ใบเหลียงผัดไข่ถือเป็นเมนูยอดฮิตของร้านอาหารใต้ ความหอมของกลิ่นกระทะถือเป็นเอกลักษณ์ของเมนูนี้ เลือกใบเหลียงที่อ่อนกำลังพอดี ผัดคั่วกับไข่ให้หอมกลิ่นกระทะปรุงรสด้วยซีอิ๊วเล็กน้อย เป็นอันเสร็จได้ที่
จิ้นปิ้ง ตับปิ้ง เป็นอาหารพื้นบ้านง่ายๆ กินกับข้าวนึ่งร้อนๆ แล้วลำขนาด จิ้นปิ้ง ตับปิ้ง หากไม่ทำกินกัน
ตามบ้านก็จะหาซื้อได้ตามกาด ทั้งกาดเช้าและกาดแลง (ตลาดเย็น) ถ้าเป็นสูตรทางเหนือแบบโบราณใช้เครื่อง
หมักไม่มาก บางตำรับใช้เพียงเกลือและพริกไทย สีของจิ้นปิ้งจะออกขาว เนื้อแห้ง ไม่ฉ่ำมาก รสออกเค็มอ่อนๆ
หอมพริกไทยน้อยๆ แต่เนื้อนุ่มหอมอร่อย เดี๋ยวนี้จิ้นปิ้งซึ่งใช้เครื่องหมักน้อยแบบนี้หากินยาก เพราะครัวคนเมืองได้รับอิทธิพลจากหลากหลายที่ มีเครื่องปรุงรสอย่างซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว และซอสปรุงรสอื่นๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมัก จึงทำให้มีรสชาติอร่อยตามยุคสมัยมากขึ้น จิ้นปิ้ง ตับปิ้ง มักทำกินกับข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ หรือเป็นอาหารกินคู่กับน้ำพริกอย่างน้ำพริกตาแดง น้ำพริกน้ำผัก เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารอย่างอื่นที่ทำกินในงานปอย “แก๋งโฮะ” หรือบางคนเรียก “คั่วโฮะ” ไม่น่าจะมีความหมายมงคลนัก แต่กลับทำกินกันมากหลังเสร็จงานปอย
“โฮะ” เป็นคำเมือง แปลว่า เอามารวมๆกัน โดยปกติตามงานปอยคนเมืองมักทำแกงฮังเล แกงอ่อม ลาบ ต้มจืดวุ้นเส้น แกงหน่อไม้ แกงกะทิ ห่อนึ่ง ถวายพระ หรือทำเลี้ยงกัน เมื่อเป็นอาหารทำถวายพระก็ล้วนทำจากของดีๆ แต่พออาหารเหล่านี้เหลือ ก็นึกเสียดาย คนโบร่ำโบราณจึงนำมาผัดรวมกัน แล้วใส่เครื่องปรุงอื่นๆเพิ่มเข้าไป เพื่อกลบกลิ่นเหม็นบูด เช่น หน่อไม้ดอง ใบมะกรูด ตะไคร้ บางบ้านโรยผงกะหรี่ลงไปด้วย กลายเป็นอาหารจานอร่อย แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า “แกงโฮะ” มาตอนหลังเมื่อมีคนนิยมกินกันมากขึ้น เครื่องปรุงแกงโฮะจึงได้มาจากของดี ไม่ใช่ของใกล้เสียอย่างแต่ก่อน แต่เครื่องปรุงอันจะช่วยชูรสให้กับแกงโฮะได้ดี คือ หน่อไม้ส้มหรือหน่อไม้ดอง ช่วยเพิ่มรสเปรี้ยว นอกจากนี้บางคนจะเลือกใส่ผักที่ตัวเองชอบได้หลายๆอย่าง จึงกลายเป็นโฮะแบบใหม่ กิ๋นแล้วลำได้เหมือนกัน