ด้านมืดของ Bento ข้าวกล่องคุณหนู

4,908 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เมื่อความรักจากแม่และการเป็นที่ยอมรับ ถูกวัดระดับผ่านหน้าตาคาวาอี้ของเบนโตะ

สำหรับสาวญี่ปุ่น การทำ ‘เบนโตะ’ หรือข้าวกล่องนับเป็นบทพิสูจน์สำคัญในการทำหน้าที่ศรีภรรยา เพราะนอกจากจะต้องทำข้าวกล่องรสชาติอร่อยถูกปากและถูกหลักโภชนาการให้สามีพกไปกินที่ทำงาน หน้าตาอาหารยังต้องสวยชวนกินเพื่อคุณพ่อบ้านเปิดกล่องข้าวท่ามกลางเพื่อนร่วมงานได้อย่างภาคภูมิว่านี่แหละฝีมือภรรยาฉัน เพราะมันแสดงให้เห็นว่าคุณพ่อบ้านได้รับความรัก ความเอาใจใส่จากภรรยาเป็นอย่างดี และบทพิสูจน์ถัดมาในฐานะแม่ที่ส่งมอบความรักแก่ลูกผ่านเบนโตะอีกกล่องให้ลูกในวัยอนุบาลหรือประถมศึกษาพกไปกินมื้อกลางวันที่โรงเรียน

ในกล่องข้าวที่แบ่งสัดส่วนออกเป็นช่องเล็กช่องน้อยหลายช่อง ประกอบด้วยข้าวและกับข้าวอย่างเนื้อสัตว์ ผักสดหรือผักต้ม ไข่ ปลา เต้าหู้ ผลไม้ เครื่องเคียงอย่างผักดอง จัดให้ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการ และสลับคู่สีอาหารให้ตัดกันอย่างสวยงามเอกลักษณ์นี้ทำให้เราระบุได้แทบจะทันทีว่าเป็นเบนโตะหรือข้าวกล่องของญี่ปุ่น 

แต่สำหรับข้าวกล่องที่ต้องทำให้ลูกพกไปโรงเรียน การแบ่งสัดส่วนและสีสันอาหารให้ดูสวยงามอาจไม่เพียงพอ เมื่อ ‘เคียราเบน’ kyaraben ที่ทับศัพท์มาจากคำว่า Character Bento ในภาษาอังกฤษ ได้รับความนิยมมากในโรงเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษา เป็นข้าวกล่องที่ใส่คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูน ละคร หรือภาพยนตร์ลงไป ด้วยฝีมือของคุณแม่ที่ใส่ไอเดีย บรรจงปั้นแต่งอาหารให้ออกมาหน้าตาเหมือนตัวการ์ตูนอย่างเช่น totoro, hello kitty ได้ข้าวกล่องที่ครบทั้งโภชนาการและความคาวาอี้

เบื้องหลังความคาวาอี้ในข้าวกล่องคุณหนู

เมื่อความคาวาอี้ของคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนที่อยู่ในกล่องข้าว และความสมบูรณ์แบบของเบนโตะตามหลักโภชนาการ ถูกตีค่าเป็นมาตรฐานในการแสดงความรัก ความเอาใจใส่ของผู้เป็นแม่ที่มอบให้ลูก มันจึงแทบจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หากคุณครูเห็นว่ามีเด็กนักเรียนสักคนซื้อข้าวกิน แทนที่จะหิ้วกล่องข้าวมาโรงเรียน หรือเพียงข้าวกล่องไม่ได้ถูกประกอบรูปร่างให้ดูสวยงามน่ารักอย่างที่ควรเป็น เพราะมันอาจหมายถึงความบกพร่อง การละเลยที่จะทำหน้าที่ดูแลเอาใจใส่ในฐานะผู้เป็นแม่ ทั้งยังส่งผลถึงภาพลักษณ์มาตรฐานของโรงเรียนด้วย

นอกจากความคาดหวังของครูที่ทำให้คุณแม่ชาวญี่ปุ่นต้องตื่นแต่เช้าตรู่และอุทิศเวลากว่า 20-45 นาทีในทุกๆ เช้า เพื่อมาประดิดประดอย ครีเอทข้าวกล่องให้สวยงามน่ากิน หรือแม้แต่คุณแม่ที่มีสกิลศิลปะต่ำเตี้ยเรี่ยดินยังลงคอร์สฝึกทำเบนโตะคุณหนูก็คือ ‘ความคาดหวังจากลูกที่มีต่อแม่’ เพราะหากวันใดเปิดกล่องข้าวออกมาหน้าตาไม่น่ารักเหมือนกล่องข้าวของเพื่อนๆ หรือมีเพียงข้าวและกับถูกตักใส่ลงช่องแบ่งก็จะโดนเพื่อนล้อ ดูถูกต่อว่าว่าจน และถูกมองว่าเป็นคนไม่เข้าพวก ลามไปถึงการซุบซิบนินทาในหมู่แม่ๆ ด้วยกันเอง ทั้งเรื่องภาวะการเงินขัดสนหรือเปล่า? หรือความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อ-แม่ของเด็กคนนี้ท่าทางจะมีปัญหา

วันใดที่กล่องข้าวดูขี้ริ้วขี้เหร่ การรีบๆ กินให้หมดหรือหลบไปนั่งกินข้าวคนเดียวเงียบๆ จึงเป็นการปกป้องตัวเองจากการโดนเพื่อนล้อ (สถิติการบูลลี่ในโรงเรียนญี่ปุ่น อันดับหนึ่งเกิดขึ้นในชั้นประถมศึกษา และเป็นเหตุนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ในปี 2017 เด็กชั้นประถมที่ฆ่าตัวตายสืบเนื่องจากการถูกบูลลี่ในโรงเรียนมีถึง 10 คนในจำนวน 250 คนที่โดนบูลลี่ และเลือกที่จะใช้วันแรกในการเปิดภาคการศึกษาเป็นวันลงมือฆ่าตัวตาย) ความกดดันเล็กๆ ที่ดูไม่เล็กสำหรับเด็กประถมจึงก่อตัวเป็นความคาดหวังถึงความสวยงามของกล่องข้าวฝีมือแม่ 

แน่นอนว่าคุณแม่ที่ทำกล่องข้าวได้สวยเป็นที่พึงพอใจของลูกและบรรดาเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ย่อมเกิดความภาคภูมิใจในฝีมือ บางคนจึงอัพภาพลงสื่อโซเชียลเพื่อประกาศให้โลกออนไลน์รู้ถึงความรัก ความใส่ใจอันเกิดจากความมุมานะพยายามของตนที่ทำเพื่อลูก ยิ่งได้รับคำชื่นชมยิ่งมีแรงใจในการครีเอทข้าวกล่องให้สวยขึ้น ทว่าอีกมุมหนึ่งของแม่บางกลุ่มคำยกยอปอปั้นกลับกลายเป็น ‘สมรภูมิประชันขันแข่งเบนโตะ’ ระหว่างแม่ๆ ด้วยกันเอง เพราะคาดหวังคำชมและรู้สึกเหนือกว่าหากข้าวกล่องของตนได้รับความนิยมมากกว่าแม่บ้านคนอื่นๆ ซึ่งนักมานุษยวิทยาถึงกับเรียกพฤติกรรมของแม่บ้านเหล่านี้ว่าเป็นลัทธิหลงตัวเอง Makiko Itoh ผู้เขียนตำรา Just Bento ได้ให้ความเห็นไว้ว่า แรงกระตุ้นทางโซเชียลมีเดียอาจมากกว่าแค่การดึงดูดผู้คนให้สนใจ แต่มันยังสะท้อนการแข่งขันที่มักเกิดขึ้นในหมู่ผู้ปกครองที่มีลูกเล็ก

เบนโตะคุณแม่ ย่อมอัดแน่นด้วยความรักความห่วงใยเป็นพื้นฐาน แต่ในวัฒนธรรมข้าวกล่องโรงเรียนที่สร้างมาตรฐานวัดระดับความรักผ่านหน้าตาของเบนโตะ จึงปะปนด้วยความคาดหวัง กดดัน และกระอักกระอ่วนใจ จนต้องทำตามๆ กันไปในสังคมที่ความแตกต่างเท่ากับไม่เข้าพวก

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS