ชงชาแบบผู้เชี่ยวชาญ ไม่พลาดกลิ่น รส คุณประโยชน์

6,881 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
3 เคล็ดลับง่าย ๆ สำหรับชงชาให้ได้เหมือนมีกูรูมาชงให้ดื่ม พร้อมข้อมูลน่ารู้ที่จะทำให้คุณรักการชงชามากขึ้นกว่าเดิม

ประเทศอังกฤษอาจไม่ได้โด่งดังเรื่องอาหารการกินมากนัก แต่เวลานึกถึงอังกฤษ นอกจากฟิชแอนด์ชิพที่เป็นอาหารประจำชาติ เชื่อว่าอีกสิ่งหนึ่งที่คนจะนึกถึงก็คือ ‘ชา’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเพณีอาฟเตอร์นูนที (Afternoon Tea) หรือการดื่มชาคู่กับแซนด์วิชในช่วงบ่าย ทั้งๆ ที่ประเทศนี้ไม่ได้ปลูกชาด้วยซ้ำ แล้ววัฒนธรรมการดื่มชาดำใส่นมและน้ำตาลของชาวอังกฤษ มันมาจากไหนกันนะ

ประเทศแรกที่นำชาเข้ามาในทวีปยุโรปคือโปรตุเกส แล้วก็ค่อยๆ ขยายต่อเนื่องเข้าสู่ประเทศอื่นๆ และส่วนหนึ่งที่การดื่มชาเริ่มเป็นที่นิยมในประเทศอังกฤษ ก็เป็นเพราะความสัมพันธ์กับประเทศอินเดีย ที่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั่นเอง

ในช่วงสมัยศตวรรษที่ 18 นั้น ชาถือเป็นเครื่องดื่มของคนชั้นสูง เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูง แต่หลังจากนั้นราคาก็เริ่มตกลงมาเรื่อยๆ ทำใช้ชาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในหมู่ชนชั้นกลางและผู้ใช้แรงงาน บวกกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเข้ามาของชาในรูปแบบซอง ที่ทำให้ใบชาคุณภาพดีจากฟาร์มเล็กๆ ในประเทศจีนหรืออินเดียเริ่มหายไป ทดแทนด้วยชาเกรดต่ำในซอง ที่รสชาติขมจนต้องใส่นมและน้ำตาลมาช่วยให้ดื่มง่ายขึ้น

ใบชาเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในช่วงห้าถึงหกปีที่ผ่านมา เมื่อคนรุ่นใหม่หันมาสนใจและใส่ใจในคุณภาพของอาหารและรสชาติมากขึ้น อาหารการกินไม่ใช่แค่ทำเพื่อการอยู่รอด แต่เป็นความสุขและไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ อีกทั้งหลายคนยังนิยมดื่มชาเพื่อสุขภาพ เพราะชาหลายตัวมีสารต้านอนุมูลอิสระ ชาสมุนไพรบางชนิดก็ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันและช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตาม การมีใบชาคุณภาพดีนั้น ไม่ได้การันตีชาถึงรสชาติกลมกล่อมเสมอไป หลายคนอาจเคยดื่มชาดำหรือชาเขียวที่รสชาติขมจนต้องเติมนมหรือน้ำตาล ซึ่งเป็นผลของการชงชาผิดวิธี เพราะหากชงกันอย่างถูกต้องตามชนิดของชาแล้ว เราจะได้ดื่มเครื่องดื่มที่ทั้งรสชาติดี และมีผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย

หลักการชงชาให้ออกมารสชาติดีสมกับคุณภาพและราคาของใบชานั้น เราเรียนรู้จากการอยู่กับ Rare Tea Co. ว่ามีอยู่ง่ายๆ เพียงแค่สามอย่าง คือปริมาณชาต่อน้ำที่ใช้ชง อุณหภูมิของน้ำที่ใช้ชงชา และระยะเวลาที่ทิ้งชาไว้ในกาก่อนจะเทใส่แก้ว

เริ่มจากปริมาณของใบชาต่อน้ำชากันก่อนเลย ไม่ต่างอะไรกับชงกาแฟ ค็อกเทล หรือทำเค้ก ที่ต้องชั่งตวงวัดส่วนผสมต่างๆ ก่อน การชงชาก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นก่อนชงชาอย่าลืมดูว่าต้องใช้ชากี่กรัมต่อน้ำกี่มิลลิลิตร ชาดำ ชาเขียว ชาขาว ส่วนใหญ่จะใช้ใบชาประมาณ 2-3 กรัมต่อน้ำหนึ่งแก้ว (150 มิลลิลิตร) ส่วนชาสมุนไพรบางชนิด อย่างชามิ้นต์ อาจใช้ใบชาเพียงแค่ 0.5 กรัมเท่านั้น

ต่อมาคืออุณหภูมิของน้ำที่ใช้ชงชา การชงชาไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเดือดเสมอไป เนื่องจากกรดอะมิโนที่อยู่ในชาแต่ละชนิดนั้นมีจุดละลายตัวที่แตกต่างกัน รสชาติหอมหวานของชาเขียวและชาขาวนั้นจะออกมาเมื่อชงในน้ำที่อุณหภูมิต่ำลงมา ประมาณ 70 องศา ใครเคยกินชาเขียวแล้วขม สันนิษฐานได้เลยว่าคนชงอาจจะใช้น้ำที่ร้อนเกินไปมาชงก็เป็นได้ ในขณะที่กลิ่นหอมเข้มข้นแบบคาราเมลของชาดำ ต้องการอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาอีกหน่อย ประมาณ 85 องศา ส่วนน้ำมันหอมระเหยในชาสมุนไพรต่างๆ จะละลายตัวได้ดีในน้ำร้อนจัด เวลาชงก็ใช้น้ำเดือดชงได้เลย

ตัวแปรสุดท้ายของการชงชา คือระยะเวลาที่เราทิ้งชาเอาไว้ในกาน้ำชา ไม่ต่างอะไรกับการอบขนม ที่ถ้าอบนานเกินไปเค้กอาจจะค่อยๆ แห้งไปเรื่อยๆ จนไหม้ ถ้าทิ้งใบชาไว้ในกานานๆ รสชาติก็จะค่อยๆ ขมขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อร่อยไปเอง ถ้าอยากได้รสชาติหอมหวานจากใบชาเพิ่มมากขึ้น แนะนำว่าให้เพิ่มปริมาณใบชา แทนที่จะใช้วิธีทิ้งใบชาแช่ในกาให้นานขึ้น ไม่เช่นนั้นน้ำชาอาจจะออกมาขมจนดื่มไม่ลงเลยก็ได้

พอดื่มชาหมดแล้ว อย่าลืมใช้ใบชาใบเก่า เอากลับมาชงได้อีกรอบ ชาบางชนิดอย่างอู่หลง สามารถชงซ้ำได้ถึง 6 ครั้งเลยทีเดียว ยิ่งครั้งหลังๆ นั้นรสชาติจะกลมกล่อมยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากใบชาส่วนที่ถูกน้ำแล้ว ได้คลายตัวออก เกิดเป็นพื้นที่ให้น้ำร้อนได้เข้าไปละลายรสชาติที่ซ่อนอยู่ด้านในเพิ่มขึ้นอีกนั่นเอง

ภาพโดย: Rare Tea Co.

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS