ด้วย ‘พริกกะเกลือ’ นั้นไม่ใช่อาหารแปลกใหม่อะไร ทั้งยังพบมากมายตามร้านขายผลไม้ริมทาง หรือใกล้ตัวกว่านั้นคือห้องครัวในบ้าน ที่จะมีกระปุกพริกเกลือขวดจิ๋วไว้สำหรับเมื่อเด็กๆ ร้องเรียกอยากกินผลไม้รสเปรี้ยว
ทว่าพริกกะเกลือชนิดที่เราเพิ่งรู้จักนี้ คลับคล้ายกับ ‘น้ำพริก’ เสียมากกว่า เป็นน้ำพริกชนิดแห้ง อย่างน้ำพริกปลาป่น น้ำพริกกุ้งเสียบ ที่คนไทยนิยมเก็บใส่กระปุกไว้คลุกกับข้าวสวยร้อนๆ หรือใช้ห่อเป็นเสบียงยามต้องเดินทางไกลหรือไปเมืองนอกเมืองนา ทว่าพริกกะเกลือพิเศษกว่าตรงเป็นเครื่องจิ้มลักษณะคล้ายน้ำพริก แต่ไม่ปรากฏหน้าค่าตา ‘พริก’ ในส่วนผสมเลยแม้แต่น้อย
ยิ่งเมื่อชิมรสดูก็ยิ่งรู้สึกถึงความแตกต่าง ด้วยพริกกะเกลือตำรับนี้ทั้งหอมและมัน เพราะปรุงจากมะพร้าวคั่วโขลกรวมกับงาและเกลือ (บางสูตรนิยมใช้ถั่วลิสง) เมื่อผสมเข้าด้วยกันจึงได้รสสุดละมุน
คำถามก็คือ แล้วทำไมใครๆ จึงเรียกเมนูนี้ว่าพริกกะเกลือ? เรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปหาคำตอบยังบ้านเกิดของอาหารชนิดนี้ในชุมชนชาวมอญ โดยมีบันทึกระบุไว้ว่า ‘พริกกะเกลือ’ นั้นเป็นตำรับของชาวมอญ กลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ในประเทศพม่า กระทั่งเกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานมายังสยามเมื่อหลายร้อยปีก่อน เมนูพริกกะเกลือก็ติดสอยห้อยตามมาด้วย กระทั่งส่งทอดความนิยมให้กับคนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่เดิม และกลายเป็นอาหารที่หากินได้ทั่วไปในชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่อยไปจนถึงชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่มีอาณาบริเวณใกล้กับประเทศพม่า จึงได้รับอิทธิพลการกินแบบมอญเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรสชาติในชุมชน เรียกได้ว่าตั้งแต่ครัวชาวดอย ครัวชาวบ้าน จนถึงครัวชาววัง ก็ล้วนรู้จักคุ้นเคยกับความหอมมันของพริกกะเกลือกันเป็นอย่างดี
พริกกะเกลือที่ไม่ใช่พริกเกลือ
ส่วนชื่อเรียกพริกกะเกลือนั้น นักมานุษยวิทยาเสื้อชายมอญ องค์ บรรจุน ได้ให้ความเห็นไว้ว่ามี 2 แนวคิดที่ใช้อธิบายเรื่องนี้ หนึ่งคือ เกิดจากกิริยา ‘พลิก’ ระหว่างคั่วมะพร้าวขูดก่อนนำมาโขลกกับงาและเกลือ ที่ต้องตวัดตะหลิวคั่วมะพร้าวอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เนื้อมะพร้าวขูดไหม้ กระทั่งผันเสียงเป็น ‘พริก’ ในที่สุด ทว่ามีอีกแนวคิดหนึ่งที่ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลกว่ากัน โดยองค์ บรรจุน ได้อธิบายในหนังสือข้าวสำหรับมอญความว่า
“พริกกะเกลือ หรือที่คนมอญเรียกกันว่า ‘อะรอจก์เบอ’ นั้นคนมอญเก่าๆ แถวบางขันหมาก ลพบุรี เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนการกินอยู่แร้นแค้น ถึงคราวที่ไม่มีอะไรจะกินกับข้าวก็เอาพริกแห้งคั่ว ตำให้แหลก ใส่เกลือกะเค็มปะแล่มๆ เอามาคลุกข้าวกิน เหลือเก็บเอาไว้กินได้นาน จึงเรียกกันว่าพริกเกลือ ข้อมูลนี้ตรงกับมอญที่โพธาราม ราชบุรี ต่อมาในยุคหลังผู้คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงใส่มะพร้าว ใส่งา ใส่ถั่ว และเลิกใส่พริกเพราะรสชาติไปด้วยกันไม่ได้ แต่คนยังเรียกขานในชื่อเดิมว่าพริกเกลือ”
ผู้เขียนยังสำทับด้วยว่า จากประสบการณ์การเดินทางไปเยือนรัฐมะละแหม่ง เมืองหลวงของรัฐมอญ ในประเทศพม่า ก็ได้พบเมนู ‘อะรอจก์เบอ’ ที่มีส่วนผสมเพียงพริกขี้หนูแห้งย่างไฟแล้วคั่ว โขลกกับเกลือ เป็นอาหารที่ชาวมอญในรัฐมะละแหม่งทำเก็บใส่ขวดโหลไว้กินกันในครัวเรือน เป็นเครื่องจิ้มกับผักสด และคลุกกับข้าว จึงพอจะแน่ใจได้ว่าต้นกำเนิดของพริกกะเกลือนั้นแท้จริงแล้วมีพริกเป็นส่วนผสม ด้วยคำว่า ‘อะรอจก์เบอ’ เมื่อแปลเป็นภาษาไทยก็หมายความถึงพริกและเกลือด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากอาหารมอญตำรับนี้จะแสดงให้เราเห็นถึงความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมที่แผ่ขยายจากการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนในแถบสุวรรณภูมิ พริกกะเกลือยังสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตด้วยอีกทาง ด้วยเมนูมะพร้าวขูดคั่วโขลกกับงาและเกลือชนิดนี้นั้น นับเป็นอาหารสำหรับพกพาของคนในสังคมเกษตรกรรม เมื่อต้องออกจากบ้านเข้าสวน หรือต้องใช้เวลาในท้องไร่ปลายนา นอกจากน้ำพริกแล้ว พริกกะเกลือก็นับเป็นอาหารกินง่าย พกพาสะดวกไม่เลอะเทอะ ลูกเด็กเล็กแดงสามารถร่วมวงกินด้วยกันได้
กว่านั้นยังมีบันทึกระบุไว้อีกว่า พริกกะเกลือนั้นเป็นอาหารยอดนิยมของบรรดาเหล่านายพรานและทหารหาญในอดีต เพราะสามารถยัดใส่กระบอกไม้ไผ่พกพาติดตัวไปได้สะดวก เพียงตักสักช้อนผสมกับข้าวก็อร่อยได้ สำคัญคือมะพร้าวขูดคั่ว และงาหรือถั่วลิสงนั้นเป็นแหล่งพลังงานชั้นดี ช่วยชูกำลังให้กับชายชาตรีได้ดียิ่ง
กล่าวได้ว่าถึง ‘พริกกะเกลือ’ จะไม่ใช่พริกกะเกลือตามแบบที่เราคุ้นเคยกัน ทว่ามันก็เแอบซ่อนอยู่ในครัวไทยมานานหลายชั่วอายุคน เป็นรสชาติที่ทำให้เราเห็นถึงความหลากหลายในแถบสุวรรณภูมิ
อ้างอิง: ข้างสำรับมอญ, องค์ บรรจุน