กฤช เหลือลมัย: ต้องไทยแค่ไหนจึงจะใช่รสไทยแท้?

7,202 VIEWS
PIN

image alternate text
image alternate text
ในโลกนี้มีอะไรเป็นไทยแท้ ของไทยแน่นั้นหรือคือ ‘อาหาร’? - การนิยามตัวตนของอาหารไทย ผ่านมุมมองของนักเขียน นักทำ และนักกินผู้แสนจริงจัง (กับเรื่องเล่นๆ)

หากจะพูดถึงใครสักคนที่จริงจังกับอาหารการกินมากที่สุด สำหรับนักอ่านหลายคน ชื่อของ ‘กฤช เหลือลมัย’ น่าจะถูกลิสต์ขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ

ในบทบาทของคอลัมนิสต์ กฤช เหลือลมัย คือชื่อหนึ่งที่เราซูฮกมุมมองด้านสังคมวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ หนักแน่นแต่ล้อเลียนอยู่ในทีแบบคนที่มักพูดเล่นเรื่องจริงจัง ส่วนในฐานะนักทำและนักกิน เห็นได้ชัดว่าเขาคืออีกคนที่มีความสุขจริงจังกับการทำอาหารเล่นๆ

วันหนึ่งท่ามกลางแดดบ่าย เราสบโอกาสได้เข้ามาหลบร้อนที่ชั้นล่างของบ้านขนาดกะทัดรัดหลังหนึ่งในย่านบางแค ครึ่งหนึ่งของบ้านเป็นพื้นที่ของหนังสือ ที่เหลืออีกครึ่งเป็นพื้นที่สำหรับทำครัว ต่อหน้าเราคือกฤช เหลือลมัย – ตั้งใจมาคุยเล่นกับเขาในเรื่องจริงจัง

กฤช เหลือลมัย เป็นใครมาจากไหน ทำไมต้องสนใจเรื่องอาหาร?

เป็นคนราชบุรีโดยกำเนิดครับ แต่ว่ามาเรียนจบที่คณะโบราณคดี ศิลปากร แล้วก็ทำงานอยู่วารสารเมืองโบราณ จนกระทั่งลาออกมาเมื่อสัก 4-5 ปีที่แล้ว ตอนนี้เลยเป็นชายวัยเกษียณอยู่บ้าน (หัวเราะ) ตอนแรกก็นึกว่าจะได้มาอยู่บ้านสบายๆ แต่ว่าพอมาอยู่บ้านแล้วก็ได้ทำกับข้าวกินเอง ก็พบว่า แย่แล้ว เราค้นพบสิ่งใหม่ที่เราสนใจอีกแล้ว

คือจริงๆ ก็สนใจเรื่องอาหารมานานแล้วนะ ตอนอยู่ราชบุรีแม่ก็ทำกับข้าวให้กิน เราก็เหมือนคนจำนวนมากในประเทศนี้ที่ติดรสอาหารฝีมือแม่ กับข้าวที่บ้านส่วนใหญ่ก็เหมือนชาวบ้านทั่วไปแหละครับ แต่แน่นอนมันก็มีบางอันที่ไม่เหมือนคนอื่น

อย่างที่บ้านจะมีผัดอย่างหนึ่งที่ไม่รู้ว่าแม่ผมเอามาจากไหน เขาเรียกมันว่าผัดพระราม ที่เรียกแบบนั้นเพราะมันสีเขียว เป็นผัดพริกแกงที่ใช้พริกขี้หนูสีเขียว พริกชี้ฟ้าสีเขียว ถ้ามันไม่เขียวก็เอาใบพริกตำใส่เข้าไปอีก แต่ว่ามันจะไม่มีข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด มีหอม กระเทียม พริก กะปิ แค่นั้นแหละ กลิ่นก็จะสดๆ หน่อย ผัดกับน้ำมันก็ได้ หรือผัดกับกะทิที่เคี่ยวจนเป็นขี้โล้ก็ได้ แต่สิ่งที่แปลกก็คือเขาจะใส่ใบกะเพรากับใบผักชีอย่างละครึ่ง

มันจะคล้ายๆ อาหารโบราณสูตรหนึ่งที่ชอบมีอยู่ในตำรากับข้าวเก่าๆ ก็คือผัดพระอินทร์ แต่ผัดพระอินทร์จะไม่ใส่กะเพรา ใส่ผักชีอย่างเดียว ตำผักชีลงไปในเครื่องแกงเลย ผมเชื่อว่ามันจะต้องมาจากพวกแกงกูรหม่า เพราะมันคล้ายกันมาก พอพยายามถามเขาว่าเขาเอามาจากไหนเนี่ย เขาก็บอกว่าไม่รู้สิ จำไม่ได้ เป็นความลับดำมืด

คิดว่าเมนูของบ้านอื่นๆ ก็คงมีแปลกๆ ประมาณนี้เหมือนกัน ซึ่งของแบบนี้ยิ่งแล้วเลย มันหากินที่ไหนไม่ได้ ทีนี้พอเราเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เราก็เลยต้องทำ พยายามจำว่ามันทำยังไง แล้วก็มาแกะทำกินเอง แต่ก็ไม่ได้ทำอาหารเป็นจริงเป็นจังนะ

พอออกมาอยู่บ้าน ก็เลยได้ทำอาหารกินเอง แล้วก็ค้นพบว่า เห้ย มันสนุกดีว่ะ ได้ทำอย่างที่เราอยากกิน เลือกรสชาติเลือกวัตถุดิบได้ ก็เลยนำพาไปสู่ความสนใจของเรื่องวัตถุดิบอาหาร เรื่องที่มาของอาหาร เลยเถิดไปถึงการไปดูแหล่งผลิตอาหาร ไปดูตามตลาดสดต่างจังหวัดที่มีของแปลกๆ ขาย ถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะเดินทางไปดูวัดวาอาราม โบราณสถาน ตามหน้าที่ที่เคยทำอยู่ แต่ทุกวันนี้ผ่านวัดก็ไม่ค่อยเข้าไปดูแล้ว ไปตลาดแทน (หัวเราะ)

เห็นคุณเขียนถึงอาหารจริงจังแทบทุกมื้อเลย มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า

ที่เขียนๆ ลงในเฟซบุ๊กทุกวันนี้เหรอ? มันเป็นอุบายส่วนตัวว่าอยากให้คนไทยสนใจวัตถุดิบที่มาทำอาหารมากกว่านี้ เพราะผมรู้สึกว่าเขาไม่ค่อยสนใจ เลยต้องมีลูกล่อลูกชนในทุกวิถีทาง ซึ่งจริงๆ ครัวบ้านไหนมันก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้นแหละ ใช่ไหมครับ กะปิมาจากคลองโคน น้ำปลามาจากชลบุรี เพียงแต่ว่าเราอาจจะลืมๆ ไปบ้าง

ที่มาของสิ่งที่เรากินมันสำคัญนะ ถึงแม้คุณจะไม่ได้ทำเองก็ตาม แต่ถ้าคุณเป็นคนที่คิดถึงเรื่องสุขภาพ คิดถึงเรื่องคุณภาพอาหาร ถ้าเราแน่ใจได้ว่าของที่คนคนนั้นทำให้เรากิน หรือร้านนี้ทำให้เรากิน เป็นของที่มาจากที่นั่นที่นี่ ซึ่งมันมีผลหลายๆ แง่มุมเลย

โดยรสชาติมันก็แตกต่างกันแล้ว เอาง่ายๆ อย่างน้ำปลานี่เรื่องสำคัญเลย เพราะว่าถ้าเป็นน้ำปลาที่ขายตามห้างสรรพสินค้าหรือว่าร้านขายของชำ ถึงแม้จะเป็นเกรดดีก็ตาม ส่วนใหญ่มันก็จะทำมาจากโรงงานใหญ่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าก็ผ่านอย.แหละ แต่มันก็มีส่วนผสมที่คล้ายๆ กัน รสชาติใกล้ๆ กัน มีการปรุงแต่งด้วยเกลือปรุงรสทั้งสิ้น มีแต่งสีแต่งกลิ่น มีสารเพิ่มความหนืด หรือบางทีก็จะใส่น้ำตาลเยอะ

อย่างผมเป็นคนที่ชอบกินน้ำปลาเค็มๆ แล้วก็ชอบน้ำปลาที่มีกลิ่นปลาเยอะๆ ถ้าในกรุงเทพฯ ไม่มีให้กินอยู่แล้ว เราก็ต้องไปหาตามแหล่งที่เขาทำ เช่นที่ชัยนาท มันก็มีบ้านที่ทำน้ำปลาปลาสร้อยดีๆ ซึ่งพอไปคุยกับเขาเนี่ย ชัวร์เลย เขาหมักแค่ปลากับเกลือ อย่างมากก็มีสับปะรดอีกอย่าง ต้มโดยไม่ใส่เครื่องปรุงรสด้วย ก็ชัวร์แล้วว่าจะได้รสชาติอย่างที่เราต้องการ คือน้ำปลาที่มีกลิ่นปลาแรงๆ หอมๆ

น้ำปลาเจ้าหนึ่งที่ผมไปดูที่กงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เขาก็บอกว่าเร็วๆ นี้อาจจะเลิกแล้วก็ได้ เพราะเขาเอาปลามาจากแม่น้ำยม แม่น้ำยมน่าจะเป็นแม่น้ำเดียวมั้งในสี่สาย ที่ยังไม่มีเขื่อน เราก็ถามว่าเนี่ยจะทำอีกนานแค่ไหน เขาก็บอกว่าจริงๆ ก็ยังอยากทำไปเรื่อยๆ นะ แต่เมื่อใดที่เขาสร้างเขื่อนนี่จบแน่นอน เพราะปลามันก็จะน้อย ลักษณะการมาตกคลั่กของปลาสร้อยเยอะๆ ในน่านน้ำมันจะไม่มีแน่ๆ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปทำน้ำปลาผสม เพราะฉะนั้นการกินของเราชักจะเริ่มมีประเด็นเกี่ยวพันไปถึงประเด็นอื่นๆ แล้ว เรื่องทรัพยากร เรื่องสิ่งแวดล้อม

เป็นเพราะคุณทำงานด้านประวัติศาสตร์และสังคมด้วยไหม ถึงเห็นอาหารผ่านมุมมองแบบนี้

ผมก็ไม่ค่อยอยากยกประโยชน์ให้วิชาประวัติศาสตร์ในประเทศนี้นะ ขอยกประโยชน์นั้นมาที่ตัวเองดีกว่า (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องอาหาร เราไม่มีวิชาประวัติศาสตร์อาหารด้วยซ้ำ มันจะออกไปทางสูตรอาหาร หรือแบบที่มุ่งรักษาสูตรเก่าในวังเอาไว้ แต่ว่าการทำความเข้าใจเรื่องอาหารแต่ละระดับของชาวบ้านก็ดี เรื่องวัตถุดิบอาหารก็ดี ไม่มี หรือว่าแม้แต่มานุษยวิทยา ก็ไม่มีภาควิชามานุษยวิทยาอาหารที่ไหนเลย

ที่ร้ายกว่านั้นที่ผมรู้สึกว่าผมพูดบ่อยจนน่ารำคาญ ก็คือว่าประเทศเราไม่มีพิพิธภัณฑ์อาหาร มันประหลาดไหมล่ะ ประเทศที่อยากเป็นครัวโลกจนตัวซีดตัวสั่น แต่ไม่มีพิพิธภัณฑ์อาหาร ไม่มีที่ซึ่งสามารถทำให้คนที่เดินเข้าไปแล้วรู้ว่าอาหารคืออะไร อาหารไทยคืออะไร

ถ้าอย่างนั้น สำหรับคุณแล้วรสชาติอาหารไทยคือแบบไหน

ผมก็ต้องถามว่าไทยของที่ไหน ประเทศไทยเรายาวนะและกว้างด้วย แล้วทุกที่ก็เป็นเมืองไทย ถ้าเราจะพูดว่าอาหารไทย อาหารไทยที่ไหนล่ะ อาหารไทยที่เบตง อาหารไทยที่แม่ฮ่องสอน อาหารไทยที่กาฬสินธุ์ ไม่เหมือนกันเลย แต่ทำไมพอนึกถึงอาหารไทยเรานึกออกแต่อาหารในวัง แถมยังต้องเป็นวังภาคกลางด้วยนะ

หรือคุณลองไปดูตำราอาหารอีสาน ทันทีที่คุณนึกถึงตำราอาหารอีสาน ในเมืองไทยก็จะผลิตภาพอาหารลาวขึ้นมาทันที จะมุ่งไปที่ก้อย ป่น ลาบ อ้าว แล้วอีสานไม่มีเขมรเหรอ อาหารสุรินทร์ล่ะ กบยัดไส้ อังแก๊บบอบ อาหารส่วย ไม่มีที่อยู่ในตำราอาหาร ส่วนตำราอาหารใต้ก็จะมีแต่นครน่ะ มีแต่แกงไตปลา (ทำสำเนียงทองแดง) แต่ก็จะไม่มีอาหารบ้าบ๋า ย่าหยา ไม่มีอาหารจีนอยู่ในนั้น อาหารเหนือนี่ยิ่งแล้วเลย ก็จะมีแต่น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม แกงฮังเล จบ

ถ้าเราอยากพูดถึงอาหารไทยแค่แบบหล่อๆ นะ บอกว่าอาหารไทยต้องมีรสชาติกลมกล่อม มีกะทิ อะไรแบบนี้ พวกอุบลฯ ก็นั่งค้อนอยู่ไกลๆ เลย อะไรของแกวะ เราก็นิยามด้วยความเข้าใจแคบๆ ของเราไม่ได้ แต่ละคนก็มีพื้นฐานต่างกันอีก พูดมาปั๊บ เกิดคุณดัง คนก็เชื่อคุณ อ้าว แล้วที่เหลือล่ะ ไม่ใช่อาหารไทยเหรอ

โอเค ในแง่หนึ่งมันก็เป็นความจำเป็นว่าคนอื่นมองเราอย่างไรด้วย เพราะภาพแบบนั้นมันดันขายได้ เราก็เลยต้องเก็บภาพตรงนั้นไว้ เพื่อให้เราได้เงิน ผมก็พอจะเข้าใจตรงนั้น เพียงแต่ว่ามันมีคนพูดแบบนั้นเยอะแล้วไง เราไม่พูดแบบนั้นได้ไหม ขอพูดแบบอื่นๆ บ้าง เพราะอาหารมันก็มีนิยามของมันเอง ซึ่งทำให้คนที่สร้างนิยาม คนที่ใช้นิยาม ได้ประโยชน์

ถ้าอย่างนั้นเราขีด ‘เส้นมาตรฐาน’ ของความเป็นไทยขึ้นใหม่ เขียนเป็นตำราเลย แบบนี้ไม่ดีหรือ

ไม่นะ ผมคิดว่าการมีตำรามันจะเป็นปัญหาอีกด้านหนึ่งด้วยซ้ำไป มันทำให้คนบางคนซึ่งเห็นลู่ทางการสร้างตัวตน การหากิน กอดตำราพวกนี้ไว้แล้วบอกว่านี่ไงของแท้ แม่ฉันเขียน แกอย่าทำอย่างอื่น ถ้าไม่เหมือนนี่ แกผิด แกไม่แท้ แกไม่เก่า ไม่ดั้งเดิม เพราะในอีกแง่หนึ่ง พวกหลักฐานที่เป็นเอกสารมันทำหน้าที่กีดกันคนอื่น ถ้าเราใช้มันไม่ถูกวิธี บางทีการเล่าๆ กันมา แล้วปรับเปลี่ยนสูตรไปในแต่ละช่วงอายุคนเสียอีก ที่มันทำให้อาหารมีพลวัต มีการเปลี่ยนแปลง

อย่างเช่นส้มตำที่มักจะอธิบายกันว่าเอามาจากคนอีสาน แต่ว่าส้มตำไทยเนี่ย ทางภาคกลางก็น่าจะกินกันมาเป็นร้อยปีแล้วนะ มีสูตรส้มตำเก่าๆ เยอะเลย แถวสมุทรสงคราม สมุทรสาคร

ผมว่าอาหารตำๆ แบบนี้มันก็คงตำกินกันทั่วแหละ ถ้าคุณมีครกไม้หรือครกดินเผาอยู่ มันเกิดขึ้นได้ทุกที่อยู่แล้ว อย่างที่คุณสุจิตต์ (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ตอนแรกมันคงไม่ใช่มะละกอหรอก มะละกอมันก็เพิ่งมาในช่วงอยุธยาปลายๆ นี่เอง มาจากที่อื่น แต่ของเดิมที่มีอยู่อย่างเช่นสมอ หรือพวกแตงพื้นเมือง ก็คงถูกเอามาตำกินนานแล้วแหละ ก็เรียกมันว่าตำอ่ะ ตำอะไรก็ได้

คิดดูว่าบ้านแม่ผมที่อัมพวาเนี่ย ประหลาดมาก ตำส้มตำ แต่ใส่ปลาทูด้วย ลองนึกภาพดูมันก็จะเขละๆ อยู่ในครก ใส่กล้วยดิบด้วยนะ ใส่น้ำมะขามเปียก ใส่มะนาวหั่นเป็นชิ้นๆ คือมันมีลักษณะร่วมอยู่ แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แม่กลองปลาทูเยอะใช่ไหม ก็จับใส่เข้าไป ซึ่งก็จะมีลักษณะเฉพาะตามถิ่นของเขา แต่จะมีลักษณะร่วมก็คือตำในครกแล้วก็มีมะละกอ

หรือยกตัวอย่างเรื่องผัดไทย บางทีมันก็ถูกอธิบายว่าจอมพล ป. คิด แต่ผมก็เขียนไว้หลายที่แล้วว่าไม่ใช่ จอมพล ป. ไม่เคยทำเรื่องนี้เลย เขาทำแต่เรื่องก๋วยเตี๋ยว แล้วขณะเดียวกัน พอมันมีชื่อนี้ขึ้นมา ที่อื่นก็เอาชื่อนี้ไปใช้ เคยคุยกับเพื่อนที่มหาสารคาม เขาก็บอกว่าที่บ้านเขาทำขายมาตั้งนานแล้ว แต่เมื่อก่อนเขาเรียกคั่วหมี่ พอผัดไทยมันดังขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2500 เขาก็เรียกผัดไทย มันมีการเปลี่ยนแปลง ฉวยใช้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงหรือหัวเมือง

แต่พอบอกชื่อผัดไทยแล้วมันดูไท้…ไทย (เน้นเสียง) เนอะ ทั้งๆ ที่มันก็ก๋วยเตี๋ยวผัดอ่ะ ซึ่งจีนสุดๆ แล้วแต่ละตำรา แต่ละคนก็จะมาบอกว่าผัดไทยมันควรจะต้องหน้าตาอย่างไร อธิบายกันได้เป็นฉากๆ จะต้องน้ำมะขามเปียก ถ้าไม่ใช่แล้วจะผิดไปเลยทีเดียวเชียว นี่ คุณลองไปดูตำราเก่าๆ สิ เขาใช้น้ำส้มสายชูกันทั้งนั้นแหละ บางคนใช้เต้าเจี้ยวด้วยซ้ำไป แต่ว่าพอมันมาแข็งตัวที่สูตรบางสูตร ใครได้ประโยชน์ละ มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์แหละ คนกลุ่มที่ไม่ได้ใช้แบบนี้ก็ถูกกีดกันว่าไม่ใช่ คนนี้ไม่ใช่ คนนี้ไม่โบราณจริง

การยึดตำราแค่อย่างเดียวดูจะไม่ค่อยเป็นผลดีเลย

ผมเห็นการใช้ตำราแกงเขียวหวานมาบีบคนอื่นกับตาตัวเองมาแล้วว่า เขียวหวานเนี่ยใส่ได้แต่มะเขือนะคะ มะเขือพวงก็พอได้นะคะ แต่มะเขือยาวนี่ไม่ได้เลยทีเดียว เห้ย เราไม่นึกว่าจะมีใครพูดถึงอาหารแบบนี้ด้วยซ้ำไป  รู้สึกกลัว รู้สึกตกใจมาก ว่าคนเรามันจะเบียดบังคนอื่น จะบังคับคนอื่นในแง่ที่ว่า ต้องทำแบบนี้สิ ถ้าไม่ทำแบบนี้ ผิด ได้ขนาดนี้เลยเหรอ

มองกลับไป ตำรามันเป็นสิ่งที่น่ากลัวด้วยซ้ำไป มันปิดกั้นการเปิดออกไปของสูตรอาหารด้วยซ้ำว่า มีแค่นี้พอแล้วนะ ไม่ต้องเพิ่มแล้วนะ บางทีอาหารสองอย่างเกือบจะมาผสมกันเป็นเมนูใหม่อยู่แล้ว อาจจะมีใครสักคนหนึ่งจับมันมารวบด้วยกัน แต่ว่าตำราอาหารและผู้ที่เคร่งครัดในตำราอาหารกลับไปล็อกคอคนนั้นไว้ อย่าทำนะ จะโดนคนว่านะ ในแง่หนึ่งตำราอาหารมันก็เลยมีสิทธิ์ที่จะปิดกั้นการเจริญเติบโต การแตกกอของสูตรอาหาร

ระบอบเผด็จการอาหาร!

เปรียบเทียบง่ายๆ เวลาเจอผู้หญิง คุณบอกได้เหรอว่าแบบนี้สวย มันก็มีสวยแบบอื่นตั้งเยอะแยะ ทุกคนก็สวยแบบของตนเอง ผมว่ามันเป็นสามัญสำนึกนะ อาหารก็เช่นเดียวกัน มันก็มีความอร่อยแตกต่างกันไป ทำด้วยสูตรแบบนี้ก็อร่อยแบบนี้ คนที่พยายามจะไปเผด็จเอารสชาติอร่อยมาอธิบายแบบทื่อๆ ตรงๆ เสียอีก ที่มันผิดสามัญสำนึก

ในอาหารมีอำนาจหลายแบบ ทั้งแนวตั้ง แนวนอน บางคนใช้มันเป็นมนตร์ดำด้วยซ้ำไป โฆษณาสิ่งที่ข้าทำอยู่ว่าข้าเจ๋งที่สุดแล้ว ไม่มีใครเก่งเท่าข้าแล้ว ข้าคือผู้ยึดกุมความลับดำมืดของวงศ์ตระกูลไว้ได้แต่เพียงผู้เดียว ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับความคิดแบบนั้น เราก็พูดอีกด้านหนึ่งก็ได้ บ่อนเซาะไอ้คนเมื่อกี้ด้วย ว่าเนี่ย ไม่มีจริงหรอกสิ่งที่คุณพูด อาหารมีหลายแง่หลายมุม มีหลายสูตร

ถ้ามีใครมาบอกคุณว่า แกงคั่วเหรอ ต้องมีเครื่องแกงแบบนี้ๆ มันถึงจะต่างจากแกงเผ็ด คุณจะซัดเขาคืน คุณก็พูดกลับได้ว่า เอ็งไม่รู้เหรอว่าแกงคั่วเนี่ยมันต่างจากแกงเผ็ดแค่วิธีทำแค่นั้นเอง ก็คั่วไง ต้องคั่วนานๆ แกงเผ็ดคุณก็ผัดกะทิให้แตกมัน เอาเครื่องแกงใส่ เอาเนื้อสัตว์ใส่ หางกะทิใส่ ทำอย่างเร็วๆ มันก็จะเป็นแกงเผ็ด แต่ถ้าเป็นแกงคั่วแปลว่าคุณต้องคั่วนานๆ คุณต้องไปผัดพริกก่อน เนี่ย สองอย่างนี้มันต่างกันแค่วิธีทำ พริกแกงมันก็เหมือนๆ กัน เห็นไหม แค่นี้คุณก็ต่อยเขาได้หมัดหนึ่งแล้ว

คุณจะมาบอกได้อย่างไรว่าแบบนี้อร่อยที่สุด ใส่ไอ้นี่แล้วอร่อยที่สุด แบบนี้ถูกต้องที่สุด เวลาพูดถึงอาหารเราเลยต้องพูดพ่วงไปถึงวัตถุดิบ ที่มา คนทำ คนกิน สภาพแวดล้อม และรสนิยมที่กำกับอาหารอันนั้นอยู่ด้วย เพราะไม่ฉะนั้นคุณก็เผด็จการ แล้วคุณก็จะถีบคนอื่นออกไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนั่นน่ะน่ากลัวจะตาย

ท้ายที่สุดแล้ว ก็แล้วแต่ว่าเราต้องการให้อาหารมันทำหน้าที่แบบไหน บางทีเราแค่รำคาญอ่ะ เห็นหมอนี่ใช้อำนาจแนวนี้เยอะไปแล้ว ขอแซะมันหน่อยแล้วกันน่า หยอกกันเล่นบ้าง ให้อะไรๆ มันสมดุลหน่อย ไม่งั้นพอใครสักคนมีอำนาจ ชักจะชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้แล้วไม่สนุกหรอก

กลับไปที่คำถามเดิม ถ้าอย่างนั้นอาหารไทยคืออะไรกันแน่

มันตอบยากนะ ผมก็เลยคิดว่า บางทีเวลาเราพูดมันไม่ถูกใจคนฟัง สำหรับคนที่อยากได้คำตอบสำเร็จ เพราะเราไม่กล้าพูดอะไรที่มันฟันธงลงไปจริงๆ มันเต็มไปด้วยข้อแม้ เต็มไปด้วยรายละเอียด ไม่แฮปปี้หรอกถ้าอยากได้คำตอบแบบนั้น คนถามก็รอฟัง ไอ้นี่ก็พูดไปเรื่อย แต่ตอบไม่ได้สักทีว่าอาหารไทยคืออะไร (หัวเราะ)

RECOMMENDED ARTICLES
RECOMMENDED VIDEOS