Found 125 results for Tag : อาหารใต้
น้ำตาลชก น้ำตาลเหนา รสหวานลึกกลางเขาหิน “25 ปี ออกลูกหนึ่งครั้ง และปีที่ 26 ถึงจะได้กินน้ำตาลชก”   ด้วยความสัตย์จริงของคนที่เคยกินลูกชกลอยแก้วเนื้อนุ่ม คล้ายลูกตาล ที่เขาว่า 25 ปีถึงจะออกผลมาให้เรากินสักครั้งและเคยลิ้มรสหวานจากน้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลอ้อย น้ำตาลโตนด เลยออกจะประหลาดใจเมื่อพี่ชาวพังงาบอกว่าจะพาไปดูน้ำตาลชกจนต้องถามย้ำปลายสายอีกครั้งว่า “น้ำตาลชกคืออะไรนะคะ?” “ถิ่นกำเนิดน้ำตาลชก น้ำตกงามตา แหล่งเรียนรู้ศาสนา ภูผาน่าชม” คือคำขวัญของตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ที่เหมือนลายแทงให้เราออกตามหา ทำความรู้จักกับรสหวานของน้ำตาลชกกันถึงถิ่น ชุมชนที่ล้อมรอบด้วยเขาหินขนาดใหญ่ตามธรรมชาติที่ต้นชกอาศัยเติบโต เป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาการเก็บลูกชกและเคี่ยวน้ำตาลที่ถ่ายทอดกันมากว่าร้อยปี ตามบังรีม และยาโกบ จากรัง สองปราชญ์แห่งบ้านคลองบ่อแสน ไปเก็บน้ำตาลจากต้นชก เคี่ยวจนข้นเหนียว หยอดเป็นแว่นหวานที่ในหนึ่งปีจะมีให้เก็บเกี่ยวความหวานเพียง 6  เดือน เก็บน้ำตาลจากต้นเหนาสูงกลางเขาหิน กับวลีลูกฆ่าแม่    ‘ต้นชก’ หรือตามภาษาถิ่นที่คนบ้านคลองบ่อแสนเรียกว่า ‘ต้นเหนา’ คือพืชสกุลปาล์ม ขึ้นตามเขาหิน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20 – 25 เมตร ใช้เวลาเติบโตราว 25 ปีกว่าจะให้ผลเก็บกินได้ในช่วงเดือนตุลาคม และออกผลเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็จะค่อยๆ ยืนต้นตาย ต้นเหนาจึงมีอีกชื่อที่คนท้องถิ่นเรียกว่า ‘ต้นลูกฆ่าแม่’ คือออกลูกเมื่อไรก็นับถอยหลังรอยืนต้นตายได้และปีถัดไปหลังออกผล ในปีที่ 26 จึงจะได้ลิ้มรสความหวานจากช่อดอกเหนา โดยเริ่มเก็บน้ำหวานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายนของทุกปี ไปจนกว่าต้นเหนาจะตายในอีก 4-5 ปี ฟังดูเศร้าๆ นะคะ แต่ 4- 5 ปีนับจากนี้ ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่หอมหวานของต้นเหนาเลยละ เช้าตรู่ที่บ้านบ่อแสน คุณพ่อยาโกบ อดีตนักปีนต้นเหนาที่ละวางจากความสูงหยุดปีนต้นแล้วมาออกแรงเคี่ยวน้ำตาล เล่าเรื่องต้นเหนาขณะพาเราเดินไปดูบังรีมที่มีภารกิจเก็บน้ำตาลเช้านี้ “พอถึงฤดูเดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านก็จะพากันไปเดินดูต้นเหนาว่าออกดอกแล้วไหม ถ้าออกดอกแล้วก็ไปตัดไม้มาทำแคร่ ไว้ปีนขึ้นไปบนต้น เพราะต้นเหนานั้นสูงมาก ก็เอาไม้ไปนวดงวงช่อดอกเหนาให้น่วม โยกงวงไปมา แกว่งไปแกว่งมาให้น่วมก็ตัดดู ถ้ามีน้ำย้อยก็ตัดเอากระบอกไม้ไผ่รองได้เลย ระหว่างตัดงวงเพื่อเอาน้ำหวาน ถ้าผิวงวงขรุขระเพราะคมมีด ต้องใช้  ‘ใบปด’ ที่ผิวใบมีความหยาบคล้ายกระดาษทรายขัด กัดหน้างวงให้เรียบน้ำตาลก็จะไหลได้สะดวก”  ไม่พูดพร่ำทำเพลง บังรีม ปราชญ์นักเก็บลูกเหนาและน้ำตาลเหนา หุ่นลีน เดินด้วยท่าทางกระฉับกระเฉง ผ้าคาดเอวเหน็บมีดด้ามสั้น พาเราลัดเลาะสวนผลไม้ไปไม่ไกล พบเขาหินที่มีต้นเหนาขึ้นอยู่ประปราย บังรีมปีนต้นเหนาที่คะเนจากสายตาแล้วสูงเอาการ เพียงอึดใจมีดสั้นก็ปาดงวงเอาน้ำหวานจนเต็มกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ และค่อยๆ หย่อนกลับลงมา  ... 18.02.2022 Food Story
คิดถึง ‘หมูย่างเมืองตรัง’ ก็ทำเองไปเลย! “เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา”  ขึ้นมาขนาดนี้แล้วก็คงจะเดากันได้ว่าบ้านเกิดของผู้เขียนคือจังหวัดอะไร เรียกว่าเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องของกินจนได้สมญานามว่า ‘เมืองชูชก’ จังหวัดที่กินได้ตลอดเวลาไม่มีวันหลับใหล ‘ตรัง’ นั่นเอง  ที่นี่มีสารพัดสิ่งให้เลือกกิน อยากกินอะไรขอให้บอก โดยเฉพาะอาหารเช้าซึ่งกินกันแบบอลังการงานสร้างมาก  สมัยก่อนเวลากลับบ้านแล้วไปกินอาหารเช้าข้างนอกนั้น ต้องไปตั้งแต่เช้าตรู่เรียกว่าไปในชุดนอนกันเลย (ไม่ต้องบอกนะว่าต้องตื่นตั้งแต่กี่โมง) พอนั่งลงที่โต๊ะ... 26.11.2021 Cooking
‘ค่อมเจือง’ น้ำจิ้มคู่โต๊ะคู่ใจคนตรัง ใครเคยไปเที่ยวตรังแล้วสงสัยมั้ยว่า ทำไมในร้านติ่มซำหาน้ำจิ้มจิ๊กโฉ่ ซอสเปรี้ยวไม่เจอ เจอแต่ซอสสีแดงๆ ส้มๆ ที่ใส่ขวดวางอยู่บนโต๊ะ แล้วก็ไม่เห็นมีโต๊ะไหนขอจิ๊กโฉ่เลย หรือใครลองขอก็อาจจะต้องผิดหวัง เพราะทุกร้านจะมีแต่ซอสสีแดงๆส้มๆ ที่เรียกกันว่า ค่อมเจือง ส้มเจือง หรือว่า กำเจือง เท่านั้น เจ้าซอสเปรี้ยวหรือจิ๊กโฉ่น่ะเหรอ ไม่มีให้เสียหรอก ซึ่งก็เป็นเพราะตรังขึ้นชื่อเรื่องของกินและวัฒนธรรมการกินที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบไม่เหมือนจังหวัดอื่นทางภาคใต้ที่มีคนจีนอาศัยอยู่ เอกลักษณ์นี้เป็นเสน่ห์ทำให้ใครไปเที่ยวก็หลงใหลและรักในอาหารการกินของคนตรัง ค่อมเจืองก็เป็นหนึ่งในซอสเอกลักษณ์ของตรัง ที่คนในท้องถิ่นและคนที่แวะเวียนมาตรังบ่อยๆ คุ้นชิน เหมือนกับผู้เขียนที่เกิดที่ตรังแม้จะมาใช้ชีวิตรอยู่กรุงเทพฯ ก็ยังชินกับการกินค่อมเจืองมากกว่าจิ๊กโฉ่อยู่ดี   คนตรังกินค่อมเจืองกับอาหารแทบจะทุกอย่าง ทั้งกินกับติ่มซำยามเช้า หมูย่าง จาโก้ย (ภาคกลางเรียก ปาท่องโก๋) ส่วนปาท่องโก๋ ของคนใต้นั้นใช้เรียกติ่มซำชนิดหนึ่งเป็นแป้งผสมน้ำตาลนำไปนึ่ง เปาะเปี๊ยะสด เปาะเปี๊ยะทอด กระทงทอง เป็นต้น เรียกได้ว่าทุกอย่างต้องจิ้มกับค่อมเจือง หรือถ้าใครเคยกินเมนูปากหม้อและหูหมู เจ้าน้ำราดสีแดงๆ ก็คือ ค่อมเจืองนี่แหละที่นำมาผสมใหม่ ราดบนเมนูเหล่านั้นเช่นกันและบางครั้งยังเป็นส่วนผสมในการหมักเนื้อหมูเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับหมูย่างเมืองตรังของบางร้านอีกด้วย ค่อมเจืองมีรสชาติที่แตกต่างกันในแต่ละร้าน เพราะว่าแต่ละร้านจะนำไปปรุงรสต่ออีกทีหลังจากที่ได้ค่อมเจืองดิบมาแล้ว โดยค่อมเจืองทำจากมันเทศและถั่วลิสงต้มเปื่อย นำมาโม่แล้วนำไปเคี่ยว ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำส้มสายชู และเกลือ ก่อนที่จะบรรจุขาย แล้วแต่ละร้านก็จะนำไปปรุงให้ได้รสชาติที่ต้องการ ซึ่งรสชาติของน้ำจิ้มค่อมเจืองนั้นก็จะมีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน และเผ็ดเล็กน้อย จึงทำให้เมื่อนำไปกินกับอาหารที่มีความมันจะอร่อยเข้ากันดี บ้านผู้เขียนเองก็มีน้ำจิ้มค่อมเจืองติดตู้เย็นอยู่เสมอ เวลาซื้อขนมจีบ ซาลาเปา หรือปาท่องโก๋มา ก็จะเอามาจิ้มกับค่อมเจืองแทบทุกครั้ง เรียกว่าถ้ากินที่บ้านจะไม่จิ้มกับจิ๊กโฉ่เลย แต่ส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกว่าน้ำจิ้มค่อมเจืองเหมาะกับติ่มซำในแบบฉบับของตรังมากกว่า ถ้าใครเคยไปกินติ่มซำในร้านเก่าแก่ของตรัง จะสัมผัสได้ว่าตัวไส้ของติ่มซำจะมีความเผ็ดร้อนของพริกไทย เนื้อหมูจะแน่น แต่ยังฉ่ำอยู่ พอกินคู่กับน้ำจิ้มค่อมเจืองจึงเข้ากันได้ดีมาก และเข้ากันได้ดีกว่าติ่มซำแบบคนกรุง ที่ใช้ไส้หมูกุ้งผสมอยู่จึงไม่แน่นเท่า พอราดน้ำจิ้มค่อมเจืองไปก็จะออกแปลกๆ สักเล็กน้อย... 10.11.2021 Food Story