อาหาร Plant-Based เหตุผลที่มนุษย์ควรเป็นสัตว์กินพืช

18,698 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
กินพืชเป็นหลัก นอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังดีต่อร่างกายด้วย ที่สำคัญคืออร่อยอีกต่างหาก ถ้ายังไม่เชื่อ เรามีสูตรมาให้ลองทำกัน

ยุคนี้นอกจากการออกกำลังกาย หลายคนยังดูแลเรื่องอาหารการกินมากขึ้น เราเริ่มเปิดรับทฤษฎีการกินใหม่ๆ จากต่างประเทศ นอกเหนือจากการกินมังสวิรัติ (Vegetarian) ที่รู้จักกันอยู่แล้วเช่น Vegan, Paleo diet, Raw food diet, Mediterranean diet, Ketogenic diet ฯลฯ ซึ่งจริงๆ ทฤษฎีเหล่านี้มีมานานแล้ว แต่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักษาสุขภาพเท่านั้น

หลายทฤษฎีที่ว่ามามีหลักการคล้ายคลึงหรือทับซ้อนกันอยู่บ้าง โดยมีจุดยืนเดียวกันคือ ‘เพื่อคนกิน’ ไม่ว่าจะกินให้สุขภาพดีขึ้นหรือลดน้ำหนัก แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจ คือการกินแบบ Plant-based diet ที่นอกจากจะโฟกัสที่ประโยชน์ของคนกินแล้ว ยังโฟกัสถึงสิ่งแวดล้อมหรือโลกของเราอีกด้วย

อะไรคือการกินแบบ Plant-based

Plant-based diet คือการรับประทานพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงกับธรรมชาติ พูดง่ายๆ คือกินผักผลไม้ โดยเฉพาะพวกธัญพืช ถั่วฝัก ถั่วเปลือกแข็ง ลดหรือหลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และอาหารแปรรูปต่างๆ วิถีการกินแบบ plant-based จึงไม่จำเป็นต้องไม่กินเนื้อสัตว์เลย อาจมีหรือไม่มีเนื้อสัตว์ก็ได้ แต่ถ้ามีก็เป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผัก อันนี้คือข้อต่างของ plant-base diet และมังสวิรัติ

 หลักการของ Plant-based diet มีง่ายๆ ดังนี้ 

  • ใช้วัตถุดิบสดในการทำอาหาร ลดการกินอาหารสำเร็จรูปหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
  • งดและหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ถ้าใช้ก็เป็นส่วนน้อยหรือตัวเสริมเท่านั้น
  • เน้นการกินผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช ถั่วฝัก ถั่วเปลือกแข็ง เป็นหลัก
  • หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบผ่านกรรมวิธีแปรรูป การสกัด ขัดขาว เช่น น้ำตาลทราย แป้งสาลี

ทำไมการกิน Plant-based diet ถึงรักษ์โลก?

เพราะการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงถือเป็นการไม่สนับสนุนการทำปศุสัตว์ ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับสองของก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ (จากสถิติองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกพบว่า การทำปศุสัตว์เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี) ดังนั้นหากมนุษย์เรากินพืชเป็นหลักก็จะช่วยสร้างสมดุลไม่ให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป

Plant-based diet ดีอย่างไรต่อคนกิน

เราก็พอรู้กันมาบ้างแล้วว่าการกินอาหารที่ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดเป็นผลดีกับร่างกาย เพราะมีสารอาหารและกากใยที่ร่างกายดูดซึมไปใช้งานได้ทันที มีผลงานวิจัยของ Dr. Dean Ornish และ Dr. John McDonugall ระบุว่าการกินอาหารพืชเป็นหลักในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง นักวิจัยมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดยังพบว่า ผู้ที่รับประทานผักผลไม้มากกว่าคนทั่วไปจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยลงอีก ทั้งการกินเนื้อสัตว์โดยเฉพาะที่ผ่านกระบวนการปรุงมากๆ เข้า จะมีสาร AGEs เป็นสารเร่งกระบวนการเสื่อมภายในร่างกาย ทำให้เกิดโรคกระดูก หัวใจ รวมถึงอวัยวะภายในต่างๆ

จากข้อสรุปทั้งหมดที่ว่ามาจะเห็นได้ว่าการกินวิถี Plant-based ไม่ได้เป็นการหักดิบไม่กินเนื้อสัตว์ไปเลยทีเดียว ยังสามารถเลือกกินเนื้อสัตว์ได้ (แต่ในปริมาณน้อย) เน้นไปที่การกินผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชให้มาก ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพคนกินแล้ว ยังได้ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นระยะยาวอีกด้วย

KRUA.CO เลยมีสูตรอาหาร plant-based ง่ายๆ มาให้ได้ลองทำกัน โดยสูตรเหล่านี้เป็นสูตรที่ไม่มีเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เลย แต่ถ้าใครอยากปรับให้กินง่ายขึ้นมาหน่อยอาจใส่เนื้อสัตว์ลงไปบ้างก็ได้ เพราะสุดท้ายเราก็อยากใช้ชีวิตแบบมีสุขภาพดีๆ บนโลกที่น่าอยู่ตลอดไปเช่นเดียวกัน

สลัดมะเขือเทศชิกพีกับเพสโต้

สลัดมะเขือเทศเนื้อฉ่ำหวาน ใส่ความมันๆ เค็มๆ ของถั่วแระ ถั่วชิกพี กินกับน้ำสลัดเพสโต้หอมมัน มีเปรี้ยวนิดๆ เพื่อตัดเลี่ยน

บาบากานุช (ดิปมะเขือม่วง)

บาบากานุช หรือดิปมะเขือม่วงของชาวตะวันออกกลาง จิ้มกินกับขนมปังพิตต้า มีเอกลักษณ์ที่กลิ่นหอมของมะเขือม่วงที่เอามาเผา ผสมกับกลิ่นหอมของตาฮินี (Tahini) หรือครีมงา เครื่องปรุงสำคัญในอาหารตะวันออกกลาง เมดิเตอร์เรเนียน และแอฟริกา นอกจากจะเป็นอาหารกินเล่นแล้ว ยังกินเป็นอาหารหลักสำหรับคนกินมังสวิรัติก็ยังได้

แกงกะหรี่ฟักทองกับชิกพี

แกงกะหรี่ฟักทองแบบ vegan คือไม่ใช้ครีมหรือนมสด ใช้รสชาติหวานจากเนื้อฟักทอง หอมใหญ่ และกะทิ ใครเป็นสายมังสะแบบไม่ซีเรียสอาจใส่เนยกับครีมหรือโยเกิร์ตได้ก็อร่อยไปอีกแบบ เพิ่มเนื้อสัมผัสแกงด้วย dumpling ที่ทำจากถั่วชิกพีต้ม

เบอเกอร์เลนทิล

เลนทิลเป็นถั่วเมล็ดแบนโค้ง เป็นอาหารโบราณของมนุษย์ตั้งแต่สมัยยุคหิน อุดมด้วยสารอาหารโดยเฉพาะโฟเลต ไฟเบอร์ และแมกนีเซียม เมนูนี้นำเลนทิลที่ผัดและปรุงรสกับมันฝรั่งมาปั่นให้เป็นเนื้อเดียวกัน ปั้นเป็นก้อนทอด ใช้แทนเนื้อสัตว์ในเบอร์เกอร์ได้อย่างแยบยล

ซุปถั่วขาว

ซุปถั่วขาวใส่ผักหลากหลายชนิด เน้นความหวานธรรมชาติจากถั่วและผัก ใครชอบรสกลมกล่อมนิดๆ อาจเพิ่มอกไก่หรือแฮมลงไปเล็กน้อยก็ได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
https://www.healthline.com/nutrition/plant-based-diet-guide#foods-to-avoid
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/715623

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS