ฟ้าทะลายโจร ปราบ Covid-19 จริง หรือ หลอก??

2,226 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ไขข้อสงสัยของ ‘ข่าววงใน’ สารพัดสูตรป้องกันโควิดจากกรุ๊ปไลน์

อะไรเป็นประโยชน์ก็แชร์ไว้ก่อน – กรุ๊ปไลน์ของหลายครอบครัวอาจต้องเผชิญกับปัญหานี้อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงการระบาดของ Covid-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ เพราะสถานการณ์โรคระบาดนั้นไม่ค่อยสู้ดีนัก ส่วนระบบสาธารณสุขก็ดูเหมือนจะต้องแบกภาระหนักขึ้นเรื่อยๆ จนความคล่องตัวหายไป ผู้ใหญ่ในครอบครัวหลายคนจึงพยายามดูแลตัวเองโดยการหาข้อมูลเรื่องสุขภาพมาอ่านและแบ่งปันให้คนรอบตัวอยู่เสมอ

ความเป็นห่วงเป็นใยนั้นเป็นเรื่องดีอย่าง 100% เสียแต่ว่าบางทีเมื่อความเป็นห่วงนำหน้า แต่ความถูกต้องของข้อมูลไม่ตามมาด้วย ข่าววงในประเภท ‘ข้อมูลที่แชร์กันในกลุ่มอาจารย์แพทย์’ หรือ ‘ตำรายาโบราณจากหลวงปู่มั่น’ อะไรเทือกนั้นจึงกลายเป็นชนวนแห่งการทะเลาะเบาะแว้ง ไปจนถึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เลยทีเดียว

สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ (ไม่แพ้ความสงบสุขในกรุ๊ปไลน์ครอบครัว) วันนี้เราจึงตรวจสอบข้อมูลยาสมุนไพรกับวาระแห่งชาติอย่าง Covid-19 มาให้ผู้อ่านทุกท่านได้เซฟไว้ส่งต่อในกลุ่มไลน์กันได้ทุกเวลา โดยข้อมูลทั้งหมดนี้มาจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเรื่องการแพทย์แผนไทยและการสกัดตัวยาโดยตรง เพราะฉะนั้นรับรองได้ว่าเป็นข้อมูลที่จะส่งความห่วงใยให้กับทุกคนในครอบครัวได้อย่างถูกต้องแน่นอนค่ะ

รู้จักฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจร (ชื่อวิทยาศาสตร์ Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees) เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ปรากฎในตำรายาพื้นบ้านในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือในประเทศไทยเอง

ตามหลักการแพทย์แผนไทย ตำรายาไทยจัดเป็นยารสขมและมีฤทธิ์เย็น เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ซึ่งเป็นผลมาจากธาตุไฟในร่างกายทำงานผิดปกติ ฤทธิ์เย็นของฟ้าทะลายโจรจึงสามารถบรรเทาไข้หวัด แก้ไอ และแก้เจ็บคอได้

ส่วนในตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฟ้าทะลายโจรก็เป็นสมุนไพรที่ถูกหยิบมาศึกษาวิจัยอย่างแพร่หลาย และพบว่าสามารถลดความรุนแรงของอาการจากโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) ได้ดี จนสามารถบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข เราจึงสามารถเห็นผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรแคปซูลวางจำหน่ายในร้านยาทั่วไปในปัจจุบัน

ฟ้าทะลายโจรกับ Covid19

จากสรรพคุณและการซื้อหาได้ง่าย เมื่อมีสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งมีอาการเบื้องต้นแบบเดียวกันกับไข้หวัด ฟ้าทะลายโจรจึงเป็นพืชสมุนไพรชนิดแรกๆ ที่หน่วยงานทางการแพทย์เลือกนำมาศึกษาและใช้กับผู้ป่วยที่รักษาอาการด้วยตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) นั่นเอง

ก่อนหน้านี้มีผลการวิจัยว่า ‘สารแอนโดรกราโฟไลค์’ (Andrographolide) ในฟ้าทะลายโจร มีแนวโน้มช่วยลดการแบ่งตัวของไวรัส และลดอาการอักเสบ จึงอาจสามารถช่วยลดการเกิดปอดอักเสบในผู้ป่วยโรค Covid-19 รายที่มีอาการน้อยๆ ได้ แต่ล่าสุด ในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการประกาศว่าทีมผู้วิจัยได้ขอถอนนิพนธ์ต้นฉบับที่รอตีพิมพ์ออก ด้วยเหตุผลว่าในการศึกษาวิจัยมีการคำนวนผลผิด ผลการวิจัยเดิมที่บอกว่าฟ้าทะลายโจรช่วยลดภาวะปอดอักเสบได้นั้นไม่สามารถยืนยันได้ตามหลักวิชาการ ดังนั้น ณ วันที่เขียนบทความชิ้นนี้ (9 สิงหาคม 2564) จึงยังต้องสรุปว่า ฟ้าทะลายโจรไม่ได้ช่วยป้องกันอาการปอดอักเสบในกลุ่มผู้ป่วย Covid-19 แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม คู่มือการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วย Covid-19 ที่อยู่ในระดับสีเขียว จากกระทรวงสาธารณสุขก็ยังคงแนะนำให้มีการใช้ฟ้าทะลายโจรอยู่ และยังมีการส่งฟ้าทะลายโจรแคปซูลไปพร้อมกับชุดยาสำหรับผู้ป่วย Home Isolation อาจทำให้คนทั่วไปสันนิษฐานกันว่าฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการป้องกันโรค Covid-19 จึงเกิดปรากฏการณ์ฟ้าทะลายโจรขาดตลาด ความต้องการซื้อพุ่งสูงปรี๊ด และแน่นอนว่าราคาก็สูงขึ้นตามด้วยเช่นกัน ถึงขนาดที่ว่าเกิดการทำฟ้าทะลายโจรปลอมขึ้นมาขายเลย แม้จะไม่ได้มีหลักฐานหรือผลการศึกษาวิจัยมายืนยัน ว่าฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณในการป้องกันโรค Covid-19 ก็ตาม

ไม่มีใครอยากเชื่อข้อมูลทุกอย่างที่ผ่านหูผ่านตา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเข้าถึงการรักษาได้ยาก ผู้คนก็ยิ่งต้องการตัวช่วยอื่นๆ ไว้ให้อุ่นใจ อย่ากระนั้นเลย เพื่อให้ความห่วงใยของเราส่งผ่านไลน์ (และแอปพลิเคชันอื่นๆ) ได้อย่างสวัสดิภาพและเหมาะสม เราจึงรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องฟ้าทะลายโจรกับ Covid-19 มาไว้ในรูปแบบอ่านง่ายได้ใจความ เพื่อให้ทุกท่านได้ได้เซฟแล้วส่งไปพร้อมความรักความเข้าใจ ในระหว่างที่เรารอให้ระบบการรักษาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และรอวัคซีนที่มีประสิทธิภาพกระจายไปอย่างทั่วถึงทุกคน

เขาบอกว่า: ฟ้าทะลายโจร ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน จึงป้องกันโควิด-19 ได้
ข้อเท็จจริง: ฟ้าทะลายโจร มีแนวโน้มเสริมภูมิคุ้มกันทั่วไปได้ แต่ไม่เสริมภูมิคุ้มกันเฉพาะโรค (ภูมิคุ้มกันเฉพาะโรค เกิดจากการฉีดวัคซีนเท่านั้น)

สารแอนโดรกราโฟไลค์ (Andrographolide) ในฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทั่วไป แต่การป้องกันโรค Covid-19 นั้นต้องอาศัย ‘ภูมิคุ้มกันเฉพาะโรค’ จากวัคซีน เช่นเดียวกับการป้องกันไวรัสตัวอื่นๆ ดังนั้นจากหลักฐานการวิจัยที่มีอยู่ ฟ้าทะลายโจรจึงไม่สามารถป้องกันโรค Covid-19 ได้นั่นเอง

เขาบอกว่า: คนไม่ได้เป็นโควิด-19 สามารถกินฟ้าทะลายโจรเพื่อป้องกันไว้ก่อนได้
ข้อเท็จจริง: คนที่ไม่มีอาการไข้ น้ำมูกไหล ไอจาม ตัวร้อน ไม่จำเป็นต้องกินฟ้าทะลายโจร แต่หากมีอาการไข้หวัดทั่วไป สามารถกินฟ้าทะลายโจร ที่มีอย. และ ซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น เภสัชกร โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำวิธีการใช้ยาบนฉลากอย่างเคร่งครัด

ผู้ที่ไม่ได้มีอาการใดๆ ไม่มีความจำเป็นต้องกินฟ้าทะลายโจร เพราะยังไม่มีการยืนยันว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกัน Covid-19 ได้ หากรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว มีอาการแบบไข้หวัดธรรมดา สามารถกินฟ้าทะลายโจรเพื่อหลีกเลี่ยงการกินยาปฏิชีวนะได้ แต่ควรกินฟ้าทะลายโจรที่ซื้อจากแหล่งเชื่อถือได้ กินในปริมาณที่กำหนดตามที่เขียนไว้ข้างฉลาก และหากกินฟ้าทะลายโจรเกิน 3 วันแล้วอาการไข้หวัดยังไม่หาย ก็ควรหยุดกินแล้วไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน

เขาบอกว่า: ผู้ป่วย Covid19 สามารถกินฟ้าทะลายโจร แบบแคปซูล 2 แคปซูล แล้วแกะอมที่โคนลิ้น 1 แคปซูลทุกวัน ป้องกันเชื้อลงปอดได้
ข้อเท็จจริง: สารสกัดฟ้าทะลายโจร สามารถช่วยให้อาการของ ผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งมีอาการคล้ายกับไข้หวัดดีขึ้นได้ โดยต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น การแกะฟ้าทะลายโจรออกมาจากแคปซูลก่อนกิน ไม่มีส่วนช่วยให้การรักษาดีขึ้น

ผู้ป่วย Covid-19 ที่มีอาการน้อย (ผู้ป่วยสีเขียว) สามารถกินฟ้าทะลายโจรเพื่อลดอาการไข้และเจ็บคอได้ โดยในคู่มือของสาธารณสุขแนะนำให้กินให้ได้สารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ในปริมาณ 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งเป็น 3-4 มื้อ

ฟ้าทะลายโจรแต่ละแบบ แต่ละยี่ห้อ มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ในปริมาณต่างกัน ดังนั้นผู้ป่วยที่เลือกซื้อฟ้าทะลายโจรมากินเองจึงต้องคำนวนปริมาณในการกินอย่างเหมาะสม เช่น หากฉลากระบุว่า ใน 1 แคปซูล มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ 10 มิลลิกรัม ใน 1 วันก็จะต้องกินทั้งหมด 18 แคปซูล และสามารถแบ่งกินได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 6 แคปซูล

ที่สำคัญคือ การกินฟ้าทะลายโจรให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์ในปริมาณนี้ คือการบริโภคในปริมาณมาก หากกินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อการทำงานของตับได้ ตามคำแนะนำทางการแพทย์จึงไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 5 วัน และไม่ควรกินร่วมกับยาบางประเภท อย่างเช่น ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ใช้สำหรับการรักษาอาการโรค Covid-19 นั่นเอง

เขาบอกว่า: ฟ้าทะลายโจร ใครกินก็ได้ เพราะเป็นสมุนไพร จึงไม่เป็นพิษต่อร่างกาย

ข้อเท็จจริง: หญิงตั้งครรภ์/ ให้นมบุตร ผู้ที่รับยาละลายลิ่มเลือด ผู้ที่มีอาการความดันต่ำ รวมถึงผู้ที่มีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร ไม่ควรกินฟ้าทะลายโจร เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการกินฟ้าทะลายโจรเพื่อบรรเทาอาการจาก Covid-19 ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ผู้ที่รับยาละลายลิ่มเลือดหรือยาที่อาจส่งผลให้เลือดจับตัวช้า เช่น ยาแอสไพริน ยาวาร์ฟารินเป็นประจำ ผู้ที่มีประวัติแพ้ฟ้าทะลายโจร เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพ จนถึงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ส่วนผู้ที่มีอาการความดันต่ำควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ฟ้าทะลายโจร เพื่อความปลอดภัยสูงสุด

เขาบอกว่า: ฟ้าทะลายโจร กินมากเท่าไรก็ได้ เพราะเป็นสมุนไพร จึงไม่เป็นพิษต่อร่างกาย

ข้อเท็จจริง: ฟ้าทะลายโจร กินติดต่อกันมากเกินไป จะมีผลต่อการทำงานของตับและไต ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่กินมากและนานเกินคำแนะนำ อาจทำให้ร่างกายผิดปกติ จนแพทย์ไม่สามารถพิจารณาจ่ายยาฆ่าเชื้อให้ทันท่วงทีได้

ทุกอย่างบนโลกนี้ ไม่มีคำว่าปลอดภัย 100% แม้จะเป็นยาสมุนไพรก็ตาม แน่นอนว่าฟ้าทะลายโจรก็เหมือนกัน  ทางแพทย์แผนไทยเชื่อว่าหากกินมากเกินไปจะทำให้ร่างกายเย็นเกิน จนเกิดผลข้างเคียงเป็นอาการชาตามร่างกาย แขนขาอ่อนแรง รวมถึงเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ

ส่วนการกินแบบแคปซูล แตกต่างจากการกินแบบตำรายาเดิมตรงที่ว่าได้รับปริมาณสารสำคัญจำนวนมาก หากกินติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงมากกว่า เป็นต้นว่าส่งผลต่อการทำงานของตับ และยังพบว่ามีกรณีที่ผู้ป่วย Covid-19 จำนวนหนึ่งที่กินฟ้าทะลายโจรจำนวนมากติดต่อกันเป็นเวลานานจนการทำงานของไตผิดปกติ ส่งผลให้แพทย์ไม่สามารถพิจารณาจ่ายยาฆ่าเชื้อได้ทันที ดังนั้น การกินยาใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะหรือยาสมุนไพร ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด

ข้อมูลจาก

ภญ.ดร. ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (รายการชัวร์ก่อนแชร์  ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท เข้าถึงได้จาก https://youtu.be/QmxAO4GIlwc)

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (รายการชัวร์ก่อนแชร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท เข้าถึงได้จาก https://youtu.be/mPR2uU4Hu0s)

นพ. ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก (รายการโหนกระแส 19 กรกฎาคม 2564 เข้าถึงได้จาก https://youtu.be/S74S0XuD3IY)

https://bit.ly/3yA2lGW

อ่านบทความเพิ่มเติม

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS