เกี๊ยวซ่า ทำกินเองอร่อยจัง

1,097 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เกี๊ยวซ่า อาหารใจ (comfort food) ของคนญี่ปุ่น ทั้งซื้อกินและทำเองที่บ้านได้

“สำหรับผม เกี๊ยวซ่าเนี่ยตลกดี เพราะผมไม่เคยทำกินเอง กระทั่งย้ายมาอยู่อเมริกา ตอนอยู่บ้าน (ญี่ปุ่น) ผม eat out เกี๊ยวซ่าย่างยอดนิยมบ่อยๆ เพราะมันเป็นของกินในดวงใจของคนญี่ปุ่น แต่ที่อเมริกา เกี๊ยวซ่าเป็นอาหารคิดถึงบ้านมากที่สุดอย่างหนึ่งของผม จึงต้องลงมือทำกินเอง” 

– Takashi Yaghihashi, Takashi’s Noodles, p.148

ข้างต้นเป็นวาจาของคุณทากาชิ พ่อครัวชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัลเชฟดีเด่น James Beard Foundation เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นฟิวชั่นหลายร้านในอเมริกา และผู้เขียนหนังสือ Takashi’s Noodles (2009) สมัยอยู่ที่ญี่ปุ่นคุณทากาชิไม่เคยทำเกี๊ยวซ่ากินเอง เพราะเกี๊ยวซ่ามีขายทั่วไป ทั้งในร้านราเมง ร้านอิซากายะ ร้านเกี๊ยวซ่าโดยเฉพาะ รวมทั้งเกี๊ยวซ่าแช่แข็งตามซูเปอร์มาร์เก็ต ซื้อกินได้สะดวก อร่อย สนนราคาไม่แพง และเข้ากับไลฟ์สไตล์กินนอกบ้านที่กำลังมาแรง แต่ช้าก่อน! อย่าเข้าใจผิดว่าเกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นเป็นของกินนอกบ้านเป็นหลักมาแต่แรก เพราะแท้ที่จริงเกี๊ยวซ่าเป็นอาหารทำกินที่บ้านของครอบครัวญี่ปุ่นมาก่อนตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อภายหลังเมื่อมีร้านรวงมากมายเปิดขายเกี๊ยวซ่าและธุรกิจร้านอาหารเฟื่องฟูอย่างมากในทศวรรษ 1970s เป็นต้นมา การทำเกี๊ยวซ่ากินเองที่บ้านจึงค่อยลดลง แต่ใช่จะหายจากครัวบ้านเสียหมด 

มาถึงเมืองไทย อันมีร้านราเมง ร้านซูชิ ร้านชาบู และร้านอาหารญี่ปุ่นหลายประเภทให้เลือก eat out นั้น ผมเป็นคนหนึ่งละที่คุ้นเคยกับราเมงคู่เกี๊ยวซ่า เข้าร้านราเมงทีไรก็สั่งเกี๊ยวซ่ากับราเมงอย่างอัตโนมัติ ราวกับว่าถูกวิญญาณญี่ปุ่นเข้าสิงปานนั้น ทำให้คิดเตลิดไปไกลว่า ฤาคนไทยจะกินเกี๊ยวซ่ากันแพร่หลายเสียแล้ว?  ดูท่าจะเป็นอย่างนั้นครับ เพราะเว็บไซต์ Retty บอกมีร้านราเมงแนะนำในกทม. 50 ร้าน อิซากายะ 40 ร้าน นอกจากนั้นยังมีร้านเกี๊ยวซ่าโดยเฉพาะ ที่เว็บวงในแนะนำร่วมกับไลน์แมน 20 ร้านในกรุงเทพฯ  

ด้วยอยากทบทวนความทรงจำว่าเกี๊ยวซ่าน่ะอร่อยอย่างไร ครั้งหนึ่งจึงลองไปกินที่อิจิบัง ร้านราเมงเชน แต่ต้องสะอึกเมื่อถูกลูกสาวคอมเมนท์ว่า “เกี๊ยวซ่าแช่แข็งอย่างนั้นจะอร่อยจังใด” ทว่าส่วนตัวผมก็ว่า “มันพอกิน” นะ จึงสั่งออนไลน์จากร้านกินซ่า เกี๊ยวซ่า มาชิมอีก พบว่า “พอกิน” อีกเหมือนกัน เทียบกับที่ผมทำกินเองตามสูตรของคุณทากาชิ ของผมอร่อยกว่าแน่นอน แต่ไม่มาก แม้ยังจะรอไปชิมเกี๊ยวซ่าที่ร้านราเมงมีชื่อ อีกดื่มเบียร์แกมเกี๊ยวซ่าที่อิซากาวะสักแห่ง แต่ผมก็สรุปในใจไปแล้วว่า เนื่องจากการปรุงเกี๊ยวซ่าอาศัยปากะศิลป์พื้นๆ วัตถุดิบธรรมดา ๆ กินง่าย อร่อย และประหยัดสตางค์ เพดานความเลิศรสของเกี๊ยวซ่าจึงไม่สูง อร่อยต่างกันได้ไม่มาก ทำกินเองที่บ้านน่ะน่าจะอร่อยกว่าอยู่แล้ว เพราะไส้ย่อมปรุงรสได้ตามใจชอบ อีกทั้งมีความสดใหม่ แต่ก็ไม่ถึงกับอร่อยขั้นเทพ วิเศษเหนือเกี๊ยวซ่าตามร้านอย่างแม่นมั่น

อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้าเรื่องทำกินเองที่บ้าน ขอเล่าประวัติเกี๊ยวซ่าโดยสังเขปเสียก่อน gyoza อันญี่ปุ่นอ่าน ‘เกียวซะ’ แต่คนไทยถนัดเรียก ‘เกี๊ยวซ่า’ นั้น ญี่ปุ่นรับมาจากจีนในสมัยเอโดะ(1603-1867) แต่ถูกมองว่าเป็นอาหารจีน คนจีนกิน คนญี่ปุ่นไม่กิน ถึงสมัยเมจิ เขตไชน่าทาวน์มีร้านขายเกี๊ยวซ่าแล้ว หากยังไม่เป็นที่นิยมเช่นเดิม กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ทหารญี่ปุ่นที่ถูกส่งไปยึดครองแมนจูเรียของจีน (1931-1945) รวมทั้งพลเรือนคนญี่ปุ่นที่ไปตั้งตัวที่นั่น ถูกส่งกลับประเทศ เผชิญกับภาวะว่างงาน ปัญหาขาดแคลนอาหาร และความขัดสนอื่นๆ หลังสงคราม โดยเฉพาะ ปี 1946 ชาวญี่ปุ่นยากลำบากมากเหลือเกิน ทหารผ่านศึกบางคนจึงดิ้นรนทำเกี๊ยวซ่าที่ตนเคยกินในแมนจูเรียมาวางขาย ในภาวะขัดสนอย่างมากนี้ เกี๊ยวซ่ากลับได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะช่วงนั้นแป้งสาลีราคาถูกกว่าข้าวมาก อีกไส้ก็เป็นเนื้อหมูผสมผักบรรดามี เกี๊ยวซ่าจึงราคาถูก กินง่าย อิ่มท้อง อร่อยดี กลายเป็นอาหารยอดนิยมอย่างหนึ่งในครอบครัวคนญี่ปุ่นจนปัจจุบัน ผลการสำรวจจานอาหารยอดนิยมในครอบครัวชาวญี่ปุ่น ปี 2002 พบว่าเกี๊ยวซ่าได้รับความนิยมมากเป็นอันดับสามทีเดียว

นอกจากทำกินในครัวเรือนแล้ว เกี๊ยวซ่ายังเป็นจานเคียงของบะหมี่ราเมงในร้านเราเม็ง โดยมักเป็น yaki gyoza ที่ย่างบนกระทะจนส่วนก้นเหลืองกรอบก่อนใส่น้ำนึ่งต่อจนสุกทั่ว อ้างกันว่าวิธีกึ่งทอดกึ่งนึ่งอย่างนี้เริ่มที่ญี่ปุ่นก่อนใคร ร้านราเมงจะเสิร์ฟเกี๊ยวมาจานละห้าหรือหกตัว วางด้านกรอบเหลืองขึ้น พร้อมกับน้ำจิ้มซีอิ๊ว ผสมน้ำส้มข้าว และน้ำมันพริกหรือน้ำมันงา ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีร้านราเมงหลายหมื่นร้านทั่วประเทศ ที่ไหนมีร้านราเมงที่นั่นต้องมีเกี๊ยวซ่าเป็น side dish ถามว่าทำไม? ผมเดาว่าคงเพราะได้อิทธิพลจีนเหมือนกัน ราเมงในญี่ปุ่นมีมานานก่อนเกี๊ยวซ่า แต่เกี๊ยวซ่ามาจับคู่ราเมงภายหลังเมื่อไรไม่ทราบได้

พูดถึงเกี๊ยวซ่ากับร้านราเมงแล้วขอแถมเกร็ดเล็กๆ สักเรื่อง หากสั่งราเมงกับเกี๊ยวซ่าในร้านราเมง เขาจะเสิร์ฟราเมงก่อน อีกสักครู่เกี๊ยวซ่าจึงตามมา ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเขาทอดเกี๊ยวซ่าสำหรับลูกค้าแต่ละคน เรียกว่ายังไม่มีออเดอร์ก็ยังไม่ทอด จึงใช้เวลาเตรียมมากกว่าราเมง ลูกค้าต้องอดใจรอสักนิดหรือไม่ก็ซดราเมงไปพลางก่อน ในญี่ปุ่นครั้งหนึ่งมีเรื่องทะเลาะระหว่างลูกค้าหัวร้อนกับร้านราเมง เรื่องมีว่าลูกค้าสั่งราเมง เกี๊ยวซ่า และเบียร์ โดยกำชับว่า “ขอเกี๊ยวซ่าก่อน” (นัยว่าคงอยากซดเบียร์เย็นๆ ไปกับเกี๊ยวซ่าก่อน) แต่พนักงานกลับเสิร์ฟราเมงก่อน ชายหัวร้อนจึงหงุดหงิดมาก พูดต่อว่าต่อขานแรงๆ จนเป็นเหตุทะเลาะกับเจ้าของร้าน เขาเชิญให้ออกจากร้านก็ไม่ไป นั่งประท้วงยาวนานถึง 3 ชั่วโมง กระทั่งตำรวจต้องมาเชิญไปสงบสติอารมณ์ที่โรงพัก เรื่องนี้ใครถูก ใครผิด ท่านว่าอย่างไร?

นอกจากร้านราเมง เกี๊ยวซ่ายังเป็นเมนูอาหารเรียกน้ำย่อยประจำร้านเหล้าหรือบาร์ Izakaya เดิมที อิซากายะเสิร์ฟสาเกเป็นหลัก มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ คนญี่ปุ่นบางทีเรียก “ร้านโคมแดง” ด้วยอิซากายะทุกแห่งมีโคมแดงแขวนที่หน้าร้าน ปัจจุบัน อิซากายะเป็นร้านจำพวกดื่มและกินที่คนทำงาน โดยเฉพาะประดาผู้ชาย ชอบมาแฮงเอ้าท์ดื่มสาเก เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น พร้อมกับกินอาหารจำพวก appertizers ไปด้วย ซึ่งมีเกี๊ยวซ่ารวมอยู่ด้วย 

สถานที่ eat out เกี๊ยวซ่าในประเทศญี่ปุ่น นอกจากร้านราเมง และอิซากายะแล้ว ยังมีร้านเกี๊ยวซ่าโดยเฉพาะ เมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีร้านเกี๊ยวซ่าอร่อยมากที่สุด คือ อุตสึโนะมิยะ จังหวัดโทะชิงิ (เขตคันโต ไม่ไกลจากโตเกียว) กระทั่งถูกขนานนาม “town of gyoza” ในทางประวัติศาสตร์เมืองนี้เป็นที่ตั้งของกองพลทหารที่เคยประจำการในแมนจูเรียของจีน จึงอาจเป็นเมืองแรกๆ ที่ทหารผ่านศึกทำเกี๊ยวซ่าขาย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญสุดที่ทำให้อุตสึโนะมิยะโด่งดังมากในเรื่องเกี๊ยวซ่า จนกลายเป็นจุดขายการท่องเที่ยวสำคัญคือ นโยบายประชาสัมพันธ์และการตลาดเกี๊ยวซ่าของรัฐบาลท้องถิ่น ร่วมมือกับร้านเกี๊ยวซ่า จัดตั้งสมาคมเกี๊ยวซ่าขึ้น เพื่อกระตุ้นความร่วมมือในการพัฒนารสชาติและความหลากหลายของเกี๊ยวซ่า รวมทั้งจัดเทศกาลเฉลิมฉลองเกี๊ยวซ่าทุกปีในเดือนพฤศจิกายน

แม้รับมาจากจีน แต่เกี๊ยวซ่าญี่ปุ่นก็แตกต่างจาก “เจี่ยว จือ” (jiaozi) หรือเกี๊ยวจีนอย่างสำคัญ แป้งเกี๊ยวจีนจะหนากว่า ไส้ไม่นิยมใส่กระเทียม ปรุงสุกด้วยการต้มหรือนึ่ง มากกว่าวิธี pan fry อย่างญี่ปุ่น ในจีนตอนเหนือซึ่งเป็นแหล่งเกี๊ยวจีน เจี่ยวจือเป็นอาหารมงคลในเทศกาลตรุษจีนมาแต่โบราณกาล แม้ปัจจุบันจะกินได้ในทุกโอกาส แต่หากไม่แพร่หลายกว้างขวางถึงกับเป็น soul food หรือ comfort food อย่างเกี๊ยวซ่าญี่ปุ่น

เกี่ยวกับถิ่นแรกมีเกี๊ยว เคยอ้างกันว่าแรกมีในจีนตั้งแต่สมันราชวงศ์ฮั่น หรือไม่ก็ราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-ค.ศ.906) แต่นักประวัติศาสตร์อาหารส่วนใหญ่มีความเห็นว่าจีนรับเกี๊ยวมาจากพวกชนเผ่าในเอเชียกลางหรือเอเชียตะวันตกมากกว่า เป็นไปได้ว่าจีนรับเจี่ยว จือ มาจากชนเผ่ามองโกล แมนจู และกระทั่งอุยกูร์ มาก่อน หรือตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง พวกแมนจูเองแต่ไหนแต่ไรมาก็กินเกี๊ยวมาก ดังเมื่อเข้าปกครองจีนและสถาปนาราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644 – ค.ศ.1911) ขึ้น จักรพรรดิจีนชาวแมนจู ให้ความสำคัญกับพิธีตั้งสำรับเจี่ยว จือ ในวันขึ้นปีใหม่เทศกาลตรุษจีนมากเป็นพิเศษ

เกี๊ยวซ่าเป็นอาหารใจ (comfort food) ของคนญี่ปุ่นเพราะนิยมกินกันไปทั่ว ทั้งซื้อกินนอกบ้านและทำกินในบ้าน ส่วนตัวผมเชื่อว่า home cooking เป็นเงื่อนไขพื้นฐานของ comfort food ดังกรณีเกี๊ยวซ่าที่ปรุงง่าย วัตถุดิบไม่แพง อร่อย กินอิ่มท้อง ทำแล้วกินไม่หมดวันนี้ แช่แข็งมาทอดกินวันหน้าได้โดยแทบไม่เสียรส และนี่เป็นปัจจัยพื้นฐานที่อะยิโนะโมโตะทำเกี๊​ยวซ่าแช่แข็งออกขายในปี ค.ศ.1972 ขายดิบขายดีอย่างรวดเร็ว แผ่นเกี๊ยวซ่าที่หาซื้อง่ายเป็นอีกปัจจัยช่วยให้ทำเกี๊ยวซ่ากินเองที่บ้านง่ายขึ้น

ผมก็เหมือนกับคุณทากาชิที่ไม่เคยทำเกี๊ยวซ่ากินเองมาก่อน จึงขอเดินตามสูตรของเขาที่เขียนไว้ในหนังสือ Takashi’s Noodles หน้า 148-150  หากนั่นเป็นไส้หมู ผมอยากเสนอไส้ผักด้วยเป็นตัวเลือก จึงใช้ตำรับใกล้เคียงจากอินเทอร์เน็ต สำหรับแผ่นเกี๊ยวซ่า สำหรับมือใหม่หัดทำ ผมแนะนำให้ใช้แผ่นสำเร็จจากฟูจิซูเปอร์มาร์เก็ต อันที่จริงซูเปอร์มาร์เก็ตไทยบางแห่งก็มีขาย ส่วนใครจะลองทำแผ่นเกี๊ยวซ่าเอง ก็ยิ่งดีเพราะได้ความสดใหม่ ผมทดลองทำโดยใช้แป้งสาลีอเนกประสงค์ 3½ ถ้วย เกลือสมุทร ½ ช้อนชา และน้ำเปล่า 1 ถ้วย ผสมและนวดแป้งให้เข้ากันและเหนียวพอดี (ไม่ติดมือ) คลุมผ้าพักไว้ในห้องราว 30 นาที จึงเอามานวด และรีดแป้งเป็นแผ่นบางเฉียบ ก่อนเอาถ้วยหรือปากกระบอกน้ำ (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3½ นิ้ว) กดให้ได้แผ่นแป้งกลม การทำแผ่นแป้งเกี๊ยวซ่านี่บอกอย่างไรก็ไม่เห็นภาพพจน์ ใครสนในควรหาดูในยูทูบนะครับ        

ไส้หมูสับ 

เครื่องปรุง : ก) หมูสับ หมูสามชั้น 250 กรัม สับเป็นหมูบะช่อ ผสมเนื้อหมูบด 350 กรัม ใส่ถ้วยพักไว้ในตู้เย็น ข) น้ำซอสปรุงรส เกลือสมุทร 1 ช้อนชา ขิงแก่ (แง่ง 3 นิ้ว) ขูดละเอียดและบีบให้ได้น้ำขิงสด 1 ½ ช้อนโต๊ะ น้ำสต๊อกดาชิ (หรือน้ำสต๊อกอื่น) ¼ ถ้วย สาเก 3 ช้อนโต๊ะ ซีอิ๊วญี่ปุ่น 3 ช้อนโต๊ะ น้ำมันงาคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ ผสมเข้ากันดีแล้วใส่ถ้วยพักไว้ ค) ผัก กะหล่ำปลี 370 กรัม หั่นแกนทิ้ง ซอยบางแล้วหมักเกลือ ¾  ช้อนชา นาน 20 นาที จึงบีบน้ำออก แล้วสับหยาบ ต้นหอมซอย ½ ถ้วย ผักชีฝรั่งสับละเอียด ¾ ถ้วย กระเทียมสับ 2 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลอ้อย 1 ช้อนโต๊ะ พริกไทยดำป่น ½ ช้อนชา

วิธีทำ : นำเนื้อหมูสับออกจากตู้เย็น นวดจนเหนียวดี ค่อยใส่น้ำซอสที่ผสมไว้ทีละน้อย ลงคลุกเคล้ากับหมูสับจนเข้ากันดี จึงใส่ผักลงคลุกเคล้าทีละอย่าง ตั้งแต่กำหล่ำปลีซอยถึงกระเทียมสับ จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำตาล เกลือ พริกไทยป่น ชิมรสให้ได้เค็มกลมกล่อมตามชอบ นำเข้าตู้เย็นไว้ก่อน

ไส้ผัก

เครื่องปรุง : หลักสำคัญ คือ ผักทุกชนิดต้องหั่นเหมือนกัน ผมใช้วิธีสับหยาบ หรือหั่นเต๋าขนาด 3 มม. ดังนี้ เต้าหู้แข็งห่อผ้าขาวบางทับไล่น้ำ 180 กรัม เห็ดเออรินจิ 70 กรัม เห็ดหอม 30 กรัม กะหล่ำปลี 100 กรัม เตรียมเหมือนกรณีไส้หมูสับข้างต้น แครอท 30 กรัม หอมใหญ่ขนาดกลาง 1 ลูก หอมซอย 3 ต้น กระเทียมสับ 2 ช้อนโต๊ะ แป้งข้าวโพด 1-2 ช้อนโต๊ะ

น้ำซอสปรุงรส:  ซีอิ้ว 1 ช้อนโต๊ะ มิโซะ 2 ช้อนโต๊ะ น้ำมันงา 1 ช้อนชา เกลือสมุทร 1 ช้อนชา พริกไทยขาวป่น 1/3 ช้อนชา ผสมและคนให้เข้ากันในถ้วย

วิธีทำ : ผสมผักทั้งหมดให้เข้ากัน จากนั้นปรุงรสด้วยซอสที่เตรียมไว้ คลุกเคล้าเข้ากันดี ชิมให้ได้รสเค็มตามชอบ จากนั้นใส่แป้งลงคลุกให้ทั่ว หากแฉะเกินให้เติมแป้ง จนไส้ไม่แฉะอีกต่อไป 

ห่อเกี๊ยว แป้งสาลีห่อเกี๊ยวซ่าเป็นแผ่นกลม เส้นผ่านศูนย์กลางราว 3 นิ้วครึ่ง ปริมาณไส้ที่เตรียมไว้ ได้เกี๊ยว 40-45 ตัว (ถนัดขวา) เริ่มด้วยวางแผ่นเกี๊ยวบนฝ่ามือซ้าย ตักไส้ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะวางกลางแผ่น ทาน้ำที่ขอบครึ่งวงกลมส่วนบน พับขอบแป้งหากันเป็นครึ่งวงกลม กดขอบให้ติดกันสนิทเป็นปีก วางส่วนก้นบนพื้น ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งจีบปีกทั้งสองด้าน ของตัวเกี๊ยว 4-5 จีบ ปรับรูปทรงให้ดีก่อนวางพักไว้ ห่อเกี๊ยวจนไส้หมด 

ทอดเกี๊ยว ตั้งกระทะ non-stick บนไฟกลางค่อนสูง ใส่น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ ร้อนพอควรแล้ว เอาเกี๊ยวลงทอดโดยเอาส่วนก้นลงล่าง วางเรียงเป็นแถว แถวละ 5 ตัว 2 แถว หรือมากกว่านั้น ดาดกระทะจนส่วนก้นเหลืองกรอบ (ประมาณ 1-2 นาที) จากนั้นใส่น้ำ ¼ ถ้วย ปิดฝาให้แน่น ลดเป็นไฟกลาง นึ่งต่ออีกประมาณ 3-4 นาที จนกว่าน้ำเหือดแห้งและเกี๊ยวสุกทั่ว เปิดฝาปะพรมน้ำมันงา 1 ช้อนชา ก่อนดาดต่ออีกราว 1 นาที ให้ก้นเกี๊ยวกรอบเหลือง ตักใส่จานเสิร์ฟโดยหงายด้านเหลืองกรอบขึ้น ทอดและนึ่งเกี๊ยวอีกจนหมด หรือเก็บส่วนเหลือในช่องแช่แข็ง วันหลังเอามาย่างใหม่ได้โดยไม่ต้องรอคลายความเย็น อร่อยได้เหมือนเดิม

เกี๊ยวซ่าจิ้มกินกับน้ำจิ้มซีอิ๊วพริก โดยผสมซีอิ๊วญี่ปุ่น ½ ถ้วย กับน้ำส้มข้าว ¼ ถ้วย น้ำมันพริก 1 ช้อนชา และน้ำตาล 1-2 ช้อนชา ทั้งนี้อาจใช้น้ำมันงาและพริกป่นแทนน้ำมันพริกได้ 

ผมทดสอบทำเกี๊ยวซ่าห่อด้วยแผ่นแป้งสำเร็จ เทียบกับแผ่นแป้งทำเอง ฟันธงครับว่าแผ่นแป้งทำเองอร่อยกว่า ได้รสสัมผัสสดใหม่ของแป้ง โดยเฉพาะส่วนก้นอันเหลืองกรอบของเกี๊ยวซ่า กรอบอร่อยจริงๆ แต่สำหรับมือใหม่หัดขับ ไม่แนะนำครับ เพราะลำพังการนวดแป้งการรีดแป้งน่ะ ไม่ง่ายอย่างปอกกล้วยเข้าปาก เกรงว่าจะถอดใจเสียก่อน อดกินเกี๊ยวซ่าย่างแสนอร่อยเสียฉิบ 

Enjoy!

อ่านบทความเพิ่มเติม

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS