รู้จัก ‘ขนมไหว้เทพ’ ที่ Punjab Sweet รสถูกใจทั้งคนและเทพ

9,126 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
เปิดประสบการณ์ ลองกินขนมอินเดียแต่ละชนิด รสชาติความหวานที่ผูกไว้กับความเชื่อ

จำครั้งแรกที่ซื้อขนมอินเดียกันได้ไหมคะว่า ซื้อมากินหรือซื้อไหว้เทพ? 

หลังได้ลองกินขนมอินเดียป๊อปๆ อย่างราสมาลัยกับกุหลาบจามุนไป ก็อยากจะรู้จักขนมอินเดียให้มากกว่านี้ เลยชวนเพื่อนๆ ทั้งสายมูเตลูและสายกินไปเปิดโลกขนมอินเดียพร้อมกันที่ Punjab Sweet ร้านเก่าแก่ขายอาหารและขนมอินเดียย่านวัดซิกข์ พาหุรัด เปิดมานานกว่า 40 ปี เพื่อพูดคุยกับ พี่เอ-พัครวรรณญ์ นารูลา ลูกครึ่งไทย-อินเดีย ผู้ช่วยดูแลร้านมากว่า 9 ปี เล่าเรื่องราวในมุมมองของคนขายขนมที่เห็นทั้งความเปลี่ยนแปลงของรสชาติ สีสัน ความนิยมในฐานะ ‘ขนมหวาน’ กับ ‘ขนมไหว้เทพ’ แรงศรัทธาแบบไทยสไตล์ และแนะนำขนมอินเดียแต่ละชนิดที่กินอร่อย กินสนุก ไหว้ก็ถูกใจเทพ 

ภายในซอยข้างวัดซิกข์​ เมื่อเดินมาถึงหน้าร้านจะเห็นตู้กระจกละลานตาด้วยขนมสีสันสดใส และสภาชาอินเดีย พี่เอพาเราเดินขึ้นไปชั้นสองของร้านแล้วต้อนรับเราด้วย ‘มาซาลาจาย’ ชานมอินเดียอุ่นๆ หอมเครื่องเทศละมุนหวานอ่อน เหมาะกับบรรยากาศดีจริงๆ เหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งในสภาชา 

“คนอินเดียกินชาทุก 3 ชั่วโมงเลยนะ จิบทีละนิด คิดอะไรไม่ออกก็ดื่มชา นั่งว่างนั่งเหงาก็ดื่มชา ขนมกับชานี่มาคู่กันขาดไม่ได้” พี่เอบอกพลางทยอยยกขนมอินเดียมาที่โต๊ะ และก่อนที่เราจะอดใจไม่ไหวหยิบขนมกินหมดจานเลยถามพี่เอว่า ส่วนใหญ่คนไทยนิยมซื้อไปกินหรือซื้อไปไหว้ 

“ช่วงปีแรกๆ ที่มาทำงานที่ร้าน เท่าที่เห็นเลยคือคนไทยซื้อไปไหว้ ไม่ค่อยกิน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องกิน ไหว้แล้วคือจบ บางคนไม่เข้าใจการไหว้ของอินเดีย จริงๆ ก็เหมือนคนไทยนั่นแหละ ขนมไหว้แล้วก็เหมือนของศักดิ์สิทธิ์ ลามากินได้ บางส่วนก็มองว่าขนมมันติดหวาน ฉันไม่กิน แต่เดี๋ยวนี้คนซื้อไปกินพอๆ กับซื้อไปไหว้นะ คนไทยเปิดรับทั้งอาหารและขนมอินเดียมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน รวมถึงความเชื่อด้วย” 

‘อินเดียไหว้ ไทยบนบาน’ กับขนมที่เทพโปรดปราน 

พี่เอมองว่าการไหว้เทพเจ้าฮินดูในเมืองไทยเริ่มมีมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงหนึ่งที่คนไทยส่งลูกหลานไปเรียนภาษาที่อินเดีย จึงรับวัฒนธรรมอย่างคนอินเดียทั้งการกิน ความเชื่อต่างๆ เข้ามาด้วย ประจวบกับสถานการณ์บ้านเมือง โรคระบาดอย่างโควิดที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตบางคนชนิดพลิกฝ่ามือก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนหันมาหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ด้วยเชื่อว่าเทพเจ้าฮินดูนั้นบันดาลสิ่งที่ปรารถนาให้ได้ 

“คนไทยไหว้เทพจริงจังเลยก็ประมาณ 20 กว่าปี พี่ประเมินจากวัดแขกสีลมเป็นหลักนะ ทุกเรื่องอะไรก็แล้วแต่ถ้าใจไม่สบาย มันก็ทำอะไรไม่สำเร็จ แต่ต่อให้ยากแค่ไหนถ้ามีความมั่นใจ สบายใจ มีหลักยึดเหนี่ยว ไปบูชาไปขอพรแล้วเชื่อมั่นว่าถ้าขอพรที่นี่จะสำเร็จแน่ๆ แรงศรัทธาเขามันสร้างความมั่นใจในตัวเขา พอสำเร็จก็ส่งผลให้ความเชื่อทวีคูณขึ้นไปอีก”  

“ส่วนคนอินเดียก็สืบทอดการไหว้กันมาอยู่แล้ว เพราะวัฒนธรรมอินเดียเก่าแก่ยาวนาน มีคติความเชื่อว่า เทพมีสิ่งที่โปรด เราต้องทำอะไรสักอย่างให้เทพโปรดปราน หันมาสนใจ หันมารับคำอ้อนวอนร้องขอ ในเมื่อรู้ว่าเทพองค์ไหนโปรดขนมชนิดไหน เราก็จะถวายเทพองค์นั้น แล้วคนอินเดีย culture เหนียวแน่นมาก ประเพณี การไหว้ การบูชาก็จะส่งทอดยึดถือปฏิบัติกันมา” 

ส่วนผสมในขนมอินเดียหลักๆ คือนมวัว น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลอ้อย แป้งถั่วลูกไก่ ถั่วธัญพืชต่างๆ อัลมอนด์ พิตาชิโอ เครื่องเทศอย่างลูกกระวานในขนมบางชนิด สีสันแตกต่างกันไปและรูปทรงบางชนิดก็สื่อความหมายถึงเทพแต่ละองค์ เราเลยให้พี่เอแนะนำขนมในร้านสำหรับไหว้เทพแต่ละองค์ พร้อมกับลองชิมขนมแต่ละชนิด 

ขนมไหว้พระพิฆเนศ มี ลาดู (Laddu) เป็นขนมทำจากแป้งถั่วลูกไก่ น้ำตาล Coconut Laddu ก็เพิ่มมะพร้าวเข้ามา ปั้นเป็นทรงจีบยอดแหลมคล้ายขนมจีบไทย โมทกะ (Modak) ทำจากแป้งสาลี น้ำตาล นม แต่ถ้าในอินเดียบางท้องที่โมทกะจะใส่ไส้ถั่ว ไส้ไก่เข้าไปด้วย รูปทรงก็แตกต่างกันไปเป็นทรงเกี๊ยวก็มี 

“โมทะกะมีหลายสี แล้วแต่จะเลือกเพราะสีขนมมงคลสำหรับคนอินเดียคือสีแดง เราไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วเทพชอบแบบไหน แต่คนไหว้น่ะชอบ เพราะสีแดงเป็นสีของการแสดงความยินดี ความสุข และในวัฒนธรรมอินเดียสีแดงคือสีไล่สิ่งชั่วร้าย หญิงอินเดียที่แต่งงานแล้วส่วนมากเลยจะชอบใส่สร้อยลูกปัดสีแดง สีเขียว เพื่อรักษาชีวิตสามีให้ยั่งยืน มีความสุข สีแดงก็ขับไล่สิ่งชั่วร้าย” 

ทั้งลาดูและโมทกะรสชาติคล้ายๆ กันคือรสมัน หวาน จากถั่วลูกไก่กวนกับน้ำตาล ตัวที่ใส่มะพร้าวขูดด้วยก็จะมีกลิ่นหอมของมะพร้าวแทรกเข้ามา 

ขนมไหว้พระแม่ลักษมี หลักๆ มี เจราบี บัฟฟี่ ขนมรูปดอกบัว และขนมอะไรก็ได้ที่เป็นสีชมพูเช่น จัมจั้ม (Cham Cham) เป็นแป้งกวนกับน้ำตาล มีสีมพูโดดเด่น 

เจราบี (Jelebi) คือแป้งทอดบีบเป็นรูปกำไล แล้วแช่น้ำเชื่อมฉ่ำๆ ให้ตัวแป้งดูดซับน้ำเชื่อมเอาไว้ เป็นขนมยอดฮิตของคนอินเดียทั้งฮิตกินและนำมาไหว้ขอพรพระแม่ลักษมี เพราะรูปทรงกำไลเปรียบเสมือนตัวแทนเครื่องประดับของพระลักษมี ตัวจาราบีแป้งกรอบกัดแล้วเนื้อฉ่ำหวานชุ่มน้ำเชื่อมเลย เคี้ยวหวานๆ แล้วตบด้วยชาจาย เข้ากันเฉย 

อีกชนิดที่เป็นทรงกำไลเหมือนกันแต่มีขนาดเล็กกว่าคือ อิมาที (Imarti ) เป็นแป้งทอดแช่น้ำเชื่อมเช่นเดียวกับเจราบี แต่จะใส่น้ำมะนาวเข้าไปด้วยตอนบีบขนมทำให้มีรสเปรี้ยแทรกเข้ามา ตัวนี้ฉ่ำไม่แพ้เจราบี แอบชอบมากกว่าเจราบีด้วยซ้ำ เพราะมีรสเปรี้ยวหอมมะนาวปลายๆ ตัดหวาน ตัดเลี่ยนดี 

ถัดมาเป็น บัลฟี (Barfi) ขนมทำจากนมกวน เติมสีสันตกแต่งเช่นสีดำทำจากช็อกโกแลต สีเหลืองส้มทำจากหญ้าฝรั่น สีชมพูทำมาจากมะพร้าวย้อมสีแล้วอัดลงไปบนหน้าขนม บางอันแปะแผ่นเงินเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความบริสุทธิ์ เพราะเป็นธาตุแท้ กาจูบัลฟี่ (Kaju Barfi) ทำจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์กวนกับนมล้วนๆ คำว่ากาจูในภาษาอินเดียหมายถึงเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ขนมชนิดนี้ยังเป็นขนมแสดงความยินดีด้วย หากบ้านไหนมีเด็กเกิดใหม่ก็นิยมหิ้วไปเป็นของขวัญของฝาก และซื้อฝากญาติผู้ใหญ่ในเทศกาลต่างๆ 

รสชาติบัลฟี่จะมัน หอมนมเป็นพิเศษ เหมือนกินนมอัดเม็ดมันๆ หวานๆ แต่หวานน้อยกว่านมอัดเม็ดนะ ส่วนตัวกาจูบัลฟีที่ทำจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ก็ยิ่งเพิ่มความมันจากถั่วทวีคูณเข้าไปอีก อ่อ บัลฟีอันที่มีแผ่นเงินแปะบางคนเคี้ยวโดนแผ่นเงินแล้วก็แอบเสียวฟันนิดๆ 

นอกจากไหว้พระแม่ลักษมีขนมบัลฟี่ก็ยังใช้ไหว้เทพได้ทุกองค์รวมถึงพระพรหมด้วย

ถัดจากขนมเฉพาะสำหรับเทพแต่ละองค์แล้วก็ยังมี กุหลาบจามุน (Gulab Jamun) ทำจากนมกับแป้งปั้นเป็นก้อนกลมๆ ทอดในเนยกีแล้วนำไปแช่ในน้ำเชื่อมปรุงด้วยน้ำดอกกุหลาบ ลูกกระวาน ไหว้ได้ทั้งพระศิวะ พระแม่อุมา พระพิฆเนศ พระพรหม ได้หมด กุหลาบจามุนของร้านปัญจาบจะมีสองสีคือสีน้ำตาลกับดำ สีน้ำตาลจะนุ่ม ฉ่ำน้ำ แต่ถ้าเป็นสีดำที่ทอดในน้ำเชื่อมให้นานขึ้น รสสัมผัสจะกรึบๆ หน่อย ข้างในยังฉ่ำน้ำเชื่อมเหมือนกัน อยู่ที่ว่าใครชอบเทกเจอร์แบบไหน 

ที่ร้านจะเสิร์ฟสองแบบคือแบบแห้งกับแบบราดน้ำเชื่อมกินอุ่นๆ กุหลาบจามุนที่นี่หอมนมฉ่ำน้ำเชื่อมแต่รสชาติหวานน้อยกว่าร้านที่เราเคยไปกินแบบรู้สึกได้

ทีนี้ก็รู้แล้วว่า ตามความเชื่อเทพองค์ไหนโปรดปรานขนมชนิดไหน แต่ที่สงสัยคือคนอินเดียกับคนไทยไหว้เทพเหมือนกันไหม มีบนบานศาลกล่าวขอร้องให้สิ่งศักสิทธิ์ช่วยเหลือเหมือนกันหรือเปล่า?

“คนไทยไหว้เทพแบบบนบานก็มี เอาถาดใหญ่มาให้ที่ร้านเลย บอกจัดมา ขนมกี่ลูกกี่ชิ้นก็แล้วแต่หยิบมาให้เต็มถาด กี่บาทก็ไม่ว่า บางคนก็ไปบนขนมลูกใหญ่ๆ มาสั่งร้านเราให้ทำโมทกะลูกละ กิโลฯ 30 ลูกก็มี สงสารคนปั้นเลย ฮ่าๆ แต่ก็รับทำนะ 

“ส่วนอินเดียแท้ไม่มีบนบานศาลกล่าว มีแต่บูชาเทพหรือบูชาเทพประจำวัน แต่คนอินเดียเดี๋ยวนี้บางคนก็หันมาดูเรื่องฮวงจุ้ยแล้วเหมือนกัน เรารู้สึกว่า เออ โลกมันแคบเนอะ ฮ่าๆ เพราะข้ามถนนไปฝั่งโน้นก็เยาวราชแล้ว พอเราอยู่ด้วยกันอยู่ใกล้กันมากวัฒนธรรมมันก็กลืนรวมกันแล้ว”

(ลด) หวานในขนมอินเดีย 

หนึ่งในสาเหตุที่ขนมอินเดียหวาน เพราะในอาหารอินเดียไม่มีน้ำตาลแม้แต่นิดเดียว วัฒนธรรมการกินอาหารอินเดียจะแยกคาวกับหวานขาดกันสิ้นเชิง หวานคือหวาน คาวคือคาว อาหารอินเดียมีแค่รสเผ็ด เค็ม เปรี้ยวเท่านั้น เวลากินอาหารคาวเสร็จเลยตบด้วยขนมหวาน แล้วก็หวานจริง 

แต่ด้วยความที่ร้านทำขนมขายทั้งคนอินเดีย คนไทย จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนลดปริมาณความหวานลง เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงขนมอินเดียได้ แม้แต่กับคนอินเดียเองที่อายุมากขึ้นและมีปัญหาเรื่องกินขนมหวานก็ยังกินได้ โดยที่ร้านยังคงส่วนผสมและวิธีการทำขนมอินเดียดั้งเดิมโดยช่างทำขนมชาวอินเดียไว้ 

“เคยได้ยินใช่ไหมว่าขนมอินเดียนี่หวานขึ้นตา แต่ด้วยยุคสมัยมันเปลี่ยน คนเฒ่าคนแก่ที่เป็นคนอินเดียเลยก็ยังอยากกินขนมอินเดียอยู่แต่สุขภาพเขาไม่ไหวแล้ว นายห้างเข้าใจจุดนี้จึงปรับลดปริมาณความหวานลง พี่กินมาตั้งแต่เด็กยังรู้เลยว่าหวานลดลง คือจากเดิม 100 ลดลงไป 30 เหลือหวาน 70 แต่ความหอมของเครื่องเทศ ความหอมของนมสดยังคงอยู่”

คนที่เคยกินขนมอินเดียมาบ้างคงรู้สึกได้ถึงความหวานของขนมที่ร้านปัญจาบสวีทว่าหวานน้อยกว่าที่อื่นๆ อยู่ แต่ถ้าไม่เคยลองกินขนมอินเดียเลยสักครั้ง พี่เอแนะนำให้เริ่มลองจากขนมที่หวานน้อยก่อนแล้วค่อยไต่ระดับไปรับรสหวานแบบเต็มขั้น เช่น มิลล์เค้ก (Milk cake) ในจานนี้ หอมนม มัน หวานอ่อนๆ อร่อยและกินเพลินมากจนอยากจะกินอีกสักสองชิ้นแต่ติดที่ขนมอื่นๆ ยังรอให้ชิมอยู่ 

ถัดมาคือขนมป๊อปๆ อย่าง ราสมาลัย (Rasmalai) คือเคิร์ดของนมเทกเจอร์แน่น นุ่มฟู พี่เอเล่าว่าที่ร้านจะเอาเคิร์ดนมไปแช่ในน้ำเชื่อมที่มีน้ำกุหลาบ เฮิร์บต่างๆ ผสมอยู่ พอแช่จนชุ่มแล้วก็บีบให้แห้ง แล้วเอาไปแช่ในน้ำนมสดที่ต้มกับพิตาชิโอ กระวานจนเข้าที่ แช่จนตัวเคิร์ดชุ่มน้ำนม พอได้ลองกินแล้วตัวราสมาลัยเทกเจอร์แน่นแต่นุ่มฟูฉ่ำน้ำนมดีมากจริงๆ ในเนื้อจะมีพิตาชิโอ้สไลซ์แทรกอยู่ให้ได้เคี้ยวด้วย น้ำนมหอมกลิ่นนมมาก มีกลิ่นกานพลูจางๆ กินเย็นๆ แล้วสดชื่นมากค่ะ  

พี่เอกระซิบว่า ราสมาลัยไม่ใช่ขนมไหว้เทพแต่เป็นขนมไหว้แม่ คือซื้อไปฝากแม่ที่บ้านนี่ละค่ะ รับรองถูกปากถูกใจแน่นอน ยกให้เป็นนางเอกของขนมอินเดียเลย 

ถึงขนมที่ร้านจะปรับลดปริมาณความหวานลงแล้ว แต่กินทุกชนิดบนโต๊ะภายในวันเดียวก็เหมือนฉีดน้ำตาลเข้าเส้นกันมาทั้งปี ไม่มีใครเขาทำกัน—เลยต้องจัดชาแก้วที่สองมาล้างหวาน ล้างปากตามคำแนะนำของพี่เอ  

“อินเดียจิบชาทั้งวัน กินขนมก็ต้องดื่มชาคู่กันเพราะในชามีขิงสด ลูกกระวาน กานพลู ตัวนี้แหละเป็นสมุนไพรปรับระดับน้ำตาลในเลือด คนอินเดียเป็นเบาหวานน้อยมาก เพราะพอกินอะไรหวานๆ ก็ดื่มชาเข้าไป มันจะปรับระดับความหวานให้อัตโนมัติ”

ใครอยากลองกินขนมอินเดียอร่อยๆ ราคาย่อมเยาเริ่มต้นที่ 10 บาททำโดยช่างอินเดียใช้วัตถุดิบดี หรือหาขนมไว้สำหรับไหว้เทพแนะนำมาที่ Punjab Sweet ได้ค่ะ พี่ๆ ที่ร้านยินดีให้คำแนะนำ นอกจากนี้ที่ร้านยังขายอาหารอินเดียและมีโซนขายขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอินเดีย เครื่องเทศต่างๆ สำหรับทำอาหารอีกสารพัดให้เดินเลือกดูกันได้ค่ะ

ร้านเปิดทุกวัน เวลา 8:30 น. – 18:30 น.
ร. 02 222 6541
Google map: https://goo.gl/maps/8LVGsLaodfzDtPPE6

 

อ่านบทความเพิ่มเติม 

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS