เป็นที่รู้กันดีว่าการกินอาหารจากวัตถุดิบสดใหม่ ย่อมดีกว่ากินอาหารแช่แข็ง ยิ่งเมื่อพูดถึงการกินอย่างยั่งยืนที่เน้นกินวัตถุดิบสดจากท้องถิ่น อาหารจากผักพืชผลเป็นหลัก การแช่แข็งอาหารและการบริโภคยิ่งดูเหมือนจะอยู่กันคนละขั้ว ไหนจะก่อให้เกิดการขนส่งระหว่างแหล่งผลิต-ผู้บริโภค ตามมาด้วยมลพิษน้ำและอากาศระหว่างการผลิตจนถึงแพ็กเกจพลาสติกอีกมากมาย
แต่มองอีกมุมหนึ่งการแช่แข็งช่วยลดของเสียจากอาหารได้อย่างมาก ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ไม่ได้หมายความว่าเราสนับสนุนการกินอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งนะ การแช่แข็งที่นำมาบอกกันนี้เน้นไปที่การเก็บรักษาของสดที่มีอยู่ให้กินได้นานขึ้นและลดปริมาณขยะอาหารเท่านั้น
ประโยชน์ของการแช่แข็ง
วารสารประเทศอังกฤษระบุว่าหนึ่งในสามของการผลิตเพื่อบริโภคกลายเป็นของเหลือ ซึ่ง 45% ของของเหลือนั้นคือผักผลไม้ ดังนั้นถ้าเรารู้จักวิธีเก็บผักผลไม้เหลือกินไว้ในช่องแข็ง ย่อมดีกว่าการทิ้งให้บูดเน่ากลายเป็นขยะอินทรีย์ไปเปล่าๆ โดยเฉพาะการแช่แข็งผลไม้เองในครัวเรือน ย่อมดีกว่าซื้อผลไม้ที่เขาแช่แข็งไว้แล้วเป็นไหนๆ สาเหตุก็เพราะว่าผลไม้แช่แข็งในตลาดมักเป็นผลไม้ที่สุกงอมเกิน บางครั้งอาจมีปะปนของไม่ดีมาบ้างเราก็ไม่รู้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ฤดูร้อนหลายบ้านอาจมีมะม่วงเหลือกิน เราก็จัดแจงรอให้สุกพอดีแล้วปอกเปลือกเก็บไว้ในช่องแข็ง ไว้ทำเค้ก ทำน้ำผลไม้ปั่น หรือแม้กระทั่งกวนแยมก็ได้ ผักบางชนิดอย่างใบมะกรูด ผิวมะกรูด รากผักชี เวลาทำอาหารแล้วเหลือนิดๆ หน่อยๆ ก็เก็บในช่องแข็งไว้ใช่ต่อไปได้ ผักบางอย่างต้องนำมาแปรรูปก่อน เช่น ผักโขม นำมาลวกบีบน้ำให้แห้งแล้วเก็บแช่แข็งไว้ทำอาหารได้ ดังนั้นการแช่แข็งอาหารหลักๆ เลยคือ ช่วยยืดอายุอาหาร และลด food waste ได้อย่างดี
แล้วยังช่วยให้ไม่เปลืองพลังงาน ไม่ต้องไปซื้อของบ่อยๆ ตัวอย่างเช่น เราไปจ่ายตลาดครั้งเดียวต่อสัปดาห์ซื้อเนื้อสัตว์มาแบ่งเก็บไว้เป็นมื้อๆ ก็ง่ายและเนื้อสัตว์ก็ยังสดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาหารทะเล (ถ้าตัดประเด็นเรื่องแหล่งที่มา สวัสดิภาพการเพาะเลี้ยงรวมทั้งการจับ) การแช่แข็งอย่างถูกวิธีจะช่วยรักษาคุณภาพความสด และรสชาติอาหารทะเลได้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้าเราได้อาหารทะเลสดตั้งแต่ต้น เก็บเข้าช่องแข็งทันทีและละลายน้ำแข็งก่อนนำมาใช้ได้ถูกต้อง เนื้อที่ได้ก็เหมือนกับของสดใหม่เช่นกัน
Tricks การเก็บอาหารแช่แข็งและการนำออกมาใช้
ข้อผิดพลาดที่ทำให้เกิดความช้ำใจของคนครัว คือเมื่ออาหารแช่แข็งที่เก็บไว้มีสภาพแห้งกรัง ถูกน้ำแข็งกัดจนขาวซีด ไม่ก็มีน้ำแข็งละลายเกาะบนเนื้อสัตว์เต็มไปหมด บางคนซุกไว้จนลืมเลยก็เยอะ เรามี tips and tricks ในการเก็บและใช้ของในช่องแข็งดังนี้
1. ถ้าใช้ถุงซิปล็อก พยายามทำถุงแบนๆ รีดให้ไม่มีหรือมีอากาศน้อยที่สุด การเก็บในถุงแบนๆ เพิ่มพื้นที่ให้เนื้อสัตว์กับอากาศทำให้ละลายเร็วขึ้น
2. ถ้าซื้อในปริมาณมากและใช้บ่อย พยายามแบ่งเก็บเป็น portion ต่อครั้งที่ใช้ และเขียนวันที่นำเข้าช่องแข็ง
3. ถ้าเก็บของเหลวในขวด เช่น ซุป น้ำสต๊อก ให้เว้นพื้นที่ในขวดไว้ประมาณ 1 นิ้ว เพราะของเหลวจะขยายตัว ถ้าใส่จนเต็มขวดหรือกล่องอาจจะล้น หรือขวดระเบิดได้
4. เลือกเก็บผลไม้ในช่วงที่สุกกำลังดี เช่น มะม่วง กล้วยหอม ถ้ากินไม่ทันให้รีบเอาเข้าช่องแช่แข็ง เก็บไว้ทำน้ำปั่นหรือเค้กได้
5. ถั่ว เช่น อัลมอนด์ วอลนัท ธัญพืชต่างๆ เก็บในช่องแช่เเข็งเเล้วยืดอายุให้อยู่ได้เป็นเดือนโดยไม่เหม็นหืน
6. ผักผลไม้ที่กินไม่หมด เช่น ใบมะกรูด ข้าวโพด ผักโขม สามารถเก็บใส่ถุงเข้าช่องแข็งไว้ได้
7. วิธีนำของแช่แข็งออกมาใช้ ถ้าเนื้อสัตว์มีขนาดใหญ่หรือชิ้นหนา ให้นำมาพักไว้ช่องธรรมดา 1 คืน ถ้ามีขนาดเล็ก ให้นำเนื้อสัตว์ในถุงแช่น้ำอุณหภูมิห้องจนกลับมานิ่มเหมือนเดิม