาม เขาทำขนมเองทุกอย่าง ขนมอร่อยแบบหยุดไม่อยู่ ทั้งครัวซองต์ที่กรอบบางและหอมกลิ่นเนยมาก หรือทาร์ตเลมอนที่ตัวแป้งกับตัวเลมอนเคิร์ดตัดกันได้ดีชนิดที่ว่ากินคนเดียว 1 ชิ้นก็ไม่เลี่ยนเลย
อีกร้านที่รู้สึกว่าถ้าได้ไปอีกครั้งจะต้องไปกินซ้ำสองแน่นอน คือ ร้านพิซซ่า ที่ไปกินร้านนี้เพราะว่าตามรอยบล็อกเกอร์สายกินชื่อดังอย่าง ‘บิ๊ม กินแหลกล้างโลก’ ไม่ผิดหวังที่ตามไปกิน ชอบตัวแป้งของพิซซ่าที่นี่มาก แป้งมีรสชาติเค็มนิดๆ ไม่บางและไม่หนาจนเกินไป กินแป้งพิซซ่าเปล่าๆ อย่างเดียวฉันก็กินได้ บอกเลยว่ามาเวียดนามแล้วประทับใจอาหารมากๆ นี่ยังแอบเสียดายที่ไม่ค่อยได้กินอาหารแบบเวียดนามจ๋ามากมายนัก แต่รับประกันว่าพ้นช่วงวิกฤตนี้เมื่อไร ฉันจะรีบจองตั๋วแล้วไปกินอีกเป็นแน่
เสาวลักษณ์ เชื้อคำ
นักเขียน
ถ้าให้นึกถึงอาหารปีนังที่ติดใจมากๆ ภาพแรกที่นึกถึงก็จะเป็นสตรีตฟู้ดอย่างไม่ต้องสงสัย เมนูหนึ่งที่ติดใจมากคือ ลกลก (Lok Lok) เมนูจิ้มจุ่มสามัคคีที่ขอเดาว่าเป็นญาติห่างๆ กันกับแว๊กตาโดกโท่ (Wat Tar Dote Htoe) หรือจิ้มจุ่มเสียบไม้แบบพม่า ต่างกันตรงที่ว่าแว๊กตาโดกโท่จะเป็นหมูส่วนต่างๆ ที่ต้มสุกมาเรียบร้อยแล้วในน้ำแบบพะโล้ ส่วนลกลกจะเป็นสารพัดของเท่าที่จะเอาไปลวกได้ ลูกชิ้น หมูสามชั้น หอย ปลาหมึก ผัก เห็ด ลูกชิ้น ฯลฯ ที่ยังดิบอยู่ เสียบไม้วางเรียงไว้เป็นกองๆ ใครอยากกินไม้ไหนก็เชิญล้อมวงลวกกันเองตามใจชอบ ได้ที่แล้วเลือกราดด้วยน้ำจิ้มถั่วรสมัน หวาน และหอมเครื่องเทศ (คล้ายกับน้ำจิ้มสะเต๊ะ) น้ำจิ้มสีแดงรสเปรี้ยวเผ็ด หรือซอสถั่วเหลืองเค็มๆ ก็สุดแล้วแต่จะเป็นสูตรเด็ดของร้าน
เสน่ห์ข้อสำคัญของลกลกคือความสนุก (ต้องพูดกันตามตรงว่าลำพังของเสียบไม้แล้วเอาไปลวก ระดับความอร่อยคงไม่แตกต่างกันมากเท่าไร) การได้เลือกอาหารแต่ละไม้ด้วยตัวเอง เอาไปล้อมวงลวกร่วมกับคนแปลกหน้าอีกจำนวนหนึ่ง แล้วยืนกินกันแบบอุ่นๆ ร้อนๆ ตรงนั้น นับเป็นบรรยากาศที่เพลิดเพลินได้อย่างน่าประหลาดใจ หลายคนอาจจะขัดใจเรื่องความสะอาดอยู่บ้าง แต่เราซ้อมใหญ่กับแว๊กตาโดกโท่มาแล้วหลายหน ลกลกจึงกลายเป็นความไฮยีนในระดับมาตรฐานของท้องไส้และจิตใจ พิธีกรรมในการเดินผลัดกันเข้าๆ ออกๆ จับจองมุมลวกของลกลกจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งในมาเลเซียที่เราคิดถึงมากๆ แบบที่ว่าสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายเมื่อไหร่จะกดจองตั๋วปีนังทันที
ศศิกานต์ เพิ่มสุขทวี
กราฟิกดีไซเนอร์
ไปศาลเจ้าอินาริที่เกียวโตทั้งทีต้องไม่พลาดอาหารที่มีทุกร้าน คือ อินาริซูชิ เป็นซูชิที่ทำจากฟองเต้าหู้ห่อข้าว โดยข้าวที่ถูกห่ออยู่ด้านในจะถูกปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู ทำให้ข้าวมีรสเปรี้ยวหวาน นอกจากข้าวแล้วข้างในยังมีงาและคิดว่าน่าจะใส่บ๊วยด้วย กัดไปแล้วทำให้มีรสสัมผัสความกรึบ อันนี้คือดีมาก
ส่วนชื่อของอินาริซูชินั้น ในสมัยก่อนเชื่อว่าเทพอินาริชอบทานอาบุระอาเกะ (Abura-age คือเต้าหู้ฝานแผ่นบางๆ ทอด) และเทพอินาริมีผู้ส่งสารเป็นสุนัขจิ้งจอกฟูชิมิอินาริ ซึ่งหน้าตาเหมือนเต้าหู้ทอดรูปสามเหลี่ยม คนจึงมักนิยมนำอาบุระอาเกะมาถวายที่ศาลเจ้า เป็นที่มาของอินาริซูชิ
ณัฐณิชา ทวีมาก
ฝ่ายอาหาร
เมื่อปลายปีที่แล้วฉันมีโอกาสไปเที่ยวที่ประเทศจีน ทริปนี้เป็นทริปที่ฉันและผู้ร่วมขบวนการอีกสองคนได้วางแพลนกันมานานนับเดือนเลยทีเดียว จุดหมายของทริปนี้คือดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแชงกรีล่าผืนสุดท้ายนามว่า ‘ย่าติง’ อุทยานแห่งชาติที่เปิดให้เราเข้าชมความสมบูรณ์และความสวยงามของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เป็นสถานที่ที่ทำให้ฉันตกหลุมรักทันทีเมื่อไปถึง ไม่ใช่แค่ความอลังการของธรรมชาติเท่านั้น ด้วยความที่ประเทศจีนใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีหลายมณฑล ทำให้มีเอกลักษณ์ทางด้านอาหารและวัฒนธรรมที่หลากหลาย มาถึงมณฑลเสฉวนทั้งทีแนะนำว่าต้องมาลอง ชาบูหม่าล่า แบบออริจินัลสักครั้ง น้ำซุปที่เลือกมามีทั้งซุปรสหม่าล่าและซุปใส เราสามารถเลือกหยิบเนื้อสัตว์ ผักและอื่นๆ ได้ตามใจชอบ เนื้อสัตว์ที่นี่จะเสียบเป็นไม้ๆ เอาไว้เวลาจะกินค่อยจุ่มลงในหม้อ มีน้ำจิ้มให้เลือกปรุงรสชาติเอง บอกเลยว่าซุปหม่าล่านี้เด็ดสุด! เข้มข้นมาก ดูได้จากสีและเม็ดพริกที่ลอยหน้าอยู่บนน้ำซุป กลิ่นพริกจัดเต็มเผ็ดแบบขึ้นหัวสุดๆ แต่โดยรวมถือว่าดี อร่อย!
อีกหนึ่งเมนูขึ้นชื่อแห่งเมืองแชงกรีล่าที่ใครมาก็ต้องลองกินนั้นคือ นมและโยเกิร์ตจากตัวจามรี นมสด กินง่าย ไม่ได้มีกลิ่นสาบอย่างที่คิด รสจืดๆ มันๆ ใครอยากเติมความหวานก็ใส่น้ำตาลทรายแดงผสมถั่วบดลงไปผสมได้ ส่วนโยเกิร์ตจะมีลักษณะคล้ายกับกรีกโยเกิร์ตแต่เหลวกว่า ที่สำคัญคือเปรี้ยวและซ่ามากเพราะเขาหมักเอง ไม่ได้ปรุงรสแต่อย่างใด กินไปคำแรกบอกเลยแทบกรี๊ด ฮ่าๆ การมาจีนครั้งนี้ถือว่าได้ลองกินอาหารที่ไม่เคยกินมาก่อน ได้เจออะไรหลายอย่างนับว่าเป็นประสบการณ์ที่โคตรจะสนุกในชีวิตเลย ถ้ามีโอกาสจะกลับไปที่นี่แน่นอน
สุริวัสสา กล่อมเดช
นักเขียน
ทุกคนลงความเห็นว่าจะไปกิน ข้าวแกงกะหรี่ เป็นมื้อแรกในการมาเยือนญี่ปุ่น ถึงมันจะเป็นเมนูที่เราไม่ชอบเอามากๆ แต่ก็เก็บความอิดออดไว้ในใจ เพราะถือคติไปไหนไปกัน แกงกะหรี่ตรงหน้าก็ดูว้าวๆ ดีหรอก แต่พอตักเข้าปากคำแรก กลายเป็นเราเอนจอยกับการกินข้าวแกงกะหรี่หน้าทงคัตสึเอามากๆ น้ำแกงกะหรี่เข้มข้น กลมกล่อม ทงคัตสึกรอบนอกนุ่มในกัดแล้วเนื้อยังจุยซี่ ทอดได้ดีมากก กินกับผักดองที่เติมได้ไม่อั้น อือหือ… กินไปยิ้มไปด้วยความแปลกใจตัวเอง ไงล่ะ แกงกะหรี่ที่เกลียดนักเกลียดหนา อาจเพราะครั้งแรกที่เคยกินแกงกะหรี่ไม่ประทับใจนัก มันเลยฝังหัวว่าไม่ถูกจริตกันเท่าไร บางครั้งการเปิดใจลองสิ่งที่ไม่ชอบอีกสักครั้งก็สลัดความเชื่อฝังหัวออกไปได้ ส่วนเมนูที่คาดหวังว่ามันต้องดีก็อร่อยประทับใจเลยแหละ อย่าง ข้าวหน้าเนื้อวากิว (Roast Beef Ohno) ที่อบด้วยอุณหภูมิต่ำ 7 ชั่วโมง ท็อปด้วยไข่ดิบและซอสโยเกิร์ตกับหัวหอม เนื้อนุ่ม หอม โรยเกลือพริกไทยนิดหน่อย คลุกกับซอสที่ราดมา มันเข้ากันไปซะทุกอย่าง อืมมม… มากินซ้ำ 2 รอบเลยค่ะ แม้จะต้องรอคิวกันนิด แต่บรรยากาศตอนต่อคิวนี่แหละ ทำให้เราคิดถึงญี่ปุ่นเอามากๆ (แต่เกิน 15 นาที ก็ไม่รอนะคะ 555)
ภาพประกอบ: https://bhutanesefoodworld.weebly.com/uploads/5/8/9/7/58975403/722031_orig.jpg